มองโควิดในมุมบวกที่บ้านเด็กกาญจนาภิเษก เว้นระยะห่างครอบครัว...เรียนรู้งานจิตอาสา


เพิ่มเพื่อน    

 ทุกวันที่ 16 ส.ค. ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษกที่ จ.นครปฐม จะมีงานวันสู่เหย้าของบรรดาเด็กนับจำนวนพันคนที่ถูกปล่อยออกไปใช้ชีวิตปกติ หลังจากได้รับการเยียวยา ดูแล แก้ไข ฟื้นฟู เปิด “พื้นที่สว่าง” เสริมพลังด้านบวก เพื่อให้พวกเขามีกำลังต่อสู้กับด้านมืดจากอดีต และเลือกที่จะกลับตัวเป็นคนดีนั้นกลับมาเล่าประสบการณ์ต่างๆ ในวันที่ได้พ้นโทษไปให้เด็กรุ่นน้องได้รับรู้และเข้าถึงเข้าใจในประสบการณ์จริง แต่เนื่องจากปีนี้มีปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงมีการงดกิจกรรมงานวันสู่เหย้า

            ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชาย บ้านกาญจนาภิเษก หรือ "ป้ามล" ของเด็กๆ บ้านกาญจนาฯ กล่าวว่า วันนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทางบ้านกาญนาฯ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของการบริหารจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนในบ้านมีปัญหา อีกทั้งไม่ให้เป็นภาระต่อสังคมภายนอก ฉะนั้นจากเดิมที่เคยอนุญาตให้เด็กกลับบ้านในวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็จำเป็นต้องเก็บตัวเด็กไว้ที่บ้านกาญจนาฯ ทั้งหมดและห้ามญาติเยี่ยม

            ทั้งนี้ การระบาดของโควิดในระลอก 3-4 มีเยาวชนอยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก เพียง 50 คน จากเดิมที่เคยมีเยาวชนอยู่สูงสุด 200 คน ทั้งนี้เพราะตำรวจจับเยาวชน เมื่อส่งขึ้นถึงกระบวนการพิจารณาในศาล ศาลขอเลื่อนการพิจารณาด้วยการเลือกใช้มาตรการอื่นแทนด้วยการคุมประพฤติ ให้มารายงานตัวตามนัดหมาย

"ป้ามล" อธิบายว่า แต่เดิมมาตรการเหล่านี้มีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ใช้ เพราะยึดหลักแนวคิด เมื่อเด็กทำผิด เด็กควรรับโทษ เพราะการที่เด็กกลับไปอยู่บ้าน พ่อแม่ก็อยู่ในบรรยากาศเดิมๆ ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เด็กไม่ได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เมื่อไม่ได้ถูกควบคุมตัว เด็กที่เคยมีพฤติกรรมแว้นก็กลับไปแว้นอีก เด็กทำความผิดใช้ความรุนแรงทำซ้ำอีก เมื่อเด็กทำผิดเงื่อนไขจะต้องรับโทษสูงขึ้นกว่าเดิม เรื่องนี้โทษเด็กที่ทำความผิดฝ่ายเดียวไม่ได้ ถ้าครอบครัวไม่ปรับเปลี่ยนความคิดในการดูแลลูกของตัวเอง  

ในช่วงโควิดระบาดนั้น บ้านกาญจนาภิเษกออกกฎห้ามญาติเยี่ยม สิ่งเหล่านี้ต้องทำความเข้าใจกับเด็กให้ยอมรับกติกานี้ การรู้จักการวิเคราะห์ใช้เหตุผล และใช้กระบวนการเรียนรู้เพื่อรับรู้ข่าวสาร มองเห็นสังคมที่แท้จริงว่า ขณะนี้พ่อแม่ของเขาก็ลำบากในการทำมาหากินยิ่งกว่าเดิม ต้องต่อสู้กับโควิดอยู่ภายนอก ดังนั้นเด็กก็ควรจะทำตัวให้เหมาะสมเพื่อพ่อแม่จะได้คลายความกังวล

ทั้งนี้ กิจกรรมภายในศูนย์ฝึกอบรมฯ ยังทำตามตารางเดิม โควิดระบาดรอบแรกเราเป็นตัวของตัวเอง 100% เราจับมือกับมูลนิธิกระจกเงา มีการขอรายชื่อผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิดซึ่งมีฐานะลำบากยากจน ขอความช่วยเหลือผ่านมูลนิธิกระจกเงา นำมา 20 เคสเพื่อให้เด็กบ้านกาญจนาฯ บริหารจัดการหาซื้อของตามรายการที่ผู้ได้รับความเดือดร้อนต้องการในชีวิตประจำวัน จากนั้นก็นำมาจัดเตรียมหีบห่อแล้วส่งสิ่งของไปให้ผู้ที่เดือดร้อน

