สภาถกวันแรกงบกลางฉลุย


เพิ่มเพื่อน    

สภาประชุมวันแรกถกงบ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน ผ่านฉลุยมาตรา 6 งบกลางที่ได้เพิ่มมา 1.63 หมื่นล้านบาทเพื่อแก้โควิด ด้วยคะแนนเห็นด้วย 326 เสียง ไม่เห็นด้วย 52 เสียง “ก้าวไกล” เรียงหน้าสับรีดไขมันได้มากกว่านี้ ข้องใจสารพัดโครงการทั้งปาล์มน้ำมัน-ประมงเกี่ยวข้องไวรัสอย่างไร  
    เมื่อวันพุธที่ 18 สิงหาคม มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 11 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
    โดยเมื่อเข้าสู่การพิจารณา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะ กมธ.วิสามัญฯ ได้ชี้แจงรายละเอียดการปรับลดงบประมาณในชั้น กมธ.ว่า กมธ.ปรับลด 16,362 ล้านบาท โดยนำไปเพิ่มให้งบกลางรายการค่าใช้จ่ายบรรเทาแก้ปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งการปรับลดและเพิ่มงบประมาณให้ความสำคัญต่อความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงาน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ภารกิจแก้ปัญหาโควิด-19 รายการจำเป็นเร่งด่วน เป็นประโยชน์กับประชาชน เพื่อให้ดำเนินการตามกรอบวงเงินงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท ตามที่สภารับหลักการวาระแรก
จากนั้นที่ประชุมสภาเริ่มพิจารณาในมาตรา 4 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท โดยมี ส.ส.ทั้งซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างเสนอให้ปรับลดงบประมาณตั้งแต่ 3-23% อาทิ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะ กมธ.อภิปรายว่า ขอสงวนความเห็นปรับลด 1 แสนล้านบาท เพราะแม้ กมธ.ปรับลดตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบแล้ว 1.63 หมื่นล้านบาท แต่ยังเห็นว่าเรายังรีดไขมันไม่เพียงพอ ยังสามารถรีดไขมันได้อีก 3 ประเภท คือ ไขมันเกี่ยวกับความมั่นคง ไขมันที่เน้นลงทุนสิ่งก่อสร้าง และไขมันงบประมาณที่ตั้งสูงกว่าท้องตลาด
    ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ในฐานะ กมธ. กล่าวเช่นกันว่า ขอปรับลดงบอีก 1 แสนล้านบาท คงเหลือ 3 ล้านล้านบาท เพราะไขมันยังรีดได้อีกจำนวนมาก 
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะ กมธ.อภิปรายว่า ขอปรับลด 10% หรือ 3.1 แสนล้านบาท จากยอด 3.1 ล้านล้านบาท เพื่อลดการขาดดุลของประเทศ เพราะรัฐบาลเข้าสู่ปีที่ 7 ยังเป็นนักกู้แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และขอให้ฉายาการจัดงบปี 65 ว่าจัดงบเละเทะ ไม่สนโรคภัยของประชาชน แถมยังกู้ลั่นสนั่นเมืองตั้งแต่ระลอกที่หนึ่งจนถึงปัจจุบัน
    ต่อมาเวลา 12.48 น. ที่ประชุมพิจารณามาตรา 6 งบกลาง จำนวน 587,409 ล้านบาท น.ส.ศิริกัญญา ซึ่งสงวนความเห็นเสนอให้ตัดงบกลาง 2 หมื่นล้านบาท โดยระบุว่าปีนี้มีการเพิ่มงบให้งบกลางอีก 1.63 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้จ่ายเรื่องโควิด-19 ทั้งที่ความจริงได้ตั้งเงินสำรองจ่ายเพื่อฉุกเฉินและความจำเป็นอยู่แล้ว จำนวน 89,000 ล้านบาท ซึ่งคิดว่ามากเกินพอแล้ว เพราะที่ผ่านมาสภาเพิ่งอนุมัติ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทไป 
