คุกไม่ได้มีไว้ขังเฉพาะคนจน! ปธ.ศาลฎีกาถ่ายทอดผ่านผู้กำกับดูแลผู้ต้องหา


เพิ่มเพื่อน    

2 ส.ค. 64 - นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกากล่าวถึงการดำเนินงานของศาลยุติธรรมที่มีการนำวิธีการกำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว  มาใช้แทนการเรียกหลักประกันตั้งเเต่ช่วงปี 2561 ว่า การปล่อยชั่วคราวหรือการประกันตัวเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งต้องถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ กฎหมายบัญญัติให้ศาลพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยต้องอนุญาตให้ประกันตัวเป็นหลัก การไม่อนุญาตให้ประกันตัวเป็นข้อยกเว้นซึ่งต้องมีเหตุที่จะไม่อนุญาตตามกฎหมาย

ในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรมที่ผ่านมา แม้จะปรากฏว่ามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวกว่าร้อยละ 90 ของคำร้องที่ยื่นขอ แต่การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวดังกล่าวมักเรียกเงินสด ทรัพย์สิน หรือบุคคลเป็นหลักประกัน เพื่อเหนี่ยวรั้งมิให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี ส่งผลให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอต้องถูกจองจำในระหว่างการพิจารณาคดี แม้ว่าศาลจะกำหนดมาตรฐานระยะเวลาในการพิจารณาคดีที่จำเลยถูกคุมขังให้แล้วเสร็จไปโดยเร็ว แต่การถูกคุมขังเพียงเพราะไม่มีทรัพย์สินมาประกันตัวนั้นย่อมก่อให้เกิดเหลื่อมล้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ศาลยุติธรรมจึงนำเครื่องมือ และวิธีการต่าง ๆ มาใช้ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแทนการเรียกหลักประกันเพื่อขยายโอกาสในการปล่อยชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) การทำสัญญาประกันโดยไม่เรียกหลักประกัน และการวางเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยปฏิบัติตามในระหว่างการปล่อยชั่วคราวโดยตั้งผู้กำกับดูแลให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย  

ซึ่งการตั้งผู้กำกับดูแลนี้เป็นมาตรการสำคัญที่ทำให้ภาคสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมในการดูแลความปลอดภัยของสังคมร่วมกัน นับตั้งแต่ศาลตั้งผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 พบว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ในกำกับดูแลหลบหนีน้อยกว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่วางหลักประกันต่อศาลในการปล่อยชั่วคราว อีกทั้งผู้ต้องหาหรือจำเลยหลายคนสามารถกลับตัวเป็นคนดีได้จากการกำกับดูแล

ด้านนายชัยพิพัฒน์ กระแสเทพ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านเเห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และเป็นผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้กำกับดูแลคนแรกของประเทศไทยในคดีทำร้ายร่างกายผู้อื่น เมื่อปี พ.ศ. 2561 เล่าให้ฟังว่า “ผมไปร่วมประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านของอำเภอบ้านด่านที่มีการจัดประชุมทุกเดือน นายอำเภอแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประกันตัวโดยการแต่งตั้งผู้กำกับดูแลให้ทราบ ต่อมาผมได้รับการแต่งตั้งจากศาลจังหวัดบุรีรัมย์ให้เป็นผู้กำกับดูแลในคดีหนึ่ง ซึ่งผมทราบว่าเป็นคดีเรื่องแรกที่มีการตั้งผู้กำกับดูแล ผมมีหน้าที่รับรายงานตัวผู้ต้องหาตามคำสั่งของศาล  คอยตักเตือน และดูแลไม่ให้ไปกระทำผิดอีกในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมดูแล และผมให้ผู้ต้องหาช่วยเหลืองานสาธารณะประโยชน์ในหมู่บ้านเป็นประจำ ตอนแรกที่ได้รับแต่งตั้งผมรู้สึกกังวลใจว่าถ้าให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ประกันลูกบ้าน หากระหว่างประกันแล้วลูกบ้านหนีไป ผู้ใหญ่บ้านจะต้องรับผิดชอบอย่างไรและศาลจะลงโทษผู้ใหญ่บ้านด้วยหรือไม่ แต่เมื่อได้มาทำงานจริง ๆ รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ไม่มีหลักประกัน ช่วยไม่ให้ต้องไปอยู่ในเรือนจำ ผมคิดว่ากฎหมายเกี่ยวกับการตั้งผู้กำกับดูแลเป็นกฎหมายที่ดี เพราะช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ไม่มีหลักประกันและให้ผู้ใหญ่บ้านมาดูแลโดยการรับรายงานตัวและคอยตักเตือนสอดส่องดูแล เป็นการแบ่งเบาภาระจากศาลไปสู่ผู้นำชุมชน คดีที่ผมกำกับดูแลเป็นคดีแรก ปรากฏว่าผู้ต้องหากลับตัวเป็นคนดีได้อีกครั้ง และมาขอบคุณผมที่ช่วยเหลือไม่ให้ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ผมจึงภูมิใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้  คดีของลูกบ้านคนนี้เสร็จสิ้นนานแล้ว ปัจจุบันท่านยังบวชเป็นพระอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา”

