ภาคประชาสังคมเมียนมาไม่ยอมรับทูตพิเศษอาเซียน


เพิ่มเพื่อน    

องค์กรภาคประชาสังคมมากกว่า 400 องค์กรในเมียนมาออกแถลงการณ์ร่วม ไม่ยอมรับการแต่งตั้งรัฐมนตรีต่างประเทศบรูไนเป็นผู้แทนพิเศษของกลุ่มอาเซียนเพื่อหาทางออกแก่เมียนมา ระบุอาเซียนควรปรึกษาหารือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารด้วย ด้านรัฐบาลเมียนมาเสนอยกเลิกข้อหาผู้ประท้วงเพื่อให้ออกจากที่ซ่อน

แฟ้มภาพ เอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของบรูไน

    เมื่อวันพุธที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มอาเซียนแต่งตั้งเอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของบรูไน เป็นผู้แทนพิเศษของอาเซียนประจำเมียนมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฉันทมติ 5 ข้อจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน หวังเป็นหนทางออกสำหรับวิกฤติในเมียนมาด้วยการเปิดให้มีการสานเสวนากันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมา และดูแลด้านการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา

    ในรายงานเมื่อวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม ของสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า องค์กรภาคประชาสังคม (ซีเอสโอ)  413 กลุ่มในเมียนมา กล่าวในแถลงการณ์ว่า ซีเอสโอเมียนมามีความผิดหวังอย่างยิ่งกับอาเซียน และกับการขาดกระบวนการตัดสินใจที่ครอบคลุมและการไม่ดำเนินการใดเมื่อเผชิญกับอาชญากรรมที่ชั่วร้ายที่สุดในภูมิภาคนี้

    สำนักเลขาธิการอาเซียนและกระทรวงการต่างประเทศของบรูไนยังไม่มีท่าทีตอบแถลงการณ์ดังกล่าว รวมถึงรัฐบาลทหารเมียนมา

    กลุ่มเหล่านี้กล่าวว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ประกอบกันขึ้นจากฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ควรได้รับการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการแต่งตั้งทูตพิเศษด้วย

    เอ็นยูจียังไม่มีทัศนะเกี่ยวกับการแต่งตั้งครั้งนี้ ขณะที่รัฐบาลเมียนมาซึ่งนำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีรายงานจากสื่อของทางการว่า ได้ให้ความเห็นชอบกับการแต่งตั้งแล้ว แม้ก่อนหน้านี้นายพลเมียนมาจะยอมรับว่ามีความเห็นไม่ตรงกับอาเซียนเรื่องการเลือกตัวบุคคล

    อีกด้านหนึ่ง รอยเตอร์อ้างรายงานของโกลบอลนิวไลต์ออฟเมียนมา กระบอกเสียงของทางการเมียนมา ว่าคณะรัฐบาลทหารเสนอยกเลิกข้อกล่าวหาของผู้ประท้วงบางรายที่เข้าร่วมการชุมนุมหรือนัดหยุดงาน หากพวกเขาออกมามอบตัว

    นับแต่รัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ข้อมูลจากสมาคมให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองในเมียนมา ระบุว่า กองกำลังความมั่นคงจับกุมผู้ต้องสงสัยมากกว่า 7,000 คน และยังมีหมายจับค้างอยู่อีก 1,984 คน

    ข่าวของหนังสือพิมพ์เมียนมาฉบับนี้กล่าวว่า รัฐบาลจะไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ก่ออาชญากรรมเช่น ฆาตกรรม, วางเพลิง หรือโจมตีทหาร ส่วนผู้ที่โดนตั้งข้อหานอกเหนือจากนี้สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ หรือเข้ามอบตัวต่อสถานีตำรวจ, หน่วยปกครองของอำเภอ หรือตำบลได้

    การปราบปรามอย่างรุนแรงของฝ่ายความมั่นคงสังหารชีวิตพลเรือนแล้วมากกว่า 900 คน และดูเหมือนข้อเสนอให้เข้ามอบตัวเพื่อแลกกับการยกเลิกข้อกล่าวหานั้น ไม่สามารถเกลี้ยกล่อมหลายคนที่โดนตั้งข้อหาและกำลังหลบซ่อนตัว

    ขิ่น เมียะ เมียะ ไนง์ วัย 35 ปี กล่าวว่า นี่อาจเป็นแผนลวง เขาถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 505เอ ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อความหวาดกลัวหรือแพร่ข่าวเท็จ ซึ่งมีโทษจำคุก 3 ปี "พวกเขาพูดเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น คำสัญญาจัดการเลือกตั้ง"

    พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวในสัปดาห์นี้ว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งยืดเวลาออกไปอีก 6 เดือน จากคำสัญญาเดิมหลังการยึดอำนาจที่เขาเคยให้คำมั่นว่าจะเลือกตั้งภายใน 2 ปี

    ไซ ตุน นักข่าวอิสระวัย 33 ที่กำลังซ่อนตัวหลังโดนตั้งข้อหาตามมาตรา 505เอ จากการถ่ายภาพการประท้วงที่ทำให้ตัวเขาโดนยิงขา บอกว่า เขาไม่มีแผนจะเข้ามอบตัว ตราบใดที่กองทัพยังคุมอำนาจ พวกเขาจะเป็นผู้หลบหนีคดีต่อไป และเขาหวังว่ากองกำลังต่อต้านของชาวเมียนมาจะสามารถยึดอำนาจคืนจากกองทัพได้สักวันหนึ่ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"