กห.ฮึ่ม!หยุดเถอะ รัฐประหารทำยาก


เพิ่มเพื่อน    

 กลาโหมฮึ่ม! ข่าวปลอมทหาร 300 นายจับ "บิ๊กตู่" ทำรัฐประหาร  ขอร้องให้หยุดเถอะ ยันยึดอำนาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ ผบ.ทบ.สั่งแจ้งความเอาผิดคนเผยแพร่ข่าวแล้ว ตร.ประสานเสียง เข้าข่ายจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

    เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการที่มีกลุ่มคนที่ปล่อยข่าวเผยแพร่ลงในโซเซียลมีเดียอ้างว่าทหารได้ทําการรัฐประหารแล้วว่า เรื่องดังกล่าวมันไม่ใช่ง่ายที่จะทำ และเป็นการซ้ำเติมประเทศชาติ ในภาวะวิกฤติชาติเวลานี้เราควรที่จะร่วมมือร่วมใจกันทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพราะช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นภาวะสงครามโรคติดต่อ ซึ่งมันสามารถระบาดได้กับทุกคน
    “ขอร้องให้หยุดเถอะ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ขอให้หยุดการกระทำเช่นนี้ การสร้างข่าวปลอมหรือการสร้างข่าวลือในปัจจุบันนี้ ก่อให้เกิดความหวาดกลัวตื่นตระหนกตกใจ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมประเทศชาติ ให้หมดความน่าเชื่อถือ เป็นการสร้างความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน มันไม่เป็นผลดีกับประเทศชาติ ในยามสถานการณ์ยากลำบากเช่นนี้ เราต้องการความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวที่สูงสุด ให้ผ่านพ่นวิกฤตินี้ไปด้วยกันทั้งประเทศ” พล.ท.คงชีพกล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้มอบให้ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อํานวยการสํานักงานพระธรรมนูญทหารบก (ผอ.สธน.ทบ.) เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข่าวอันเป็นเท็จกับทางพนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา  
    หลังกองทัพบกได้ตรวจสอบพบว่ามีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กระบุชื่อ "Nathapong Akkara" ได้กระทำการนำเข้าสู่ระบบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ  ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (2 ) และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องกับทางเจ้าของเพจเฟซบุ๊กระบุชื่อ "Nathapong Akkara" และหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิด อาทิ การแชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อให้ได้รับโทษตามกฎหมายต่อไป
    ขณะที่  พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ตรวจพบข่าวปลอมอีก 2 กรณี คือ
    1.กรณีที่มีการแชร์ข้อมูลว่าตอนนี้กองกำลังทหารกว่า 300 นาย ได้ควบคุมตัวนายกรัฐมนตรีไว้แล้วเพื่อให้กองทัพบกทำการรัฐประหารนั้น ทางกองทัพบกได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า เป็นข้อมูลเท็จ เป็นการสร้างเรื่องเท็จหวังให้เกิดความวุ่นวายในสังคม เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายชื่อเสียงกองทัพและรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ผู้บัญชาการทหารบกได้มอบให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบกเข้าดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่ปล่อยข่าวปลอมดังกล่าวต่อไป
    2.จากที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร ตราอินทารา ซึ่งระบุสรรพคุณในการจำหน่ายว่าเสริมภูมิคุ้มกันโรค ป้องกันไม่ให้ติดไวรัสในกลุ่มทางเดินหายใจ ลดการอักเสบที่ปอดและทางเดินหายใจจากการติดเชื้อ ต้านเชื้อไวรัส และรักษาโรคโควิด-19 ได้นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบและยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม และใช้ข้อความโฆษณาที่เป็นข้อมูลเท็จ ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่งหรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนก
สร้างเรื่องเท็จหวังให้วุ่นวาย  
    ซึ่งการกระทำของผู้เผยแพร่ข่าวปลอม อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1), (2), (5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพฤติการณ์ที่ได้กระทำความผิด โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดต่อไป ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com
    น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า การเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียเตรียมทำการรัฐประหาร ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกองทัพบก กระทรวงกลาโหม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ เป็นการสร้างเรื่องเท็จหวังให้เกิดความวุ่นวายในสังคม เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายชื่อเสียงกองทัพและรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ผู้บัญชาการทหารบกได้มอบให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบกเข้าดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่ปล่อยข่าวปลอม
