อย่ามองข้ามภัยเงียบเรียนออนไลน์ที่บ้าน "อันตราย"ผู้ปกครองควรรู้..กันไว้ดีกว่าแก้


เพิ่มเพื่อน    

ไม่พูดถึงคงไม่ได้สำหรับภัยหรืออันตรายในช่วงที่เด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน อาทิ อุบัติเหตุเล็กน้อยที่คาดไม่ถึง อย่างการที่เด็กกินขนมระหว่างเรียนทางไกลอยู่บ้าน หรือกินไปเล่นไปจนอาหารติดคอติดจมูก หากผู้ปกครองละเลยอาจถึงกับชีวิตของลูกน้อยได้ โดยเฉพาะหน้าฝนที่พื้นบ้านลื่น  บวกกับความซุกซนของเด็กที่อาจลื่นล้มศีรษะกระแทกพื้นเปียกลื่นได้ หรือแม้แต่พลัดตกสระน้ำ ทั้งนี้ ภัยของเด็กๆ ที่อาจจะเพิ่มความเสี่ยงสูง เนื่องจากเด็กมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น ดังนั้นผู้ปกครองไม่ควรมองข้ามปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะพ่อแม่คนไหนที่อาจต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และทิ้งให้ลูกๆ เรียนออนไลน์เพียงลำพัง 
    ภัยเงียบในบ้านดังกล่าวนี้มีตัวอย่างมาแล้ว ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครอง รู้จักป้องกัน และหาทางรับมือไว้ก่อน ก็จะทำให้หนักกลายเป็นเบา  หรือมีสติที่จะเยียวยาได้อย่างทันท่วงที  
    พญ.พลอยลดา ธนาไพศาลวรกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง และเวชศาสตร์ชะลอวัย ให้ข้อมูลว่า  “อันตรายในเด็กที่พบได้ในช่วงเรียนออนไลน์ ถ้าไม่พูดเรื่องของอาการสมาธิสั้น และโรคอ้วนในเด็กแล้ว สิ่งที่เห็นชัดมากที่สุดคือปัญหาการที่เด็กใช้สายตามากเกินไป เช่น การใช้กล้ามเนื้อตาในการจ้องมองคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือมากเกินไป ประกอบกับการห้องที่มีแสงน้อยหรือแสงสว่างไม่เพียงพอ นั่นจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณกระบอกตาบีบรัด และทำให้เด็กๆ ปวดหัว รวมถึงมีอาการตาแห้ง "
    ดังนั้นช่วงเบรกเพื่อเรียนออนไลน์คาบต่อไป ก็ให้เด็กลุกไปเข้าห้องน้ำ เพื่อหยุดพักสายตาจากการจ้องหน้าจอเป็นเวลานานๆ ที่สำคัญเลือกห้องสำหรับเรียนออนไลน์ ที่มีแสงสว่างมากพอ และมีลมโกรกเย็นสบาย อีกทั้งเป็นห้องหรือสถานที่ค่อนข้างเงียบ เช่น ระเบียงข้างบ้าน ศาลาเล็กในสวนหลังบ้าน เป็นต้น เพื่อให้เด็กๆ มีสมาธิกับการเรียนมากขึ้น อีกทั้งได้พักสายตาจากการมองต้นไม้ดอกไม้ในสวน ทั้งนี้ ระหว่างที่เด็กเรียนออนไลน์ แนะนำให้ผู้ปกครองเดินเข้ามาดูหรือพูดคุยกับลูกหลานเป็นระยะ โดยเลือกช่วงเวลาที่เด็กจบคาบเรียนนั้นๆ  เพื่อคลายเครียดและชวนให้ลูกหยุดพักสายตาจากการจ้องหน้าจอเป็นเวลานานๆ ซึ่งหลักๆ ก็เป็นโรคทางตาในเด็กมากกว่า
