โหวตบัตร2ใบฉลุย 476ต่อ70เสียงไฟเขียวม.83สูตรส.ส.เขต400ปาร์ตี้ลิสต์100


เพิ่มเพื่อน    

ที่ประชุมรัฐสภาลงมติท่วมท้นไฟเขียวถกร่าง รธน.ฉบับทบทวนแก้ไข  "ไพบูลย์" ดันจำนวน ส.ส.แบ่งเขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2ใบ “พรรคเล็ก” ร่วมกันค้าน หวั่นใช้อิทธิพลหรือการอุปถัมภ์ ส.ส.เขตซื้อเสียงมากขึ้น "ส.ว.เลิศรัตน์" อภิปรายหนุน ก่อนที่ประชุมโหวตเห็นชอบกับ กมธ.  "ส.ส.ก้าวไกล" ค้านคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อย้อนยุคปี 2540 ยกหางวิธีคิดก้าวไกลป้องกันพรรคนายทุนกินรวบ ส.ส. "เพื่อไทย" สวนกลับ สะท้อนความต้องการ ปชช. ป้องกันพรรคเล็กมากเกินจำเป็น  ส.ว.หนุนด้วยหวังแก้ปัญหากล้วยเลี้ยงลิง  
     ที่รัฐสภา เวลา 09.50 น. วันที่ 25 สิงหาคม ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ..... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ.ในวาระสอง ก่อนเข้าสู่การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเรียงรายมาตรา ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบให้นำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ กมธ. ที่มีการทบทวนแก้ไขเมื่อวันที่ 24 ส.ค. เข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ด้วยคะแนน 357 ต่อ 42 งดออกเสียง 86 ไม่ออกเสียง 0 เสียง
     นายไพบูลย์ชี้แจงว่า คณะ กมธ.ได้ปรับแก้ไขรายงาน โดยได้ตัดออกหลายมาตรา เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น อาทิ มาตรา 85 ว่าด้วยการกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลเลือกตั้งภายใน 30 วัน บทเฉพาะกาลว่าด้วยกำหนดให้ออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน หากทำไม่แล้วเสร็จให้ กกต.ออกประกาศเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง 
    "ทั้งนี้ คณะ กมธ.ได้คงมาตราที่เพิ่มเติมคือมาตรา 86 เพื่อปรับตัวเลข ส.ส.ให้สอดคล้องกับหลักการ ที่ให้มี ส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน และคงบทเฉพาะกาลบางส่วนไว้ เพื่อรองรับในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ถ้าเกิดเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ขณะนี้ ก็ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขฉบับนี้" นายไพบูลย์กล่าว
    พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายว่า การแก้ไขของ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ถือว่าฉุกละหุก เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้นำเสนอให้รัฐสภาพิจารณา แต่ไม่เห็นเนื้อหาว่าแก้อย่างไร จึงไม่แน่ใจว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าจะมีผู้นำเรื่องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การแก้ไขของ กมธ.ควรพิจารณาในที่ประชุม ไม่ใช่ใช้มติ กมธ.แก้ไขเปลี่ยนแปลง แล้วให้ที่ประชุมรัฐสภาอนุญาต ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
     นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า มีการแก้ไขคำแปรญัตติที่ไม่ตรงกับคำขอที่เสนอต่อที่ประชุม ดังนั้นจึงควรถอนร่างรัฐธรรมนูญออกไปก่อน เพื่อกลับไปแก้ไขให้สมบูรณ์ ให้เนื้อหาตรงกัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเฉพาะ ตนไม่ต้องการให้มีปัญหากระทบต่อสมาชิกรัฐสภาระยะยาว
     ขณะที่นายชวนกล่าวว่า เมื่อ กมธ. แก้ไขเปลี่ยนแปลง ต้องขออนุญาตตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 37 เมื่อคณะ กมธ.มีการแก้ไขเพิ่มเติมญัตติ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตของที่ประชุมรัฐสภา ดังนั้น จึงขอถามที่ประชุมว่าเห็นชอบให้คณะ กมธ.นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ผลปรากฏว่าที่ประชุมเห็นชอบ  
    จากนั้นเวลา 10.20 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะประธาน กมธ. รายงานว่า กมธ.ได้พิจารณาเสร็จ โดยมีมาตราที่เพิ่มขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นมาตราที่เกี่ยวข้องและเสนอคำแปรญัตติที่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 124 การแก้ไขในแต่ละมาตรา กมธ.ได้นำคำแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภา อย่างไรก็ตาม มีการแก้ไขมาตรา 86 แบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการแก้ไขจำนวน ส.ส.ให้สัมพันธ์กับการแก้ไขมาตรา 83 โดยตรง นอกจากนี้ มียังมีการเพิ่มบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ถ้าเกิดเลือกตั้งซ่อมตอนนี้ก็ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขฉบับนี้
