ตั้งด่านตรวจ13จว.คุมเดินทาง


เพิ่มเพื่อน    

ฝ่ายมั่นคงตั้งด่านตรวจ 13 จว.แดงเข้ม คุมเดินทางทั้งกลางวัน-กลางคืน ข้ามจังหวัดต้องโชว์หลักฐาน 3 อย่าง "เอกสาร-แอปไทยชนะ-ลงทะเบียนผ่านเว็บ" แนะรอฟังแต่ละจังหวัดประกาศมาตรการเพิ่มเติม เลขาฯ สมช.เผยนอกเวลาเคอร์ฟิวขอให้งดยังไม่ห้าม ถึงขั้นใช้ "อู่ฮั่นโมเดล" หรือไม่ขึ้นอยู่กับ สธ. ยันเอาอยู่ถ้า 4 องค์ประกอบร่วมมือจริงจัง ลั่น ศบค.ทำงานมีประสิทธิภาพ ตร.จับฝ่าเคอร์ฟิวแล้ว 420 ราย 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 28 เป็นปรับระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด ขณะที่พื้นที่ควบคุมสูงสุดเพิ่มขึ้นเป็น 53 จังหวัด จะเห็นว่าพื้นที่สีแดงครอบคลุมไปทั่วประเทศ และจากข้อกำหนดฉบับที่ 28 เป็นการให้งดภารกิจออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น คือนอกจากประกาศเคอร์ฟิวในตอนกลางคืน ช่วงกลางวันขอให้ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น 
    ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงจะตั้งด่านในพื้นที่ขอบนอกของ 9 จังหวัดภาคกลางที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงและเข้มงวด โดยจะมีด่านตรวจเข้มแข็งกระจายไปในบริเวณขอบนอกของ 9 จังหวัด จะมีด่านตรวจทั้งเข้าและออก ใครจะเดินทางต้องแสดงหลักฐาน 3 อย่างคือ เอกสารที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการเขต ต้องสแกนแอปพลิเคชันไทยชนะบริเวณด่านตรวจ และลงทะเบียนในเว็บไซต์ www.covid-19.in.th เพื่อจะได้รับคิวอาร์โค้ด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบระบบ ขณะที่การเดินทางภายในพื้นที่สีแดงเข้มจะมีการตั้งด่านด้วยเช่นกัน โดยมาตรการนี้จะใช้กับ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้มด้วย จึงขอแจ้งให้ประชาชนทราบถึงความไม่สะดวกสบายที่จะเกิดขึ้น เพื่อต้องการลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น ขอให้อยู่ในเคหสถาน ตอนนี้ทั่วโลกใช้วิธีการล็อกดาวน์และมาตรการเหล่านี้ถือเป็นหลักการสากลแล้ว ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงตำรวจ ทหาร จะทำงานเข้มข้นมากขึ้น  
    สำหรับข้อกำหนดเรื่องการเดินทางของประชาชนใน 13 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ ให้กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร (กทม.) จังหวัด หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลการให้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทในพื้นที่สีแดงเข้ม และการขนส่งสาธารณะทุกประเภทระหว่างจังหวัดทั่วราชอาณาจักรให้จำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละ 50 ของความจุผู้โดยสาร คือให้ลดการเดินทางทั้งประเทศ ไม่เฉพาะ 13 จังหวัด โดยเดินทางได้ แต่ต้องลดพื้นที่ขนส่งลง 50 เปอร์เซ็นต์ ให้เว้นระยะห่าง และให้บริการเพียงพอต่อความจำเป็นในเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะอำนวยความสะดวกรับ-ส่งผู้โดยสารไปฉีดวัคซีน ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนขอความร่วมมือสายการบินจากดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ให้งดเที่ยวบินที่ออกจาก กทม.ไปยังจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.เป็นต้นไป 
     นอกจากนี้ ยังคงมาตรการเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้นเป็นเวลา 14 วัน และยังควบคุมการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มให้ซื้อกลับที่บ้านได้จนถึงเวลา 20.00 น. ส่วนการเปิดห้างจะเข้มข้นขึ้น โดยให้เปิดบริการได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์เท่านั้น และพื้นที่จัดให้บริการฉีดวัคซีน เปิดได้จนถึงเวลา 20.00 น. และปิดกิจการร้านขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ธนาคาร สื่อสารฯ ในห้างใหญ่ขณะที่ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสดให้เปิดได้จนถึงเวลา 20.00 น. และให้แต่ละจังหวัดพิจารณาสั่งปิดได้ตามความจำเป็น หากมีผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ส่วนโรงแรมให้งดจัดกิจกรรมประชุม สัมมนาหรือจัดเลี้ยง และห้ามรวมกลุ่มเกิน 5 คน สำหรับกิจกรรมและกิจการอื่น เช่น สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง สวนสาธารณะ สามารถทำได้หรือไม่ ทาง ศบค.ให้แต่ละจังหวัดออกประกาศข้อกำหนดของตัวเองให้สอดคล้องกับมาตรการหรือเข้มข้นมากขึ้น ขอให้ประชาชนรอฟังประกาศของจังหวัดนั้นๆ
     ในส่วนสถานที่อนุญาตให้เปิดได้ตามความจำเป็น ได้แก่ โรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคารเอทีเอ็ม การสื่อสารคมนาคมไปรษณีย์และพัสดุ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดที่อยู่นอกห้าง รวมถึงสถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส รวมทั้งบริการสินค้าและอาหารตามสั่ง
