สพฉ.หนุนพรก.เหมาเข่ง 30ส.ค.ลุ้นคดีฟ้องนายกฯ


เพิ่มเพื่อน    

เลขาธิการ สพฉ.สนับสนุนการออกกฎหมายคุ้มครองผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินในทุกระดับ แต่เพื่อไทยไม่ยอม ยืนยันรัฐบาลต้องการนิรโทษกรรมตัวเอง โยนความผิดไปให้ฝ่ายข้าราชการประจำ นายกสมาคมทนายความรับลูกสร้างไทย ยื่น 7 แสนชื่อฟ้อง ม.157 "บิ๊กตู่" แล้ว ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง  นัดฟังคำสั่ง 30 ส.ค.
    เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จากที่เมื่อวันที่ 11 ส.ค.64 ที่ผ่านมา ได้มีผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเสนอให้รัฐบาลพิจารณาออกกฎหมายเพื่อหาทางป้องกันและคุ้มครองผู้ปฏิบัติการ ตลอดจนนักวิชาการที่ทำงานในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 นั่น
    ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าวว่า สพฉ.ในฐานะที่ทำหน้าที่ในการออกกฎหมายต่างๆ ด้านการปฏิบัติการฉุกเฉิน ซึ่งดูแลผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินในทุกระดับ เห็นด้วยที่ควรจะต้องมีการออกมาตรการในการคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้ปฏิบัติการเหล่านี้ เนื่องจากการทำงานในขณะนี้เป็นการทำงานแข่งกับเวลา โรคโควิด-19 เป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ บางเรื่องไม่ได้เขียนไว้ในกฎระเบียบหรือมาตรฐานเดิมว่าจะต้องทำอย่างไร มีแค่ข้อมูลความเห็นทางวิชาการ แต่ก็ต้องทำ เพื่อรักษาผู้ป่วยและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
    เลขาธิการ สพฉ.กล่าวต่อว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในห้องฉุกเฉินขณะนี้มีผู้ป่วยมากเกินทรัพยากร เมื่อไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ แม้อยากจะรักษา แต่แพทย์พยาบาลที่ทำงานอาจต้องจำใจปฏิเสธ หรืออาสามัครที่เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 แล้วพบว่าหัวใจหยุดเต้น กฎหมายเดิมบอกว่าต้องช่วยปั๊มหัวใจ แต่ทำให้เสี่ยงต่อการฟุ้งกระจายของละอองฝอย ถ้าไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมก็ไม่แนะนำให้ทำ ซึ่งเรื่องเหล่านี้อาจจะขัดต่อกฎหมายเดิม
    “ตอนนี้มีอาสาสมัครจำนวนมากที่มาร่วมปฏิบัติการกับ สพฉ.ในการขนส่งผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ป่วยติดเชื้อเข้าข่ายบางคนมีแค่ผลยืนยันด้วย Rapid Antigen test Kit ซึ่งไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่าติดเชื้อ แต่มีความต้องการเดินทางไปรักษาหรือกลับภูมิลำเนาก็ต้องจัดรถเดินทางไปส่ง และเสี่ยงต่อการปะปนกับผู้ป่วยติดเชื้อยืนยัน เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่ทำงานก็อาจถูกฟ้องร้องทางกฎหมายได้ในภายหลัง ผมจึงสนับสนุนให้มีมาตรการในการคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉิน รวมถึงอาสาสมัครของทุกหน่วยงานที่เสียสละมาทำหน้าที่ตรงนี้” เลขาธิการ สพฉ.กล่าว
    อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านยังเชื่อว่าฝ่ายการเมืองต้องการนิรโทษกรรมความผิดของตนเอง โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การออกพระราชกำหนดเหมือนการสารภาพผิด และยอมรับว่าการแก้ไขสถานการณ์ไวรัสโควิดผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นเจตนาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีวัตถุประสงค์ในการใช้บุคลากรทางสาธารณสุข และบุคลากรด่านหน้า ที่ทำงานหนักในการดูแลรักษาผู้ป่วยมาเป็นเครื่องมือในการล้างผิดให้กับตัวเอง
          "เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น รัฐบาลกำลังโยนความผิดไปให้ฝ่ายข้าราชการประจำรับผิดชอบความผิดแทนฝ่ายนโยบาย ที่บริหารผิดพลาด โดยเฉพาะการบริหารวัคซีน ส่งผลให้แพทย์และพยาบาลต้องทำงานหนัก บางคนเจ็บป่วยและเสียชีวิต แม้จะได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 โดสแล้วก็ตาม ซึ่งการทำงานในภาวะไม่มีความพร้อม อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้มารับบริการ อาจจะถึงขั้นมีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ ซึ่งเรื่องนี้ควรออกพระราชบัญญัติคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ควรออกเป็นพระราชกำหนด" นพ.ชลน่านกล่าว
    ขณะที่ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้นำรายชื่อประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารทางสาธารณสุขผิดพลาดจากรัฐบาลกว่า 700,000 คน ที่ได้ลงชื่อในแคมเปญของพรรคไทยสร้างไทย ในการร่วมฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 165 จากกรณีปล่อยปละละเลย เเละบริหารผิดพลาด จนเกิดการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิดถึง 4 ระลอก รวมทั้งบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ทำให้จํานวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนระบบสาธารณสุขปกติไม่สามารถรองรับผู้ป่วยจํานวนมากดังกล่าวได้  