โหวตบัตร 2 ใบผ่านฉลุย
    ต่อมาเวลา 10.38 น. ที่ประชุมพิจารณามาตรา 83 ว่าด้วยจำนวน ส.ส.แบ่งเขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ภาพรวมการอภิปราย พรรคก้าวไกล พรรคพลังท้องถิ่นไท และพรรคเสรีรวมไทย ไม่เห็นด้วนตามที่ กมธ.แก้ไข และเสนอให้คงใช้สัดส่วน ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือ ส.ส.แบ่งเขต 350 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน
     โดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า หากกำหนดสัดส่วน ส.ส.ไม่ห่างกัน จะทำให้พรรคการเมืองได้เน้นนโยบายหาเสียง เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพรวมว่าเมื่อพรรคได้เป็นรัฐบาลจะทำอย่างไร ไม่ใช่เน้น ส.ส.แบ่งเขตแบบตัวบุคคล ซึ่งการเข้ามา ส.ส.ก็จะใช้อิทธิพลหรือการอุปถัมภ์ ซึ่งแบบนั้นไม่ได้สะท้อนประชาธิปไตยในบ้านเรา
     ขณะที่นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า การให้สัดส่วน ส.ส.เป็นแบบที่ กมธ.แก้ไข จะทำให้มีการซื้อเสียงทวีคูณและแข่งขันมากขึ้น เราจะยอมรับหรือไม่ว่ามีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงจนเป็นธรรมเนียมว่า เงินไม่มา กาไม่เป็น เป็นแบบนี้ทั่วประเทศ ฟังปราศรัยได้ 200 บาท คืนหมาหอนได้อีก 500 บาท จึงอยากถามว่าสัดส่วน ส.ส.แบบที่ กมธ.แก้ไข ยังเหมาะสมจริงกับประเทศเราจริงหรือ ระบบนี้ใช้ในรัฐธรรมนูญปี 40 เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นระบบกินรวบรัฐสภา เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่สะท้อนเจรจาของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อยากถามผู้มีอำนาจว่าหากใช้ระบบนี้ ไม่กลัวผีแล้วหรือ หรือว่าเพียงเพื่อให้ได้ประโยชน์เท่านั้น ก็เลิกกลัวผี
    ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. อภิปรายสนับสนุนให้มี ส.ส.แบ่งเขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และให้ใช้ใบเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะในการเลือกตั้งส.ส.ปี 62 ใช้แบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวมีปัญหามาก ตั้งแต่เกิดการร้องเรียนต่อ กกต. ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงการคำนวณ ส.ส.ใหม่ ได้เป็น ส.ส.อยู่ดีๆ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมและคำนวณคะแนนใหม่ ทำให้ ส.ส.ต้องกลับบ้าน รู้สึกสงสาร ฉะนั้นตนจึงเห็นด้วยที่จะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ  
    นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประชาชน แต่การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ดูเหมือนประชาชนจะไม่ได้อะไร เพราะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้บัตร 2 ใบตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ ที่ผ่านมาการเลือกตั้งมีปัญหาสร้างความแตกแยก ถ้าเราจะแก้รัฐธรรมนูญและให้ประชาชนได้ประโยชน์ ต้องใช้เขตเลือกตั้งใหญ่ มี ส.ส.หลายคน ไม่ใช่เขตเดียวคนเดียวแบบที่ทำกัน ซึ่งเขตใหญ่ซื้อเสียงยาก ทำให้ได้ตัวแทนของประชาชนอย่างทั่วถึงกว้างขวาง
    กระทั่งเวลา 14.48 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ดำเนินการให้ที่ประชุมลงมติมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 จำนวน ส.ส. ผลปรากฏว่า เห็นชอบ 476 ไม่เห็นชอบ 70 งดออกเสียง 91 ไม่ออกเสียง 1 คะแนน เป็นอันว่าที่ประชุมเห็นชอบกับที่คณะ กมธ.แก้ไข ทั้งนี้ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาใช้เวลาพิจารณามาตราดังกล่าว 4 ชั่วโมง
     ต่อมาเวลา 14.57 น. เข้าสู่การพิจารณามาตรา 3/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 86 ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งให้มีพื้นที่จำกัด มีข้อเสียคือหากใครไม่สุจริตก็จะใช้เงินซื้อเสียง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ผ่านการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะใช้เงินซื้อเสียง อย่างไรก็ตาม หากเขตเลือกตั้งมีพื้นที่ใหญ่ และมี ส.ส.มากกว่า 1 คน ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ดีกว่าหนึ่งเขตหนึ่งคน จึงอยากให้ที่ประชุมช่วยพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้งให้เป็นพื้นที่ใหญ่ เพราะสามารถสะท้อนความต้องการของประชาชน ประชาชนได้มีตัวแทนของเขาเข้ามาทำหน้าที่ในสภา ไม่เช่นนั้นก็อาจจะมีการรวมกลุ่มกันเพื่อเสนอข้อเรียกร้องของตนเอง และเกิดการชุมนุมเหมือนที่ผ่านๆ มา ถือเป็นการพายเรือในอ่าง วนแบบนี้ไม่จบ