“คนชอบพูดว่าเด็กดื้อ เราก็แปลกใจ การที่เด็กทำความผิด ก่ออาชญากรรม กม.ไม่อนุโลมให้ได้ แต่ทั้งหมดนี้ที่เด็กทำในสิ่งเหล่านี้ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี ก็เพราะเขารับมือกับสิ่งเร้าไม่เป็น สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในตัวเขา ไม่ใช่ตัวเขาล้วนๆ การที่เขามาอยู่กับเรา เราเริ่มกระบวนการ เด็กทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเป็นโจร แต่ปัญหาก็คือผู้ใหญ่ไม่ได้จัดเตรียมสังคมที่เหมาะสมให้เด็ก เราคิดแต่จะปราบพื้นที่สีดำ แต่ไม่คิดที่จะขยายพื้นที่สีขาวให้เต็มบ้านเต็มเมือง เราเลือกที่จะลงโทษเด็กที่ทำความผิด”

ในช่วงที่เราสื่อสารกับเด็ก เขาสะท้อนว่าเขาไม่เจอคนที่เข้าใจเขา ยอมรับข้อบกพร่องของเขา แต่ไม่ตามใจเขา พ่อแม่หลงลืมโรงเรียน รัฐบาลก็หลงลืมเรื่องที่น่าจะเป็นนโยบาย The Must สิ่งที่จะต้องทำ แต่ก็ยังไม่ได้ทำ เมื่อดูโจทย์เคสที่เชื่อมโยงกัน การที่เด็กถูกไล่ออกจากโรงเรียน ถ้ามองย้อนกลับไปว่าเด็กยังอยู่ในโรงเรียนไม่ถูกไล่ออก ถ้าครูมีเมตตา เพื่อนจะไม่ bully เด็ก เด็กก็จะไม่ออกไปประพฤติก่ออาชญากรรม ไปปล้นเขา มองเห็นระดับปัจเจก ไม่ออกไปก่อคดีทางเพศ ฆ่าเขา คนเหล่านี้มีญาติพี่น้องที่ต้องอยู่ในความทุกข์ เรานำข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเป็นหัวข้อนำมาถกเถียงเพื่อให้เด็กช่วยกันแสดงความคิดเห็น

การหยิบยกเรื่องที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของเขาเองมานำเสนอ แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ทำให้เด็กรู้สึกว่าเราไม่ได้ไปหลอกด่าเขา ทำให้เขารู้สึกอับอาย เราหยิบยกข่าวที่แม่ของเหยื่อถูกฆ่าตาย แม่ทุกคนหวังที่จะเห็นเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีอนาคต แม่คนหนึ่งกว่าจะได้ลูก1 คนต้องทุ่มเทฟูมฟักกว่าเด็กจะเติบโต ต้องใช้ทั้งเงิน ใช้ทั้งใจตั้งเท่าไหร่ เมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่นอายุ 17 ปี ถูกวัยรุ่นฆ่า หัวอกของคนที่เป็นพ่อแม่ต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง การที่เด็กตายไปจากครอบครัวจะใช้เวลากี่เดือนกี่ปี ความทุกข์ ความสูญเสียจะเรียกกลับคืนมาได้หรือไม่

เราต้องการให้เด็กเห็นภาพสองด้าน เด็กรับฟังเหตุผล การที่เด็กคนหนึ่งไปทำร้ายเด็กอีกคนหนึ่งจนกระทั่งเสียชีวิตเป็นการละเมิด และสร้างความทุกข์ยากให้ครอบครัวเด็กที่เสียชีวิต อย่างที่เรียกว่าไม่น่าให้อภัยแต่อย่างใด กม.ลงโทษผู้กระทำความผิด ทำให้เด็กที่ทำผิดต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอยู่ในบ้านกาญจนาภิเษก สิ่งเหล่านี้เรียกว่าวิชาชีวิต การเรียนวิชาเหล่านี้จะทำให้เด็กคิดเก่งขึ้น เราต้องการสอนให้เด็กเปลี่ยน mind set ที่โกรธแล้วต้องฆ่า แค้นต้องเอาคืน ทุกอย่างต้องคิดอย่างมีเหตุผล ไม่คิดแต่เรื่องเดิมๆ พฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ การฆ่า การปล้น เราต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยการสร้างคุณธรรม

