เมธีจบแล้วอยู่ที่'เขา' ป้อมทิ้งปริศนาตามล่าตัว ยึดทรัพย์'บิ๊กพม.'88ล้าน


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กป้อม" ทิ้งปริศนา ตามล่าตัว "เมธี" จบแล้ว! ได้ตัวหรือไม่อยู่ที่ "เขา" ส่วน "จักรทิพย์" โผล่ปารีส ไปดูปืน เด้ง ผกก.ตม.นครพนม! เซ่นปล่อยเข้าลาว ขณะที่คู่หู "ทนายแดง-พระสำนักสงฆ์เถื่อน" ร้องกองปราบฯจับ ผอ.พศ.ดำเนินคดี เพราะจับพระเงินทอนไม่ยอมจับเจ้าหน้าที่ ส่วน ปปง.มีมติยึดทรัพย์ 88 ล้านบาทของแก๊งบิ๊ก พม.โกงเงินคนจน 
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กรณี พล.ต.อ.จักรทิพย์  ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เดินทางไปกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประสานขอความช่วยเหลือจากตำรวจสากล เพื่อติดตามตัวอดีตพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามฯ ผู้ต้องหาคดีเงินทอนวัด ที่หลบหนีไปประเทศเยอรมนีแล้วยื่นขอลี้ภัย ว่า "ทุกอย่างจบแล้ว ให้เขาดำเนินการไป ส่วนจะได้ตัวหรือไม่ ก็อยู่ที่เขา"
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันตามโซเชียลฯ  ต่างๆ ได้นำภาพพร้อมรายละเอียดการเดินทางไปต่างประเทศของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ซึ่งเป็นการเดินทางตามคำเชิญของตำรวจฝรั่งเศส เพื่อเยี่ยมชมงานอาวุธนานาชาติที่ประเทศฝรั่งเศส
    ทั้งนี้ ภาพและคลิปที่ปรากฏ เป็นภาพ พล.ต.อ.จักรทิพย์ระหว่างไปเยี่ยมชมงานอาวุธนานาชาติที่ประเทศฝรั่งเศส 
สำหรับความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดทางวินัยกับนายตำรวจ 2 นาย ยศ  "ร.ต.อ." กับ "ด.ต." ที่เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)นครพนม กรณีปล่อยให้อดีตพระพรหมเมธีหลบหนีไปยังประเทศลาว และเดินทางไปยังประเทศเยอรมนีนั้น ล่าสุด มีคำสั่งจากกองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองภาค 4 (บก.ตม.4) เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ให้ พ.ต.อ.ชัยยศ วรักษ์จุนเกียรติ ผกก.ตม.นครพนม ไปช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองภาค 4 และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย พร้อมมอบหมายให้ พ.ต.ท.นิธิวัชร์ ดิลกพงศ์โยธิน รอง ผกก.ตม.นครพนม รักษาราชการแทน ขณะที่ยังไม่มีการสรุปผลการสอบสวนตำรวจทั้ง 2 นายดังกล่าว
    ด้าน พล.ต.ต.กิตติกร บุญสม ผบก.ตม.4 ให้เหตุผลที่มีคำสั่งย้าย ผกก.ตม.นครพนม ว่า จากการตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่ ตม.ที่อยู่ที่ด่านจะต้องตรวจเอกสารบุคคลว่าตรงกับรูปหรือไม่ และต้องไปตรวจในรถอีกครั้งว่ามีคนมาครบตามเอกสารหรือไม่ ซึ่งในวันดังกล่าว มีร้อยเวรยศ “ร.ต.อ.” เข้าเวร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจประทับตราเอกสารยศ ”ร.ต.ท.” พบว่ามีความบกพร่องต่อหน้าที่ คือไม่ตรวจสอบให้ครบ จึงต้องไปถึงผู้บังคับบัญชาตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผกก.จึงถูกดำเนินการ เมื่อผู้บังคับบัญชาผิดไม่ตรวจสอบดูแล ต้องถูกดำเนินการทางวินัย ต่อไปต้องให้ ผกก.ตม.นครพนมชี้แจงว่ามีการอบรมประชุมผู้ใต้บังคับบัญชาถึงขั้นตอนการปฏิบัติหรือไม่ หากพบว่ามีการสั่งการตรวจสอบอยู่เป็นประจำ ถือว่าไม่เป็นข้อบกพร่อง เพราะการปฏิบัติหัวหน้าหน่วยต้องเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติ
"ถ้าผลสอบออกมาพบว่ามีการปฏิบัติตามหน้าที่อย่างเคร่งครัดถึงข้อปฏิบัติ ถือว่าเป็นความบกพร่องของผู้ใต้บังคับบัญชา ส่วนผลการสอบสวนของผู้ใต้บังคับบัญชาทั้ง 2 นายนั้น คณะกรรมการสอบเสร็จเรียบร้อยในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ ทางคณะกรรมการจะเสนอขึ้นมา ต้องดูว่าผิดหรือไม่อย่างไร โทษระดับไหน ถ้าร้ายแรงก็ต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง"  ผบก.ตม.4 ระบุ
    ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายวรากร พงศ์ธนากุล ประธานเครือข่ายทนายและประชาชนปกป้องพระพุทธศาสนา พร้อมด้วยพระครูปลัดธีรธนัชณฤทธา เมตตธมโม ประธานสงฆ์สำนักปฏิบัติธรรมพุทธชยันตี 2600 ปี และเป็นพระลูกวัดโพธิ์ทะเล จ.พิจิตร เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์  รองผู้บังคับการปราบปราม (ผบก.ป.) เพื่อยื่นหนังสือร้องขอให้ทางกองปราบฯ มีการดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในคดีการทุจริตเงินทอนวัด ในความผิดตามมาตรา 157 "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
      นายวรากรกล่าวว่า สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ ทาง พศ.ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้เอาผิดกับพระสงฆ์ในคดีเงินทอนวัด จนมีการจับกุมพระสงฆ์จำนวนหลายรูป แต่กลับไม่มีการดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว ที่ผ่านมายังคงมีข้าราชการของสำนักพุทธฯ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินทอนวัด แต่ยังไม่ถูกดำเนินคดีหลายราย ตนเองจึงมาแจ้งความร้องทุกข์ให้ตำรวจกองปราบปรามสืบสวนขยายผล และดำเนินคดีให้ครบทุกคนที่เกี่ยวข้อง
พระก็ต้องใช้เงิน
     เขาบอกว่า อยากให้มีการดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.พงศ์พร ตามความผิดตามมาตรา 157 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากกรณีที่มีการออกหนังสือคำสั่งที่ 0001/06036 ฉบับลงวันที่ 8 มิถุนายน 2561 ที่มีการขอให้ทำการตรวจสอบบัญชีวัด และชี้แจงการใช้จ่ายเงิน ซึ่งทางตนและประชาชนคนอื่นๆ นั้นไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เป็นเพียงผู้สนับสนุนพระ ไม่ใช่ผู้ปกครองพระ  และการกระทำแบบนี้ จึงเป็นการกระทำเกินหน้าที่ 
    ด้านพระครูปลัดธีรธนัชณฤทธากล่าวว่า พระเองก็มีความจำเป็นในการใช้เงินในการดำรงชีวิตเหมือนกับคนทั่วไป เพราะพระเองก็ต้องใช้เงินเพื่อใช้จ่ายในการเดินทาง ใช้จ่ายในเรื่องการเรียนการสอน เพราะเป็นกฎกติกาของสังคมในปัจจุบัน ส่วนการถือครองเงินควรเป็นรูปแบบบัญชีของวัดหรือไม่นั้น มองว่าวัดแต่ละแห่งมีรูปแบบการจัดการระบบเงินแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละวัดจะนำมาใช้จ่ายแบบใด อีกทั้งพระสงฆ์บางรูปมีทรัพย์สินบางส่วนติดตัวมาตั้งแต่ก่อนบวช ในรูปแบบของมรดก จึงอยากให้แยกบัญชี เพราะพระบางรูป ช่วงเวลาการบวชแตกต่างกัน เมื่อสึกออกไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเงินดังกล่าวออกไปใช้
     เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา พร้อมกับทำการสอบปากรายละเอียดของเรื่องดังกล่าว ก่อนจะรวบรวมเรื่องทั้งหมดส่งให้กับทางผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณาดำเนินการสั่งการต่อไป
     รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับพระครูปลัดธีรธนัชณฤทธา จากการตรวจสอบประวัติพบว่าเคยปีนเสาส่งสัญญาณวิทยุย่านพุทธมณฑลสาย 3 เพื่อประท้วงกรณีที่ดินของสำนักสงฆ์ฯ ถูกยึด เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา และเคยใช้สำนักสงฆ์เผาศพหญิงไร้ญาติบนกองฟืนจนถูกชาวบ้านประท้วงมาแล้ว
