เซ็นซื้อไฟเซอร์20ล้านโดส


เพิ่มเพื่อน    

ไทยลงนามซื้อ “ไฟเซอร์” 20 ล้านโดสแล้ว เตรียมส่งมอบในไตรมาส 4 ปีนี้ “หมอหนู” ย้ำจองอีกในปีหน้า 50 ล้านโดส “ไฟเซอร์” บอกเองเปิดสัญญามูลค่าไม่ได้ ครม.รับทราบแล้ว เผยปี 2565 จะมีวัคซีนครบทุกเทคโนโลยี “นพ.โอภาส” แจงต่อรองแอสตร้าฯ แล้วได้อย่างต่ำแค่เดือนละ 5 ล้านโดส ไม่ได้ตามเป้า 10 ล้านโดส “ยุทธพงศ์” ข้องใจสัญญาซื้อทำไมปิดลับจริง ชง “อนุทิน” ปลดอธิบดีกรมควบคุมโรค
    เมื่อวันอังคารที่ 20 กรกฎาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. และ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. เป็นสักขีพยานการลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิดชนิด mRNA ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และมิสเด็บบราห์ ไซเฟิร์ท ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทยและอินโดไชน่า เพื่อจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และจะส่งมอบภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ 
    นายอนุทินกล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่งที่การเจรจาลุล่วง กระทั่งได้ทำสัญญา และกำลังได้มาซึ่งวัคซีน ซึ่งไทยได้ทำงานร่วมกับบริษัทไฟเซอร์อย่างหนักในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ต้องขอบคุณทุกคน ทุกฝ่ายที่ช่วยกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้อตกลงร่วมกันในการจัดหาวัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ 20 ล้านโดสมาให้คนไทย เชื่อว่าความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และมั่นใจว่าวัคซีนที่สั่งซื้อจะมาภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ตามข้อตกลงในสัญญา 
“จะมีวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดสมาถึงในปลายเดือนนี้ เพื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ผู้สูงอายุ และกลุ่มอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเห็นชอบ รวมทั้งไทยมีแผนสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 50 ล้านโดสในปีหน้า” นายอนุทินระบุ
    ขณะที่บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไบออนเทค ออกจดหมายข่าวประชาสัมพันธ์ ระบุว่า บริษัททั้ง 2 จะจัดส่งวัคซีน จำนวน 20 ล้านโดส ให้กับไทยสำหรับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยได้รับการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไขจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2564 ซึ่งข้อตกลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นระดับโลกของไฟเซอร์และไบออนเทค เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ณ ประเทศไทยและกรุงไมนส์ ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ซึ่งบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และไบออนเทค ได้ประกาศลงนามสัญญาร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 20 ล้านโดส สำหรับปี 2564 ให้ไทย โดยมีแผนกำหนดการส่งมอบในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับมูลค่าการซื้อขายไม่อาจเปิดเผยได้ แต่มีข้อกำหนดเป็นไปตามช่วงเวลาในการส่งมอบและจำนวนโดสที่สั่ง
    “เรามีความยินดีที่ได้เซ็นสัญญาที่มีความสำคัญนี้กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นที่มีร่วมกันในความพยายามที่จะลดการติดเชื้อในประเทศ สัญญานี้เป็นการเน้นยํ้าถึงความมุ่งมั่นของไฟเซอร์ในการจัดหาวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 นี้ และยังเป็นการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของคนทั่วโลก” ไซเฟิร์ทกล่าว