ทิชากล่าวว่า หลายครั้งที่เราต้องอดทนต่อพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก การพูดจาหยาบคาย ท่าทางการเดินของเด็กที่แสดงออกว่าไม่ใช่ good boy เราต้องออกแบบวิธีคิดให้เด็ก การออกแบบบ้านหลังนี้เพื่อเปลี่ยน mind set ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ได้รับการยอมรับจากสังคม

ที่บ้านกาญจนาฯ จะมีคลิปวิดีโอให้เด็กติดตามดูอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างระบบคิด ภาพเรื่องราวของหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้เด็กซึมซับและเข้าใจการทำงานที่เหนื่อยยากของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข คนที่มาเข้าคิวรอตรวจโควิดต้องรอกันเกือบทั้งคืน พร้อมกับสะท้อนว่าพ่อแม่ก็อาจจะอยู่ในกลุ่มนั้นที่มีชีวิตยากลำบากมากยิ่งขึ้น เขาตกอยู่ในบรรยากาศของสงครามเชื้อโรค การที่เราไม่ได้กลับบ้าน เราก็ต้องดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ต้องไม่ทำอะไรที่เป็นการซ้ำเติมครอบครัว ทุกวันนี้พ่อแม่ทุกข์ยากอยู่แล้วที่ลูกต้องมาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ.

//////////////////////////////////////////////

 กิจกรรมชีวิตเพื่อหนทางสู่อนาคต

            แต่ละวันของเด็กที่ถูกควบคุมความประพฤติในบ้านกาญจนาฯ จะมีกิจกรรมที่แบ่งเป็นสัดส่วน 25-25-50 นั่นคือ

            25% คือการเรียนหนังสือผ่านระบบ กศน. โดยศูนย์ กศน.พุทธมณฑล ศาลายา

            25% ต่อมาคือการเรียนอาชีพ เบเกอรี่ ขนมไทย ขับรถยนต์ บาติก การทำกรอบรูปวิทยาศาสตร์ สกรีนเสื้อ ต่อมาในเดือน ส.ค.2522 วิทยาลัยในวังหญิงเข้ามาจัดการเรียนการสอนพัฒนาทักษะอาชีพ วาดภาพเหมือน ศิลปะการพับผ้าเช็ดหน้า ผ้าปูโต๊ะ การแกะสลักโฟม การทำเครื่องหอม การประดับพลอย โดยการประสานของโครงการกำลังใจพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ

            50% ที่เหลือคือการเรียนชีวิต หรือการพัฒนาทักษะชีวิต เป็นกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการในรูปการวิเคราะห์ ข่าวบทความ โศกนาฏกรรมในสังคม บทกวี คำสอน ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ความพ่ายแพ้ การเรียนทักษะชีวิต-สิทธิทางเพศโดยการสนับสนุนด้านวิชาการจากองค์การแพธ การตอบกระทู้การเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมตั้งแต่การร่วมคิดร่วมตัดสินใจ เนื่องจากทุกการตัดสินล้วนผูกพันกับชีวิต ซึ่งเยาวชนต้องตระหนักในความจริงดังกล่าว การติดตามชมภาพยนตร์ ร่วมคิดร่วมคุยหลังการชมภาพยนตร์แล้ว การร่วมเคลื่อนไหวในประเด็นสาธารณะ จิตอาสาร่วมกับภาคประชาสังคม.

 

           

“บ้านเปลี่ยนชีวิต”

เอกราช

ผมเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่เคยก้าวพลาดจากการกระทำรู้เท่าไม่ถึงการณ์ วันที่ศาลพิพากษาให้ไปอยู่บ้านต้นทาง เป็นวันที่ผมหัวใจสลาย รู้สึกไร้ค่า หดหู่ และเศร้าหมองมาก คิดเลยว่าชีวิตคงจบแล้ว เดินเข้าไปอยู่ในที่กักขังแบบคนอมทุกข์ ใบหน้าดำคล้ำเหมือนคนตายไปแล้ว กระทั่งวันหนึ่งได้รู้ข่าวบ้านกาญจนาภิเษกเปิดรับสมัครเยาวชน ผมไม่รอช้า รีบสมัครทันที และเหมือนชีวิตได้เจอปาฏิหาริย์ มีชื่อผมติดอยู่ด้วย ดีใจจนบอกไม่ถูก คล้ายได้เห็นแสงริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์ มันคือแสงแห่งความหวัง และเมื่อได้ก้าวสู่บ้านกาญจนาภิเษกจริงๆ ผมก็พบป้ามล และครูทุกคนให้การต้อนรับอย่างดี

