รพ.ปิยะเวทปิดฉากดรามา ชวน:ใช้ตามอำเภอใจไม่ได้


เพิ่มเพื่อน    

"ปิยะเวท" ไม่ดำเนินคดีกับ "ณวัฒน์" เพราะไม่เสียหาย ส่วนรอง ผอ.โรงพยาบาลลาพักร้อน ตามระเบียบหากมีเรื่องกระทบจิตใจของแพทย์ ยันไม่มีการตั้งกรรมการสอบ "ปารีณา" มาแล้ว! ตอกดารา Call Out บางคนแอบจัดปาร์ตี้ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงกักตัว แต่ไม่กักตัว ไร้ความรับผิดชอบสังคม ด้านโฆษก บช.น.เผยมีบุคคลที่มีชื่อเสียงต้องตรวจสอบการทำผิดมากกว่า 25 คน 
    เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่โรงพยาบาลปิยะเวท นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวถึงกรณีที่นายณวัฒน์ อิสรไกรศีล พิธีกรชื่อดังที่เข้ารับการรักษาอาการโควิดที่โรงพยาบาลปิยะเวทและแพทย์ขอให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน หลังจากแพทย์มีความเห็นว่านายณวัฒน์มีอาการดีขึ้นตามลำดับ และควรเริ่มเข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation โดยจะมีแพทย์เฝ้าติดตามอาการอยู่ตลอดผ่านระบบออนไลน์
    นพ.วิทิตกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่มีคลิปเสียงบทสนทนาระหว่างนายณวัฒน์กับรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล และนายณวัฒน์ยังไม่พร้อมที่จะกลับไปรักษาตัวที่บ้าน แต่เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 22 กรกฎาคม นายณวัฒน์ได้โทรศัพท์เข้ามาว่าจะขอกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์ โดยได้ออกจากโรงพยาบาลไปในช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา ยืนยันว่าเป็นการกลับบ้านโดยขออนุญาตอย่างถูกต้อง และแพทย์ได้จ่ายยาพร้อมอุปกรณ์ให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน
    ส่วนกรณีที่นายณวัฒน์ถ่ายทอดสดในห้องพัก ก็เห็นว่าเป็นสิทธิส่วนตัว แต่หากมีการกล่าวพาดพิงถึงสถาบัน องค์กร หรือบุคคลที่สาม ก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง แต่ขณะนี้ทางโรงพยาบาลยังไม่พบว่ามีการกล่าวถึงขั้นทำให้โรงพยาบาลเสียหายและยังไม่มีการดำเนินคดีกับนายณวัฒน์ รวมทั้งเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ
    อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการรักษาตัว ยอมรับว่านายณวัฒน์ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแบบสอดท่อ เป็นเพียงการใส่เครื่องช่วยให้หายใจแบบครอบเพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น ซึ่งไม่มีการใส่ตลอดเวลา ส่วนการเปิด-ปิดกล้องวงจรปิดในห้องพักรักษานายณวัฒน์เปิด-ปิดตามช่วงเวลาที่แพทย์เจ้าของไข้ร้องขอ ซึ่งการติดกล้องวงจรปิดเป็นไปตามวิธีการรักษาของผู้ป่วยโควิดที่ลดความเสี่ยงระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย
    สำหรับกรณีคลิปเสียงระหว่างรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกับนายณวัฒน์ที่มีการเผยแพร่ไป ทางโรงพยาบาลตัดสินใจให้รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพักร้อนชั่วคราว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของโรงพยาบาล ที่หากมีเรื่องกระทบจิตใจของแพทย์ก็จะให้พัก เพื่อป้องกันผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่ยืนยันว่าไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ส่วนแพทย์ที่เป็นประเด็น หากจะมีการฟ้องร้องก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลทางโรงพยาบาลไม่เกี่ยวข้อง