นายฉัตรชัย สวัสดิ์วนาทร กำนันตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับการแต่งตั้งจากศาลจังหวัดกาญจนบุรีให้เป็นผู้กำกับดูแล กำนันฉัตรชัยเล่าให้ฟังว่า “ผมได้รับแต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแลมาแล้ว 4 คดี โดยเจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรีโทรศัพท์ติดต่อมาและแจ้งให้ผมทราบว่ามีลูกบ้านของผมถูกตำรวจจับ เจ้าหน้าที่ศาลถามผมว่า ผมรู้จักลูกบ้านคนนี้และทราบความประพฤติของลูกบ้านคนนี้หรือไม่ ผมก็เล่าความประพฤติของลูกบ้านให้ฟัง เจ้าหน้าที่ศาลถามว่าหากศาลอนุญาตให้ประกันตัวและแต่งตั้งผมให้เป็นผู้กำกับดูแลผมจะรับทำหน้าที่หรือไม่ ผมเลยตอบยินดี หลังจากได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแลแล้ว ลูกบ้านจะมารายงานตัวกับผมตามกำหนดนัดที่ศาลสั่ง แต่บางครั้งลูกบ้านลืม ผมก็โทรไปตามให้มารายงานตัว บางทีผมให้สารวัตรกำนันหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านไปตามมารายงานตัว ผมรู้สึกดีที่ได้ทำหน้าที่ของผู้นำชุมชนที่ต้องคอยดูแลความสงบเรียบร้อยของลูกบ้านอยู่แล้ว  และยังได้ช่วยเหลือศาลคอยดูแลคนที่ได้ประกันตัวออกมาด้วย ผู้ต้องหาบางทีก็อยู่ไกลหูไกลตาศาล กำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ในพื้นที่อยู่แล้วจึงช่วยดูแลได้ ผมรู้สึกว่าการมีผู้กำกับดูแลแบบนี้ดี ดีกว่าการให้ผู้ต้องหาไปเช่าหลักทรัพย์หรือไปกู้หนี้ยืมสินเสียเงินทองไปประกันตัว แต่ให้มาอยู่ในความดูแลของกำนันผู้ใหญ่บ้านจะได้ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนด้วย แต่ถ้าผู้ต้องหาที่มีความประพฤติไม่ดี ทำผิดข้อหาร้ายแรงหรือทำผิดซ้ำซาก กำนันผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ค่อยรับกำกับดูแล เพราะอาจทำให้ชุมชนเดือดร้อนและศาลก็ไม่ควรปล่อยคนเหล่านี้ออกมา ผมเคยเจอผู้ต้องหาที่รับเป็นผู้กำกับดูแล ไม่มีรถไม่มีเงินที่จะเดินทางไปศาลในวันที่ศาลนัด ผมก็อาสาขับรถพาไปศาล แม้ไม่ใช่หน้าที่ตามศาลสั่ง แต่ผมรับเป็นผู้กำกับดูแลแล้วก็อยากทำให้ดีที่สุด ปัจจุบันยังมีลูกบ้านอยู่ในการกำกับดูแลของผมเพราะให้การปฏิเสธต่อสู้คดีในศาล ระหว่างนี้ผมก็ช่วยดูแล คอยเตือนไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ก็เห็นตั้งใจทำมาหากินดี เพราะผมบอกว่าถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ผมจะไม่รับเป็นผู้กำกับดูแลให้ต่อ”