    “ผมขอขอบคุณรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยสำหรับความไว้วางใจในความสามารถของการพัฒนาวัคซีนที่พวกเราเชื่อว่ามีศักยภาพที่จะช่วยในการรับมือกับโรคระบาดของโลกในครั้งนี้ เป้าหมายของเราก็ยังคงเป็นการส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพให้แก่ผู้คนมากมายทั่วโลกโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” ชอง มาเร็ท หัวหน้าฝ่ายธุรกิจและฝ่ายพาณิชย์ บริษัท ไบออนเทค กล่าว
มีวัคซีนครบทุกเทคโนโลยี
    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายอนุทินได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะการลงนามกับผู้แทนบริษัท ไฟเซอร์ จัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกหน่วยงานที่สนับสนุนให้สามารถจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส รวมถึงวัคซีนเทคโนโลยีต่างๆ มาฉีดให้แก่ประชาชน และขอให้มีการบริหารจัดการกระจายวัคซีนให้ดี มีแผนที่ชัดเจน รวมถึงการให้ข้อมูลการจัดสรรแก่ประชาชนที่ชัดเจนต่อไป 
    น.ส.ไตรศุลีกล่าวอีกว่า การทำข้อตกลงเพื่อจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ในครั้งนี้ จะทำให้ไทยมีวัคซีนโควิด-19 กระจายให้ประชาชนเกือบครบทุกชนิด ทั้งในส่วนของ mRNA ของไฟเซอร์ โมเดอร์นา และชนิดเชื้อตายของซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ชนิดไวรัลเวกเตอร์ของแอสตร้าเซนเนก้า และล่าสุดองค์การเภสัช (อภ.) อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต ซึ่งคาดว่าจะนำเข้ามาเพื่อฉีดให้กับประชาชนได้ในปี 2565 และทำให้ไทยมีวัคซีนโควิด-19 ครบทุกเทคโนโลยีที่มีการผลิตอยู่ในปัจจุบัน
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ครม.ยังพูดถึงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในปัจจุบัน โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แสดงความเห็นตอนหนึ่งว่า ควรฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้ประชาชน 10 ล้านโดสต่อเดือน ทำให้นายอนุทินชี้แจงว่า ประสิทธิภาพในการฉีดนั้นสามารถฉีดได้ แต่เราได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไม่ถึง 10 ล้านโดสต่อเดือน ทำให้ สธ.ต้องหาวัคซีนชนิดอื่นมาฉีดให้ประชาชนให้ได้ตามจำนวนดังกล่าว นายจุติจึงเสนอว่า จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนที่ยังมีความสงสัยในวัคซีนซิโนแวคอยู่ แม้หมอจะบอกว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพก็ตาม นายอนุทินจึงชี้แจงอีกครั้งว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีแผนจัดส่งให้ไทยทุกเดือดจนครบตามจำนวน 61 ล้านโดส แต่ต้องหารือกันว่าแต่ละเดือนจะส่งได้เท่าไหร่ อย่างไร แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเปลี่ยนแปลง มีการกระจายเชื้อเร็วยิ่งขึ้นก็ต้องไปคุยกับเขา เชื่อว่าคงคุยกันได้ และ สธ.มองว่าวัคซีนทุกชนิดที่มี มีประสิทธิภาพ เพราะองค์การอนามัยโลกให้การรับรอง เราจึงไม่ควรด้อยค่าวัคซีนกันเอง ขอให้ดูประเทศจีนที่ใช้ซิโนแวคและซิโนฟาร์มเป็นส่วนใหญ่ และการด้อยค่าวัคซีนเป็นเจตนารมณ์ของผู้ไม่หวังดี 
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการส่งมอบวัคซีนของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ว่าการลงนามระหว่างกรมควบคุมโรคกับ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จํากัด และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่ลงนามเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2563 ว่าเป็นการทำสัญญาระหว่างภาครัฐกับเอกชน ซึ่งในสัญญาระบุว่า ผู้ที่ลงนามในสัญญาต้องไม่เปิดเผยความลับในสัญญา แต่หากต้องเปิดเผยสัญญาต้องได้รับความยินยอมจากทั้ง 3 ฝ่าย มิเช่นนั้นจะเป็นการทำผิดสัญญา นำไปสู่การยกเลิกสัญญา โดยเบื้องต้นในสัญญาการส่งมอบ ซึ่งยังไม่มีวัคซีน จึงไม่มีการระบุจำนวนการส่งมอบที่ชัดเจนต่อเดือน แต่จะเป็นการเจรจากันเดือนต่อเดือน ในส่วนจำนวนวัคซีนที่จองตามในสัญญาคือ 61 ล้านโดส การส่งมอบก็มีเอกสารชัดเจนว่า สธ.ต้องการวัคซีนที่จะฉีดในระยะต่อไปจำนวน 10 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้บริษัท แอสตร้าฯ ได้แจ้งว่าอย่างน้อยจะส่งให้เดือนละ 5 ล้านโดสเป็นอย่างต่ำ หากกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นก็อาจจะให้เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการเจรจาในครั้งต่อไป 
