ครป.-เครือข่ายองค์กรประชาชนแนะ 5 ข้อใช้หลักสิทธิมนุษยชน แก้ปัญหาการชุมนุมทางการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

(แฟ้มภาพ)

6 ส.ค.64 - คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 7/2564 ระบุว่า  คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายองค์กรประชาชน มีข้อห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่มีแนวโน้มที่จะขยายความรุนแรงขึ้นและนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในเดือนสิงหาคมนี้ จากความขัดแย้งและไร้ทางออกของรัฐบาลที่ยากจะแก้ไขปัญหาให้เกิดเสถียรภาพและสันติสุขในบ้านเมืองได้ เนื่องจากความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลที่เผด็จอำนาจฉ้อฉลโดยมิชอบมาอย่างยาวนาน

ครป. และเครือข่ายองค์กรประชาชนเห็นว่า ทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงทางสังคมในสถานการณ์ที่ประเทศเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงนั้น ทุกฝ่ายโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องใช้หลักสิทธิมนุษยชนเป็นวิธีการจัดการปัญหา เพื่อหยุดอาชญากรรมแห่งรัฐและความรุนแรงทางสังคมโดยสันติ ซึ่งครป.และเครือข่ายองค์กรประชาชน มีข้อห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมืองและขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

 
 1. ขอคัดค้านการต่ออายุ พรก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 2 เดือน เนื่องจากการประกาศใช้กฎหมายพิเศษมากว่า 1 ปี 4 เดือนนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และเป็นการทำลายระบบนิติรัฐ-นิติธรรมตามครรลองประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาและทำกลไกรัฐตามปกติให้ไม่สามารถทำงานได้ รวมถึงขอคัดค้านการออกประกาศข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 30 วันที่ 1 สิงหาคม 2564 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ฉบับที่ 9 วันที่ 3 สิงหาคม 2564 โดย พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งทั้ง 2 ฉบับล่าสุดนั้นเจตนาเป็นการตั้งใจใช้อำนาจรอนสิทธิ์พลเมืองและละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยข้ออ้างการระบาดของโรคโควิด ทั้งที่สามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ได้ ก่อนหน้านี้ การที่รัฐบาลออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ฉบับที่ 27-29 ก็เพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวซึ่งเป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนและคุกคามประชาชนอย่างชัดเจน

2. การชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อต่อต้านและขับไล่รัฐบาลนั้น เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างสันติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยและหลักสิทธิมนุษยชนที่กฎหมายอื่นจะเหนือกว่าไม่ได้ โดยเฉพาะเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่รัฐบาลจะละเมิดไม่ได้ รัฐบาลและเจ้าหน้าที่จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเข้าคุกคามเพื่อปิดกั้นสิทธิดังกล่าวไม่ได้ แต่จะต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ใช้สิทธิทางการเมืองดังกล่าวตามกรอบรัฐธรรมนูญและหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ดังนั้น เพื่อใช้สิทธิทางการเมืองดังกล่าวอย่างเต็มที่ ขอให้ผู้ชุมนุมจัดการชุมนุมโดยสันติ อดทน อดกลั้นและช่วยกันจัดการปัญหาเฉพาะหน้าไม่ให้เกิดการยั่วยุ การใช้ความรุนแรงและปลุกระดมความเกลียดชัง รวมถึงประสานงานเตรียมทีมแพทย์อาสากรณีมีคนบาดเจ็บเฉพาะหน้าและมาตรการป้องกันโควิดระบาดอย่างเข้มงวด หากเกิดเหตุความรุนแรงและสถานการณ์วิกฤตที่ไม่สามารถควบคุมได้ ขอให้สถาบันการศึกษาและวัดเป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ส่วนเจ้าหน้าที่จะต้องไม่ใช้ความรุนแรงและบุกเข้าไปคุกคามจับกุมผู้ชุมนุม และกระทำการใดๆที่อาจเป็นเหตุในการขยายความขัดแย้งรุนแรงต่อไปจนยากแก้ไขและเกิดเหตุจลาจลอลหม่านอันเป็นวิกฤตรัฐที่ล้มเหลวในที่สุด

3.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดความคิดการสลายการชุมนุมที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากการชุมนุมที่ผ่านมายังไม่ปรากฏลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงจนเป็นเหตุถึงขั้นที่รัฐบาลต้องตัดสินใจใช้มาตรการในการสลายการชุมนุมและพึงระวังการละเมิดหลักการสลายการชุมนุม กฎและมาตรฐานสากลในการใช้กำลัง และอย่าใช้ทหารเข้ามาแก้ปัญหาการเมือง โดยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อยุติความรุนแรงและการสร้างเงื่อนไขการปะทะ โดยออกมาตรการเท่าที่จำเป็นเพื่อปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกคนตามภาระหน้าที่โดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่ากับประชาชนกลุ่มใด และขอเรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องคุ้มครองนักกิจกรรมเพื่อสังคม ยุติการดำเนินคดีแกนนำประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยมิชอบ โดยใช้ความรุนแรงและการข่มขู่คุกคาม โดยขอให้ดำเนินนโยบายเพื่อสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) ในอนาคตเพื่อเริ่มต้นกระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติและสร้างความปรองดองภราดรภาพในสังคม

4. ขอเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยวิถีทางการเมือง เช่น โดยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทันที ซึ่งจะเป็นการรับผิดชอบต่อปัญหาความแตกแยกรุนแรงที่เกิดขึ้นและสามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ เนื่องจากศูนย์กลางของปัญหาคือความไร้ความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต่อปัญหาของชาติบ้านเมือง จนทำให้ตำแหน่งนั้นไร้เกียรติและสูญเสียความไว้วางใจจากประชาชนจนหมดสิ้นแล้ว หาไม่แล้วการหลงยึดติดในอำนาจอาจทำให้สังคมเกิดกลียุคขึ้นในไม่ช้า

5. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมืองร่วมกัน โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างจริงจัง และเน้นการเจรจาในการแก้ไขปัญหา สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นระบบบนหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญจะต้องเข้ามามีบทบาทในการยุติการขยายความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงบทบาทของรัฐสภาในการหาทางออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ขอให้รัฐสภาเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเร่งด่วนเพื่อเป็นทางออกในวิกฤตประชาธิปไตย รวมถึงการปฏิรูปสถาบันต่างๆ ให้ส่งเสริมและสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็เป็นบทบาทของรัฐสภาเช่นกัน และหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลให้มีการเสนอเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยขอให้สมาชิกจากพรรคร่วมรัฐบาลยกมือออกเสียงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อแสดงความรับผิดชอบร่วมกันก่อนสถานการณ์จะบานปลายจนไร้ทางออก

ครป. และองค์กรภาคประชาชน ขอให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันจับตาสถานการณ์ความรุนแรงร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยสร้างบรรยากาศสันติประชาธรรมในการพูดคุยหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรงทั้งกายภาพและทางวาจาที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) การจงใจยั่วยุหรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดสถานการณ์ หรือสนับสนุนในการสร้างความรุนแรงทางสังคมหรือต่อผู้อื่น ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดอคติและความเกลียดชังทางสังคมจนเกิดการสนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดทางอาญาจนเกิดความรุนแรงทางสังคมที่ขยายบานปลายออกไปได้ เพื่อร่วมกันสมานฉันท์เพื่อชาติบ้านเมืองขับไล่รัฐบาลฉ้อฉลออกไปโดยฉันทามติของสังคมโดยเร็วที่สุด

 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.)
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
สถาบันสังคมประชาธิปไตย

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"