อินโดฯบี้พม่ายอมรับทูตอาเซียน เมิน'มิน อ่อง หล่าย'ดัน'วีระศักดิ์ ฟูตระกูล'


เพิ่มเพื่อน    

รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียเรียกร้องเมียนมาอนุมัติการแต่งตั้งทูตพิเศษที่อาเซียนเสนอ หลังจากพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประกาศชัดในสุนทรพจน์เมื่อวันอาทิตย์ว่า ต้องการให้นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล อดีตรมช.ต่างประเทศของไทยรับหน้าที่นี้

แฟ้มภาพ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Sefa Karacan/Anadolu Agency via Getty Images)

    รอยเตอร์รายงานว่า การแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของอาเซียน เพื่อทำหน้าที่หาหนทางยุติความรุนแรงและส่งเสริมการสานเสวนาระหว่างรัฐบาลทหารกับฝ่ายต่อต้านนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแผน 5 ข้อที่ผู้นำอาเซียนและผู้นำเมียนมาตกลงกันไว้ในการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนเมษายน แต่ในการแถลงข่าวของเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย เมื่อวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม รัฐมนตรีหญิงผู้นี้กล่าวว่า อาเซียนไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการปฏิบัติตามแผนนี้เลย

    เธอกล่าวว่า ความล่าช้าไม่เป็นผลดีต่ออาเซียน และหากยังไม่มีการดำเนินการใด เรื่องนี้ก็ควรถูกส่งกลับไปให้พวกผู้นำกำหนดแนวทาง

    องค์การสหประชาชาติและอีกหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐและจีน เรียกร้องให้อาเซียนเป็นผู้นำในการดำเนินความพยายามทางการทูตเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพในเมียนมา ในคำแถลงผ่านระบบสื่อสารทางไกลเมื่อวันจันทร์ เรตโนกล่าวว่า อินโดนีเซียหวังว่าเมียนมาจะอนุมัติข้อเสนอของอาเซียนในการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษโดยทันที และทูตอาเซียนผู้นี้ควรมีอิสระในการเคลื่อนไหวในเมียนมาและสามารถเข้าถึงฝ่ายต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

    รายงานรอยเตอร์กล่าวว่า "ฝ่ายต่างๆ" ที่ว่านี้ เธอน่าจะหมายรวมถึง ส.ส.เมียนมาที่โดนปลดหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งหลายคนโดนคุมขัง

    รัฐมนตรีอินโดนีเซียไม่ได้ระบุว่าอาเซียนเลือกใครมารับตำแหน่งทูตพิเศษ แต่นักการทูตหลายคนเผยกับรอยเตอร์ว่า เอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไน เป็นตัวเก็งที่จะรับตำแหน่งนี้

    เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในฐานะผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เผยในคำกล่าวสุนทรพจน์ของเขาว่า เขาต้องการให้นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เป็นทูตของอาเซียน แต่ "มีการเปิดเผยข้อเสนอใหม่ และเราไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้" แม้เขาจะกล่าวด้วยว่า เมียนมาพร้อมจะทำงานบนความร่วมมือกับอาเซียนภายในกรอบการทำงานของอาเซียน รวมถึงการสานเสวนากับผู้แทนพิเศษของอาเซียนประจำเมียนมา

    สุนทรพจน์เดียวกันนี้ ผู้นำทหารเมียนมายังประกาศว่า เขาจะจัดการเลือกตั้งแบบหลายพรรคการเมืองและยุติภาวะฉุกเฉินภายในปี 2566 และต่อมาในวันเดียวกัน สภาบริหารแห่งรัฐประกาศ (เอสเอซี) ว่า นายทหารผู้นี้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเฉพาะกาล

    ด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ประกอบด้วยอดีต ส.ส.และฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ประณามการแต่งตั้งมิน อ่อง หล่าย เป็นผู้นำของรัฐบาลเฉพาะกาล ซึ่งจะมาทำหน้าที่แทนเอสเอซี ว่าเป็นความพยายามสร้างความชอบธรรมตามกฎหมาย

    "การเปลี่ยนผ่านจากสภาทหารไปเป็นรัฐบาลรักษาการเป็นการสะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า พวกเขากำลังเตรียมการต่อสู้ทางการทูตระหว่างประเทศ, พยายามพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาเป็นรัฐบาล" อ่อง เมียว มิน รัฐมนตรีสิทธิมนุษยชนในรัฐบาลเงา กล่าว "อย่างไรก็ดี มีข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กองทัพไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"