เตะถ่วงเพื่ออะไร?


เพิ่มเพื่อน    

เคเบิลสเปเซอร์ (Cable Spacer) หรืออุปกรณ์คั่นสายไฟเพื่อให้สายไฟแต่ละเส้นมีระยะห่างจากกัน ป้องกันการเกิดกระแสไฟฟ้าขัดข้องจากการที่สายเคเบิลหรือสายไฟฟ้าไปสัมผัสกัน ปัจจุบันมีทั้งแบบที่ทำด้วยโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (high density polyethylene, HDPE) และแบบที่ทำด้วยเซรามิก

            ที่ผ่านมานั้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. พบว่าการใช้งาน “เคเบิลสเปเซอร์” ทั้งสองชนิดเกิดปัญหาเนื่องจากแตกต่างกัน ดังนั้น กฟภ.จึงพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อลดการเกิดสายไฟฟ้าชอร์ตจนทำให้ไฟดับ ที่สร้างความเสียหายแก่การไฟฟ้าฯ มูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคอุตสาหกรรมและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าว่ามีความเสถียรและปลอดภัย ยังไม่รวมความเสียหายแก่ชีวิตของผู้คน ที่ต้องตายจากสายไฟฟ้าที่ชอร์ตและขาดลงมาโดนอีกนับไม่ถ้วนในแต่ละปี

            จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (กวจ.) กับศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ในนามที่ปรึกษาจัดโครงการวิจัย เพื่อปรับปรุงคุณภาพเคเบิลสเปเซอร์ ชนิดโพลีเอทิลีน ร่วมกับผู้ประกอบการเอกชนเพื่อแก้ปัญหาการใช้งานเคเบิลสเปเซอร์ชนิดโพลีเอทิลีนของ กฟภ.ในปัจจุบัน

            โดยที่ผ่านมาได้มีการทดลองติดตั้งใช้งานจริงในพื้นที่ที่มีมลภาวะสูง 3 แบบ แบ่งเป็นในพื้นที่ที่มีไอเกลือและแดดจัด (บริเวณชายหาดเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี) พื้นที่ที่มีฝุ่นละอองหนาแน่น (บริเวณหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี) พื้นที่ที่มีความชื้นสูง บริเวณดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลา 18 เดือน

            ซึ่งผลการทดสอบของ MTEC พบเคเบิลสเปเซอร์ชนิด HDPE ที่ปรับปรุงนี้ มีความทนทานต่อการเสื่อมสภาพในสภาวะการใช้งานที่แรงดันไฟฟ้าขนาด 22 kV และ 33 kV จากผลการทดสอบการลุกติดไฟ พบว่ามีอัตราลามไฟที่ลดลง 16% อีกทั้งยังสามารถรับแรงทางกลได้ดี ไม่เกิดการชำรุดแตกหัก พร้อมยื่นจดสิทธิบัตรกับ กฟภ.แล้ว ถือเป็นการการันตีได้ว่า “เคเบิลสเปเซอร์ชนิด HDPE” สามารถใช้งานได้จริง และมีสมรรถนะที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับเคเบิลสเปเซอร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือเคเบิลสเปเซอร์ชนิดพอร์ซเลน และเคเบิลสเปเซอร์ชนิดโพลีเอทิลีน

            เพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างเสถียรภาพให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนมาใช้เคเบิลสเปเซอร์ชนิด HDPE แทนเคเบิลสเปเซอร์ที่ทำด้วยเซรามิก เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องของอายุการใช้งานเพียง 2-3 ปี และยังแตกหักชำรุดได้ง่าย แถมยังมีน้ำหนักมาก

            ดังนั้นจึงเดินหน้าแผนจัดซื้อ “เคเบิลสเปเซอร์ชนิด HDPE พร้อมตะขอเหล็ก” โดยคาดหวังจะถูกนำมาใช้ทดแทน “เคเบิลสเปเซอร์” เก่าที่ใช้อยู่ แต่ไม่รู้ว่าทำกันอีท่าไหน หลัง กฟภ.ประกาศผลการประมูลผ่านรูปแบบประมูลแบบคัดเลือก จำนวน 89,480 ชุด ราคากลางประมาณ 114 ล้านบาทแล้ว และมีการประกาศผลบริษัทที่เป็นผู้ชนะประมูลเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางมากกว่า 40% อย่างชัดเจนตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.2564 แต่เหตุใดผ่านไป 3 เดือนยังเงียบกริบ ไร้สัญญาณตอบรับ ผู้ชนะประมูลได้ทำหนังสือทวงถามไปยัง กฟภ.เพื่อขอความชัดเจนก็แล้ว แต่ก็ยังเงียบกริบเช่นเดิม

            ทำเอาภาคเอกชนที่ชนะการประมูลใจตุ๊มๆ ต่อมๆ คิดไปต่างๆ นานาว่าจะเกิดอะไรกันขึ้นไหม จะเหมือนรถไฟฟ้าสายสีส้มที่พลิกกลางอากาศหรือเปล่า หรือจะเป็นจริงดั่งที่มีกระแสข่าวลือที่ลือกระฉ่อนว่ามีใครบางกลุ่มไม่อยากให้การจัดหาเคเบิลสเปเซอร์ชนิด HDPE พร้อมตะขอเหล็กเข้ามาทดแทนการใช้เคเบิลสเปเซอร์ที่ใช้ในปัจจุบัน ถึงขนาดมีผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดทำหนังสือคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่าการประมูลไม่โปร่งใส สินค้าไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ได้รับการรับรองจาก มอก. และขอให้มีการเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง

            เรื่องนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องเร่งรีบตรวจสอบความชัดเจนและเดินหน้าโครงการ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังลุกลามในขณะนี้ หากขาดการวางแผนบริหารจัดการให้ดีอาจทำให้มีปัญหาทั้งในส่วนบริษัทที่ชนะการประมูลและ กฟภ.ที่อาจจะได้รับสินค้าล่าช้าจนไม่มีอุปกรณ์ใช้เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ก็ได้

            อีกทั้ง เมื่อเร่งเดินหน้าโครงการก็ยังเป็นเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับ กฟภ.ได้ในอนาคต...จะกลัวไปไยถ้าของใหม่ดีกว่าเดิม!.

บุญช่วย ค้ายาดี

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"