เร่งฉีดวัคซีน13จว.แดงเข้ม


เพิ่มเพื่อน    

ฉีดวัคซีนโควิดทะลุ 25 ล้านโดส กรมควบคุมโรคลงนามจัดซื้อไฟเซอร์อีก 10 ล้านโดส รวม 30 ล้านโดส คาดทยอยส่งไตรมาส 4 แอสตร้าฯ 1.5 แสนโดนจากภูฏานถึงไทยแล้ว แจงบุคลากรฉีดไฟเซอร์เข็ม 4 ต้องไปปฏิบัติงานที่แคนาดา เผยสถิติผู้เสียชีวิตจากโควิด 0.6%  เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ส่วน 63% ไม่ได้รับวัคซีน เร่งฉีดผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยง 70% ทุกพื้นที่ลดการตาย 
    เมื่อวันศุกร์ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนวันที่ 19 ส.ค. มีการฉีดเพิ่ม 651,606 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่  28 ก.พ. 25,818,666 โดส ทั้งนี้ มีรายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศึกษาผู้ได้รับวัคซีน  125 ราย พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มีระดับภูมิคุ้มกัน  24.31 ผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม มีระดับภูมิคุ้มกัน  76.52 ผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มหนึ่งและแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สอง  78.65 ผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มบูสเตอร์ ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ มีระดับภูมิคุ้มกัน 271.17 
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข และนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นสักขีพยานการลงนามในสัญญาการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ชนิด  mRNA ของไฟเซอร์ ระหว่างนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์  อธิบดีกรมควบคุมโรค กับ Ms.Deborah Seifert ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทยและอินโดไชนา 
    นายอนุทินกล่าวว่า ตามที่รัฐบาลไทยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อฉีดให้ประชากรที่อยู่ในประเทศไทยตามความสมัครใจ ในวันนี้กรมควบคุมโรคและบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย ได้ร่วมลงนามในสัญญาการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19  ชนิด mRNA ของไฟเซอร์ เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นที่มีร่วมกันในความพยายามลดการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศ โดยจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมจำนวน 10 ล้านโดส จากที่ได้ลงนามจัดซื้อจำนวน 20  ล้านโดสไปแล้วเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 รวมวัคซีนไฟเซอร์ที่จะเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวน 30 ล้านโดส ทยอยจัดส่งได้ในช่วงไตรมาสที่  4 ปีนี้เป็นต้นไป เพื่อเสริมแผนกระจายวัคซีนของประเทศ ซึ่งจะทำให้มีวัคซีนฉีดให้ประชากรในประเทศไทย 100 ล้านโดสภายในปี 2564  
    “ผมขอขอบคุณ Ms.Deborah Seifert และผู้เกี่ยวข้องที่ได้ช่วยให้การจัดหาวัคซีนครั้งนี้สำเร็จด้วยความเรียบร้อย รัฐบาลไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือในการจัดหาวัคซีนเช่นนี้ต่อไป”  อนุทินกล่าว
    เมื่อช่วงค่ำวันพฤหัสบดี ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ มีการจัดการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2564 โดยมีนายอนุทิน  ชาญวีรกูล เป็นประธานการประชุม และนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นรองประธาน โดย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมวันนี้เห็นชอบใน (ร่าง)  นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570 พร้อมแผนงานโครงการและกรอบวงเงินงบประมาณ และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่ง (ร่าง) นโยบายฯ ฉบับนี้เป็นฉบับที่สำคัญและจะทำให้เกิดความมั่นคงด้านวัคซีน รวมทั้งเป็นกรอบการดำเนินงานในระยะยาวทั้งยังเป็นแผนการทำงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการวิจัย พัฒนา การประกัน การผลิต การควบคุมคุณภาพ การบริหารจัดการและการจัดหาวัคซีน รวมทั้งการกระจายวัคซีน ให้กรอบการทำงานมีความครอบคลุมในด้านการทำงานของวัคซีนทั้งระบบ 