    นพ.โอภาสยังกล่าวถึงวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐ 1.5 ล้านโดส ว่าจะมาถึงไทยในปลายเดือนนี้ และคาดว่าจะเริ่มฉีดได้ในช่วงต้นเดือน ส.ค. โดยกลุ่มเป้าหมายนั้น สธ.โดยความเห็นชอบของ ศบค.ได้กำหนดคือ 1.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว เพื่อฉีดบูสเตอร์โดส 2.กลุ่มผู้อายุและกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด และ 3.ชาวต่างชาติกลุ่มเสี่ยง ในพื้นที่ระบาด ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนจัดการสอบถามข้อมูลแต่ละจังหวัดได้แจ้งยอดมา โดย สธ.ยังตั้งเป้าในเดือนต่อไปต้องฉีดวัคซีน 10 ล้านโดส/เดือน 
ตอกย้ำสลับสูตรวัคซีน
อธิบดีกรมควบคุมโรคยังกล่าวย้ำถึงประสิทธิภาพของวัคซีนว่า ผลการศึกษาที่มีการใช้จริงสำหรับวัคซีนซิโนแวคในหลายพื้นที่ มีประสิทธิภาพถึง 90% ในการป้องกันสายพันธุ์อัลฟา แสดงให้เห็นว่าซิโนแวคในช่วงต้นมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อค่อนข้างดี แต่ขณะนี้ไม่มีวัคซีนใดที่มีประสิทธิภาพป้องกันได้ 100% โดยในเดือน มิ.ย.2564 ที่เริ่มมีการระบาดในบุคลากรสาธารณสุขในจังหวัดเชียงราย ผลการติดตามบุคลากรที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว พบว่าไม่ติดเชื้อ 82% จะเห็นว่าประสิทธิภาพเริ่มลดน้อยลงหลังจากช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.แต่ก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ และในเดือน พ.ค. ป้องกันการติดเชื้อได้ 70% ก็ยังถือว่ามีประสิทธิภาพได้ดีพอสมควร  แต่มีข้อสังเกตหนึ่งที่พบคือ ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากเชื้อมีการกลายพันธุ์ 
“ต้องมีสาเหตุที่เราต้องหาวัคซีนหรือหาวิธีในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการปรับสูตรฉีดวัคซีน ขณะนี้มีการศึกษาในหลายหน่วยงานทั้ง ม.จุฬาฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บ.ไบโอเทค พบว่าถ้าหากฉีดซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 จากนั้น 3-4 สัปดาห์ ก็ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เข็มที่ 2 จะทำให้ประสิทธิภาพป้องกันโรค เมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนแบบเดิมคือ ฉีดซิโนแวค 2 เข็มสูงขึ้นประมาณหลายเท่า หรือเดิมต้องฉีดแอสตร้าฯ โดยต้องฉีดเข็ม 2 ห่างจากเข็มแรกประมาณ 12 สัปดาห์ ซึ่งการปรับสูตรนี้จะทำให้การป้องกันควบคุมโรคดีขึ้น และทำให้การฉีดวัคซีนครอบคลุม รวดเร็วมากยิ่งขึ้น” นพ.โอภาสระบุ 
    ต่อมา เวลา 14.30 น. นายอนุทิน พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค หารือร่วมกับผู้แทนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 จำนวน 6 ราย ได้แก่ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย จำกัด), บริษัท ไฟเซอร์ฯ, บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา, บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มและวัคซีนของบารัต และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผู้นำเข้าวัคซีนซิโนแวค โดยใช้เวลาหารือเกือบ 3 ชั่วโมง