    “งบกลางเพื่อใช้บรรเทาโควิดนั้น ถ้าเป็นโครงการใหญ่จะอนุมัติโดยตรงจากมติ ครม. ซึ่งมีโครงการที่น่าสงสัย เช่น การอนุมัติงบให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเพื่อทำสถานกักตัวของรัฐ 1,613 ล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะใช่ความเชี่ยวชาญของกระทรวงกลาโหม นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ไม่เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโควิดอย่างไร เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันสู่โอลีโอเคมิคอลแบบครบวงจร จำนวน 22 ล้านบาท โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมง แหล่งน้ำชุมชน สำนักงานประมง จังหวัดนครราชสีมา 1,147 ล้านบาท ค่าทำพัฒนาเนินทรายงามให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศตามเส้นทางท่องเที่ยว 19 ล้านบาท ถามว่าโครงการเหล่านี้เป็นการแก้ไขโควิดอย่างไร” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
    ในขณะที่การอภิปรายงบกลางของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้านี้ใน กมธ.วิสามัญได้เห็นชอบให้นำงบประมาณที่ตัดลดลง 1.63 หมื่นล้านบาทไปไว้ในงบกลาง ต่างอภิปรายสนับสนุนการตัดลดงบดังกล่าวไปแก้ปัญหาโควิด และไม่ได้โจมตีงบกลางมากนัก มีเพียงแค่ตั้งข้อสังเกตให้ระมัดระวังการใช้งบตามวัตถุประสงค์  
    นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการปรับลดงบ 1.6 หมื่นล้านบาท มาไว้ในงบกลางเพื่อบรรเทาเยียวยาโควิด แต่ขอความมั่นใจไปยัง กมธ.และสภาเรื่องความไม่ไว้วางใจผู้ที่จะนำงบประมาณไปใช้คือ นายกฯ ที่ต้องนำไปแก้ปัญหาโควิด โดยควรนำงบ 1.6 หมื่นล้านบาทไปซื้อวัคซีน mRNA ฉีดให้ประชาชน ถ้าไม่ทำเช่นนี้อาจถูกมองนำงบไปปู้ยี่ปู้ยำได้ เพราะ 30 ล้านโดสของวัคซีน mRNA ที่ซื้อมาขณะนี้ไม่พอ   
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท.อภิปรายว่า เห็นด้วยที่เพิ่มงบประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท นำไปแก้ปัญหาโควิด แต่งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 89,000 ล้านบาท ควรตัดลง 5% หรือ 28,000 ล้านบาท ที่อาจนำไปใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ 
ด้านนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค กก.อภิปรายว่า อยากให้จับตางบกลางในรายการเงินสำรองฉุกเฉินจำนวน 89,000 ล้านบาท อาจเป็นงบ ส.ส.กลายพันธุ์ เพราะล่าสุดสดๆ ร้อนๆ มีการปล่อยโครงการบ่อน้ำบาดาล 2,117 โครงการให้ 23 จังหวัด รวมมูลค่า 6,170 ล้านบาท ซึ่งเป็นการนำงบประมาณในส่วนของเงินสำรองมาใช้ และไม่มีรายละเอียดแจกแจงเหตุผลว่าทำไมบางจังหวัดได้โครงการ บางจังหวัดไม่ได้โครงการ บางจังหวัดได้งบมาก บางจังหวัดได้งบน้อย
    “ผมทำงาน กมธ.มีความรู้สึกว่าเหมือนไถนามาให้ พล.อ.ประยุทธ์กิน กว่าจะปรับงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ มาได้ด้วยเหตุผลสารพัด ผมมาทำหน้าที่เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลต้องเทงบให้ แต่ขอให้ระวังมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามไม่ให้ ส.ส.แปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนรายการไม่ว่าจะทั้งทางตรงหรือทางอ้อม”
