สธ.ขอโทษจัดหาวัคซีนไม่พอ


เพิ่มเพื่อน    

ศบค.เพิ่มกลุ่มเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์-น้ำหนักเกิน 100 กก. วอล์กอินฉีดวัคซีนได้ทันที
"สธ." เร่งหาวัคซีนทุกทางให้ได้ 100 ล้านโดสปีนี้ เตรียมเจรจาเข้าโคแวกซ์ปี ’65 "ผอ.สถาบันวัคซีนฯ" ขออภัย ปชช. ​จัดหาวัคซีนได้ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ "คณบดีศิริราช" ชูงานวิจัยต่างประเทศฉีดไขว้สลับวัคซีน 1 พันคนไม่มีผลข้างเคียง
    เมื่อวันที่ 21 ก.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวน 257,831 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสม 14,805,120 โดส ส่วนทางกรุงเทพมหานครขอให้ประชาชนลงทะเบียนไทยร่วมใจ โดยพบว่าการให้ผู้สูงอายุได้ลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนนั้น มีผู้เข้ามาลงทะเบียนค่อนข้างน้อย จึงขอฝากสื่อมวลชนได้ประชาสัมพันธ์ให้บุตรหลานนำผู้สูงอายุเข้าสู่ระบบรับการฉีดวัคซีนเพื่อลดอัตราเสี่ยง 
    "ที่ประชุม ศบค.พูดคุยถึงเรื่องการให้วัคซีน โดยกรมควบคุมโรคสรุปว่ามีการเพิ่มหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ให้ได้รับการฉีดวัคซีนด้วย และหญิงท่านใดที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน แต่มีประวัติไม่แน่ใจว่าจะตั้งครรภ์ ขอให้ไปตรวจครรภ์ก่อนที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน และจะมีการเพิ่มหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์บวกเข้าไปในกลุ่มเสี่ยง คือสูงอายุ 7 กลุ่มโรค ดังนั้นกลุ่มโรคเสี่ยงก็จะเพิ่มเป็น 8 โรค" พญ.อภิสมัยกล่าว
    ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับการให้วัคซีนกับคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยนั้น จากนี้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งเป็นคนต่างชาติที่จะเป็นคู่สมรสของคนไทย หรือเป็นผู้ประกอบอาชีพอยู่ในประเทศไทยในบริษัทต่างๆ มีถิ่นพำนักในประเทศไทย จะได้โอกาสไปลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีน โดยเบื้องต้นจะเป็นที่ SCG ดังนั้นขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารด้วยว่าจะต้องลงทะเบียนอย่างไร ส่วนของนักเรียนไทยที่มีกำหนดเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ วันนี้ที่ประชุมมีข้อสรุปที่จะมานำเรียนในลำดับต่อไป  
    ส่วน นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การที่มีผู้ติดเชื้อโควิคเพิ่มมากขึ้น ทำให้ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อห่วงกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้ที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หากกลุ่มดังกล่าวได้รับการฉีดวัคซีนโควิดจะสามารถลดการติดเชื้อ ลดป่วยรุนแรง และลดการเสียชีวิต จึงเปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 1 ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่ตั้งครรภ์มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป โดยจะต้องแสดงเอกสารการตั้งครรภ์ที่ได้รับการรับรองจากแพทย์ และผู้ที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ทั้งนี้ ไม่รวมผู้ติดตาม โดยสามารถวอล์กอินรับบริการฉีดวัคซีนโควิดได้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ ตั้งแต่ 22-31 ก.ค.เวลา 09.00-17.00 น.
    ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงกรณีมีหญิงสาวเสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีนสลับชนิดว่า หลังจากประเทศไทยฉีดวัคซีนป้องกันโควิดตั้งแต่เดือน มี.ค.-ปัจจุบัน ฉีดไปแล้ว 14.8 ล้านโดส มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับผู้รับวัคซีน และต่อมามีรายงานการเสียชีวิตประมาณ 229 ราย คิดเป็น 16 ต่อ 1 ล้านคนที่ฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่เป็นคนที่ได้รับวัคซีนอยู่ในระยะ 1 เดือนหลังรับวัคซีน โดยมีการติดตามข้อมูลและผลการพิจารณาสาเหตุ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีการแถลงอยู่เป็นระยะ ส่วนใหญ่เมื่อคณะกรรมการพิจารณาข้อมูลโดยละเอียด ทั้งข้อมูลการฉีดวัคซีน อาการที่เกิดขึ้น ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงผลการชันสูตรศพไม่พบว่ามีสาเหตุมาจากการฉีดวัคซีนโดยตรง แต่มีโรคร่วม ซึ่งที่พบบ่อยคือโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง อีกส่วนหนึ่งที่อยู่ระหว่างการพิจารณา
ขออภัยวัคซีนไม่เพียงพอ
    "รายนี้พบว่าเป็นครู มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง มี BMI 31 ฉีดวัคซีนเข็มแรกเป็นซิโนแวค เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. เข็มที่ 2 ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ สธ.​โดยคำแนะนำของคณะผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ พิจารณาจากข้อมูลผลการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันที่ให้มีการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายของซิโนแวค และตามด้วยไวรัลเวกเตอร์ของแอสตร้าฯ ห่างกัน 3 สัปดาห์ จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่เร็วภายใน 2 สัปดาห์หลังการฉีดเข็ม 2 ซึ่งจนถึงวันนี้มีการฉีดวัคซีนสลับชนิดมากกว่า 84,000 คน โดยกรณีครูอายุ 39 ปี เป็นรายแรกที่มีการเสียชีวิตคิดเป็นอัตรา 1 ในแสนของผู้ฉีดวัคซีน ซึ่งยังต้องหาสาเหตุต่อไป อย่างไรก็ตามแพทย์ได้มีการตรวจเบื้องต้นและมีการชันสูตรที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จะทราบผลในเร็ววันนี้" นพ.โสภณกล่าว
    เมื่อถามถึงแผนการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสในปี 2564 รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลขการฉีดวัคซีนเฉลี่ยวันละ 3 แสนโดส ซึ่งมีทั้งเข็มที่ 1 และ 2 ซึ่งตามอัตรานี้จะเฉลี่ยเดือนละประมาณ 9 ล้านโดส ฉะนั้น ความเร็วก็จะขึ้นอยู่กับศักยภาพในการฉีดซึ่งเราพิสูจน์แล้วว่าเรามีศักยภาพมาก ขั้นต่อไปคือการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ ที่ผ่านมาเราได้เจรจาจัดซื้อ รวมถึงวัคซีนที่ได้รับบริจาคมาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ เรายังได้ดำเนินการจองซื้อเพิ่มเติมอีก เช่น กรณีไฟเซอร์ 20 ล้านโดส เราก็มีความพยายามในการเจรจาให้มีการส่งมอบเร็วขึ้น หรือไม่ก็เป็นการจองซื้อเพิ่มในกรณีที่ทางบริษัทสามารถโยกวัคซีนมาจากสถานที่อื่น รวมทั้งวัคซีนตัวใหม่ๆ ด้วย
    “ดูถึงขณะนี้ที่ฉีดไปแล้ว 14.8 ล้านโดส ในเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ตั้งแต่ 7 มิ.ย. ก็ยังเป็นไปตามแผนอยู่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคือ การจัดหาวัคซีนให้มีมากเพียงพออย่างน้อยเดือนละ 10 ล้านโดส”รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว 
    ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ​ศิริ​ลักษณ์​ อธิบดี​กรม​วิทยา​ศาสตร์​การแพทย์​ กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดว่า เราเข้าใจความรู้สึกของประชาชนที่ยังรอคอยวัคซีน​อยู่ โดยข้อมูล​บางอย่างที่ได้มีการพูด​กันอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น เราไม่มีระบบกลไกที่ดีในการจัดหาวัคซีน ทำงานไม่มีระบบ หรือวัคซีนไม่มีคุณภาพ ซึ่งหลายเรื่องไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้ทำงานกันอย่างหนักหน่วง เมื่อสิ่งที่เราดำเนินการไม่เป็นไปตามที่ท่านคาดหวัง​ ท่านจะโยนข้อหาทุจริต เงินทอน โดยไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ทำงาน ยืนยันว่าขณะนี้ สธ.ตรวจ​สอบ​ได้ เราไม่มีเรื่องทุจริตอย่างเด็ดขาด