    โฆษกกระทรวงดีอีเอสกล่าวว่า ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่งหรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกองทัพบก กระทรวงกลาโหม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://www.moi.go.th/ หรือโทร. 0-2241-0404 ขอฝากเตือนประชาชนว่าการผลิตและเผยแพร่ข่าวปลอม หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความตื่นตระหนก เกิดความสับสนวุ่นวาย จะเสี่ยงถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีโทษทั้งจำและปรับ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาด จริงจัง และต่อเนื่องต่อไป
    คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นางปรีดา คงแป้น, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี, นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์, นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับเรื่องร้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ (Zoom meeting) จากผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย,  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กรณีขอให้ตรวจสอบการคุกคามการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชนโดยรัฐ
    สืบเนื่องจากกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 และฉบับที่ 29 ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งระบุมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยองค์กรวิชาชีพสื่อเห็นว่า ข้อกำหนดฯ ทั้ง 2 ฉบับ เป็นการให้อำนาจรัฐใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางในการควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนตลอดจนการใช้สื่อออนไลน์ของประชาชนทั่วไป อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างชัดแจ้ง
กสม.เตือนรัฐบาลให้ทบทวน
    ในการนี้ กสม.ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรวิชาชีพสื่อ โดยมีความห่วงกังวลต่อการบังคับใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 และฉบับที่ 29 ซึ่งไม่เพียงจะกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ โดยก่อนหน้านี้ กสม.เคยออกมาย้ำเตือนรัฐบาลให้ทบทวนข้อกำหนด ฉบับที่ 27 โดยเฉพาะข้อที่ 11 แล้ว
    อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ตามมาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีสาระให้อำนาจรัฐครอบคลุมไปถึงการกำกับดูแลสื่ออินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด และเมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรการการจัดการข่าวปลอม หรือ Fake news ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัวให้แต่ละหน่วยงานแก้ไขปัญหาและแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในการเผยแพร่ข่าวปลอมด้วยนั้น ยิ่งอาจทำให้การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชนต้องตกอยู่ในภาวะถูกคุกคาม และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่ง กสม.จะได้ตรวจสอบและจัดทำรายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในประเด็นดังกล่าวเสนอรัฐบาลต่อไป
    “ในภาวะวิกฤติ การรับรู้และส่งต่อข้อมูลข่าวสารอาจมีความคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้องได้ ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อย่างไรก็ดี การจำกัดการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนและประชาชนอย่างเคร่งครัด อาจยิ่งไม่เป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ” ประธาน กสม.กล่าว
    ทั้งนี้ ในการพูดคุยกับผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ กสม.ยังได้หารือถึงแนวทางในการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย เช่น การส่งเสริมความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ไม่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) หรือละเมิดสิทธิผู้อื่น เสรีภาพในการสื่อสารและการแสดงออกของประชาชน และการกำกับดูแลกันเองของสื่อเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง
    นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า สิ่งที่ผู้มีอำนาจจะต้องรีบดำเนินการแทนการปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชน คือการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ประชาชนว่าสถานการณ์เป็นเช่นไร รัฐบาลกำลังดำเนินการอะไร และประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
    "ประชาชนมีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ไม่ใช่รับรู้ได้แต่เพียงสิ่งที่ผู้มีอำนาจนำเสนอ เพราะประชาชนย่อมมีวิจารณญาณ และใช้ความคิดในการทำความเข้าใจและตัดสินใจว่าจะเชื่อสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ การมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดจะทำอะไรก็ได้ หากแต่การใช้อำนาจเด็ดขาดนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น และต้องไม่ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญเกินสมควร" นายณัฐชากล่าว.

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"