            บ้านกาญจนภิเษกทำให้ผมรู้สึกเหมือนถูกปลดปล่อยจากพันธนาการที่เคยถูกจองจำ และยังทำให้เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แล้วผมยังได้ใกล้ชิดกับครอบครัวทั้งๆ ไม่ใช่บ้านของตัวเอง คงเป็นเพราะป้ามลพยายามทำศูนย์ฝึกให้มีสภาพใกล้เคียงกับบ้านมากที่สุด จึงทำให้ไม่รู้สึกกดดันและยังเป็นแรงผลักดันให้ผมอยากก้าวต่อไปข้างหน้า แม้จะต้องเจอปัญหา อุปสรรคมากแค่ไหน ผมก็จะไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อสิ่งยั่วยุที่จะเข้ามาในชีวิต เพราะบ้านหลังนี้สอนให้รู้จักคิดก่อนทำ และฉุดดึงผมขึ้นจากหลุมดำอันมืดมิด.

  

 

“ต้นไม้แห่งความสุข”

เฉลิมพันธ์

                นับตั้งแต่เข้ามาอยู่ในบ้านแห่งโอกาสอย่างบ้านกาญจนาภิเษก ผมรู้สึกว่าตัวเองได้มาอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ส่งผลไปถึงแม่ก็พลอยสบายใจ นอนหลับอย่างสุขใจตามไปด้วย เพราะรู้ว่าลูกได้อยู่ในบ้านที่อบอุ่นไม่ต่างจากบ้านของตัวเองแล้ว อีกทั้งที่นี่ยังเปิดโอกาสให้ผมกลับไปเยี่ยมบ้านได้ด้วย

            เหมือนเช้าวันหนึ่งที่ได้สิทธิ์กลับไปเยี่ยมบ้านตอนสิ้นเดือน ผมดีใจมากที่จะได้อยู่ร่วมบ้านกับพ่อแม่พี่น้องอีกครั้งหนึ่ง แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก่อนกลับบ้าน ผมต้องทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวก่อน คือการปลูกต้นไม้เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ในบริเวณที่เสียหาย เพราะภัยพิบัติน้ำท่วมเมื่อปี 2554 มีต้นไม้ยืนต้นตายมากมาย ผมไม่ได้อยู่ที่นี่ตอนนั้น แต่รับรู้ได้จากรูปภาพที่ถ่ายเก็บไว้ รวมถึงคุณครูก็เคยเล่าให้ฟัง จนผมจินตนาการได้ว่า เมื่อก่อนที่บ้านหลังนี้ต้องร่มรื่นและเขียวขจีไปด้วยต้นไม้เล็กใหญ่ ยืนต้นเรียงรายอยู่อย่างหนาแน่ๆ ผมมองเห็นภาพในอดีต ขณะเดินถือจอบ พร้อมถุงปุ๋ย และพันธุ์ไม้ มีแม่เดินเคียงข้าง เราคุยกันไปเรื่อยๆ อยู่ๆ แม่ก็พูดขึ้นว่า “ต้นไม้ที่จะปลูกกันวันนี้ขอให้ลูกคิดว่าเขาเป็นแม่แล้วกันนะ” “ทำไมละครับ” ผมถามกลับ “เพราะลูกจะได้ดูแล เอาใจใส่ เจ้าไม้น้อยๆ ต้นนี้ให้เหมือนกับที่แม่ดูแลลูกจนเติบโตไงละ”

            นาทีนั้น ผมบอกตัวเองทันทีว่าจะต้องดูแลเจ้าต้นไม้น้อยนี้ด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ให้สมกับที่แม่ขอ ผมมีความสุขมากที่ได้ปลูกต้นไม้ร่วมกับแม่ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาเราเคยทำกิจกรรมร่วมกันเพียงไม่กี่ครั้ง แม่ต้องทำงานเลี้ยงผมคนเดียวจึงไม่มีเวลามาก

            ถ้าผมไม่ได้เข้ามาใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้คงเสียใจมาก เพราะผมคงไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งดีๆ ร่วมกับแม่แบบนี้ และต้องขอขอบคุณป้ามล ทิชา ณ นคร และคุณครูทุกท่านที่ช่วยให้ผมเติบโตและก้าวออกไปเป็นผู้อยู่รอดในสังคมได้อย่างแน่นอน.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"