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภาใช้เวลาในการพิจารณาเฉพาะมาตรา 6 งบกลางเกือบ 4 ชั่วโมง ก่อนมีมติเห็นชอบมาตรา 6 งบกลางตาม กมธ.เสียงข้างมาก ด้วยคะแนนเห็นด้วย 326 เสียง ไม่เห็นด้วย 52 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง
    ในช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 16.00 น. การอภิปรายเข้าสู่มาตรา 7 งบสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานในกำกับ วงเงิน 24,260 ล้านบาท โดย ส.ส.ยังคงอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ยังคงเสนอให้ตัดงบหลายหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน อาทิ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรค ก.ก. อภิปรายว่า งบส่วนนี้ต้องถูกตัดอย่างน้อย 10% บางหน่วยงานดูแล้วควรยุบทิ้ง ส่วนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรักษาความปลอดภัย ทำเนียบรัฐบาลวงเงิน 50 ล้านบาท ตั้งราคาโอเวอร์ เลื่อนไปก่อนก็ได้ เพราะประวัติศาสตร์ชาติไทย สิ่งที่อันตรายต่อทำเนียบรัฐบาลคือ การทำรัฐประหารอย่างเดียว ตอนนี้คนทำรัฐประหารเวิร์กฟรอมโฮมน่าจะปลอดภัยได้อยู่
    “อีกภาระหนึ่งที่ควรยุบทิ้งเสียดายภาษี 8 พันล้านบาท สุดยอดหน่วยงานอัจฉริยะทำได้ทุกอย่าง สากกะเบือยันเรือดำน้ำ คือ กอ.รมน. สิ่งตกค้างจากยุคสงครามเย็น ที่มีเอาไว้จัดการศัตรูทางการเมือง 40 ปีก่อนอย่างคอมมิวนิสต์ ยุบเถอะครับ ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นเขาหมดเลย”
หลังจากที่ ส.ส.อภิปรายมาตรา 7 ครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมเห็นชอบวาระ 2 ตาม กมธ.ด้วยคะแนน 246 ต่อ 109 ไม่ลงคะแนน 1
ต่อมามีการพิจารณามาตรา 8 เกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหม วงเงิน 92,753,279,000 บาท โดย ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านต่างอภิปรายให้ปรับลดงบประมาณลง เนื่องจากไม่เหมาะกับสถานการณ์ โดยนายพิธาอภิปรายว่า แม้กองทัพเรือ (ทร.) ถอนเรือดำน้ำออกจากงบประมาณแล้ว แต่ยังมีงบประมาณก่อสร้างยุทโธปกรณ์ เช่น โรงจอดเรือ เรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบก โดรนขนาดใหญ่ตระเวนชายฝั่งไร้คนขับ เป็นงบผูกพันกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ต่างชาติเริ่มทบทวนการซื้อและลดการใช้โดรนขนาดใหญ่ไร้คนขับแล้ว จึงขอเสนอตัดงบ 2.6 หมื่นล้านบาท    
น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม. พรรค ก.ก. กล่าวว่า เข้าใจภารกิจในการป้องกันประเทศ แต่ก็ปวดใจ มีงบประมาณมากมาย ไม่เร่งด่วนสอดคล้องกับภารกิจหน่วยงาน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดที่เข้าขั้นวิกฤติ 
ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. กล่าวว่า ทำไมไม่เจรจาเลื่อนการจ่ายงวดงานเรือดำน้ำออกไป เพราะเดินทางไปฝึกไม่ได้ ขณะเดียวกันยังมีการจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่โดยที่เรือไม่มีอาวุธ รวมถึงโดรนลาดตระเวนชายฝั่งไร้คนขับ 3 ลำ 4,100 ล้านบาท ซื้อไปทำไม โดรนนั้นฆ่าโควิดได้หรือไม่ มีเหตุผลอะไรต้องให้กองทัพเรือซื้ออาวุธมากมาย ท่ามกลางความหิวโหยประชาชน ถ้าตอบไม่ได้ ขอให้คาร์ม็อบมาไล่เยอะๆ จะได้ไปเร็วๆ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"