ตายคาบ้าน21ราย ติดเชื้อ1.7หมื่นดับ165 กลุ่มโคม่าทะลุหลักพัน


เพิ่มเพื่อน    

ทะลุเพดานรายวัน “ศบค.” เปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อทุบสถิติเละทั้งรายใหม่และเสียชีวิต โดยติดเชื้อใหม่ 17,669 ราย ดับ 165 ราย อึ้ง!  เสียชีวิตคาบ้านถึง 21 ราย ส่วนกลุ่มโคม่าทะลุหลักพัน “ปากน้ำ” ตัวเลขน่าห่วง สุดสลดหนุ่มใหญ่นอนตายคาห้องเพราะรอเตียง “โคราช” ผวาพบคลัสเตอร์เก็บขวดเก่าของผู้ติดเชื้อไปขายลามอื้อ “สวิตเซอร์แลนด์” ใจดีมอบชุดตรวจ ATK ให้ไทย 1.1 ล้านชุด 
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 ก.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,669 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 17,391 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 14,782  ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 2,609 ราย มาจากเรือนจำและที่ต้องขัง  261 ราย มาจากต่างประเทศ 17 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม  561,030 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 9,798 ราย หายป่วยสะสม 370,492  ราย อยู่ระหว่างรักษา 185,976 ราย อาการหนัก 4,511 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 1,001 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 165 ราย เป็นชาย 94 ราย หญิง 71 ราย กระจายตัวในหลายจังหวัด โดยมากสุดอยู่ใน กทม. 58 ราย รองลงมาเป็น จ.สมุทรปราการ 32 ราย ปทุมธานี 17 ราย  นนทบุรี 9 ราย อายุน้อยที่สุด 22 ปี อายุมากที่สุด 99 ปี นอกจากนี้พบผู้เสียชีวิตที่บ้าน 21 ราย อยู่ที่สมุทรปราการ 12 ราย, ปทุมธานี 7 ราย,  ร้อยเอ็ด 1 ราย และฉะเชิงเทรา 1 ราย ให้ปัจจุบันมียอดผู้เสียชีวิตสะสม  4,562 ราย 
     สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 3,963 ราย,  สมุทรสาคร 1,172 ราย, นครปฐม 984 ราย, ชลบุรี 982 ราย,  สมุทรปราการ 810 ราย, นนทบุรี 633 ราย, ฉะเชิงเทรา 589 ราย,  ระยอง 394 ราย, ปทุมธานี 313 ราย และอุดรธานี 303 ราย โดยมีคลัสเตอร์ใหม่ 10 แห่งอยู่ที่ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร 4 แห่ง คือ  บริษัทค้าส่งอาหารทะเล พบผู้ติดเชื้อ 23 ราย, โรงงานเนื้อปลาบด 16  ราย, บริษัทอาหารสัตว์ 11 ราย และโรงงานปลาป่น 14 ราย, โรงงานบรรจุภัณฑ์พลาสติก อ.สามพราน จ.นครปฐม 621 ราย, บริษัทแผงวงจร อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี 12 ราย, บริษัทเครื่องพิมพ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง  10 ราย, บริษัทอุปกรณ์การแพทย์ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา 17  ราย, บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 29 ราย และชุมชนรอบโรงงาน อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ 32 ราย ขณะที่ กทม.มีคลัสเตอร์เฝ้าระวังทั้งสิ้น 142 ราย  
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์และรับทราบถึงข้อกังวลของประชาชนถึงความเพียงพอของการผลิตก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ จึงได้สั่งการให้ตรวจสอบและประเมินภาพรวมความต้องการและกำลังการผลิต ซึ่ง รมว.อุตสาหกรรมได้ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศหารือด้านกำลังการผลิต และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้จัดประชุมประเมินความต้องการแล้ว ยืนยันว่าศักยภาพการผลิตของโรงงานยังรองรับความต้องการของประชาชนได้แน่นอน
สวิสมอบ ATK ให้ไทย 1.1 ล้านชุด
    “ภาพรวมกำลังการผลิตทั้งประเทศอยู่ที่ 1,860 ตันต่อวัน และกรณีฉุกเฉินยังเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 2,200 ตันต่อวัน ขณะที่ปริมาณการใช้ก๊าซออกซิเจนทั้งทางการแพทย์และอุตสาหกรรมปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ  1,260 ตันต่อวัน” นายอนุชากล่าวและว่า ประชาชนบางส่วนที่จัดหาและเก็บท่อก๊าซออกซิเจนไว้ใช้ที่บ้านขอให้จัดเก็บอย่างระมัดระวัง เนื่องจากท่อก๊าซออกซิเจนเป็นท่อที่มีความดันสูง หากจัดเก็บหรือใช้งานอย่างผิดวิธีอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ 
    ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ในช่วงเช้าวันที่ 29 ก.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยรับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งรัฐบาลประเทศสวิตเซอร์แลนด์บริจาคให้ โดยมีนางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์  อาร์ทิเอดา เอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์มอบเวชภัณฑ์ดังกล่าว ประกอบด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit จำนวน 1.1 ล้านชุด และเครื่องช่วยหายใจ 102 เครื่อง 
“นอกจากชุดตรวจ Antigen Test Kit ที่ได้รับบริจาคแล้ว  รัฐบาลยังอยู่ระหว่างการจัดหาชุดตรวจอีก 8.5 ล้านชุดเพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้อนุมัติการจัดหาภายใต้วงเงิน 1,014 ล้านบาท โดยขณะนี้กรมควบคุมโรคกำลังวางแผนกระจายชุดตรวจให้ประชาชนได้ใช้ต่อไป” น.ส.ไตรศุลีกล่าว    
    ส่วนที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.) นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.เป็นประธานรับมอบระบบบริหารจัดการผู้ป่วยรอเตียงจากนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ที่ร่วมกับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด จำนวน 2 เครื่อง
    “ประเมินกันว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะรุนแรงไปอีก 4-6  สัปดาห์ จากนั้นทุกอย่างจะดีขึ้น หน้าที่ของคนไทยในวันนี้คือต้องช่วยกัน” นายเอนกกล่าว
    ส่วน พ.อ.อิทธินันท์ โชติช่วง รองผู้อำนวยการกองวิทยาการ กรมแพทย์ทหารบก กล่าวถึงภารกิจเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาด้วยเครื่องบินลำเลียงแบบ C-295 ว่า วันนี้จะทำการบิน 2 เที่ยวบิน เที่ยวบินแรกมีผู้ป่วย 20 คน และเที่ยวบินที่ 2 อีก 20 คน ไปยังสนามบินจังหวัดนครพนม ซึ่งไม่มีเส้นทางรถไฟผ่าน จากนั้นจะกระจายไปยังสถานที่รักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ต่อไป โดยใช้ระยะเวลาบิน 1  ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งในอนาคตการขนส่งผู้ป่วยวิกฤติทางอากาศก็มีโอกาสที่จะใช้รูปแบบนี้เพื่อลำเลียงผู้ป่วยเช่นเดียวกัน
เศร้า! หนุ่มใหญ่บุรีรัมย์ดับรอเตียง
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดต่างๆ นั้น ที่ จ.สมุทรปราการ นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 810 ราย ทำให้ผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ถึงปัจจุบันมี 36,315 ราย เสียชีวิต  32 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 343 ราย 
    ทั้งนี้ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 28 ก.ค. มีชายเสียชีวิตภายในห้องเช่าไม่มีชื่อ  เลขที่ 3/13 หมู่ที่ 13 ซอยกิ่งแก้ว 21/2-1 ถนนกิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งทราบภายหลังว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ชื่อนายไม ศรีคณายุรักษ์ อายุ 48 ปี ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ นอนคว่ำหน้าเสียชีวิตอยู่ที่พื้นห้องข้างโซฟา โดยจากการตรวจสอบพบว่าผู้เสียชีวิตเป็นพนักงานโรงงานเหล็กแห่งหนึ่งใกล้ที่เกิดเหตุ มีอาการป่วยโควิด-19 ซึ่งตรวจสวอบตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.และผลเป็นบวก โรงงานจึงให้หยุดงานและทำการกักตัวอยู่ที่ห้องพัก รอรถพยาบาลมารับไปรักษาอยู่เนื่องจากยังหาเตียงไม่ได้ ทำให้เสียชีวิตในห้องพัก นอกจากนี้ห้องที่อยู่ใกล้กันอีก 2 ห้องยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันนอนรอเตียงเพื่อไปรักษาอีก 3-4 รายด้วย
    สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางรายงานว่า พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 75 ราย เป็นผู้ป่วยจากโครงการระบบรับคนลำปางกลับบ้าน 45  ราย และผู้ติดเชื้อในจังหวัด 30 ราย ทำให้ยอดสะสม 888 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ที่ตรวจพบติดเชื้อในพื้นที่ จ.ลำปางนั้น พบเป็นคลัสเตอร์ใหม่ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โดยพนักงานของห้างติดเชื้อรวม 4 คน เจ้าหน้าที่กำลังสอบสวนโรคอย่างละเอียดหาต้นทางสาเหตุการติดเชื้อ ซึ่งพนักงานภายในห้างมีทั้งหมด 352 คน จะมีการให้มาตรวจหาเชื้อโควิดเพื่อคัดกรองโรคและประเมินความเสี่ยง เพื่อจะได้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขต่อไป
    สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์รายงานว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่อีก 188 ราย กระจายใน 15 อำเภอ รวมยอดผู้ป่วยสะสม 3,062  ราย เสียชีวิตสะสม 7 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 427 ราย และอยู่ระหว่างรักษา 2,628 ราย กระจายตามโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่จังหวัด
ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญรายงานว่า มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่ม 59 ราย เป็นผู้ติดเชื้อเดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที มีผู้เสียชีวิตสะสม 6 ราย
ผงะ! คลัสเตอร์ขายของเก่า
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมารายงานว่า พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงกว่าสถิติการติดเชื้อของจังหวัดอยู่ที่ 426 ราย และผู้ป่วยเสียชีวิตทุกวันติดๆ กัน ล่าสุดเสียชีวิตอีก 3 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 54  ราย โดยในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เป็นผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 212  ราย รวมผู้ป่วยระลอกใหม่สะสมของจังหวัดนครราชสีมา 5,815 ราย  รักษาอยู่ 3,261 ราย และรักษาหาย 2,502 ราย 
    ขณะเดียวกันมีการตรวจพบคลัสเตอร์ใหม่ โดยพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากการเก็บขวดน้ำเก่าที่ปนเปื้อนโควิด-19 มาขาย โดยเป็นคุณตาขับซาเล้ง วัย 73 ปี ติดโควิด-19 จากการเก็บขวดน้ำมาขาย ล่าสุดแพร่เชื้อสู่ครอบครัวแล้ว 8 ราย 
ที่ตลาดสดศรีเมืองทอง ถ.มิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น เจ้าหน้าที่ตลาดได้ติดป้ายปิดตลาดชั่วคราวเป็นเวลา 7 วัน หลังพบพ่อค้าแม่ค้าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ของจังหวัด โดยที่ตลาดแห่งนี้พบผู้ติดเชื้อแล้ว 65 ราย แบ่งเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ติดเชื้อยืนยันล่าสุด 36 คน และคนในครอบครัวของพ่อค้าแม่ค้าที่ติดเชื้อ 29 คน 
ส่วนที่ จ.ตราด มีผู้ติดเชื้อใหม่ 39 ราย และรอการยืนยันอีก 21 ราย  ซึ่งการติดเชื้อยังมาจากคลัสเตอร์ห้างโกลบอลเฮาส์, โรงพยาบาลตราด, โรงงานสยามเดย์มองเต้ และกลุ่มผู้ปฏิบัติศาสนกิจของชาวอิสลาม รวมทั้งที่ซอยลุงโพย ต.วังกระแจะ อ.เมืองตราด ซึ่งสถานการณ์มีแนวโน้มลดลงและควบคุมได้
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวถึงกระแสข่าวทางโซเซียลและทางเน็ตที่ระบุว่า ขณะนี้ระบบสาธารณสุขเมียนมาล่ม มีชาวเมียนมาติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากจะอพยพหนีข้ามมาฝั่งชายแดนไทยว่า การสั่งปิดพรมแดนนั้นเป็นอำนาจของศูนย์สั่งการชายแดนอยู่แล้วที่ทำได้เลย ซึ่งความจริงแล้วระบบสาธารณสุขของเมียนมาไม่ได้ล่มตามข่าว แต่คือระบบสาธารณสุขเมียนมามีน้อยหรือไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ส่วนประเด็นที่มีพ่อค้าเมียนมามีการสั่งซื้อถังออกซิเจนจากไทยจำนวนมากขึ้นนั้น เท่าที่ทราบไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมสามารถซื้อขายได้  แต่หากไทยเริ่มขาดแคลนเราก็จะใช้มาตรการของความมั่นคงดำเนินการห้ามส่งออกทันที
จ.ปัตตานี มียอดผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม​ 211 คน ทำให้ยอดสะสม  8,409 คน และพบผู้เสียชีวิตรายใหม่เพิ่ม​ 1 ​ราย ​ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 113 คน และล่าสุดที่ท่าเทียบเรือปัตตานี บริเวณสะพานปลา ต.บานา อ.เมืองปัตตานี หลังพบผู้ติดเชื้อกว่า 70 ราย เจ้าหน้าที่ได้ลงตรวจเชื้อผู้เกี่ยวข้องกว่า 600 คน ปรากฏว่าพบผู้มีผลเป็นบวก 38 ราย 
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ประธานกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา เปิดเผยว่า พบติดเชื้อใหม่ 215 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมยอดติดเชื้อสะสม 11,378 ราย เสียชีวิตสะสม 62 คน 
    ที่ จ.ภูเก็ต มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 45/2564 โดยมี นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าร่วมเพื่อพิจารณาถึงทิศทางโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยหลังประชุมระบุว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ยังเดินต่อได้และจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ประเมินว่าเอาอยู่หรือไม่ และจะดูทิศทางผู้ป่วยในพื้นที่ภูเก็ตเท่านั้นว่าจะไปต่อหรือไม่ไปต่อ โดยจะประเมินใน 1-2 เดือนนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"