เปิดโพล‘สอท.’ แรงงานวิกฤติ การผลิตทรุด!


เพิ่มเพื่อน    

เปิดผลสำรวจ สอท.โควิด-19 กระทบด้านแรงงานอย่างหนัก ส่งผลการผลิต-ส่งออกลดลง หมดเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ย้ำรัฐต้องเร่งฉีดวัคซีน พร้อมรักษาแรงงานที่ติดเชื้ออย่างครอบคลุม ด้าน “เอสเอ็มอีแบงก์” งัดอีก 15,000 ล้านบาท เข็น 3 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อเติมทุนช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เคาะปล่อยกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท พร้อมเปิดกว้างทุกธุรกิจ เปิดรับคำขอกู้ยาวถึง 30 มิ.ย.2565
    เมื่อวันจันทร์ นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 8 ในเดือน ก.ค.2564 ภายใต้หัวข้อ “การจัดการปัญหาแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ มองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น จนส่งผลทำให้กำลังการผลิตลดลงและกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นี้
     "เราต้องการให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสถานประกอบการ รวมทั้งรักษาศักยภาพในการผลิตและการส่งออกของประเทศ รวมถึงการสนับสนุนด้านการรักษาพยาบาลแรงงานที่ติดเชื้อ และสนับสนุนยา อาหาร และเวชภัณฑ์ให้แก่แรงงานที่ติดเชื้อในการรักษาตัวที่บ้าน และการลดเงินสมทบประกันสังคม เหลือ 1% ถึงสิ้นปี 2564" นายวิรัตน์กล่าว
    จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 166 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า อัตราการจ้างงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดนั้น ส่วนใหญ่ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถคงอัตราการจ้างงานเท่าเดิม คิดเป็น 53.6% มีการจ้างงานลดลง 10-20% คิดเป็น 31.3% มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 10-20% คิดเป็น 10.3% และมีการจ้างงานลดลงมากกว่า 50% 
คิดเป็น 4.8%
    ในส่วนของผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พบว่าโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนได้รับผลกระทบทำให้ต้องลดกำลังการผลิตลงน้อยกว่า 30% คิดเป็น 45.2% โรงงานที่ไม่ได้รับผลกระทบ คิดเป็น 26.5% ที่กำลังการผลิตลดลง 30-50% คิดเป็น 20.5% และที่กำลังการผลิตลดลงมากกว่า 50% คิดเป็น 7.8% เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ แรงงานบางส่วนต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาโรค หรือกักตัว รวมทั้งการปิดโรงงานชั่วคราวตามข้อกำหนด คิดเป็น 51.8% รองลงมา สถานประกอบการไม่สามารถหาแรงงานสัญชาติไทยได้เพียงพอต่อความต้องการ คิดเป็น 49.4% และมาตรการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ของแรงงานข้ามจังหวัด คิดเป็น 41.6%
    สำหรับมาตรการที่ภาครัฐควรนำมาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การสนับสนุนเงินอุดหนุนในการจ้างแรงงานไทย และขยายโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ คิดเป็น 50.0% รองลงมาเป็นการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมทดแทนการใช้แรงงาน คิดเป็น 48.8% และการอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU เฉพาะแรงงานที่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้ว มีการทำประกันสุขภาพ และต้องผ่านการกักตัว 14 วัน เข้ามาทำงาน คิดเป็น 45.8%
    ด้านนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ภายในประเทศที่ยังขยายตัวในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมาก ทั้งปัญหายอดขายและรายได้ลดลง ดังนั้นเอสเอ็มอีแบงก์จึงออกมาตรการทางการเงินเสริม ด้วยแพ็กเกจสินเชื่อเติมทุน SMEs มีสุข ยิ้มได้ วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท ภายใต้ 3 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ได้แก่ 1.SMEs D เติมทุน, 2.SMEs มีสุข และ 3.SMEs ยิ้มได้ ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีวงเงินเพิ่มขึ้น นำไปใช้เสริมสภาพคล่อง และลดต้นทุนทางการเงิน
    ทั้งนี้ โดยเปิดกว้างเอสเอ็มอีทุกกลุ่มธุรกิจ คุณสมบัติกู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ วงเงินกู้สูงขึ้นถึง 15 ล้านบาทต่อราย ได้แก่ สินเชื่อ SMEs D เติมทุน วงเงิน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี เปิดโอกาสรับรีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงินเดิม ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน ผ่อนนานถึง 10 ปี และสินเชื่อ SMEs มีสุข วงเงิน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5% ต่อปี สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเงินลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือปรับเปลี่ยนธุรกิจ รองรับการเติบโตในอนาคต ผ่อนนานถึง 10 ปี และสินเชื่อ SMEs ยิ้มได้ วงเงิน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี ทบทวนวงเงินได้ทุกปี ช่วยเติมทุนหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถบริหารจัดการธุรกิจไม่มีสะดุด โดยเปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2565
    อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจใช้บริการแจ้งความประสงค์ได้ผ่านทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ https://www.smebank.co.th/, แอปพลิเคชัน SME D Bank ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android และ LINE Official Account : SME Development Bank เป็นต้น รวมถึง สาขาของ SME D Bank ทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"