เชิญรอคลังกำลังปั้น คนละครึ่งเดลิเวอรี ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ไม่โดน


เพิ่มเพื่อน    

 เอาแน่ คนละครึ่งเดลิเวอรี "ธนกร" เผยคลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการพัฒนาระบบกลาง เพื่อให้ผู้ให้บริการ Food  Delivery Platform เชื่อมต่อกับระบบคนละครึ่ง เฟส 3 ประชาชนสามารถสั่งอาหารได้รวดเร็ว สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโควิด-19 แต่ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" ไม่เข้าเป้าเตรียมปรับใหม่  

    นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ที่เปิดให้ประชาชนใช้สิทธิ์ล่าสุดไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยติดตามประเมินโครงการเป็นระยะ พบว่า ประชาชนทยอยจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าและใช้สิทธิ์ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการคนละครึ่งอย่างคึกคัก
    แต่การใช้สิทธิ์โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ยังไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการปิดห้างสรรพสินค้าในช่วงนี้ด้วย ทำให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดของโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน และเร่งให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายของโครงการ คือ 1.ขยายระยะเวลาการซื้อสินค้าหรือบริการที่จะได้รับ e-Voucher จากเดิมถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นถึงวันที่ 31 พฤศจิกายน 2564 2.เพิ่มวงเงินการใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณ e-Voucher จากเดิม 5,000 บาท เป็นสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาทต่อคนต่อวัน โดยยังจำกัดวงเงินใช้จ่ายสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน 3.ปรับลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายของโครงการ จากเดิม 4 ล้านสิทธิ์ เป็น 1.4 ล้านสิทธิ์ โดยกรอบวงเงินโครงการ ลดลงจาก 28,000 ล้านบาท เป็น 9,800 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 18,200 ล้านบาท
     นายธนกรกล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจออกไป มีเสียงตอบรับจากประชาชนทั่วประเทศ ใช้จ่ายผ่านโครงการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ยอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิ์สะสมรวม 35.8 ล้านคน ยอดใช้จ่าย สะสมรวม 41,847.8 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิ์สะสม 22 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 38,569.4 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 19,508.1 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 19,061.4 ล้านบาท  2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิ์สะสม 54,007 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 544 ล้านบาท 3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิ์สะสม 13 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,584.4 ล้านบาท และ 4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิ์สะสม 759,155 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 150 ล้านบาท
    อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการพัฒนาระบบกลาง เพื่อให้ผู้ให้บริการ Food  Delivery Platform สามารถเชื่อมต่อกับระบบของโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพื่อประชาชนจะสามารถใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ในการสั่งอาหารผ่าน Food Delivery Platform ได้รวดเร็ว สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโควิด-19  
    ส่วนยอดการลงทะเบียนล่าสุดของวันที่ 23 ก.ค.2564 โครงการคนละครึ่งมีการลงทะเบียนแล้ว 29.77 ล้านคน เหลืออีก 1.23 ล้านคน จะครบ 31 ล้านคน ส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ปรับลดเหลือ 1.4 ล้านสิทธิ์ ขณะนี้เหลืออีก 940,668 สิทธิ์  โดยประชาชนสามารถใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นี้  ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกคน และจะดำเนินการเยียวยาควบคู่ไปกับการดำเนินการป้องกันและรักษาผู้ติดเชื้ออย่างเต็มที่
    น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าโครงการ “มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้” ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2564 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 ให้มีภาระหนี้ลดลง และสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ผ่านกลไกการรับโอนสินทรัพย์หลักประกันเพื่อชำระหนี้ของสถาบันการเงิน พร้อมให้สิทธิ์ซื้อทรัพย์คืน และต่อมา ครม.ยังได้เห็นชอบมาตรการภาษีอากรเพื่อสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้อีกด้วย
    สอดรับมติ ครม.ดังกล่าว กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเรื่อง "กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีหนี้ที่ต้องดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้" และได้มีผลบังคับใช้เมื่อ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีแก่สถาบันการเงินและลูกหนี้ธุรกิจที่ร่วมโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” คาดว่าจะมีผลให้ผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไม่ต้องกังวลกับภาระภาษี เป็นการลดต้นทุนให้กับลูกหนี้และสถาบันการเงิน อีกทั้งสถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น และสำหรับภาคการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.) ได้มีมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เช่นกัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการ (บุคคล/นิติบุคคล) สหกรณ์ภาคการเกษตรที่ประกอบธุรกิจพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม บริการ และธุรกิจเกษตร ที่มีหนี้เงินกู้หรือมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันเงิน ก่อน 1 มี.ค.2564 ผู้สนใจสามารถติดต่อ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ
    ในส่วนของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู นางสาวรัชดากล่าวว่า จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอดการปล่อยสินเชื่อทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ณ วันที่ 19 ก.ค. มียอดรวมทั้งสิ้น 7.8 หมื่นล้านบาท  ครอบคลุมลูกหนี้ 2.5 หมื่นราย คิดเป็นวงเงินเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อราย ซึ่งทาง ธปท.วิเคราะห์ว่า การปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มเป็นตามเป้าหมายร่วมของ ธปท.และสมาคมธนาคารไทยที่ 1 แสนล้านบาท ภายในเดือน ต.ค.นี้ อีกทั้งสินเชื่อมีการกระจายตัวได้ดี ทั้งในแง่ของขนาด ประเภทธุรกิจและภูมิภาค จำนวน 46% กระจายไปยัง SMEs ขนาดเล็ก ขณะที่ 68% อยู่ในภาคพาณิชย์และบริการ และ 68% เป็นธุรกิจในต่างจังหวัด
    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้ติดตามความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่ได้ออกมาโดยตลอด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยประเมินผลการดำเนินงาน และรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนผ่านการหารือในหลายวาระด้วยกัน เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ต่อไป.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"