ศก.ไทยยังโคม่า ธปท.คาดสิ้นปี เตะฝุ่น3.4ล้าน


เพิ่มเพื่อน    

สภาพัฒน์เปิดตัวเลข "จีดีพี" ไตรมาส 2 ขยายตัว  7.5% คาดการณ์ทั้งปีเหลือ 0.7-1.2% ชี้ปัจจัยเสี่ยงยังเป็นการระบาดที่รุนแรงของเชื้อโควิด-19 ยืนยันเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย “เศรษฐพุฒิ” รับโควิดทุบ ศก.ไทยเดี้ยง คาด 3 ปีรายได้จ้างงานสูญ 2.6 ล้านล้านบาท สิ้นปีเตะฝุ่นพุ่งแตะ 3.4 ล้านคน อีก  3 ปีกว่าจะฟื้นจากโคม่า แนะรัฐงัดยาแรงลุยกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท 
    เมื่อวันจันทร์ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในไตรมาส 2/2564 ว่า มีการขยายตัว  7.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563 และขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  มาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว 4.6% และการลงทุนรวมขยายตัว 8.1% โดยการลงทุนจากภาคเอกชนขยายตัว 9.2% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 5.6%
    อย่างไรก็ตาม ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 36.2%  ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีแรกขยายตัวราว 2% จากฐานปีก่อนที่ต่ำผิดปกติ และมีการขยายตัวในบางสาขาสำคัญ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม, ภาคการเกษตร และภาคส่งออกเป็นหลัก ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว
    ทั้งนี้ คาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัว  0.7-1.2% จากประมาณการเดิม 1.5-2.5% โดยผลจากการระบาดโควิดระลอก 3 ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณลดลง จนถึงการประกาศใช้มาตรการควบคุมสูงสุดเข้มงวด (แดงเข้ม) กับ 29 จังหวัด โดยสภาพัฒน์ใช้สมมติฐานการประมาณยอดติดเชื้อจากกระทรวงสาธารณสุขว่า ยอดติดเชื้อจะสูงสุดช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ และเริ่มลดลงช้าๆ ในเดือนกันยายน ทำให้เชื่อว่าปลายปีจะสามารถผ่อนคลาย เปิดพื้นที่เศรษฐกิจได้ในไตรมาสที่  4 และจะมีการกระจายวัคซีนได้ 85 ล้านโดสในปลายปี 2564 ด้วย  ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ประมาณการว่าในปีนี้จะขยายตัวที่  6%
    “ปัจจัยเสี่ยงในช่วงที่เหลือของปี  2564 ประกอบด้วย ปัจจัยการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ที่จะทำให้การควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำได้ยาก, หนี้ภาคครัวเรือนที่สูง, ปัญหาการจ้างงาน การตกงานจากภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาด, ความไม่แน่นอนของภาคการส่งออก ที่ต้องระวังผลกระทบการระบาดต่อการผลิต ในโรงงานผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นภาคที่ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอยู่ ตอนนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่เศรษฐกิจไทยเริ่มมีโมเมนตัมของการขยายตัวที่ลดลง จากการระบาดของโควิดที่รุนแรงมาตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา” นายดนุชากล่าว
    ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง และมีผลชัดเจน 4 อาการ ได้แก่ 1.เกิดหลุมรายได้ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ โดยพบว่าในช่วงปี 2563-2564 รายได้จากการจ้างงานหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2565 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปอีก 8 แสนล้านบาท ทำให้ตั้งแต่ปี  2563-2565 รายได้จากการจ้างงานจะหายไปรวมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท 2.การจ้างงานในระบบถูกกระทบรุนแรง โดยในช่วงไตรมาส  2/2564 พบว่ามีจำนวนผู้ว่างงาน หรือเสมือนว่างงาน (ผู้ที่มีงานทำไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น  3.4 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิดถึง 3 เท่าตัว 3. การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ไม่เท่าเทียม ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนเปราะบาง และ 4.เศรษฐกิจไทยถูกกระทบจากโควิด-19  หนักกว่าและจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการสูงสุดในเอเชีย คิดเป็น  11.5% ของจีดีพี 
    "จากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวทำให้คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลา  3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ขณะที่เอเชียโดยรวมจะใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี โดยในไตรมาส 1/2564 จีดีพีของไทยอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดที่ 4.6% ขณะที่เอเชียโดยรวมฟื้นเหนือระดับก่อนโควิดหมดแล้ว"
    โดย ธปท.ยังคงคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีในปีนี้ไว้ที่ 0.7% ส่วนปัจจัยที่จะทำให้มีการปรับคาดการณ์ในจีดีพีใหม่คือ หากมีการล็อกดาวน์ยาวถึงไตรมาส 4/2564 เพราะการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในแต่ละเดือนมีผลกระทบต่อจีดีพีประมาณ 0.3-0.4% และมองว่ามีโอกาสน้อยที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตติดลบ แม้ว่าผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกปัจจุบันจะหนักและมากกว่าที่คาดการณ์ 
    สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้้จึงต้องเหมาะสมและสมเหตุสมผลกับอาการ จากอาการของไทยที่หนักก็ต้องใช้ยาแรง ต้องแก้ให้ตรงจุดตรงต้นเหตุ นั่นคือ “วัคซีน” หากไม่เร่งดำเนินการเรื่องวัคซีน มาตรการอื่นๆ ที่เร่งผลักดันออกมาให้ตายก็ไม่พอ ไม่จบ เป็นแค่การซื้อเวลาเท่านั้น และจำเป็นต้องใช้มาตรการด้านสาธารณสุขต่างๆ  คุมการระบาดเพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามรุนแรงขึ้น 
    นายเศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า การกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐก็จะช่วยให้จีดีพีกลับมาเติบโตได้ใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น โดยกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 70% ของจีดีพีในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็ว ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"