    ด้าน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 หรือ ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวว่า กลุ่มของสื่อมวลชนถือว่ามีความจำเป็น สามารถไปทำงานนอกสถานที่ได้ ส่วนอาสาสมัครต่างๆ ถือว่าเป็นการทำงานบริการด้านสาธารณสุข ซึ่งได้รับการยกเว้นตามข้อกำหนด สามารถทำงานได้ ทั้งนี้ การเปิดสถานพยาบาลได้ตามข้อกำหนดนั้น รวมถึงโรงพยาบาลสัตว์ด้วย เพราะเป็นกิจการด้านบริการสาธารณสุขและแง่มนุษยธรรม 
    ส่วนกรณีประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดที่จะเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ นั้น ตามปกติการฉีดวัคซีนจะฉีดในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เว้นแต่ได้รับนัดให้มาฉีดในกรุงเทพฯ ถ้ามีใบนัดหรือมีหลักฐานแสดงการนัด ขอให้แสดงหลักฐานกับเจ้าหน้าที่ แต่ในกรณีการเดินทางนั้น ทาง ศบค.มีความห่วงใยไม่อยากให้พี่น้องประชาชนที่มาจากในพื้นที่ความเข้มต่ำกว่าเดินทางมายังพื้นที่ที่มีความเข้มสูงกว่า สำหรับหลักฐานในการเดินทางนั้น แบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ หากมีหลักฐานเป็นเอกสารสามารถนำมายื่นแสดงได้ และกรณีหากไม่มีเอกสารแสดง แต่มีความจำเป็นต้องเดินทาง สามารถเข้าไปในเว็บไซต์หยุดเชื้อเพื่อชาติ เพื่อกรอกแบบฟอร์ม จากนั้นจะได้รับคิวอาร์โค้ด เมื่อไปถึงด่านตรวจให้แสดงคิวอาร์โค้ดกับเจ้าหน้าที่ของด่าน 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการที่ออกเพิ่มเติมจากมาตรการเคอร์ฟิว ที่ไม่ให้ออกมาในช่วงเวลากลางวันถือเป็นการขอความร่วมมือหรือคำสั่งห้าม พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า "ลักษณะของการบังคับใช้สองห้วง คือห้วงเคอร์ฟิวเราจะใช้คำว่าห้ามเลย แต่ในช่วงของนอกเคอร์ฟิวยังมีความจำเป็นต้องเน้นในบางกิจการและบางกิจกรรม เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ขอใช้คำว่าให้ไปก่อน คือให้งด ให้หลีกเลี่ยง เพราะเมื่อถึงมาตรการที่เข้มข้นต่อไปอาจจะจำเป็นต้องใช้คำว่าห้าม เมื่อถึงคำว่าห้ามแล้วคงมีกิจการกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นน้อยกว่านี้มาก"
    เมื่อถามว่า ศบค.เตรียมแผนรองรับไว้แล้วใช่หรือไม่หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ลด และตัวเลขต้องขนาดไหนถึงจะใช้โมเดลอู่ฮั่น พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมการไว้ในทุกสถานการณ์ เราคิดสถานการณ์ขั้นต่อไปไว้ตลอดว่าสถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ดีไปกว่านี้จะทำอย่างไร สำหรับโมเดลอู่ฮั่นเป็นข้อพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 18 ก.ค.อธิบดีกรมควบคุมโรคได้พูดถึงโมเดลนี้ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาต้องฟังกระทรวงสาธารณสุขว่าจะประเมินสถานการณ์อย่างไร ซึ่ง ศบค.มีความพร้อมในทุกกรณี ทั้งนี้ การล็อกดาวน์เต็มรูปแบบนั้น เราไม่ได้มองตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง ต้องมองทุกมิติ มีหลายปัจจัย ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อ ตัวเลขสถานพยาบาลที่มีอยู่และปัจจัยอื่นในแง่เศรษฐกิจด้วย
    เมื่อถามย้ำว่า ศบค.ประเมินว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังเอาอยู่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ศบค.ระบุมาหลายครั้งแล้วว่า ความสำเร็จในการควบคุมโรคจะประกอบด้วย 4 ส่วนคือ หน่วยงานภาครัฐต้องมีความเข้มข้นจริงจังในการควบคุมโรค ภาคเอกชนให้การสนับสนุนตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด และประชาชนให้ความร่วมมือกับมาตรการทั้งของภาครัฐและเอกชนกำหนดเพิ่มเติม และส่วนที่ 4 ที่จะช่วยขับเคลื่อนมาตรการให้มีประสิทธิภาพได้คือ สื่อมวลชนทำความเข้าใจกับประชาชนจะทำให้มาตรการมีประสิทธิผล หาก 4 ส่วนนี้ให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจัง ศบค.คาดว่าสถานการณ์น่าจะเอาอยู่ แต่ลำพัง ศบค.อย่างเดียว ต่อให้มีมาตรการเข้มงวดอย่างไร แต่ที่เหลือไม่ให้ความร่วมมือก็คิดว่าไม่น่าจะเอาอยู่ 
    วันเดียวกัน พล.ต.ต.ยิ่งยศ  เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลการปฏิบัติการตั้งจุดตรวจ ห้ามมิให้บุคคลออกนอกเคหสถานในห้วงระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประจำวันที่ 11-19 ก.ค.2564 มียอดสะสม รวมทั้งสิ้น 2,214 ราย มีเหตุจำเป็นและตักเตือน จำนวน 1,794 ราย ดำเนินคดี จำนวน 420 ราย
    ที่ จ.ภูเก็ต ภายหลัง ศบค.ปรับให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ยกระดับมาตรการคุมโควิด โดยลงนามคำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 4023 /2564 เรื่อง ปิดสถานที่เสี่ยงหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง และคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 4021/2564 เรื่อง กำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต สำหรับคนไทยจากต่างจังหวัดหรือคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.-2 ส.ค.2564.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"