    ส่วนประเด็นเรื่องการที่เด็กลื่นล้ม หรือเด็กจมน้ำในช่วงหน้าฝน ก็เป็นอีกอุบัติเหตุที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในเด็กอยู่แล้ว หรือพบได้ทั่วไป และมักจะมีรายงานเด็กจมน้ำเข้ามาเรื่อยๆ เป็นประจำทุกปี แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองก็ต้องหมั่นคอยสังเกต และไม่ให้ลูกหลานออกไปเล่นไกลบ้านหลังจากเลิกเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะหากบ้านเรือนตั้งอยู่ใกล้ริมน้ำ เพื่อป้องกันเด็กจมน้ำ ส่วนอันตรายจากการที่เด็กลื่นล้ม หรือหกล้มจากพื้นบ้านที่มีตะไคร้น้ำเกาะอยู่ ตรงนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องจัดการทำความสะอาดบ่อยๆ อย่าให้พื้นบ้านลื่นและมีตระไคร้น้ำจับ โดยเฉพาะบ้านไหนที่พื้นบ้านเป็นหินอ่อน ที่อาจจะมีสิ่งแปลกปลอมมาเกาะจับได้ง่ายในช่วงหน้าฝนอย่างนี้ หรือหากบ้านไหนมีสวนหน้าบ้านหลังบ้าน ก็แนะนำให้เด็กไปวิ่งเล่นในสวนรอบๆ บ้านจะดีที่สุด เพราะนั่นไม่เพียงแค่เด็กๆ จะได้อยู่ในสายตาผู้ปกครอง แต่ยังช่วยลดอันตรายจากการที่เด็กเล่นตามลำพังได้เช่นเดียวกัน”
    ด้าน “พี่แอ้-พรวรินทร์ นุตราวงศ์” พยาบาลเกษียณราชการ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช บอกว่า “ปัญหาและอันตรายที่พบได้ในเด็กเรียนออนไลน์ที่พี่เห็นหลักๆ คือการที่เด็กแอบเล่นเกมมากขึ้น จากการที่น้องๆ เรียนออนไลน์ผ่านระบบ Zoom เพราะเด็กๆ สามารถปิดกล้องไม่ให้ครูเห็นรูปตัวเองขณะเรียน แต่เด็กนำรูปภาพอื่นมาใส่เป็นรูปโปรไฟล์อื่นแทนรูปตัวเอง และเด็กๆ ก็จะแอบเล่นเกมโดยที่ครูไม่รู้ นั่นจึงทำให้เขาเรียนไม่เต็มที่ หรือตามมาด้วยปัญหาเด็กติดเกมได้เช่นเดียวกัน รองลงมาคือการที่ความสนใจ หรือสมาธิในการเรียนออนไลน์มีน้อยลง ซึ่งต่างจากการเรียนในห้องเรียน ตรงนี้คุณครูสามารถปรับการเรียนการสอนให้น่าสนใจ เพื่อให้เด็กสนใจและกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้น เพราะการที่เด็กนั่งเรียนออนไลน์และฟังครูไปเรื่อยๆ มันก็จะไม่มีผลต่อการเรียนมากนัก แต่เมื่อไรที่ครูปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้ดูทันสมัย และกระตุ้นให้เด็กไม่เบื่อระหว่างเรียนออนไลน์ได้ เช่น ครูบางคนที่เปลี่ยนการท่องสูตรวิชาเรียนต่างๆ ให้เป็นบทเพลง หรือกลอนอย่างง่ายๆ ที่คล้องจอง เพื่อให้เด็กสามารถจดจำได้ เด็กจะได้ทั้งความรู้ และสนุก รวมถึงอยากที่จะเรียนในวันต่อไปๆ มากขึ้น โดยไม่รู้เบื่อจากการนั่งเรียนออนไลน์ทั่วๆ ไป เป็นต้น  
    “ปัญหาอื่นๆ ที่พบได้ในช่วงการเรียนออนไลน์ของคุณน้องๆ หนูๆ คือเด็กๆ จะเหงาเพราะไม่ได้เจอเพื่อน โดยเฉพาะบางครอบครัวที่ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานในช่วงนี้ และทิ้งให้ลูกเรียนออนไลน์อยู่บ้านเพียงลำพัง ตรงนี้เด็กจะเหงาเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งอันที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องทางจิตใจ โดยเฉพาะความว้าเหว่ที่อาจจะพบได้ในเด็กที่ต้องเรียนอยู่บ้านเพียงคนเดียว ซึ่งปัญหานี้ก็จะแก้ไขได้โดยที่ทั้งคุณครูเอง ที่ควรปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้เข้าใจง่าย น่าสนใจ และเด็กตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา และควรกำหนดเวลาพักให้เหมาะสม เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้ใช้เวลาดังกล่าวอย่างคุ้มค่า โดยการชวนลูกคุย หากว่าครอบครัวไหนที่ผู้ปกครองทำงานที่บ้าน ก็จะช่วยลดปัญหาความเหงาที่เด็กต้องเรียนที่บ้านได้เช่นกัน หรือถ้าครอบครัวไหนที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ก็สามารถใช้เวลาพักคาบเรียน เพื่อโทรศัพท์พูดคุย หรือสื่อสารระหว่างกันผ่านแอปพลิเคชันไลน์กับลูก เพื่อให้เด็กๆ รู้สึกว่าแม้ไม่ได้เจอเพื่อนที่โรงเรียน แต่เขาก็ยังมีพ่อแม่คอยห่วงใยโทรศัพท์มาถามไถ่อยู่ตลอดเวลาค่ะ นอกจากนี้ ปัญหาโรคอ้วนก็พบได้ ในช่วงที่เด็กต้องเรียนอยู่บ้าน และรับประทานอาหารมากขึ้นเช่นกัน 
    อีกเรื่องที่ลืมไม่ได้คือการที่เด็กกินขนมติดคอ จากการที่เรียนไป กินอาหารไป และตาจ้องมือถือไป ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดในเด็กเล็กเป็นสำคัญ เพราะเป็นวัยที่ซุกซนและอยู่ไม่นิ่ง ตรงนี้ผู้ปกครองสามารถร่วมกันหาทางออกได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือเด็กโต โดยการฝึกหัดน้องๆหนูๆตั้งแต่เล็กๆ ว่าเวลาทำอะไรก็ให้ทำเสร็จเป็นเรื่องๆ หรือทำเสร็จเป็นอย่างๆ เพื่อให้เด็กๆ นั้นมีสมาธิอยู่กับ การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ เช่น ในขณะเรียนออนไลน์ ก็ต้องไม่กินขนมไม่กินอาหาร แต่ควรฝึกให้เด็กๆ กินให้อิ่มและรับประทานอาหารให้ตรงเวลาก่อนที่จะถึงเวลาเข้าเรียน ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันเด็กกินจุบจิบและเป็นโรคอ้วนได้เช่นเดียวกัน พูดง่ายๆ ว่าสอนวินัยของการมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนสำเร็จ แต่นั่นทำให้เป็นนิสัยติดตัวที่เด็กๆ จะนำไปใช้ดำเนินชีวิตด้านอื่นๆ ด้วย 
    “ประการสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เพื่อให้การเรียนออนไลน์บ้านของเด็กมีประสิทธิภาพมากขึ้น แนะนำให้ผู้ปกครองถามลูกหลานว่า “วันนี้เด็กๆ ได้อะไรจากการเรียนออนไลน์บ้าง?” ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังกลายๆ เพื่อให้เด็กๆ รู้จักการรับผิดชอบตัวเอง ด้วยการตั้งใจเรียนกับคุณครู เพื่อมาสรุปให้พ่อแม่ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองสามารถฝึกทั้งความอดทน ฝึกสมาธิ และฝึกการรับผิดต่อตัวเองโดยการตั้งใจเรียน ท่ามกลางปัญหาหรือข้อติดขัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์ ทั้งปัญหาสุขภาพอนามัยด้านต่างๆ ก็ดี หรือแม้แต่สมาธิจดจ่อในการเรียน ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถลดน้อยลง จากการที่เด็กได้รับการปลูกฝังจากพ่อแม่ ในเรื่องของรับผิดชอบที่เริ่มจากตัวเอง กระทั่งสร้างวินัยต่อตัวเองไปสู่ผู้อื่นที่อยู่รอบตัวเด็กเอง อาทิ ผู้ปกครอง สมาชิกท่านอื่นๆ ในบ้าน รวมถึงเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนๆ ในโรงเรียนเช่นเดียวกัน”.