นายสุชาติ ชูชื่น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ผู้กำกับดูแลของศาลจังหวัดสงขลา เล่าให้ฟังว่า “ผมติดตามและทราบข่าวจากโทรทัศน์ในคดีดังคดีหนึ่งว่าศาลให้ประกันตัวและตั้งผู้กำกับดูแล แต่ก็ยังไม่เข้าใจคืออะไร ใครจะเป็นผู้กำกับดูแลได้บ้าง ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดสงขลามาให้ความรู้พร้อมคู่มือการปฏิบัติหน้าที่ผู้กำกับดูแล และส่งวีดีโอเรื่องผู้กำกับดูแลมาให้ดู ทำให้ผมเข้าใจ ในวันที่เจ้าหน้าที่ศาลโทรศัพท์มาสอบถามผมว่าประสงค์จะเป็นผู้กำกับดูแลโดยให้มีหน้าที่รับรายงานตัวผู้ต้องหาหรือไม่ ผมรู้สึกดีใจและยินดีจึงตอบรับ เพราะผมรู้จักผู้ต้องหาที่เป็นลูกบ้านเป็นอย่างดีและทราบข่าวแล้วว่าเขาถูกตำรวจจับตัวไป เขาเป็นคนยากจน พ่อแม่เช่าที่นาคนอื่นทำกิน ทำงานหาเช้ากินค่ำ ประกอบกับหมู่บ้านของผมห่างจากศาลจังหวัดสงขลาเกือบ 100 กิโลเมตร การเดินทางไม่สะดวกและผู้ต้องหาไม่มีรถ ผู้ต้องหาและพ่อแม่ดีใจที่ศาลให้ประกันโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว เพราะหากศาลให้ใช้หลักทรัพย์คงต้องติดคุก ผมรับรายงานตัวผู้ต้องหาตามคำสั่งศาลโดยติดต่อให้มารายงานตามวันที่ศาลกำหนด ผมกับผู้ต้องหานัดหมายกันในเวลาที่ว่างตรงกัน บ้านของผมกับผู้ต้องหาห่างกันไม่มากนัก และผมพยายามสอดส่องพฤติกรรมของเขาอยู่ตลอดเวลา ถือได้ว่าเป็นการป้องปรามอีกทางหนึ่ง ผมเป็นผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่คนในหมู่บ้าน และอำนวยความสะดวกให้ลูกบ้านในการติดต่อหรือรับบริการกับส่วนราชการ รู้สึกดีใจที่ศาลให้โอกาสในการเป็นผู้กำกับดูแลและคนที่ศาลตั้งให้ผมกำกับดูแลเป็นลูกบ้านของผมเอง ซึ่งหน้าที่ในการดูแลลูกบ้านเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ใหญ่บ้านอยู่แล้ว แล้วยังได้ทำงานร่วมกับทางศาลอีก การปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลเป็นงานไม่ยุ่งยากถือว่าเป็นการช่วยราชการ ซึ่งการรับรายงานตัวแทนศาลถือว่าเป็นเกียรติแก่ผมมาก โดยเฉพาะได้ช่วยงานของศาลจังหวัดสงขลาแล้ว ผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ผมยังได้รับความรู้เพิ่มขึ้นจะได้นำความรู้และประสบการณ์ไปสอนลูกบ้านต่อไป ก่อนหน้านี้ผมทราบว่าหากใครถูกจับดำเนินคดีต้องเอาเงินหรือหลักทรัพย์หรือตำแหน่งไปประกันตัว ถ้าไม่มีก็ต้องติดคุก ซึ่งคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะคนในพื้นที่อำเภอระโนดบ้านผม ส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำและในสถานการณ์โรคโควิดระบาด การทำมาหากินก็ยาก เศรษฐกิจไม่ดี ผู้คนลำบาก หากต้องให้หาเงินมาประกันตัวคงทำไม่ได้ ตั้งแต่ได้รับข้อมูลจากทางศาลว่ามีการปล่อยแบบไม่ต้องมีประกัน ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือการประกันตัวโดยแต่งตั้งผู้กำกับดูแล ทำให้ญาติพี่น้องของผมซึ่งเป็นชาวไร่ชาวนาได้เข้าถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวมากขึ้น “คุกจะไม่มีไว้ขังเฉพาะคนจนอีกต่อไป”

นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ผู้กำกับดูแลในคดีชาวบ้านบางกลอยถูกกล่าวหาในความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ได้เล่าให้ฟังว่า “เมื่อผมได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้กำกับดูแลผู้ต้องหาในคดีนี้ ผมรู้สึกดี เพราะชาวบ้านไม่ต้องไปรายงานตัวที่ศาล ต้องขอบคุณศาลที่เข้าใจชาวบ้านว่าเวลาเดินทางมาศาลแต่ละครั้งยากลำบากมาก เนื่องจากที่พักผมห่างจากที่พักของชาวบ้านทั้ง 28 คน ผมจึงเดินทางไปยังที่พักของชาวบ้านแทนเพื่อรับรายงานตัวทุกครั้ง หลังจากรับรายงานตัวแล้วผมจะส่งภาพถ่ายทั้ง 28 คนให้เจ้าหน้าที่ศาลทางไลน์ ผมรู้สึกดีใจมากเพราะไม่นึกว่าศาลจะกรุณาชาวบ้านและไว้วางใจผมให้ดูแลแทน ผมจึงคอยดูแลชาวบ้านตลอด ไม่ให้พวกเขาไปไหนและไม่ให้ไปทำอะไรที่ผิดกฎหมายซ้ำ ผมรู้สึกว่าศาลมีความเข้าใจและเห็นใจชาวบ้านมากจึงได้แต่งตั้งผู้นำในชุมชนเพื่อเป็นผู้กำกับดูแลชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาผมไม่เคยเห็นการแต่งตั้งผู้นำชุมชนรับและคอยดูแลผู้ต้องหาแบบนี้มาก่อน ผมพร้อมที่จะทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่ศาลอย่างดีและมีความรู้สึกดีที่ศาลมีความกรุณาชาวบ้านที่กระทำความผิดโดยเจตนาหรือไม่ได้เจตนาก็ตาม ผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่บ้านเมืองเรามีความยุติธรรม มีความเข้าใจและเห็นใจชาวบ้าน และชาวบ้านยังมีที่พึ่งเป็นบ้านสุดท้ายให้แก่พวกเขา"

