ศบค.ย้ำซื้อซิโนแวคฉีดไขว้ยกผลวิจัยภูมิขึ้นสูง


เพิ่มเพื่อน    

ศบค.แจงยิบเหตุสั่งเข้าซิโนแวคอีก 12 ล้านโดส ยกผลการศึกษาวงการแพทย์ชั้นนำของไทยการันตีด่านหน้าฉีดสูตรไขว้ผสมป้องกันเสียชีวิตโคม่าได้สูง รับใช้ถมช่องว่างช่วงรอแอสตร้าฯ-จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก้าวไกลปลุกต้านนิรโทษฯ สอดไส้ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ โวยเปิดช่องประเคนทีมนโยบายบริหารวัคซีนใน ศบค. 
    เมื่อวันพุธ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนวันที่ 17 ส.ค. ฉีดเพิ่มได้ 518,118 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสม 24,618,749 โดส ทั้งนี้ การแสดงกราฟป่วยอาการหนักและผู้ที่เสียชีวิตตั้งแต่เดือน ก.ค.ถึงปัจจุบัน พบว่าผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตช่วงต้นเดือน ส.ค.กราฟเริ่มชะลอตัวลง
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่ามาจากการเน้นฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ โดยข้อมูลการฉีดวัคซีนในพื้นที่ กทม.ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-16 ส.ค. มีเป้าหมายการฉีดให้กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 1,041,828 ราย มีการฉีดเข็มที่หนึ่งไปแล้ว 971,523 ราย เข็มที่สอง 60,093 ราย เป้าหมายการฉีดให้บุคคลที่มีโรคประจำตัว 710,776 ราย มีการฉีดเข็มที่หนึ่งไปแล้ว 683,972 ราย เข็มที่สอง 72,573 ราย และวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมใน กทม. รวมทั้งสิ้น 70,189 ราย 
    “ขณะที่กรมควบคุมโรครายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.-16 ส.ค. พบเด็กอายุ 0-20 ปี มีการติดเชื้อ 51,521 ราย เสียชีวิต 19 ราย ร้อยละ 80 เป็นกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ดังนั้น เราจึงจะเร่งฉีดวัคซีนให้กับหญิงตั้งครรภ์ รวมไปถึงกลุ่มเด็กอายุเกิน 12 ปีที่มีโรคประจำตัวด้วย ทั้งนี้ เป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ได้ร้อยละ 70 ในปี 64 เป็นการคิดมาจากประชากรรวมทั้งคนไทยและต่างชาติที่มีรวมกันแล้ว 71 ล้านคน ซึ่ง 70% คือ 50 ล้านคน โดยหลังจากนี้จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส” พญ.อภิสมัยระบุ   
    เมื่อถามถึงกรณีรัฐบาลจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 12 ล้านโดส พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ศบค.ยึดจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ การศึกษาและวิจัย ทั้งในพื้นที่และในโรงเรียนแพทย์อย่างหลากหลาย โดยเป็นการรายงานการศึกษาการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ที่พบว่ามีบุคลากรที่ฉีดซิโนแวคสองเข็ม แล้วมีการติดเชื้อหลัง 14 วันไปแล้วพบว่าประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันการติดเชื้อถึง 72% และป้องกันการตายป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง 98% รวมถึงการศึกษาเทียบกับแอสตร้าเซนเนก้า ที่พบบุคลากรติดเชื้อหลังจากได้รับหนึ่งเข็ม พบว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อมากถึง 88%
    “แต่เมื่อดูจากการศึกษาแล้ว หากมีการฉีดผสมร่วมกันระหว่างซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า จะทำให้ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง มีความสามารถป้องกันโรคได้สูงมากขึ้น ดังนั้นการยืนยันข้อมูลการศึกษาต่างๆ ทำให้ ศบค.ให้ความเห็นชอบและที่จะดำเนินการให้จัดสรรซิโนแวคเพิ่มเติม” พญ.อภิสมัยกล่าว
    ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า อีกหนึ่งเหตุผลคือ เดิมจากที่วางแผนให้มีการระดมฉีดวัคซีนทั่วประเทศไทยได้ 100 ล้านโดส แผนเดิมที่วางไว้จะมีการเติมวัคซีนเข้ามาจากสองส่วน คือจอห์นสันแอนด์จอห์นสันและแอสตร้าเซนเนก้า คาดว่าจะให้รวมๆ กันประมาณ 10 ล้านโดส แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขรายงานก่อนหน้านี้ว่าจอห์นสันแอนด์จอห์นสันไม่สามารถจัดส่งวัคซีนให้ได้ในไตรมาส 4 ตามที่ตกลงกันไว้ ดังนั้นทำให้แผนต้องปรับ และเช่นเดียวกันกับแอสตร้าเซนเนก้า โดยกำลังผลิต การจัดสรรที่คาดการณ์ว่าจะได้ 10 ล้านโดส อาจจะลดลงมาอยู่ที่ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ทำให้มีความสมเหตุสมผลที่จำเป็นต้องจัดหาวัคซีนซิโนแวคเข้ามาเสริมในส่วนที่ขาดหายไป 
    “จากการศึกษาของโรงเรียนแพทย์ ทั้งจุฬาลงกรณ์ รามาธิบดี ศิริราช ที่มีการระดมฉีดไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3 สัปดาห์ แทนที่จะรอให้ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มห่างกัน 12 สัปดาห์ พบว่ามีการช่วยให้ประสิทธิภาพของการป้องกันการติดเชื้อ ลดอัตราป่วยรุนแรง ลดอัตราเสียชีวิต ได้ รวมทั้งการระดมฉีดครอบคลุมประชากรจำนวนมากได้เป็นไปตามแผนของการกระจายวัคซีน” พญ.อภิสมัยระบุ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังการหารือกับตัวแทนบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ผ่านระบบออนไลน์ว่า ในช่วงจากนี้เป็นต้นไป ทางบริษัท แอสตร้าฯ รับปากว่าจะกลับไปพิจารณาเรื่องที่ไทยขอให้จัดสรรเพิ่ม แล้วจะแจ้งกลับมาอีกครั้ง ส่วนรายละเอียดจำนวนวัคซีนนั้น ทางกรมควบคุมโรคในฐานะผู้ซื้อต้องไปคุยในรายละเอียดกับทางแอสตร้าฯ อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สำหรับเจรจาจัดหาวัคซีนแอสตร้าฯ สำหรับปี 2565 นั้น ได้แสดงเจตจำนงไปว่าปีหน้าต้องการอย่างต่ำ 50 ล้านโดส จากแอสตร้าฯ ซึ่งเขายินดีจัดสรรให้ประเทศไทยในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นโดสปกติ หรือบูสเตอร์โดส โดยบริษัทจะตอบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง 
         เมื่อถามย้ำว่า ในส่วนของวัคซีนแอสตร้าฯ ปี 2565 มีการระบุลงไปเลยหรือไม่ว่าจะต้องเป็นวัควัคซีนรุ่น 2 หรือเป็นรุ่นปัจจุบันก็ได้ นายอนุทินกล่าวว่า ในรายละเอียดต้องสอบถามกรมควบคุมโรค แต่ได้บอกเขาไปว่าต้องเป็นวัคซีนที่ทันต่อสถานการณ์ในวันนั้นๆ เช่น วันนี้ต้องเน้นเรื่องการป้องกันเชื้อเดลต้า เป็นต้น
    วันเดียวกัน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบที่จะแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ แทนการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมเหมาเข่งล่วงหน้า พอโดนประชาชนต่อต้านจนต้องล้มแผนออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมตัวเอง แต่ยังพยายามมาสอดไส้นิรโทษกรรมต่อในพ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ด่านหน้าได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม, พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพียงแต่กฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงฝ่ายนโยบายและ ศบค.เท่านั้น พรรคจะต่อต้านการสอดไส้นิรโทษกรรมตัวเองของรัฐบาลอย่างถึงที่สุด เพราะคนที่เสียประโยชน์สูงสุดคือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบริหาร การควบคุมการระบาดที่ผิดพลาด ทั้งหมดนี้อาจฟ้องร้องการชดเชยเยียวยาใดๆ จากรัฐบาลไม่ได้เลย
    ที่ จ.บุรีรัมย์ นายจีรศักดิ์ ทิพย์สุนทรชัย รองนายแพทย์สาธารณสุข​ จ.บุรีรัมย์  ระบุถึงกรณี​คุณยายวัย 70 ปี ชาว​ อ.นางรอง ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า  2 เข็ม ในวันเดียวกัน คือวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าคุณยายที่มีอายุมากแล้ว ท่านอาจจะหลงๆ ลืมๆ และได้พลัดหลงกับทางครอบครัวด้วย จึงไม่ได้มีใครคอยดูแลแนะนำ พอเจ้าหน้าที่สอบถามก็เกิดการสื่อสารกันไม่เข้าใจด้วย จึงทำให้ได้ฉีดเบิ้ล 2 เข้ม ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับปรุงแก้ไขระบบแล้ว และเฝ้าติดตามอาการซึ่งยังไม่มีความผิดปกติ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"