ตาย 63% ไม่ได้รับวัคซีน
    นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. เปิดเผยว่า ตามที่ ศบค. เห็นชอบหลักการแลกวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลภูฏาน จำนวน 1.5 แสนโดส และจะส่งคืนให้ภูฏานในปลายปี 2564 โดยวันนี้เวลา 12.40 น. วัคซีนล็อตดังกล่าวมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทยแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการตรวจสอบคุณภาพวัคซีน คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 วัน และจะกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อฉีดให้ประชากรกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อลดการป่วยหนักและเสียชีวิต
    นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงประเด็นวัคซีนโควิด-19 ว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค.64 ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น 651,606 โดส แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 442,435 ราย  เข็มที่ 2 จำนวน 201,318 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 7,853 ราย  ฉีดสะสมแล้ว 25,818,666 โดส เป็นเข็มที่  1 จำนวน 19.586,666 ราย เ ข็มที่ 2 จำนวน 5,705,200 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน  527,457 ราย มีผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มแล้ว คิดเป็น 27.2% ครบ 2 เข็ม 7.9  % ผลการให้บริการแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วง มี.ค.-พ.ค. 4 ล้านโดส, มิ.ย. 6 ล้านโดส, ก.ค.8 ล้านโดส และ ส.ค.ถึงวันที่ 19  ส.ค. 7.8 ล้านโดส คาดว่าถึงสิ้นเดือน ส.ค.อย่างน้อย 10 ล้านโดส โดยเป็นวัคซีนซิโนแวค 12,099,070 โดส แอสตร้าเซนเนก้า 10,897,029 โดส ซิโนฟาร์ม 2,339,330 โดส และไฟเซอร์  483,237 โดส รวม 25.8 ล้านโดส      
     นพ.โสภณกล่าวอีกว่า  การฉีดวัคซีนของคนไทยเพิ่มขึ้นตามลำดับ  ในเดือน ส.ค.ฉีดไปแล้ว 7.8 ล้านโดส คาดว่าจะฉีดได้ถึง 10 ล้านโดส สำหรับกลุ่มที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว ได้แก่ บุคลากรการแพทย์ฉีดครบ 100% เจ้าหน้าที่ด่านหน้าฉีดแล้ว 53.1% อสม. 59.5%  ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตได้แก่ ผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรังที่มี 16 ล้านคน ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 30% ส่วนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ยังฉีดได้น้อย จึงเชิญชวนให้ไปฉีดวัคซีนเพื่อลดการเสียชีวิต 
    "ข้อมูลการฉีดวัคซีนใน กทม.ตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นมา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันครอบคลุมแล้ว 94% มีผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตใน  กทม.ลดลง ดังนั้นจึงเร่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด  13 จังหวัดให้ได้อย่างน้อย 70% ซึ่งเหลืออีกเพียง 424,454 โดส ก็จะครอบคลุม ส่วนจังหวัดอื่นๆ ฉีดให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในเดือน ส.ค.64"
     นพ.โสภณกล่าวว่า ความเสี่ยงในการเสียชีวิต ล่าสุด 240 ราย ครึ่งหนึ่งอยู่ที่ กทม.และปริมณฑลที่มีการระบาดรุนแรงมาก่อน  สัญชาติไทยเป็นหลัก แต่มีเมียนมาและจีนด้วย อายุ 60 ปีขึ้นไป 162 ราย คิดเป็น 68% ผู้มีโรคเรื้อรัง 46 ราย คิดเป็น 19% รวม 2 กลุ่มนี้คิดเป็น 87%  สำหรับผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดและประวัติได้รับวัคซีนช่วง 25 ก.ค.-19 ส.ค. 2564 แยกเป็น 1.ผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ก่อนวันเริ่มป่วยอย่างน้อย 2 สัปดาห์ 26 ราย คิดเป็น 0.6 % อายุน้อยกว่า 60 ปี 21 ราย  มากกว่า 60 ปี 5 ราย ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม 24 ราย ได้รับแอสตร้าฯ 2 เข็ม 1 ราย และได้รับซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ 1 ราย 2.ได้รับแอสตร้าฯ 1 เข็ม ก่อนวันเริ่มป่วยมากกว่า 2 สัปดาห์ 316 ราย ก่อนวันเริ่มป่วยมากกว่า 4 สัปดาห์ 118 ราย 3.ไม่ได้รับฉีดวัคซีน 2,969 ราย คิดเป็น 63.8 % และไม่มีข้อมูลได้รับวัคซีนในหมอพร้อมและข้อมูลไม่ตรงกัน 874 ราย อย่างที่ทราบว่าโอกาสการเสียชีวิตจะลดลงเมื่อได้รับวัคซีน แต่ก็ยังเกิดขึ้นได้ในรายที่มีโรคประจำตัวหรือสูงอายุ
      "อนุมานโดยรวม ความครอบคลุมของวัคซีนในพื้นที่ กทม.สำหรับผู้สูงอายุทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงจะขยายการดำเนินการในส่วนนี้ โดยผู้สูงอายุในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวดมีความครอบคลุมอย่างน้อย 1 เข็มอยู่ที่ 63 % ขณะที่ สธ.ตั้งเป้าหมายว่าจะให้ผู้สูงอายุในจังหวัดเหล่านี้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70% ภายในสิ้นเดือน ส.ค. ส่วนแผนของเดือน ก.ย. วัคซีนส่วนใหญ่จะไปในพื้นที่ต่างจังหวัด เน้นฉีดผู้สูงอายุและและผู้มีโรคเรื้อรัง เพื่อให้ความครอบคลุมของวัคซีนในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มสูงขึ้นให้ได้มากที่สุดอย่างน้อย 70% ในทุกพื้นที่ จะทำให้ภาพรวมของการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตของพื้นที่ต่างๆ ได้ผลดีขึ้น "
ยันให้ยาฟาวิฯ เร็วยิ่งดี
    รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวด้วยว่า ได้รับแจ้งกรณีที่มีการโพสต์ในโซเชียลว่ามีผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ฉีดเป็นเข็มที่ 4 นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลในระบบบริหารจัดการวัคซีน COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (MOPH IC : MOPH Immunization  Center) พบว่า กรณีนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังจะเดินทางไปปฏิบัติงานที่ประเทศแคนาดา ซึ่งมีระเบียบว่าจะต้องได้รับวัคซีนที่แคนาดากำหนดจึงสามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว14 วัน ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และโควิดชิลด์ ร่วมกับแสดงผลตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเข้าประเทศเป็นลบจึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการฉีดไฟเซอร์ภายหลังได้แอสตร้าเซนเนก้า 
    นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  แถลงผลการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการว่าใช้ต้านไวรัสโควิด-19 เนื่องจากต้องมีการศึกษาใช้ยาจริงและยาหลอกกับผู้ป่วย โดยปกปิดข้อมูลกับผู้ป่วย  หลังจากนั้นก็ตามดูผล ซึ่งยาต้านไวรัสโควิด-19 มีแต่ยังอยู่ในระหว่างการทดลอง และประเทศไทยก็กำลังสั่งจองยาตัวนั้นอยู่ ดังนั้นเมื่อเริ่มต้นการระบาดปี 2563 ไทยศึกษาผลการใช้ยาจากที่อื่นโดยประเทศจีน มีผลวิจัยพบว่ายาฟาวิพิราเวียร์​สามารถลดการติดเชื้อได้ดีกว่ายาต้านไวรัสตัวอื่น เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ LPV และ RTV  อีกทั้งประเทศรัสเซียพบว่า ยาฟาวิ​พิ​ราเวียร์​สามารถกำจัดเชื้อได้ดีกว่าการรักษาตามมาตรฐานในวันที่ 5 กรมการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ศึกษาในผู้ป่วยกว่า 400 ราย ผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาฟาวิพิราเวีย​เร็วภายใน 4 วัน หลังเริ่มมีอาการป่วยให้ผลการรักษาดี ลดอาการรุนแรงได้เกือบร้อยละ 30 ค่ามัธยฐานหลังจากได้ยาแล้วทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมรุนแรงจะใช้เวลามาก เฉลี่ย 17 วันดีจึงจะขึ้น แต่ถ้าปอดบวมไม่รุนแรงจะอยู่ที่ 9 วัน หมอที่อยู่หน้างานและดูแลผู้ป่วยต่างบอกว่า ให้เร็วแล้วดี ให้ช้าไม่ดี ซึ่งค่อนข้างตรงกับรายงานที่ HiTAP ได้สรุปมา. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"