แฉบริษัทยิวป้อนสปายแวร์ให้รัฐบาลทั่วโลกสอดแนมนักข่าว-แอคทิวิสต์


เพิ่มเพื่อน    

องค์กรสื่อและนักการเมืองในยุโรปไม่พอใจ หลังมีรายงานข่าวเปิดโปงว่า บริษัทซอฟท์แวร์แห่งหนึ่งของอิสราเอลป้อนมัลแวร์สอดแนมโทรศัพท์ให้รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกใช้สอดแนมนักเคลื่อนไหว, นักข่าว, ทนายความ และนักการเมือง โดยมีรายชื่อหลุดรอดกว่า 50,000 ชื่อ ร้อนถึงรัฐบาลหลายชาติที่ถูกอ้างถึงต้องรีบปฏิเสธ

    รายงานเอเอฟพีเมื่อวันจันทร์กล่าวว่า บริษัท เอ็นเอสโอกรุ๊ป ของอิสราเอล ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ในเมืองเฮอร์ซลียาใกล้กรุงเทลอาวีฟ และมัลแวร์ "เพกาซัส" ของพวกเขาที่สามารถเปิดกล้องหรือไมค์ของโทรศัพท์มือถือและรวบรวมข้อมูลได้ เคยตกเป็นข่าวครึกโครมมาตั้งแต่ปี 2559 เมื่อนักวิจัยหลายคนกล่าวหาว่าบริษัทแห่งนี้ช่วยรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) สอดแนมฝ่ายต่อต้านรัฐคนหนึ่ง แต่รายงานล่าสุดที่มาจากการสอบสวนร่วมกันของวอชิงตันโพสต์, การ์เดียน, เลอมงด์ และสื่ออีกหลายสำคัญ อ้างอิงจากลิสต์หมายเลขโทรศัพท์ 50,000 หมายเลขที่หลุดรอด เปิดเผยว่าการสอดแนมโดยใช้มัลแวร์ตัวนี้มีขอบเขตกว้างใหญ่กว่าที่คิดกันไว้

    เชื่อกันว่าหมายเลขที่หลุดรอดออกมานี้เชื่อมโยงกับบุคคลที่ลูกค้าของเอ็นเอสโอระบุว่าเป็นเป้าหมายของการสอดแนม รวมถึงหมายเลขหนึ่งที่โยงถึงเซซิลิโอ ปินเยตา นักข่าวเม็กซิกันที่โดนฆาตกรรมเมื่อปี 2560 และสมาชิกในครอบครัวของจามัล คาช็อกกี นักข่าวชาวซาอุดีอาระเบียที่โดนฆ่าตายภายในสถานกงสุลโดยทีมสังหารของซาอุฯ เมื่อปี 2561

    รายงานกล่าวว่า ยังไม่ชัดเจนว่ามีโทรศัพท์กี่เครื่องที่ตกเป็นเป้าหมายหรือโดนสอดแนม และเอ็นเอสโอก็ออกแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ ปฏิเสธคำกล่าวหาว่าเป็นเรื่องเท็จ และขู่จะฟ้องหมิ่นประมาทด้วย

    คำกล่าวอ้างในรายงานที่เปิดโปงหลายประเทศ เช่น อินเดีย, ฮังการี และโมร็อกโก ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการปราบปรามสื่ออิสระและสอดแนมนักข่าวที่เห็นต่างจากรัฐทั้งในและนอกประเทศ ก่อให้เกิดความไม่พอใจ โดยรัฐบาลอินเดีย, โมร็อกโก และฮังการี ต่างรีบออกมาปฏิเสธในวันจันทร์

    ประเทศอื่นๆ ที่มีรายชื่อเป้าหมายอยู่ในบัญชีนี้จำนวนมากที่สุด ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน, บาห์เรน, คาซัคสถาน, เม็กซิโก, รวันดา, ซาอุดีอาระเบีย และยูเออี

    สำนักข่าวที่ร่วมในการสอบสวนบัญชีหมายเลขโทรศัพท์เหล่านี้สามารถระบุเจ้าของหมายเลขได้มากกว่า 1,000 รายในมากกว่า 50 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสมาชิกหลายคนของราชวงศ์อาหรับ, ผู้บริหารธุรกิจอย่างน้อย 65 คน, นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน 85 คน, นักข่าว 189 คน และนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐบาลมากกว่า 600 คน ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ระดับประมุข, นายกรัฐมนตรีและสมาชิกในคณะรัฐบาล

    การสอบสวนสามารถระบุตัวนักข่าวอย่างน้อย 180 คนจาก 20 ประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายการสอดแนมระหว่างปี 2559 ถึงเดือนมิถุนายน 2564 อาทิ นักข่าวของเอเอฟพี, วอลล์สตรีทเจอร์นัล, ซีเอ็นเอ็น, รอยเตอร์, นิวยอร์กไทมส์, เอพี, อัลจาซีราห์, ดิอีโคโนมิสต์ และบลูมเบิร์ก

    ด้านอัวร์ซูลา วอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวถึงข่าวนี้ว่า หากยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริงก็ยอมรับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศสกล่าวว่า น่าตกใจอย่างยิ่ง ขณะที่คริสตอฟ เดอลัวร์ เลขาธิการกลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน กล่าวว่า การเปิดโปงครั้งนี้ชวนตกใจและน่าขยะแขยง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"