    "ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในทีมคณะ​ทำงาน​ เราทำบนหลักฐานวิชาการ การบริหาร ข้อแนะนำใดๆ ที่มีให้เราในทางที่เป็นประโยชน์เพื่อปรับปรุงการทำงานเราน้อมรับ เพียงแต่ข้อแนะนำบางอย่างอาจจะไม่เป็นธรรม ขอให้นึกถึงสถานการณ์​ในวันที่เราตัดสินใจล่วงหน้า ที่หลายเรื่องเราไม่อาจคาดเดาล่วงหน้าได้ เช่น ที่มีการโจมตีวัคซีนซิโนแวค ถ้าเดือน ก.พ.2564 เราไม่มีซิโนแวคฉีดให้กับประชาชนจะเกิดอะไรขึ้น และวันนี้พิสูจน์แล้วว่าคนที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็มจำนวนมากไม่ป่วยหนัก  จึงขอให้ท่านพิจารณาอย่างครบถ้วน เราพร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อให้ได้วัคซีนมาตามที่ควรจะเป็นมากที่สุดเท่าที่เป็นไปตาม" อธิบดี​กรม​วิทยา​ศาสตร์​การแพทย์​กล่าว
    ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบัน​วัคซีน​แห่งชาติ​ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติทำหน้าที่ในการเจรจาจัดหาและติดต่อกับผู้ผลิตวัคซีน​ เราพยายามหาช่องทางจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า แม้ว่าจะเป็นวั​คซีนที่อยู่ขั้นตอนการวิจัยก็ได้หาช่องทาง จนกระทั่งมีการออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุข​ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติมาตรา 18 (4) ที่จะเปิดให้สถาบันวัคซีน​ฯ ทำหน้าที่ในการจองวัคซีนล่วงหน้าที่อยู่ในขั้นการวิจัย จึงเป็นที่มาที่ทำให้เราสามารถจัดหาวัคซีนแอสตร้าฯ​ ที่เป็นการจองล่วงหน้า ตั้งแต่เริ่มต้นในเดือน ส.ค.2563 และจำนวนวัคซีนที่ได้เป็นจำนวน 61 ล้านโดส 
    "ในแต่ละครั้งในการเสนอการจัดหาวัคซีนใดๆ ก็ตาม เมื่อเรามีข้อมูลจากการได้เจรจาพูดคุยกับผู้ผลิตวัคซีน ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงานและคณะกรรมการจัดหาวัคซีน เพื่อให้เกิดการตัดสินใจ​ในเชิงการบริหาร เพราะว่าไม่สามารถดำเนินการได้โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เนื่องจากมีความเกี่ยวพัน​ในเรื่องงบประมาณ ความผูกพัน​ด้านสัญญา จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เป็นที่มาที่การจัดหาวัคซีนไม่ทันตามจำนวนที่ควรจะเป็นได้ ทั้งหมดเป็นข้อจำกัดที่มี จึงขออภัยที่สถาบันวัคซีน​ฯ จัดหาวัคซีนได้ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์" นพ.นครกล่าว
ศิริราชยันสลับวัคซีนได้ผล
    ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าวว่า  แผนการจัดหาวัคซีนโควิดระยะต่อจากนี้ สถาบันวัคซีนฯ ได้พยายามจัดหาวัคซีนสำหรับปีนี้และปี 2565 เพิ่มเติม โดยในปี 2565 จะมีการจัดหาจำนวน 120 ล้านโดส โดยจะพิจารณาดำเนินการกับผู้ผลิตวัคซีนที่มีการดำเนินการผลิตวัคซีนรุ่น 2 ที่ตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีการส่งมอบได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เร่งดำเนินการ เพราะไม่สามารถรอเวลาได้ จึงต้องจองวัคซีนล่วงหน้า ภายใต้การจัดหาวัคซีนก็จะมีข้อเสนอแนะจากหลายฝ่าย 
    "อยากเรียนให้ทราบว่าเรายังอยู่ในขั้นตอนของการเข้าร่วมกับโครงการโคแวกซ์​ (COVAX) แต่ยังไม่ได้มีการลงนามในการทำความร่วมมือการจัดหาวัคซีนร่วมกัน โดยสถาบันวัคซีน​ฯ ได้เตรียมการเริ่มเจรจา และส่งข้อความประสานงานหน่วยงานที่ชื่อว่าองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (Gavi) ในการที่ขอเจรจาจัดหาวัคซีน​ร่วมกันกับโคแวกซ์ โดยมีเป้าหมายในการได้รับวัคซีนปี 2565 เพิ่มเติมจากการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนโดยลำพัง ทั้งนี้ เมื่อมีข้อสรุปชัดเจน จะนำเสนอผ่านคณะทำงานที่เกี่ยวข้องต่อไป" ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าว