    จากนั้นเวลา 17.00 น. นพ.โอภาส และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า บริษัททั้ง 6 รายได้รายงานความก้าวหน้าในวัคซีนที่ตัวเองรับผิดชอบหรือผลิต โดยเฉพาะการพัฒนาปรับปรุงวัคซีนในรุ่นต่อไปให้มีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์ได้มากขึ้น และพูดคุยระบบการจำหน่ายและซัพพลายแนวโน้มเป็นอย่างไร จัดหาได้ในช่วงไหนอย่างไร และสอบถามจำนวนที่จะเจรจาซื้อขายในปี 2565 รวมถึงทำความเข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีนรูปแบบใหม่ๆ เช่น การกระตุ้น หรือบูสเตอร์โดส ซึ่งจะนำเอาข้อมูลที่ได้ไปหารือและมีการเจรจาเรื่องการจองวัคซีนต่อไป นอกจากนี้ อภ.ยังได้นำผลการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย ที่มีการปรับปรุงสายพันธุ์ ซึ่งผ่านการทดลองระยะที่ 1 ในมนุษย์แล้ว และกำลังทดลองผ่านระยะที่ 2 ในมนุษย์ มารายงานความก้าวหน้า ซึ่งเป็นที่น่ายินดีถ้าจะพัฒนาวัคซีนที่ผลิตเองในประเทศเองได้ ส่วนประสิทธิภาพที่จะต่อสู้กับเดลตาและเบตา ต้องรอผลการศึกษาอีกครั้ง 
    ด้าน นพ.โสภณกล่าวว่า นอกจากประเทศญี่ปุ่นบริจาควัคซีนมาแล้วประมาณ 1.5 ล้านโดส มีอีก 2 ประเทศที่กำลังคุยอยู่ ซึ่งประเทศที่จะมาบริจาคได้ขอว่าให้เขาเป็นคนประกาศก่อนในสัปดาห์หน้า
     วันเดียวกัน มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ และไอซีที ในคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ที่มีนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ.เป็นประธาน ได้พิจารณางบประมาณของกรมควบคุมโรค โดยระหว่างการประชุมตอนหนึ่ง นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะ กมธ.ฝ่ายค้าน ได้สอบถาม นพ.โอภาสว่า เหตุใดกรมควบคุมโรคถึงจัดซื้อแต่วัคซีนซิโนแวค พร้อมทั้งขอให้เปิดเผยเอกสารสัญญาการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยนายยุทธพงศ์ระบุว่า จากหนังสือคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ของสภาพัฒนาการเศรษกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กำหนดให้นำงบประมาณ 6.1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินเยียวยา ไปจัดหาวัคซีน โดยเห็นควรให้กรมควบคุมโรคพิจารณาจัดหาวัคซีน หนังสือดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ขณะนี้โควิด-19 กลายพันธุ์แล้ว ดังนั้นให้หาวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีอื่นที่สามารถป้องกันเชื้อโควิดกลายพันธุ์ได้ หรือแปลว่าไม่ให้ใช้ซิโนแวค แต่ให้ใช้ยี่ห้ออื่น ซึ่งในการชี้แจงก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุว่า ได้สอบถามไปยังองค์การเภสัชกรรมได้ความว่า มีแต่ซิโนแวค อย่างอื่นไม่มี อยากถามว่าทำไมราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มได้ หรือแม้แต่เอกชนก็ยังหาวัคซีนยี่ห้ออื่นได้
    “เมื่อถามย้ำอีกครั้ง อธิบดีกรมควบคุมโรคตอบใหม่ว่า คณะกรรมการกลั่นกรองไม่ได้บอกว่าไม่ให้ซื้อซิโนแวค แต่กำหนดว่าให้จัดหายี่ห้ออื่นที่สามารถป้องกันการกลายพันธุ์ควบคู่ไปด้วย อีกเรื่องที่เป็นปัญหา ไม่รู้อะไรนักหนา คือสัญญาการจัดซื้อแอสตร้าฯ ตั้งแต่ในห้องประชุมใหญ่ของคณะ กมธ. จนถึงวันนี้ผ่านไป 5 วัน ก็ยังลับอยู่ ดังนั้นอธิบดีต้องเอามาให้ผม แอสตร้าเซนเนก้าจัดซื้อได้เท่าไหร่ต้องเปิดเผย” นายยุทธพงศ์ระบุ  
    ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า จากเอกสารของสภาพัฒน์ชัดเจนว่าให้จัดหาวัคซีนควบคู่กัน จำนวน 10.9 ล้านโดส กรมควบคุมโรคได้จัดหาและได้เจรจา และวันนี้ได้ลงนามกับไฟเซอร์เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือแจ้งสภาพัฒน์เพื่อนำเงินกู้จำนวนดังกล่าวมาใช้ต่อไป ขอย้ำว่าควบคู่ไม่ได้แปลว่าไม่ให้ซื้อ การหาวัคซีนระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค.สำคัญมาก เพื่อจะได้ฉีดให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว เวลากรมควบคุมโรคจัดหาวัคซีน จะจัดหาจากผู้ผลิตและตัวแทนต่างๆ ซึ่งในไทยคือ อภ. โดยกรมควบคุมโรคได้มีหนังสือสอบถามไปว่ามีวัคซีนอะไรให้กับกรมควบคุมโรคบ้าง ซึ่ง อภ.แจ้งกลับมาว่ามีวัคซีนซิโนแวคให้
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ชี้แจงเรียบร้อย นายสรวุฒิซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมอยู่นั้น ได้เชิญผู้สื่อข่าวออกจากห้องประชุมคณะอนุ กมธ.