กก.ค้านคำนวณบัญชีรายชื่อ
     เมื่อสมาชิกรัฐสภาอภิปรายกันอย่างขวางกว้างจนครบคน นายพรเพชรให้ที่ประชุมลงมติ ผลปรากฏว่า เห็นชอบ 471 ไม่เห็นชอบ 6 งดออกเสียง 133 ไม่ออกเสียง 1 เสียง เป็นอันว่าที่ประชุมเห็นชอบกับที่คณะ กมธ.แก้ไข
    เวลา 17.10 น. เข้าสู่การพิจารณา มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 91 เรื่องการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย เสนอการกำหนดให้การเลือกตั้งบัตรใบที่ 2 ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง หากพรรคการเมืองใดได้คะแนนน้อยกว่า 0.2% ของคะแนนรวมทั้งประเทศ ให้ถือว่าไม่มีผู้ใดในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้ง และมิให้นำคะแนนเสียงดังกล่าวมารวมคำนวณ เพื่อหาสัดส่วนจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเมื่อได้คะแนนดังกล่าวแล้ว จึงนำไปคำนวณเพื่อหาคะแนนพึงมีของแต่ละพรรคการเมือง แล้วจึงนำไปลบกับจำนวน ส.ส.เขตที่พรรคการเมืองนั้นได้มา จำนวนที่เหลือคือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองนั้นควรจะได้ ข้อเสนอของตนพัฒนาจากประสบการณ์เมื่อปี 2540 เป็นระบบที่มีความเหมาะสมกับสังคมไทยในวันนี้ การเลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบ ยังมีอยู่ในคำที่สงวนเอาไว้ เพียงแต่การคำนวณจะต้องทันสมัย ไม่โบราณเหมือนกับที่เกิดขึ้นในยุคเก่า  
     “การกำหนดขั้นต่ำ 0.2% หากคิดเป็นสมการง่ายๆ เรามี ส.ส. 500 คน 0.2% ของ 500 คน คือ ส.ส. 1 คน หากเราใช้เกณฑ์นี้ในการคำนวณแล้วเทียบผลการเลือกตั้งในปี 2562 จะพบว่าคะแนนขั้นต่ำ ที่จะถูกนำมานับได้คือ 7 หมื่นคะแนน คิดว่าตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ไม่มากเกินไป เป็นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองขนาดเล็กเข้ามามีส่วนร่วมได้ นอกจากนั้น การกำหนด 0.2% เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ ในการคิดคะแนนของพรรคการเมือง จะเป็นการแก้ปัญหาพรรคการเมืองปัดเศษ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 60” นายรังสิมันต์กล่าว 
    นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายโดยชี้ให้เห็นถึงระบบการคำนวณคะแนนที่พรรคก้าวไกลเสนอนั้นจะป้องกันการกินรวบ เป็นการเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่ม สะท้อนเสียงประชาชนอย่างแท้จริง เพราะใช้วิธีคำนวณ ส.ส.พึงมีตามสัดส่วนคะแนนเสียง ได้ที่นั่ง ส.ส.ถูกต้อง สะท้อนถึงเสียงประชาชน ขณะที่การใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบคู่ขนาน จะทำให้พรรคการเมืองใหญ่ ที่ชนะ ส.ส.เขตมาก ได้ที่นั่ง ส.ส.มากเกินจริง และเพื่อช่วยกันทำลายระบบพรรคนายทุนที่จะกินรวบประเทศ 
    ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า มาตรา 91 ร่างของกรรมาธิการมีเจตนารมณ์เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 โดยการคิดคำนวณคะแนน 1.การกำหนดอัตราขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละหนึ่งของคะแนนทั้งหมด กล่าวคือ สมมุติคะแนนทั้งหมดมี 40,000,000 เสียง คะแนนขั้นต่ำอยู่ที่ 400,000 คะแนน พรรคการเมืองใดได้คะแนนมากกว่า 400,000 ขึ้นไป จึงจะสามารถนำมาคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต่ำกว่านั้นไม่มีสิทธิ์ วิธีการนี้จะได้ไม่มีพรรคเล็กพรรคน้อยเกินความจำเป็น 2.ให้นำคะแนนที่เลือกทั้งพรรคและเขตมาคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ สะท้อนความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี 
    พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. อภิปรายว่า การไม่กำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ ทำให้มีพรรคเล็กจำนวนมาก ทุกคนตั้งพรรคเพื่อได้คะแนน 2-3 หมื่นคะแนน จะได้มี ส.ส. มีพรรคเล็กร่วม 10พรรค ทำให้เกิดความอ่อนแอจัดตั้งรัฐบาล เกิดปรากฏการณ์กล้วยเลี้ยงลิง มีพรรคฝ่ายค้านอิสระที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงขอเสนอบัญชีรายชื่อพรรคใดได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของคะแนนทั้งประเทศถือว่า ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แก้ปัญหาพรรคปัดเศษ พยากรณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านไปใช้การเลือกตั้ง จะมีพรรคที่ได้ ส.ส. 1 คน เพียง 3-4 พรรค เพราะมีส.ส.บัญชีรายชื่อลดลงเหลือ 100 คน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"