ปู่คออี้เกิดในไทย 'กสม.'จี้รัฐยุติจับ คนอยู่ก่อนเขตป่า


เพิ่มเพื่อน    

    กสม.ยันมีหลักฐานชัด "ปู่คออี้" เกิดแผ่นดินไทย โต้ตีข่าวคนพม่า หวังบิดเบือนข้อเท็จจริงคดี บี้รัฐยุติจับกะเหรี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ก่อนประกาศเขตป่าสงวน-อุทยานฯ แนะใช้มาตรการปกครองเป็นธรรมหลังพิสูจน์สิทธิแล้ว
    เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน นางเตือนใจ ดีเทศน์  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้แจงถึงกรณีที่มีสื่อบางฉบับรายงานว่า นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ อายุ 106 ปี ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สิน ได้เล่าให้ตนเองฟังว่าเกิดที่ต้นแม่น้ำภาชี ใกล้ๆ  กับบ้านพุระกำ จังหวัดราชบุรี ซึ่งไม่ใช่เกิดในประเทศไทยว่า ถ้อยคำที่ปู่คออี้บอกเล่ากับตนในคลิปดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลที่ไม่ได้แตกต่างหรือขัดแย้งไปจากรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หรือเป็นที่รับทราบโดยทั่วไปก่อนหน้านี้
    เนื่องจากพื้นที่ที่เรียกว่าบ้านใจแผ่นดิน อยู่ในเขตจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งไม่ไกลจากบ้านพุระกำ จังหวัดราชบุรี โดยมีแนวสันเขาต้นน้ำลำภาชีแบ่งเขตกั้น ที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศเมียนมา ตามที่มีการระบุในรายงานข่าว ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับหลักฐานเอกสาร ทะเบียนสำรวจบุคคลในบ้านสำหรับชาวเขา (ทร.ชข.) ซึ่งสำรวจโดยกรมประชาสงเคราะห์ ระบุชัดเจนว่า ปู่คออี้เกิดเมื่อปี 2454 ที่จังหวัดเพชรบุรี บิดาชื่อนายมิมิ และมารดาชื่อนางพีนอ คี นอกจากนั้นยังมีหลักฐานภาพถ่ายที่ปรากฏว่าปู่คออี้และกะเหรี่ยงใจบ้านแผ่นดินเดินทางไปหากำนันตำบลสวนผึ้ง เพื่อนำของป่าไปขายยังตัวเมืองจังหวัดเพชรบุรี
    "การสร้างข่าวว่าปู่คออี้ไม่ได้เกิดในประเทศไทย อาจเป็นความพยายามในการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ในทางคดี ทำให้ศาลและประชาชนทั่วไทยเข้าใจว่าปู่คออี้เป็นคนพม่าเข้ามาบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่ใช่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม นอกจากนั้นมีข้อสังเกตว่าได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมปู่คออี้ที่บ้านบางกลอยตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.2561 แต่เพิ่งมีการนำคลิปดังกล่าวออกมาเผยแพร่ภายหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากรณีการเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจานเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. จะมีเจตนาแอบแฝงเรื่องอื่นหรือไม่" นางเตือนใจระบุ 
    วันเดียวกัน ในการประชุม กสม.ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 21/2561 ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 
    1.กรณีการกำหนดเขตพื้นที่ในการทำกิน การอยู่อาศัย และการดำเนินวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ พ.ศ.2484, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 อย่างเข้มงวดและเด็ดขาด อันเป็นการเร่งรัดการดำเนินมาตรการทวงคืนผืนป่าเพื่อปราบปรามผู้บุกรุกพื้นที่ป่าตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64/2557 และฉบับที่ 66/2557 เป็นเหตุให้ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมซึ่งอยู่มาก่อนการประกาศเขตได้รับผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีพ สูญเสียพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัย ตลอดจนถูกจับกุมและตกเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ซึ่งกระทบต่อสิทธิของประชาชน 
    จึงขอให้หน่วยงานของรัฐตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ยุติการจับกุมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งยังประสงค์ให้มีการพิสูจน์สิทธิว่าเป็นผู้อยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ และจะดำเนินการขับไล่หรือไล่รื้อได้หลังจากที่มีการพิสูจน์สิทธิและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ควรทบทวนปรับปรุงขั้นตอนก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตลอดจนแนวทางการจัดการข้อพิพาทการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกับหน่วยงานของรัฐในเชิงสร้างสรรค์โดยชุมชนมีส่วนร่วม
    ครม.ควรพิจารณาทบทวนสถานะทางกฎหมายของแนวนโยบายตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงในประเด็นเรื่องการจัดการทรัพยากร รวมทั้งควรรับรองสิทธิเชิงกลุ่มของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมให้มีพื้นที่ในการทำกิน การอยู่อาศัย และการดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรม แทนการอนุญาตผ่อนผันให้ประชาชนครอบครองทำประโยชน์ในลักษณะชั่วคราว
    2.กรณีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ทับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชน เสนอให้กระทรวงมหาดไทยและ ครม.สำรวจตรวจสอบแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยคำนึงถึงวิถีชีวิต และการใช้ที่ดินของชุมชนในท้องถิ่น โดยแจ้งประชาชนในพื้นที่ให้ทราบถึงการออก นสล. และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกและการเข้ายึดครองพื้นที่ของผู้มีอิทธิพลเพิ่มเติม ส่วนในการรังวัดที่ดินเพื่อออก นสล. และเอกสารสิทธิในที่ดิน ควรใช้มาตราส่วน 1:4000 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2558
    สำหรับกรณีมีข้อโต้แย้งเรื่องแนวเขต ควรพิสูจน์สิทธิในที่ดินของประชาชนในพื้นที่ให้แล้วเสร็จก่อน จึงดำเนินการตามมาตรการทางปกครองกับประชาชนอย่างเป็นธรรม และควรมีมาตรการผ่อนผันให้แก่ประชาชนซึ่งใช้สิทธิโดยสุจริตในการอยู่อาศัยและทำกิน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"