    ที่จังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัด เปิดเผยว่า ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตเงินทอนวัดที่วัดธาตุพระอารามหลวง ต.ในเมือง อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ซึ่งทางวัดยืนยันว่างบประมาณที่ได้รับนั้นเป็นการจัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งที่วัดธาตุพระอารามหลวงแห่งนี้ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจริง โดยมีการโอนเงินมาให้ ทั้งหมด 3 ครั้ง เป็นเงินรวม 18 ล้านบาท คงเหลือให้วัดเพียง 1 ล้านบาท โดยอีก 17 ล้านบาทมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ.นั้นมารับเงินสดไป
สอบย้อนหลัง 10 ปี
    ผวจ.ขอนแก่นเผยว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงปมทุจริตเงินทอนวัดให้ได้ข้อสรุปภายใน 30 วัน โดยมีนายอลงกต วรกี ปลัดจังหวัดขอนแก่น เป็นหัวหน้าชุดในการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว คลังจังหวัดทำหน้าที่เลขานุการ ว่ามีเจ้าหน้าที่คนใด พระสงฆ์รูปไหน วัดไหน ในจังหวัดขอนแก่น เข้าไปเกี่ยวข้อง เอื้ออำนวยให้ความสะดวก หรือไปเชื่อมโยงทำให้มีขบวนการเชื่อมโยงในรูปแบบเงินทอนวัด
    "การตรวจสอบดังกล่าวนี้จะต้องมีการตรวจสอบย้อนหลัง ว่า 10 ปีที่ผ่านมามีงบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติโอนมาให้ผิดปกติมากน้อยเพียงใด" นายสมศักดิ์ระบุ
    พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป. เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบเงินทอนวัดล็อต 4 ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงพื้นที่สืบสวนสอบสวนของ บก.ปปป.เพื่อหาพยานหลักฐานวัดทั่วประเทศที่ได้รับงบอุดหนุนเกิน 1 ล้านบาท แต่ยังไม่มีการร้องทุกข์ และยังไม่มีวัดใดถูกดำเนินคดี เพราะต้องรอ พ.ต.ท.พงศ์พรตรวจสอบสำนวนก่อนดำเนินการร้องทุกข์ จึงจะสรุปว่ามีจำนวนกี่วัด อย่างไรก็ตาม บก.ปปป.ได้ประชุมร่วมกับ พศ.ทุกเดือน เพื่อติดตามความคืบหน้าอยู่แล้ว กรณีสื่อมวลชนเสนอข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริง ควรจะสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือ พศ.ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนแก่สังคม
    ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและพฤติมิชอบ (ปปป.) นายวิทยา นีติธรรม เลขานุการกรมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เดินทางมาพบ พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผู้บังคับการ ปปป. เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิดนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมหญิงสาวคนสนิท และพวกที่เป็นอดีตข้าราชการใน พม. ในคดีทุจริตการยักยอกเงินช่วยเหลือคนยากไร้
    โดยนายวิทยานำหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อให้สืบสวนสอบสวนในคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ในคดีดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดในช่วงปี 2558-2560 หรือปีงบประมาณ 2559-2560 มีลักษณะการทำผิดในรูปแบบเงินทอน แต่ไม่ได้ทอนเงินผ่านธนาคาร เป็นแบบหิ้วกลับ จึงทำให้ยากต่อการตรวจสอบ โดยพบว่าในแต่ละปีมีการทุจริตประมาณ 80 ล้านบาท หรือร้อยละ 30 ซึ่งก่อนที่ ปปง.จะเข้ามายึดอายัดทรัพย์ พบว่ามีการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินไปยังบุคคลอื่น และแปรสภาพเป็นอสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ จากการตรวจสอบยังไม่พบว่ามีการโยกย้ายทรัพย์สินออกนอกประเทศ ทั้งนี้ พบว่าเงินจำนวนดังกล่าวมีการนำกลับมาไว้ที่ศูนย์ช่วยเหลือคนจนในพื้นที่ก่อเหตุ และส่งต่อมาที่ปลัด พม. แต่ยังไม่พบเส้นทางการเงินไปถึงระดับกระทรวงหรืออดีตรัฐมนตรี
    นอกจากนี้ นายวิทยายังกล่าวอีกว่า ปปง.จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกยึดทรัพย์สินเข้ามาชี้แจงถึงที่มาของทรัพย์สินภายใน 30 วัน หากพบว่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จะคืนทรัพย์สินให้ แต่หากชี้แจงไม่ได้ จะต้องยึดไว้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด
ยึดทรัพย์แก๊ง พม.88 ล้าน
    ด้าน พล.ต.ต.กมลระบุว่า เบื้องต้นได้นัด ปปง.มาแจ้งความร้องทุกข์อย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ หลังจากนี้จะมีการรวบรวมพยานหลักฐานและตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุด ประกอบด้วย ปปง., ปปป. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมยอมรับว่าคดีดังกล่าวมีความซับซ้อนพอสมควร แต่ทาง ปปง.ได้ดำเนินการพอสมควรจนมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากนี้จะต้องขออนุมัติจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวน เพื่อให้ ปปป.มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน โดยมีแนวทางดำเนินงานโดยร่วมกันลงพื้นที่ติดตามผู้ต้องหาและทรัพย์สิน
    พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้อายัดทรัพย์สินของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้แก่ นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัด พม., นายณรงค์ คงคำ อดีตรองปลัด พม. และนายธีรพงษ์ ศรีสุคนธ์ อดีตผู้ตรวจราชการ พม.กับพวกที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ รวม 12 ราย จำนวน 41 รายการ มูลค่าประมาณ 88 ล้านบาท
    หลังมีพฤติการณ์ทุจริตการยักยอกเงินช่วยเหลือคนยากไร้ โดยผู้ที่ถูกอายัดทรัพย์สินสามารถเดินทางมาชี้แจงได้ที่ ปปง. ภายในระยะเวลา 90 วัน หลังจากถูกอายัด
    "กลุ่มคนดังกล่าวมีพฤติการณ์กระทำความผิดทางอาญาฐานฟอกเงิน ซึ่งสำนักงาน ปปง. จะได้ดำเนินการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีอาญาความผิดฐานฟอกเงินกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ขอแจ้งเตือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการทุจริตในหน้าที่ว่า นอกจากจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต นอกจากจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินแล้ว ผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ หรือนอมินีที่รับโอนทรัพย์สินจากผู้กระทำความผิดทุกคน ก็ยังอาจต้องถูกลงโทษจำคุกในความผิดฐานฟอกเงินด้วย มีโทษจำคุก 10 ปีต่อการโอนหรือรับโอน 1 ครั้ง หากประชาชนพบเห็นบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการทุจริตในหน้าที่ สามารถโทร.แจ้งสายด่วน ปปง.1710" พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์กล่าว
     พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ทางคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงได้สอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตไปแล้ว 11 คน แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่กันตัวไว้เป็นพยานอีก 15 คน ซึ่งจะต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปผลในส่วนนี้ จึงต้องรอให้เสร็จเรียบร้อยถึงจะสามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาและพยานอาจจะมีหลักฐานเกี่ยวข้องกัน หากเปิดเผยรายละเอียดอาจจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางคดีความได้ และคาดว่าจะสรุปผลทั้งหมดรวม 26 ราย ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"