นายชัยณรงค์ สีสาร ผู้ใหญ่บ้านโนนแต้ ตำบลท่าสองคอน อำเภอเมือง มหาสารคาม เล่าให้ฟังว่า "ผมทราบเรื่องผู้กำกับดูแลจากที่ประชุมในวันประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านประจำเดือน ศาลจังหวัดมหาสารคามมาแนะนำและให้ความรู้ที่หอประชุมอำเภอเมืองมหาสารคาม ผมได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้กำกับดูแล ศาลสั่งให้ผู้ต้องหามารายงานตัวที่บ้านผม ผู้ต้องหาจะถือเอกสารมาหาผมและมารายงานตัวที่ผม ผมจะถ่ายรูปการรายงานตัวไว้และส่งให้ศาลจังหวัดมหาสารคามทราบ ผมภูมิใจที่ได้รับหน้าที่ดูแลผู้ต้องหา เวลาเขาไปไหนเขาจะมาบอก ผมติดตามดูความประพฤติของเขาตลอด เป็นผลดีมากเลย ตอนนี้คดีเขาเสร็จแล้ว ตัดสินแล้ว ให้ไปรายงานตัวที่คุมประพฤติ บ้านผมกับผู้ต้องหาอยู่ใกล้กัน ห่างกันเพียงบ้านสามหลังประมาณยี่สิบเมตร ผมว่าโครงการตั้งผู้กำกับดูแลเป็นโครงการที่ดีมาก ผู้ต้องหาเขาได้อยู่บ้าน ได้ทำมาหากิน ไม่ต้องถูกขัง เขามีอาชีพค้าขาย ขายของตามตลาดนัด ทำนาด้วย เขามีนาหกไร่ ผมอยากเชิญชวนเพื่อนผู้ใหญ่บ้านให้เข้าร่วมโครงการนี้ครับ ดีมากเลยครับที่ผมที่รับมอบหมายผม ผมภูมิใจมากเลย”

ปัจจุบันศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทุกศาลทั่วประเทศมีผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวที่ขึ้นทะเบียนกับศาลไว้แล้ว และสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้จำเลยหรือผู้ต้องหามีโอกาสได้รับการปล่อยชั่วคราวได้มากขึ้น สะดวกขึ้น โดยไม่จำต้องมีหลักทรัพย์แล้ว ผู้กำกับดูแลดังกล่าวยังมีบทบาทในการให้คำแนะนำแก่จำเลยหรือผู้ต้องหาในการประกอบสัมมาชีพสุจริต กลับตัวเป็นพลเมืองดีได้อีกด้วย

นางบุศรา เกิดวิชัย พฤกษมาศ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ผู้กำกับดูแลที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งทุกคนมีความยินดี กระตือรือร้นและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดี สามารถทำหน้าที่สอดส่องดูแลและรับรายงานตัวได้ตรงตามเวลาที่ศาลกำหนดและรายงานยืนยันการปฏิบัติหน้าที่ให้ศาลทราบทางระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบ real time ทุกครั้ง ทั้งมีข้อมูลรายงานจากผู้กำกับดูแลเพื่อทำหน้าที่รับรายงานตัว สอดส่องดูแล และผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาว่า ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้กำกับดูแลสามารถเข้าไปดูแล ให้คำแนะนำได้อย่างใกล้ชิด จากสถิติของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังไม่ปรากฎว่ามีผู้ถูกปล่อยชั่วคราวในคดีที่ศาลตั้งผู้กำกับดูหลบหนีหรือไปก่อภัยอันตรายหรือความเสียหายในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ทำให้ผู้พิพากษามีความมั่นใจในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยนำเงื่อนไขในการตั้งผู้กำกับดูแลมาใช้เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนที่ไม่สมควรต้องถูกขังได้รับโอกาสในการปล่อยชั่วคราว ปัจจุบันศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีผู้แสดงความประสงค์เป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมากกว่า 1,500 คน ท่านก็อาจเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวโดยคำสั่งศาลได้ เพื่อช่วยกันลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นและรักษาความสงบสุขของสังคม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"