    โดยวันนี้มีตัวเเทนพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งเป็นผู้รวบรวมรายชื่อ เเละนายณวัฒน์ อิสรไกรศีล ผู้จัดการประกวดเวทีนางงามชื่อดัง ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทก์ที่ยื่นฟ้อง ร่วมเดินทางมายื่นฟ้องวันนี้ด้วย 
    นายนรินท์พงศ์กล่าวว่า วันนี้ได้รวบรวมรายชื่อบุคคลที่รับผลกระทบจากการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องขอบคุณพรรคไทยสร้างไทยที่ได้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อทั้ง 7 เเสนคน ทำให้ตนได้มีโอกาสนำความเดือดร้อนของประชาชนมาทวงความยุติธรรมต่อศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งรายชื่อทั้ง 7 เเสนคนจะอยู่ในสำนวนคดีทั้งหมด โดยในวันนี้จะยื่นฟ้องในความผิดฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในฐานะที่นายกฯ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เป็นประธานของหลายหน่วยงานที่บริหารจัดการเรื่องโควิดในประเทศ
    ต่อมาภายหลังการยื่นฟ้อง นายนรินท์พงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดี อท.117/2564 เเละศาลนัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องวันที่ 30 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ซึ่งถ้าศาลมีคำสั่งรับคดี ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งเราเตรียมพยานเป็นผู้ได้รับผลกระทบขึ้นไต่สวน เพื่อให้ศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาสืบพยานในชั้นพิจารณาคดีต่อไปหรือไม่ ตรงนี้ขั้นตอนจะมากกว่าการดำเนินคดีในศาลอาญาปกติ เเต่สิ่งต่างๆ ที่ประชาชนเหล่านี้ได้รับผลกระทบได้อยู่ในสำนวนที่ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตเเล้ว  
    ด้านนายณวัฒน์กล่าวว่า ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปล่อยปละละเลยในหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายกับตนค่อนข้างชัดเจน เพราะเพิ่งเป็นโควิด และต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ตลอดเวลาที่ผ่านมาชีวิตเลือกอะไรไม่ได้เลย จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เคยร้องขอวัคซีนจาก พล.อ.ณัฐพล นาคพานิชย์ เลขาฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตั้งแต่การประกวดมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล เนื่องจากมีนางงามภายในกองประกวดจากประเทศแอฟริกาติดโควิด ซึ่งเรารักษาเขาจนหาย แต่ก็ไม่ได้รับวัคซีน 
    ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่เห็นว่านายกฯ ไปทำให้มีปัญหาอะไร ท่านก็แก้ไขสถานการณ์โควิด-19 อย่างเต็มที่ ทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจอย่างหนัก ประชาชนเกิดปัญหาท่านก็ทุกข์ใจ และท่านก็ทำหน้าที่ของท่านอย่างเต็มที่แล้ว คนที่จะไปยื่น ไปฟ้อง ไปกล่าวหา ก็ว่ากันไปเรื่อย แต่ความจริงก็คือความจริง ตนย้ำหลายครั้งว่า ทองแท้ไม่กลัวไฟ และขอเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรี
         ส่วน นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และคณะ ว่า ระวังจะโดนฟ้องกลับ เพราะตนได้คุยกับปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายแล้วเช่นกัน ท่านนายกฯ ไม่ได้ทำผิดอะไร พยายามทุกอย่างในการแก้ปัญหาโควิด-19 การฟ้องคดีอาญา ตามมาตรา 157 นั้นไม่น่าจะฟ้องได้ เพราะจะต้องมีเจตนาพิเศษ แต่ท่านนายกฯ มีแต่เจตนาบริสุทธิ์ในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน ตนเชื่อว่าระดับมือกฎหมายชั้นเซียนอย่างนายโภคินเองก็คงทราบดี แต่กลับพยายามทุกทางในการทำลาย พล.อ.ประยุทธ์เพื่อหวังผลทางการเมืองเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้สนใจความเดือดร้อนของประชาชน
    อีกทั้งคนที่มาฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์อย่างนายวัฒนา เมืองสุข นั้น ก็เป็นจำเลยคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุกนายวัฒนาถึง 99 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งถ้าเป็นรัฐธรรมนูญเก่าคงติดคุกไปแล้ว ดังนั้นควรเอาเวลาที่เหลือไปสู้คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทรจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม ตนไม่แปลกใจเลย หากพรรคไทยสร้างไทยมีแต่แกนนำแบบนี้ แล้วจะเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนจะฝากความหวังไว้ได้อย่างไร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"