เกิน2หมื่น3วัน! ไทยรั้งอันดับ39


เพิ่มเพื่อน    

ทุบสองสถิติอีก! ติดเชื้อทะลุ 2 หมื่นสามวันติด ดับ 191 ราย ขณะที่ยอดหายป่วยสูงกว่าอยู่ที่ 22,179 ราย เจอคลัสเตอร์ใหม่ 5 แห่ง สธ.ชี้ตรวจ ATKเป็นบวกเข้าระบบได้เลย ก่อนตรวจ RT-PCR คู่ขนาน กทม.ปรับแผนสู้โควิด เร่งฉีดวัคซีน 25 จุด บี้ทุก รพ.ขยายรับผู้ป่วยเหลือง-แดง
    เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,379 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 20,885 ราย มาจาก ระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16,812 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 4,073 ราย,  มาจากเรือนจำ 484 ราย, เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 714,684 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 22,179 ราย หายป่วยสะสม 495,904 ราย อยู่ระหว่างรักษา 212,926 ราย อาการหนัก 4,999 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,038 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 191 ราย เป็นชาย 115 ราย หญิง 76 ราย อยู่ใน กทม.มากที่สุด 100 ราย เสียชีวิตที่บ้าน 2 ราย อยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทราและอุบลราชธานีจังหวัดละ 1 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 5,854 ราย 
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 4,700 ราย, สมุทรสาคร 1,355 ราย, สมุทรปราการ 1,336 ราย,  ชลบุรี 1,325 ราย, นนทบุรี 716 ราย,  ปทุมธานี 552 ราย, ฉะเชิงเทรา 527 ราย,  นครปฐม 476 ราย, สระบุรี  427 ราย,  อุบลราชธานี 358 ราย มีคลัสเตอร์ใหม่ 5 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทผลิตเหล็กหล่อ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อ 16 ราย, โรงงานยางในรถ อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี 17 ราย, บริษัทก่อสร้าง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง 15 ราย, บริษัทพืชสวน อ.เมืองฯ จ.ราชบุรี 40 ราย, โรงงานสับปะรดกระป๋อง อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ 64 ราย  
    ทั้งนี้ ตัวเลขการติดเชื้อของไทยจำนวน 21,379 ราย ทำให้เว็บไซต์ www.worldometers.info/coronavirus/ ซึ่งเป็นเว็บรวบรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก จัดอันดับจำนวนผู้ติดเชื้อของโลกอยู่ที่ 39 จาก 220 ประเทศและดินแดนที่มีผู้ติดเชื้อ โดยมีผู้ติดเชื้อสะสมที่ 714,684 ราย รักษาหายแล้ว 495,904 ราย และเสียชีวิตสะสม 5,854 ราย โดยอันดับที่ 38 คือสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีผู้ติดเชื้อ 722,801 ราย
    ขณะที่ยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทย วันที่ 5 ส.ค. จำนวน 670,834 โดส โดยเป็นการฉีดเข็มสาม 175,190 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสม จำนวน 19,632,537 โดส 
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีผลการตรวจแอนติเจนเทสต์คิต (ATK) เป็นบวก ด้วยระบบการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) ว่ากระบวนการหากผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นผลบวก โดยความจำเพาะของการตรวจจะให้ผลบวกลวงประมาณ 3-5% ทางระบาดวิทยาตกลงกันว่าเป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่าย เพื่อไม่ให้เป็นการหน่วงรั้งการรักษา หากตรวจ ATK แล้วผลบวก ไม่ต้องทำ RT-PCR โดยผู้ติดเชื้อเซ็นใบยินยอมสามารถแยกกักที่บ้านหรือเข้าศูนย์พักคอยชุมชน (Community isolation) ได้เลย ขณะเดียวกัน จะมีการทำ RT-PCR คู่ขนานกันไป ย้ำให้สถานพยาบาลรับสวอบหน้างาน แต่ให้แยกออกจากผู้ติดเชื้อรายอื่นให้มากที่สุด เพราะยังเป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่ายไม่ใช่ผู้ติดเชื้อยืนยัน
    นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.สถานพยาบาล ที่อาจตรวจด้วย ATK หรือ RT-PCR โดยทางโรงพยาบาล​ที่ตรวจจะรับเคสผู้ติดเชื้อเข้าข่ายเข้ารักษาเอง 2.การตรวจเชิงรุก เช่น ทีมแพทย์ชนบท ทีม CCRT ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยไว้เลย สปสช.จะเก็บข้อมูลเพื่อจับคู่กับคลินิกชุมชนอบอุ่น หรือ รพ.  หรือศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพฯ เพื่อทำการแยกกักที่บ้านหรือเข้าศูนย์พักคอยในชุมชน และ 3.ผู้ที่ตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองด้วยชุดตรวจ ATK ตอนนี้หากใช้ชุดตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรอง และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนแล้ว เมื่อเป็นผลบวกให้ถ่ายภาพผลตรวจ และโทร.ไปที่สายด่วน สปสช. 1330 ที่ขยายเพิ่มถึง 3,000 คู่สายแล้ว หรือแอดไลน์บัญชีทางการผ่านคิวอาร์โค้ด เพื่อกรอกข้อมูลลงทะเบียน และรอการจับคู่สถานพยาบาล ซึ่งขณะนี้จะตอบรับภายใน 48 ชั่วโมง
    พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการปรับแผนจัดตั้งจุดให้บริการตรวจคัดกรองเชิงรุกโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า จากเดิมที่มีการออกหน่วยคัดกรองเชิงรุกกระจายหมุนเวียนให้บริการประชาชนตามจุดต่างๆ จะปรับการออกหน่วยให้บริการ โดยจะจัดตั้งเป็น 6 จุดคัดกรองหลัก ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต และจะให้บริการตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.นี้เป็นต้นไป ประกอบด้วย 1.กลุ่มกรุงเทพกลาง ณ ลานกีฬาพัฒน์ 2. ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี 3.กลุ่มกรุงเทพตะวันออก ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี 5.กลุ่มกรุงธนเหนือ ณ ใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด และ 6.กลุ่มกรุงธนใต้ ณ ตลาดบางแคภิรมย์ เขตบางแค 
    ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และ พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย แถลงว่า ช่วงเดือน ส.ค.นี้มีการคาดการณ์ผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่ง กทม.ดำเนินการ 3 เรื่องคือ 1.ลดอัตราการเคลื่อนไหวของคนตามมาตรการที่ ศบค.ออกมา 2.ปรับการรองรับสถานการณ์ เพิ่มศักยภาพของสถานพยาบาล ทุกโรงพยาบาลให้รับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงทั้งหมด ส่วนผู้ป่วยสีเขียวให้ทำ Home Isolation : HI หรือนำเข้าศูนย์แยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) หรือศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ 
     ในส่วนของศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อของกทม. ปัจจุบันมี 65 แห่ง รับได้ 8,625 เตียง และปรับเป็นศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม (Community Isolation plus : CI plus) จำนวน 7 แห่ง รับได้ 1,036 เตียง นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มศูนย์พักคอยชุมชน โดยนำร่องศูนย์พักคอยชุมชนขนาดเล็ก 6-50 เตียง (Semi Community Isolation) จำนวน 19 แห่ง รับได้ 462 เตียง และศูนย์พักคอยในชุมชนขนาดกลาง ดูแลโดยชุมชนหรือผู้นำศาสนา เริ่มที่เขตกรุงธนใต้ 2 แห่ง รับได้ 660 เตียง ทั้งนี้ให้ทุกเขตดูความพร้อมจัดตั้งเพิ่ม สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกโดยทีม CCRT ใน 2-3 สัปดาห์ ได้ลงไปแล้ว 2,271 ชุมชน มีผู้รับบริการรวมกว่า 118,000 ราย และจะเจาะไปในพื้นที่บ้านประชาชนทั่วไปด้วย
    3.เร่งฉีดวัคซีน โดยในเดือนนี้ได้รับจัดสรรวัคซีนมาฉีดใน 25 จุดฉีด ซึ่งจะเริ่มฉีดสัปดาห์แรกในวันที่ 7-10 ส.ค. ฉีดได้วันละกว่า 40,000 โดส รวมถึงเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์ด้วย โดยสัปดาห์ที่ 1-3 จะได้รับ 175,000 โดส และสัปดาห์ที่ 4 ได้ 225,000 โดส ส่วนอีก 500,000 โดส แบ่งเป็นระบบหมอพร้อมฉีดในโรงพยาบาล 132 แห่ง 174,000 โดส, เข็มสอง 57,000 โดส และอีก 269,000 โดสใช้ในการป้องกันการระบาด โดยทีม CCRT ฉีดให้กลุ่ม 608 และในพื้นที่เสี่ยง ส่วนวัคซีนไซเฟอร์จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยจะต้องเร่งฉีดให้เร็วใน 1 เดือน เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องอุณหภูมิการเก็บรักษา 
    นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 484 ราย (พบในเรือนจำสีแดง 419 ราย และพบในห้องแยกกักโรคผู้ต้องขังรับใหม่ 65 ราย) รักษาหายเพิ่ม 181 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมมีผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 7,334 ราย (กลุ่มสีเขียว  83.5%, สีเหลือง 16.1% และสีแดง 0.4%) เป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร 473 ราย ปริมณฑล 2,227 ราย และต่างจังหวัด 4,634 ราย ทั้งนี้ พบเรือนจำสีแดงที่แพร่ระบาดเพิ่ม 1 แห่ง คือ ทัณฑสถานหญิงชลบุรี ส่งผลให้มีเรือนจำสีแดงรวมทั้งสิ้น 34 แห่ง, เรือนจำสีขาวที่ไม่พบการระบาดลดลงเหลือ 102 แห่ง และสิ้นสุดการระบาดแล้วจำนวน 6  แห่ง มีผู้ติดเชื้อรักษาหายสะสม 41,240 ราย หรือ 83.8% ของผู้ติดเชื้อสะสม 49,221 ราย เสียชีวิตสะสมรวม 67 ราย คิดเป็นอัตรา 0.1% ของผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด
    แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ที่สำนักงาน ป.ป.ช. พบแม่บ้านติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 คน ซึ่งทำงานอยู่อาคาร 1 ชั้น 4 ซึ่งเป็นชั้นที่มีห้องทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน และยังเกี่ยวข้องกับห้องประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วย ดังนั้น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้สั่งงดประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในช่วงสุดสัปดาห์นี้เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันพุธ-ศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อให้มีการพ่นยาฆ่าเชื้อ และจะเริ่มประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.กันอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 9 ส.ค. ทั้งนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่จากแล็บมาตรวจหาเชื้อให้กับกรรมการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนแล้ว โดยทั้งหมดมีผลเป็นลบ
    วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมหน่วยงานความมั่นคง ร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม, พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ความเสี่ยงชายแดนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรง โดยได้สั่งการให้ฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจ รวมทั้งกระทรวงแรงงาน ประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ ติดตามสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด โดยให้ผนึกกำลังร่วมเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดนและตรวจตราพื้นที่ชั้นใน บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด เพิ่มมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย  ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันและควบคุมโรค 
    ที่ด่านพรมแดนไทย-เมียนมา 2 (แม่สอด-เมียวดี) บ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ที่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จังหวัดตาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมว่า จะรณรงค์ให้ประชาชนปลูกสมุนไพรประเภทฟ้าทะลายโจรในพื้นที่ ส.ป.ก.ทั่วประเทศกว่า 40 ล้านไร่ และผลิตฟ้าทะลายโจรแจกประชาชนทุกหมู่บ้านทุกตำบล เพื่อเป็นการรักษาเบื้องต้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"