    นพ.นครยังกล่าวอีกว่า ข้อแนะนำในการสนับสนุนการวิจัยในประเทศ​ ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี ก็จะมีการแสวงหาความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิต​วัคซีน​ในต่างประเทศที่จะมีความประสงค์ในการขยายการผลิตวัคซีนในแบบฟอร์ม​อื่นๆ ซึ่งอยู่ช่วงของการเร่งรัดแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการร่วมดำเนินการ ประสานงานที่จะดูทิศทางการดำเนินงานร่วมมือกับต่างประเทศ และการวิจัยวัคซีนต้นแบบของประเทศที่ได้มีการสนับสนุน​อยู่ ทั้งรูปแบบ mRNA วัคซีน ของคณะแพทยศาสต​ร์จุฬา​ลง​กร​ณ์มหาวิทยาลัย​ องค์การ​เภสัชกร​ และอื่นๆ โดยอยู่ระหว่างรอผลวิจัย
    วันเดียวกัน นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวประเด็นวัคซีนโควิด-19 ผ่านระบบออนไลน์ว่า ปีนี้แตกต่างจากปีที่ผ่านมา เพราะปีนี้เรามีสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ซึ่งแพร่ระบาดเร็ว และทั่วโลกเจอเหมือนกัน สำหรับในไทย ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค พบว่ายังมีอัลฟา (อังกฤษ) โดยเดลตากำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเบตา (แอฟริกาใต้) มีอยู่บ้างส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ ส่วนแลมบ์ดายังไม่มีเข้ามา
    นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับวัคซีนโควิด-19 ปัจจุบันมี 4 แพลตฟอร์มใหญ่ๆ คือ ชนิด mRNA ไวรัลเวกเตอร์ โปรตีนซับยูนิต ซึ่งยังไม่ได้เข้ามา และวัคซีนเชื้อตาย ข้อมูลต่างๆ ที่มีตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตอนนั้นยังไม่มีสายพันธุ์เดลตา ซึ่งช่วงนั้นต้องหาวัคซีนให้ได้โดยเร็ว เพราะเริ่มมีการแพร่กระจายโรค และเวลานั้นวัคซีนแอสตร้าฯ ยังไม่ได้ตามต้องการ ขณะนั้นซิโนแวคก็ช่วยเราได้ดี แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน 
    นอกจากนี้ สำหรับปรับรูปแบบการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 ซิโนแวค วัคซีนชนิดเชื้อตาย ซึ่งกระตุ้นบีเซลล์ได้ 3 สัปดาห์ แล้วตามด้วยแอสตร้าฯ เป็นเข็ม 2 กระตุ้นทีเซลล์ รวมเวลา 5 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มสูง เพียงพอป้องกันสายพันธุ์เดลตา ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ส่วนการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ต้องเว้นระยะ 10-12 สัปดาห์ และขณะนี้พบว่าแอสตร้าฯ เข็มเดียวไม่เพียงพอป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา การฉีด 2 เข็มกว่าจะมีภูมิคุ้มกันต้องใช้เวลามากถึง 14 สัปดาห์ ขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีนรุ่นที่ 1 และกำลังมองหาวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อครอบคลุมการกลายพันธุ์ ซึ่งจะออกมาในปี 2565 สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ไปคุยกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เตรียมจองซื้อวัคซีนรุ่นที่ 2 แล้ว 
    "ระหว่างนี้อีก 6-7 เดือนนี้จะทำอย่างไรให้คนไทยปลอดภัย นั่นคือการจับคู่วัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ดีพอ ให้ปลอดภัยจากสายพันธุ์เดลตา การฉีดวัคซีนแบบไขว้สลับชนิด เชื้อตายกับไวรัลเวกเตอร์ มีการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลออกมาตรงกันคือภูมิคุ้มกันขึ้นสูงและปลอดภัย ก่อนที่จะมีการปรับสูตร ได้ฉีดไขว้สลับชนิดไปแล้วกว่า 1,000 คน ไม่มีรายงานผลข้างเคียง วัคซีนไขว้สลับชนิดจึงมีหลักฐานทางวิชาการ ยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ฯ กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"