"ชวน" เริ่มนับ 15 วันก่อนนัดลงมติแก้ รธน.วาระ 3 ชทพ.ยันโหวตหนุนแม้เสียเปรียบบัตร 2 ใบ ภท.กั๊กรอที่ประชุม ส.ส.พรรคเคาะ ยังไม่มีแนวคิดยื่นศาล รธน. ก้าวไกลย้ำเรื่องตีความจบไปแล้ว พรรคเล็กฉะพรรคใหญ่ฮั้วแก้รัฐธรรมนูญ จ่อคว่ำร่างดิ้นฟ้องศาล
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เวลา 09.40 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) วาระ 3 ว่า ให้เริ่มนับไป 15 วัน โดยเริ่มจากวันที่ 26 ส.ค.และจะต้องดูความพร้อมของสมาชิกในการนัดวันลงมติอีกครั้ง
ด้านนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เปิดเผยว่า พรรคสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐสภาผ่านการพิจารณาวาระสองแล้ว และจะลงมติเห็นด้วยในวาระสาม โดยเหตุผลสำคัญคือ ระบบการเลือกตั้งด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้นเป็นแนวทางที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ได้วางไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และเป็นระบบที่ทำให้ประชาชนสามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ง่าย ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาถือเป็นพรรคขนาดกลางค่อนไปทางเล็ก เสียเปรียบกับระบบเลือกตั้งดังกล่าว แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันถึงเวลาที่พรรคการเมืองต้องพัฒนานโยบายเพื่อแข่งขันในสนามเลือกตั้ง ส่วนที่ตนอภิปรายติดใจกรณีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น รายละเอียดสามารถเขียนกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ได้
ทั้งนี้ หากรัฐสภาลงมติวาระสามและไม่มีผู้ใดยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะเข้าสู่กระบวนการทูลเกล้าฯ ถวายและรอการประกาศเป็นกฎหมาย จากนั้นจะมีพรรคการเมืองเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยข้อกำหนดต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ดังนั้นจะไม่เกินเดือน มี.ค.65 และเชื่อว่าจะมีผู้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองร่วมด้วย เพราะเนื้อหายังมีปัญหากรณีการกำหนดให้ทำไพรมารีโหวต
รายงานข่าวจากพรรคภูมิใจไทยแจ้งว่า พรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้ประชุมหารือร่วมกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรในการพิจารณาวาระ 3 เพราะเพิ่งลงมติวาระ 2 ไป ซึ่งยังมีเวลาดำเนินการภายใน 15 วัน ทั้งนี้ต้องรอให้มีการประชุม ส.ส.ของพรรคก่อนว่าสรุปแล้วจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป เพราะในวาระ 2 พรรคภูมิใจไทยได้งดอภิปรายและงดออกเสียง เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน และความคิดของเรา ณ วันนี้ยังไม่เปลี่ยน ส่วนภายหลังการพิจารณาวาระ 3 เสร็จสิ้นแล้ว จะมีการร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็กยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่นั้น พรรคภูมิใจไทยยังไม่มีแนวความคิดที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า หลังจากการพิจารณาผ่านวาระ 2 พรรคก้าวไกลทำอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากรอการพิจารณาในวาระ 3 ทั้งนี้ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลไม่เคยบอกว่าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พรรคภูมิใจไทยเคยพูด เนื่องจากแนวทางของพรรคคือการยื่นญัตติด่วนเรื่องขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ... ที่เสนอโดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และตอนนี้จบไปแล้ว ส่วนแนวทางการโหวตในวาระ 3 นั้น พรรคจะต้องมีการประชุม ส.ส.ของพรรคอีกครั้งก่อนถึงวันประชุมร่วมรัฐสภาโหวตวาระ 3 ว่าเราจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป
ด้านนายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 ที่เพิ่งผ่านไปมีแนวโน้มส่งสัญญาณการสมคบคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของพรรคใหญ่ เพราะจะใช้บัตรเลือกตั้งกี่ใบก็ได้ แต่การเพิ่มจำนวน ส.ส.เขตและลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะทำให้พรรคที่มีทุนหนาได้ประโยชน์ ขณะที่พรรคเล็กไม่มีโอกาส หากเกิดการเลือกตั้งใหม่จะเกิดระบบเผด็จการรัฐสภา พรรคเล็กจะสูญพันธุ์ ควรใช้ระบบคู่ขนานหรือการจัดสรรปันส่วนผสมมาใช้คำนวณ ส.ส.
"ถ้าใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบในระบบนี้ ผลการเลือกตั้งจะมีพรรคการเมือง 1 หรือ 2 พรรคได้เสียงข้างมาก ไม่มีการถ่วงดุลจากพรรคขนาดกลางและพรรคเล็ก พรรคใหญ่สามารถงุบงิบมีวาระซ่อนเร้นได้ ถามว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มีบางอย่างส่งสัญญาณ หรือมีวาระซ่อนเร้นไม่โปร่งใส เกรงจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 ที่เป็นต้นเหตุความขัดแย้งทางการเมือง นำไปสู่การรัฐประหาร และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้อีก อยากเตือนสติการพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ขอให้คิดให้ดี" นายโกวิทย์ระบุ
ส่วนจะมีโอกาสที่พรรคเล็กที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลจะคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 หรือไม่นั้น นายโกวิทย์กล่าวว่า พรรคเล็กมี 2 แนวทาง คืองดออกเสียงกับไม่เห็นด้วย แต่จะไม่ลงมติเห็นด้วยอย่างแน่นอน ทั้งนี้ต้องประชุมหารือกันในพรรคเล็กอีกครั้ง เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน
เมื่อถามว่า หากโหวตวาระ 3 แพ้จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายโกวิทย์กล่าวว่า กำลังอยู่ระหว่างการหารือกัน แต่มั่นใจว่ามีเสียงเพียงพอที่จะยื่นแน่ เพราะพรรคเล็กทั้งพลังท้องถิ่นไท, ประชาชาติ, รวมพลังประชาชาติไทย, เศรษฐกิจใหม่, พลังธรรมใหม่ รวมกันแล้วมีประมาณ 20 เสียง เมื่อรวมกับพรรคภูมิใจไทยที่มี 50 กว่าเสียง รวมแล้วเป็น 70 กว่าเสียง เพียงพอจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้จะหารือกับพรรคก้าวไกลด้วยว่าจะร่วมเข้าชื่อด้วยหรือไม่ โดยจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ชอบ แต่จะมีเนื้อหาอย่างไรขอไปหารือกันก่อน และเชื่อว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้สำเร็จ มีสัญญาณว่าพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทยจะจับมือกันตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแน่นอน
เมื่อถามย้ำว่า พรรคเล็กจะตัดสินใจถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายโกวิทย์กล่าวเพียงว่า ขอรอดูข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนว่ารัฐมนตรีจะสามารถชี้แจงได้หรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |