อ้างตาย-ออกปรับคตช. สะพัด!เขี่ย'ต่อตระกูล'


เพิ่มเพื่อน    

    "วิษณุ" แจงปรับโครงสร้าง คตช. เหตุมีกรรมการบางคนลาออก เกษียณอายุราชการ และเสียชีวิต ต้องมีการแต่งตั้งทดแทน ยันอำนาจหน้าที่ยังเหมือนเดิม สะพัด! คตช.ชุดใหม่อาจไร้ "ต่อตระกูล" หลังเคลื่อนไหวตรวจสอบรัฐบาลบ่อยครั้ง
    เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2561 เรื่องปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ว่า เนื่องจากคตช.ชุดเดิมมีผู้ที่ลาออกไปหลายคน บางคนออกไปเล่นการเมือง บางคนเสียชีวิต และเกษียณอายุราชการ แต่ยังไม่มีการแต่งตั้งคนใหม่เข้ามาทดแทน ทำให้ปรับปรุงองค์ประกอบใหม่ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจะมีการแต่งตั้งออกมาอีกภายหลัง สำหรับอำนาจหน้าที่ของ คตช.ชุดใหม่ยังเป็นเหมือนเดิมทุกอย่าง
    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่ง คสช.ที่ 2/2561 เรื่องการปรับปรุงองค์ประกอบของ คตช. เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า  เนื่องจากปัจจุบันได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกอบกับมีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการและการมอบหมายงานของฝ่ายบริหาร จึงสมควรปรับปรุงองค์ประกอบ ตลอดจนหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติให้สอดคล้องกัน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินการในเรื่องของการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
    อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 คสช.จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ 1.ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 127/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ลงวันที่ 15 ธ.ค.2557 คำสั่ง คสช.ที่ 14/2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตามองค์ประกอบคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ลงวันที่ 27 ต.ค.2558 คำสั่ง คสช.ที่ 6/2559 เรื่องแก้ไขบุคคลตามองค์ประกอบคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ลงวันที่ 30 พ.ย.2559 และคำสั่ง คสช.ที่ 3/2560 เรื่อง เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการตามองค์ประกอบคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ลงวันที่ 7 มี.ค.2560
    นอกจากนี้ ข้อ 2 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติขึ้นภายในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกอบด้วย 1.หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ 2.รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ 3.หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นกรรมการ 4.ผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย จำนวนไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ 5.ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้ง จำนวนไม่เกินเก้าคนเป็นกรรมการ 6.เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เป็นกรรมการและเลขานุการ 7.ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และ 8.ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
    ข้อ 3 คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ 1.จัดทำแนวทางและมาตรการในการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างและประสานความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบระหว่างหน่วยงานของรัฐ หรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป 2.ประสาน เร่งรัด ติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมายกฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และอยู่ภายใต้กรอบธรรมาภิบาล 3.ติดตาม ประสานงาน และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในส่วนของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ คณะกรรมการตามกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนในการต่อต้าน ป้องกัน และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ 
    4.จัดทำผลการดำเนินการและเสนอแนะความเห็นหรือกลไกในการดำเนินการที่จำเป็นในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน 5.ในกรณีที่เห็นสมควรอาจเสนอหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้มีการประชุมร่วมกันของ คสช.และคณะรัฐมนตรี เพื่อปรึกษาหารือหรือพิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องของการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม 6.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานตามความจำเป็น 7.เชิญเจ้าหน้าที่ บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะความเห็นหรือคำแนะนำทางวิชาการ ตลอดจนขอให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น 8.ดำเนินการอื่นใดตามที่ คสช.หรือหัวหน้า คสช.มอบหมาย
    มีรายงานว่า หลังมีคำสั่ง คสช.ปรับปรุงองค์ประกอบของ คตช. ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางน่าจะมีสาเหตุมาจากช่วงหลังรัฐบาลอาจไม่สบายใจในตัวกรรมการชุดเดิมบางคนที่แสดงบทบาทต่อสาธารณชนในเรื่องการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และยิ่งเมื่อช่วงหลังมีกรรมการบางคน เช่น นายต่อตระกูล ยมนาค ได้ส่งข้อความเข้าไปในไลน์กลุ่มผู้ประสานงานของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริต ที่เป็นไลน์ไว้ใช้ติดต่อ เช่น การนัดประชุมกรรมการชุดใหม่ การนัดประชุมอนุกรรมการชุดต่างๆ โดยนายต่อตระกูล ได้ส่งไลน์เข้าไปบ่อยครั้งว่า เพราะเหตุใดรัฐบาลถึงไม่มีการเรียกประชุมกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ทั้งที่เป็นกรรมการชุดสำคัญของรัฐบาล เพราะการประชุมครั้งสุดท้ายก็เกือบ 8-9 เดือนที่แล้ว หลังจากนั้นก็ไม่มีการนัดประชุมอีกเลย
    “ทางรัฐบาลอาจไม่สบายใจ เพราะหากนัดประชุม ก็คงจะมีการซักถามจากกรรมการในที่ประชุมถึงบางเรื่อง เช่น กรณีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือช่วงหลังรัฐบาลไม่เอาจริงเรื่องปราบคอร์รัปชัน เลยทำให้รัฐบาลก็ไม่อยากนัดประชุม เลยใช้โอกาสนี้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว เพื่อแก้ไขปรับปรุงกรรมการต่อต้านการทุจริตฯ ที่ก็ต้องดูว่าในรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คนที่จะมีการตั้งใหม่ จะมีรายชื่อผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่" แหล่งข่าวระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"