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า นายณวัฒน์อย่าหาทำ ตอนนี้ต้องเสียสละให้คนที่รอความตาย รอการรักษา และขาดโอกาส หากได้เตียงของนายณวัฒน์ให้คนมีโอกาสรักษาก็อาจจะรอดตาย อย่าใจดำ หากแพทย์มีความเห็นว่าสามารถกลับบ้านได้และมีคนรอ โอกาสที่จะเข้าไปรักษาก็ต้องให้โอกาสคนอื่น อย่าเอาความสุขส่วนตัว อย่าเอาสถานการณ์มาโจมตีทางการเมือง
    ด้าน น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า รู้สึกสมเพชมาก ถือเป็นความเห็นแก่ตัว โดยเฉพาะการที่นายณวัฒน์ติดเชื้อโควิด-19 แต่กลับไปโทษการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการทำงานของหมอ ทั้งที่ตัวเองจัดเวทีนางงาม และไปบีบบังคับให้ผู้เข้าประกวดไม่ต้องใส่แมสก์ ซึ่งตามข่าวก็เห็นว่าพอนางงามไม่อยากประกวด ก็จะไปปรับเงินอีก จึงตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วนายณวัฒน์ ติดโควิดมาจากเวทีการประกวดของตนเองหรือไม่ และนายณวัฒน์ก็ไม่ใส่หน้ากาก มีภาพชัดเจน แต่แทนที่จะโทษตัวเอง กลับไปโทษรัฐบาล นายณวัฒน์ ควรสละเตียงให้กลุ่มผู้ป่วยหนักเข้ามา แต่กลับมาเขวี้ยงโถฉี่ มันทุเรศ แทนที่จะเห็นใจหมอที่ทำงานหนัก แต่กลับไปต่อว่าหมอ ดังนั้น ควรดูตัวเองบ้างว่าทำอะไรมาถึงได้ติดโควิด
    น.ส.ปารีณากล่าวต่อว่า กลุ่มดาราที่ออกมา Call Out ได้ถามตัวเองบ้างหรือยัง บางคนแอบจัดปาร์ตี้กัน โดนจับได้ บางคนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัว แต่ก็ไม่กักตัว ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม แล้วจะรอพึ่งแต่วัคซีน ทั้งๆ ตอนนี้ทำเนียบขาวของสหรัฐอเมริกา นักการเมืองที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบโดสแล้วก็ยังติดเชื้อโควิด-19 แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไฟเซอร์ก็ไม่สามารถป้องกันโควิดได้ทั้งหมด ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดตอนนี้คือการมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม และหยุดโทษคนอื่น
    "ตอนนี้รัฐบาลพยายามอะลุ่มอล่วยเต็มที่ แค่ขอความร่วมมือก็ยังไม่ฟังกัน หากเป็นยุค คสช. ป่านนี้ควบคุมได้แล้ว" น.ส.ปารีณากล่าว 
    พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. และโฆษก บช.น. เผยว่า ความผิดของการ call out หรือการแสดงความคิดเห็นจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ขึ้นอยู่กับข้อความและคำพูดของแต่ละบุคคล ส่วนแรกความผิดฐานดูหมิ่นโดยการโฆษณา ส่วนที่ 2 ข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นข้อหา ลหุโทษ ยอมความกันได้เปรียบเทียบปรับได้ตามกฎหมาย และส่วนที่ 3 ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่ง บช.น.จะตรวจสอบทั้งหมด หากพบว่าบุคคลใดเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็จะส่งเรื่องให้ ปอท.พิจารณา หรือบุคคลใดที่เข้าข่ายความผิดดูหมิ่นฯ หรือหมิ่นประมาทฯ ก็จะส่งให้สถานีตำรวจตามที่บุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่เป็นผู้พิจารณาดำเนินคดี
    "ขณะนี้มีบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ต้องรอตรวจสอบมากกว่า 25 คน มีทั้งเข้าข่ายความผิด และไม่เข้าข่ายความผิด ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นอย่างมากในการรวบรวมพยานหลักฐาน" รอง ผบช.น.กล่าว  
    นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า การ call out  ต้องดูแต่ละกรณี เราปกครองด้วยกฎหมาย ถ้าไม่ทำผิดกฎหมายก็ไม่ต้องกังวล ถ้าหากใช้สิทธิ์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเกินกว่าขอบเขตกฎหมายกำหนดไว้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความจริงประเทศไทยถือว่าการใช้สิทธิเสรีภาพสูง แต่เราจะใช้ตามอำเภอใจไม่ได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ สามารถใช้กฎหมายภายใต้ขอบเขต ไม่มีสิทธิ์ใช้กฎหมายเกินขอบเขตเช่นเดียวกัน เขาไม่ผิดแล้วไปกล่าวหาเขา ถือว่าคนกล่าวหาผิด ดังนั้น หากใช้สิทธิ์โดยชอบก็ทำได้ อย่ากังวล แต่ถ้าล่วงเกินจนกระทบสิทธิ์ของผู้อื่น ผู้อื่นก็มีสิทธิ์ หากไปแจ้งความคนที่ไม่ได้ทำผิด ผู้ไปแจ้งความถือว่าแจ้งความเท็จ ต่างฝ่ายต่างมีกฎหมายคุ้มครอง
    นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การวิจารณ์รัฐบาลทำได้โดยเสรี แต่ไม่ใช่การด่าทอ ด่าพ่อล่อแม่ ขู่คุกคามลูกนายกฯ หรือละเมิดสิทธิคนอื่น ถ้าเป็นแบบนั้นก็ผิดกฎหมายแน่นอน ผมเข้าใจศิลปิน ดารา ที่แสดงออกด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่หลายคนก็มีเหตุผลทาง การเมือง ซึ่งก็ต้องว่ากันไป แต่ผมเชื่อว่าประชาชนทราบดีว่าอะไรเป็นอะไร วันนี้ประเทศไทยเจอวิกฤติโควิด-19 หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ผมอยากเห็นความร่วมแรงร่วมใจกันในการต่อสู้กับโควิด-19 มากกว่า ควรพักเรื่องการเมืองหรืออะไรที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งไว้ก่อน ตอนนี้ทุกคนควรร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาวิกฤติโควิดให้คลี่คลายก่อน 
    ขณะที่นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเตือนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าการสนับสนุนคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในทางที่สร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าสนับสนุนให้คนออกมาโพสต์ในทางดูหมิ่นดูแคลนใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น และยังส่งผลให้สังคมแตกแยก ถือเป็นการทำลายขวัญกำลังใจบุคลากรที่ทุ่มเททำงาน จึงขอร้องนายพิธา ควรหยุดสนับสนุนหรือยุยงให้คนออกมาสร้างความแตกแยกในสังคมไทย
    น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส.จันทบุรี พรรคก้าวไกล กล่าวว่า กระแสช่วงนี้ทุกคนออกมาวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทั้งเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนระบบสาธารณสุข มันถึงขั้นที่มีคนติดเชื้อแล้วออกไปเสียชีวิตข้างถนน รัฐบาลคงต้องย้อนไปดูการบริหารงานว่าทำได้ดีมีประสิทธิภาพแค่ไหน ถ้าทำได้ดีแล้วประชาชนก็คงไม่ออกมาวิจารณ์กันขนาดนี้
    ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุว่า กสม.เห็นว่าการแสดงความคิดเห็นของบุคคลสาธารณะและประชาชนทั่วไปต่อการบริหารจัดการของรัฐเพื่อควบคุมและบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ประชาชน รวมทั้งทุกภาคส่วนในสังคมกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก เป็นการใช้เสรีภาพโดยสุจริต แม้อาจมีถ้อยคำที่สื่อสารด้วยอารมณ์ความรู้สึกตามยุคสมัย แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด รัฐบาลจึงพึงรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งคำวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนและนำมาเป็นข้อมูลในการปรับปรุงการบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ให้เกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"