มุมมองพ่อแม่...ห่วงเด็กท่องโลกออนไลน์..กู่ไม่กลับ

    "พี่สุ" วัย 52 ปี พนักงาน กทม. บอกว่า “โดยส่วนตัวนั้นมีลูก 3 คน แต่มีลูก 2 คนที่ต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งลูกชายคนโตนั้นเรียน ปวส. แต่ลูกชายคนเล็กเรียนอยู่ชั้น ม.1 โรงเรียนดาวคะนอง ส่วนตัวเป็นห่วงลูกชายคนเล็กที่ต้องเรียนออนไลน์ทุกวัน และแม่ต้องออกมาทำงานนอกบ้าน ก็เป็นห่วงเรื่องการเล่นเกมหลังจากเรียนเสร็จ เพราะเด็กจะอยู่บ้านและไม่ได้ไปไหน ทำให้มีเวลาอยู่กับโซเชียลฯ มากขึ้น ส่วนอีกเรื่องนั้นก็เป็นห่วงเรื่องการใช้ไฟฟ้า ที่บางครั้งเด็กๆ มักจะชอบเปิดทีวีทิ้งไว้ ก็เป็นห่วงเรื่องไฟชอร์ตหรือลัดวงจรได้ เนื่องจากน้องยังเล็กอยู่ ซึ่งก่อนออกจากบ้านทุกวันคุณแม่ก็จะเตือนให้ลูกคอยหมั่นดูปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า คือถ้าอุปกรณ์อันไหนไม่ได้ใช้ก็ให้ถอดออก เพราะเด็กๆ อาจเผอเรอตอนที่กำลังเรียนออนไลน์ค่ะ ส่วนคุณแม่พอเลิกงานก็รีบกลับบ้านไปดูลูกๆ ค่ะ”
    ขณะที่ ศราวุทธิ์ จิตวรวิสุทธิ์ วัย 46 ปี บอกว่า “อันตรายหรือภัยที่ลูกสาววัย 8 ขวบต้องพบในช่วงเรียนออนไลน์ที่บ้าน บางครั้งหลังจากที่ลูกเรียนออนไลน์นั้นมักจะดูยูทูบมากเกินไป เพราะเด็กจะมีเวลาว่างหลังจากการเรียนเยอะ และเพื่อป้องกันลูกสาวไม่ให้อยู่กับโซเชียลฯ มากเกินไป หรือดูคลิปต่างๆตลอดทั้งวันนั้น คุณพ่อก็จะใช้วิธีการสอนลูกอ่านหนังสือ หรือจากที่ทำการบ้านท้ายบทเรียนเสร็จ น้องก็จะได้ความรู้เพิ่มขึ้นไปอีกนิดหนึ่งครับ และตัวคุณพ่อเองก็ได้ใช้เวลาอยู่กับลูกมากขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นห่วงในฐานะคนเป็นพ่อนั้น คือบางครั้งการที่เด็กอยู่กับโลกออนไลน์มากเกินไปอาจจะเข้าไปสู่เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เช่น การพนัน หรือเว็บไซต์อนาจารต่างๆ ตรงนี้ก็อยากให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่ช่วงนี้มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น คอยสอดส่องดูแลบุตรหลานด้วยครับ”
    ปิดท้ายกันที่ พี่แอ๋ว วัย 33 ปี บอกว่า “ส่วนตัวมีลูกชาย 1 คน อายุ 9 ขวบ และทุกวันนี้ต้องเรียนออนไลน์วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เรียกได้ว่าเรียนเกือบตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ดังนั้นอันตรายที่เป็นห่วงลูกคือการที่ลูกชายใช้สายตาในการจ้องโทรศัพท์มือถือเกือบตลอดทั้งวัน และเนื่องจากเรียนออนไลน์ผ่านทางโทรศัพท์ ทำให้น้องต้องใส่หูฟังเป็นเวลานานๆ ตรงนี้จึงเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของลูกชาย ทั้งเรื่องสายตาที่อ่อนล้า และการที่เด็กฟังหูฟังเป็นเวลานานๆ ก็อาจจะทำให้ส่งผลต่อการได้ยินในอนาคตหรือไม่ นอกจากนี้ก็รู้สึกสงสารลูกชายมากที่สุด เนื่องจากเห็นลูกเครียดเวลาที่ต้องเรียนออนไลน์ ส่วนหนึ่งเวลาที่ลูกชายไม่เข้าใจคลิปวิดีโอที่คุณครูส่งมาให้เรียนนั้น ลูกไม่สามารถถามครูได้ ซึ่งไม่เหมือนกับการเรียนออนไลน์แบบวิดีโอคอล ที่เด็กสามารถถามครูได้ เพราะท้ายชั่วโมงครูจะเปิดโอกาสให้เด็กถามหากไม่เข้าใจ แต่คลิปวิดีโอการสอนที่คุณครูทำขึ้นมา เมื่อเด็กไม่เข้าใจทุกอย่างก็จะผ่านไปเลย ตรงนี้ถ้าเป็นไปได้ก็มองว่าทางแก้ไขคือการที่เด็กควรไปเรียนในโรงเรียนได้อย่างปลอดโควิด-19 ก็ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และโดยส่วนตัวก็พยายามให้กำลังใจลูกให้สู้ๆ เพราะสุดท้ายแล้วทุกอย่างก็จะผ่านไปได้ด้วยดี”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"