เสนอหมอหนูย้ายอธิบดี
    ต่อมานายยุทธพงศ์แถลงว่า ที่ประชุมคณะอนุ กมธ.ได้ซักถามเรื่องวัคซีนว่าตกลงได้จัดซื้อวัคซีนจำนวนและราคาเท่าใด แต่ไม่ได้รับคำตอบ โดยปลัด สธ.ได้แต่ชี้แจงในภาพรวม เมื่อถามหาสัญญาซื้อขาย ปลัด สธ.ก็โยนไปให้อธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งก็ยังไม่ได้รับคำตอบ และเมื่อทวงถามเอกสารจากนายวิเชียร ชวลิต รองประธาน กมธ. และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนายวิเชียรไม่ยอมให้ โดยอ้างว่าไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเอกสารดังกล่าวอยู่ในชั้นความลับ  
    “ผมอยากได้หนังสือการสั่งซื้อแอสตร้าฯ ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ไม่ควรเป็นข้อมูลในชั้นความลับ เพราะเห็นว่าถ้า กมธ.ไม่สามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณของแผ่นดินก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ถ้าปล่อยให้ นพ.โอภา บริหารอย่างนี้ คนจะติดโรคและตายเป็นพันคนต่อวัน ดังนั้นผมจะรอสัญญาการจัดซื้อ แม้จะเลยเคอร์ฟิวก็จะรอ” นายยุทธพงศ์กล่าว และว่า ขอเรียกร้องไปยังนายอนุทินให้เปลี่ยนตัวอธิบดีกรมควบคุมโรค หากจะให้บริหารต่อไปเช่นนี้ไม่ได้ งบประมาณ 6.1 พันล้านบาท ไม่ใช่จำนวนน้อย และเป็นเงินกู้ด้วย 
    สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนในต่างจังหวัดนั้น ที่ รพ.นครท่าฉลอม ต.ท่าฉลอม อ.เมืองสมุทรสาคร ได้มีการฉีดวัคซีนให้กับลูกเรือประมงทั้งคนไทยและต่างด้าว ขณะที่สำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น ได้ชี้แจงถึงกรณี อสม.ในเขต อ.น้ำพอง ได้รวมตัวกันประท้วงที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนว่า คลี่คลายแล้ว โดยปัญหาเกิดขึ้นจากการสำรวจที่ผ่านมา ซึ่งจะเร่งฉีดเข็มแรกให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 ก.ค.นี้
    ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการแถลงการเปิดช่องทางการลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ผ่านแพลตฟอร์มช็อปในโครงการวัคซีนเพื่อชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.เป็นต้นไป
    ขณะเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อให้ตรวจสอบ และบังคับใช้กฎหมายกรณีการออกมาให้ข่าวของ นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เกี่ยวกับดีลการเจรจาจัดหาวัคซีนทางเลือก 20 ล้านโดส ว่าอาจเป็นวัคซีนทิพย์เพื่อหวังผลสร้างกระแสความนิยมในหุ้นของบริษัทหรือไม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"