ธุรกิจการบินน่าห่วง


เพิ่มเพื่อน    

หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการระบาดของเชื้อโรคร้ายโควิด-19 ในช่วง 1-2 ปีนี้ คงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว ซึ่งผู้ที่ประกอบกิจการต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางการบินและการเดินทางของผู้คนจากกฎระเบียบสำหรับการป้องกันการระบาด

            ซึ่งข้อมูลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยภาพรวมการดำเนินงาน 6 ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแล โดย 8 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563-พ.ค.2564) ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 18.33 ล้านคน ลดลง 71.5% สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินที่พบว่ามีประมาณ 206,000 เที่ยวบิน ลดลง 51.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (มีผู้โดยสาร 64.20 ล้านคน และเที่ยวบิน 425,800 เที่ยวบิน) ขณะที่สนามบินภูมิภาค 28 แห่งของกรมท่าอากาศยาน ส่วนใหญ่ไม่มีเที่ยวบิน และก็เป็นตัวเลขเที่ยวบินและผู้โดยสารที่ลดลงมากเช่นเดียวกัน

            จะเห็นได้ว่าธุรกิจการบินได้รับผลกระทบทุกครั้งที่มีคำสั่งจากรัฐบาล แต่การช่วยเหลือจากภาครัฐกลับมีความล่าช้าอย่างมาก

            ทั้งนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาทางภาครัฐจะมีการเยียวยาให้กับธุรกิจการบินตามที่คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เสนอ อาทิ ยกเว้นและลดค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบิน ลดค่าบริการขึ้นลง 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ ยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยานสำหรับสายการบินที่หยุดให้บริการชั่วคราว ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ยกเว้นค่าปรับกับสายการบินที่ส่งค่าธรรมเนียมเข้าหรือออกประเทศล่าช้าในไตรมาสที่ 3 เป็นต้น

            แต่มาตรการทั้งหมดไม่ใช่สิ่งที่จะประคองธุรกิจให้อยู่ต่อได้ ซึ่งล่าสุด นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) และสายการบินไทยแอร์เอเชีย ได้ออกมาพูดดังๆ ถึงรัฐบาลว่า

            "สถานการณ์ขณะนี้ ธุรกิจการบินมืดมน โดยจะกลับมาว่ากันใหม่อีกครั้งได้ก็ต้องกลางปี 2565 และมาตรการต่างๆ ที่เคยขอภาครัฐไปก็ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ จนขณะนี้ผู้ประกอบการหมดไม่เหลือสภาพคล่องจะเดินธุรกิจต่อแล้ว ตอนนี้ต้องบอกเลยว่าธุรกิจวายวอดหมด สภาพคล่องหมดหน้าตัก สิ้นเดือนนี้ก็จะไม่มีสภาพคล่องไปจ่ายเงินเดือนพนักงานแล้ว เพราะมาตรการช่วยเหลือที่เราเคยขอภาครัฐไปไม่เคยได้รับความสนใจเลย”

            พร้อมทั้งกล่าวต่ออีกว่า ตนอยากฝากคำถามไปถึงรัฐบาลกรณีที่มีการพิจารณาเรื่องงบประมาณปี 2565 วาระ 2 ในชั้นกรรมาธิการฯ วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ที่จะนำมาใช้จ่ายนั้น เคยคิดไหมว่าจะมีเงินตามวงเงินที่ตั้งไว้หรือไม่ เพราะหากธุรกิจในประเทศเจ๊งหมด ตายหมด ไม่สามารถเสียภาษีได้ รัฐบาลจะเอางบประมาณจากที่ไหนมาใช้ ขอตั้งคำถามและฝากให้คิดไว้ว่า เหตุใดถึงไม่เร่งช่วยเหลือ หรือปล่อยกู้ เพื่อต่อลมหายใจให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ เพราะธุรกิจนั้นๆ จะได้นำเงินมาเสียภาษีให้กับภาครัฐ เนื่องจากรัฐบาลก็ต้องหาแหล่งเงินกู้มาแก้ปัญหาอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้ถูกจุด

            ปัญหาตอนนี้คือ ผู้ประกอบการสายการบินประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องอย่างรุนแรง และพยายามขอให้รัฐบาลพยายามจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ที่ขอกันมาตั้งแต่ปี 2563 แต่จนถึงเดือน พ.ค.64 ก็ยังไม่เห็นวี่แวว จนกระทั่งสมาคมสายการบินประเทศไทย ที่มีนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ เป็นนายกสมาคมฯ ได้มีมติร่วมกันให้ส่งหนังสือถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง เพื่อขอติดตามและเข้าพบเพื่อรับทราบความชัดเจนจากทางรัฐบาลในเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ที่จะจัดสรรให้แก่สายการบิน ทั้งนี้ ทางสมาคมเห็นว่าหากได้รับพิจารณามาตรการช่วยเหลือเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน จากทางรัฐบาล ก็จะสามารถช่วยลดผลกระทบความเสียหายต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบความเสียหายต่อธุรกิจการบินของประเทศได้ แต่ดูเหมือนว่าก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล

            เท่ากับว่าตอนนี้ธุรกิจสายการบินก็เปรียบได้กับคนไข้ป่วยรอเตียง รอการรักษา รอออกซิเจนมาเติมพลัง ซึ่งหากไม่มีการช่วยเหลือก็อาจจะถึงวันสิ้นชีพ ปิดบริษัทก็เป็นได้.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"