เริ่มฉีดไฟเซอร์ให้ด่านหน้า รจภ.แจกยาน้ำเชื่อมฟาวิฯ


เพิ่มเพื่อน    

วัคซีนไฟเซอร์ชุดแรกถึง 69 รพ.ในพื้นที่ 10 จังหวัด เริ่มฉีดบุคลากรทางการแพทย์แล้ว เร่งให้ครบตามเป้าภายในเดือนนี้ กต.แจงกฎฉีดวัคซีนให้ นศ.ไทยเรียนต่อต่างแดน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จ่อยื่น อย.ขึ้นทะเบียนซิโนฟาร์มสำหรับเด็ก แจก "ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์" 6 ส.ค. 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทย วันที่ 4 ส.ค. มีจำนวน 383,607 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสมจำนวน 18,961,703 โดส และในปัจจุบันวัคซีนไฟเซอร์ที่จะส่งให้บุคลากรทางการแพทย์เพื่อกระตุ้นภูมิได้มีการกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด สำหรับวัคซีนที่ฉีดให้นักศึกษาที่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศและได้โควตาตรงนี้ ขอให้ไปลงทะเบียนโดยสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อนัดหมายการฉีดวัคซีน 
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.5 ล้านโดส ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่ได้จัดวางไว้ ทั้งการเตรียมพร้อมบุคลากรที่จะทำหน้าที่ให้บริการฉีดทั้งด้านเทคนิคและวิธีการฉีดวัคซีน ให้เป็นไปตามมาตรฐานของวัคซีนไฟเซอร์ รวมทั้งระบบการติดตามเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดอาร์เอ็นเอ มีความเข้มข้นสูง ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่กำหนดเพื่อคงประสิทธิภาพวัคซีน ซึ่งได้ให้สถาบันบำราศนราดูรจัดอบรมออนไลน์ทีมบุคลากรของสถานพยาบาลกว่า 600 คนทั่วประเทศเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกนี้จะเร่งฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อโควิด-19  ให้เป็นไปตามที่สถานพยาบาลหรือสถานบริการพิจารณา เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
    นพ.โอภาสกล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์จะเก็บรักษาอยู่ในความเย็นอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส มีอายุได้เพียง 1 เดือน ดังนั้นจึงแบ่งการจัดส่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงที่ 1 คือวันที่ 4-7 ส.ค. ครอบคลุมทั้ง 77  จังหวัด โดยในวันที่ 4-5 ส.ค.นี้ดำเนินการส่งไปถึงปลายทางแล้ว 10  จังหวัด ได้แก่ กทม., จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง,  สมุทรปราการ, นครนายก, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี  รวมสถานพยาบาล 69 แห่ง ซึ่งพื้นที่สามารถแจ้งขอเพิ่มเติมได้ตามจำนวนและความต้องการ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการส่งให้ช่วงที่สอง 
    ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์แล้วทั้ง กทม.และต่างจังหวัด อาทิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, สถาบันบำราศนราดูร, โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี, โรงพยาบาลชลบุรี,  โรงพยาบาลสมุทรปราการ, โรงพยาบาลนครนายก, โรงพยาบาลสระบุรี, โรงพยาบาลระยอง เป็นต้น บางแห่งได้เริ่มฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ไปแล้วในช่วงบ่ายวันที่ 5 ส.ค. และจะครบตามเป้าหมายภายในเดือน ส.ค.นี้ จากนั้นจะเร่งดำเนินการในกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ต่อไป
    ที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า มีชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทยลงทะเบียนเพื่อขอรับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว 35,455 คน ซึ่งการฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ความจำเป็นเร่งด่วนเดียวกับกรณีของคนไทย อาทิ ผู้สูงอายุ  หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้มีโรคร้ายแรง 
    สำหรับนักเรียน นักศึกษาสัญชาติไทย ที่มีกำหนดต้องเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศภายในปีนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  ได้ประกาศแนวทางการขอรับวัคซีนแล้ว ดังนี้ 1.นักเรียน/นักศึกษาไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนในเว็บไซต์ศูนย์ฉีดวัคซีนและสุขภาพบางรัก https://form.jotform.com/Bangrak_VH/BangrakVHcenter แล้วเลือก “Thai Student  planned to go abroad for education in  2021” จากนั้นสามารถนัดหมายการเข้ารับวัคซีนได้ โดยรอยืนยันการตอบรับทางอีเมล ซึ่งต้องใช้เอกสารแนบ ได้แก่ สำเนาหนังสือเดินทางที่มี Student Visa (วีซ่าสำหรับนักเรียน/นักศึกษา) และหลักฐานการรับยืนยันเข้าศึกษาจากสถาบันการศึกษาเป็นลายลักษณ์อักษร 2.นักเรียน/นักศึกษาที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆ ต้องลงทะเบียนในเว็บไซต์ http://qr.w69b.com/g/m2TKAo9GM ซึ่งเปิดระบบทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในสัปดาห์ที่ 2 ของทุกเดือน จากนั้นให้รอการตรวจสอบเอกสารประมาณ 3-5 วัน และจะได้รับอีเมลหรือข้อความเอสเอ็มเอสยืนยัน จึงจะสามารถนัดหมายการรับวัคซีนตามหมายเลขโทรศัพท์ที่แจ้ง 
    ส่วนกรณีของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานผ่านเอ็มโอยูของกระทรวงแรงงาน หรือแรงงานต่างด้าวที่มีเลขประกันสังคมนั้น กระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแลการจัดฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้ และจะแจ้งข้อมูลให้ทราบต่อไป
    ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า  อยู่ระหว่างรอเอกสารจากผู้ผลิตวัคซีนซิโนฟาร์มในประเทศจีน เพื่อยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับเด็กกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากมองว่าทุกคนต้องได้วัคซีนในวงกว้างและในปริมาณที่รวดเร็ว แม้แต่เด็กเล็กๆ เพราะในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เป็นการได้รับเชื้อมาจากผู้ที่ยังไม่ได้วัคซีน ซึ่งหากเด็กติดเชื้อมักจะมีอาการน้อยและมีโอกาสแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้
    วันเดียวกัน ที่สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศ.นพ.นิธิ พร้อมด้วย พล.อ.ต.นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด แถลงข่าวและชี้แจงข้อมูลการพัฒนาและคิดค้นสูตรตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ต้านเชื้อไวรัสสำหรับเด็ก และผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด ตำรับแรกในประเทศไทย     
    พญ.ครองขวัญ เนียมสอน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์  กล่าวว่า ขณะนี้มีการทดลองใช้จริงในคนไข้เด็ก ช่วงอายุ 8 เดือน-5 ปี  จำนวน 12 ราย โดยพบว่าตอบสนองต่อการรักษาได้ดีและไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง เบื้องต้นแนะนำให้ยาเป็นเวลา 5 วัน โดยวันแรก หรือยา 2  มื้อแรก ต้องรับยาค่อนข้างมากตามที่กำหนด คือ 4 เท่าของปริมาณปกติ  เพื่อให้ระดับยาในเลือดสูงขึ้นเพียงพอต่อการแข็งตัวของไวรัส จากนั้นให้เป็นไปตามข้อกำหนด และต้องติดตามใน 4 วันและต่อเนื่อง
     พล.อ.ต.นพ.สันติกล่าวว่า การให้ยาใน รพ.จะไม่มีปัญหา โดยมีข้อบ่งชี้เป็นผู้ป่วยเด็ก หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถกินอาหารได้เอง และต้องมีผลตรวจเชื้อโควิดด้วยแอนติเจนเทสต์คิตก่อน หากเป็นบวกก็ให้ยา จากนั้นค่อยคอนเฟิร์มด้วยการตรวจแบบ RT-PCR สำหรับช่องทางการลงทะเบียนขอรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับแพทย์สามารถสแกน  QR Code หรือสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไต์ https://favipiravir.cra.ac.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เริ่มวันที่  6 ส.ค.นี้ ในระยะแรกให้บริการได้ 100 รายต่อสัปดาห์ เฉลี่ย 20 รายต่อวัน จะได้รับยาหลังลงทะเบียนแล้ว 1 วัน จัดยาไม่เกินเวลา 20.00 น.  ส่วนค่าใช้จ่ายในการจัดส่งอาจจะต้องรับผิดชอบเอง ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลไหนอยากจะได้สูตรยาไปผลิตเอง ราชวิทยาลัยฯ ก็มีความยินดีที่จะให้สูตรยาไปผลิต แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของราชวิทยาลัยฯ เท่านั้น
    ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานองค์กรช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้นำหลักฐานเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับ นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือเฟกนิวส์ โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จ กรณีการจัดหาวัคซีน 20 ล้านโดส.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"