เข้าถึงเข้าใจผูกสัมพันธ์ที่ดีพ่อ-แม่-ลูก วัคซีนป้องกัน"คำหยาบ"ในโลกโซเชียล


เพิ่มเพื่อน    

                ปรากฏการณ์ความนิยมใช้ "คำหยาบคาย" ในโลกโซเชียล เป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยและถี่มากขึ้น จนดูเหมือนกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นคลิปการด่าทอต่างๆ คำพูดจิกเหยียดหยาม โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มยอดฮิตอย่างติ๊กต๊อก ที่ใช้ภาษารุนแรง ยิ่งกว่าภาษาพ่อขุนราม จนมีการตั้งคำถามว่า สังคมไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?!? กับการเห็นดีเห็นงามหรือเห็นเป็นวิถีชีวิตที่ต้องเคยชินกับถ้อยคำสบถที่ไม่สุภาพเหล่านี้

                ความหยาบคายในโลกโซเชียล เป็นสิ่งที่พึงกังวลว่า จะก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่ โดยเฉพาะเยาวชนเด็กเล็กทั้งหลาย ซึ่งปัจจุบันท่องโลกไซเบอร์จนเป็นวิถีชีวิตประจำวัน

                กรณีดังกล่าว นักจิตวิทยา ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์และหาทางออกการพูดจาไม่ไพเราะของเด็กๆ ที่อาจจะซึมซับถ้อยคำหยาบคายในโลกโซเชียล และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ กระทั่งกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ ที่อาจแก้ไขได้ยากลำบากในภายหลัง

                “น้ำหวาน-งามศิริ อาศิรเลิศสิริ” นักจิตวิทยาเด็ก ให้ข้อมูลว่า “อันที่จริงแล้วการที่เด็กจะซึมซับและเลียนแบบพฤติกรรมไม่สุภาพดังกล่าวในโลกโซเชียล เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากเด็กมองว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่ได้ผิดอะไร นั่นจึงทำให้เกิดการเลียนแบบ ดังนั้นการใช้สื่อและเทคโนโลยีของเด็กๆ ควรจะเป็นในทางสายกลาง เพราะการที่พ่อแม่จะห้ามไม่ให้เด็กเล่นโซเชียล นั่นจะทำให้เด็กๆ ไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ควรจะแนะนำเนื้อหาที่เหมาะสม ที่ลูกๆ ควรจะเข้าไปรับชม หรือต้องคอยแนะนำว่าอันควรทำไม่ควรทำ หรืออันไหนควรพูด หรือคำพูดแบบไหนที่ไม่ควรพูด

                “สำหรับโอกาสที่เด็กจะซึมซับคำพูดหยาบในโลกโซเชียล เพราะไม่อยากถูกมองว่าเชยหรือเป็นตัวประหลาดหรือไม่นั้น ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับค่านิยมของวัยรุ่น เพราะช่วงวัยนี้เพื่อนจะมีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุด ซึ่งหากย้อนกลับไปเด็กวัย 2-3 ขวบ คนที่มีอิทธิพลกับเด็กมากที่สุดคือพ่อแม่ แต่พอเด็กเล็กเริ่มโตเป็นเด็กวัยรุ่น โลกของเขาก็จะต่างออกมา คือเด็กวัยรุ่นจะรู้สึกว่าโลกของเขาคือเพื่อน ดังนั้นการสื่อสารกันระหว่างเพื่อนวัยเดียวกันด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ ที่ต้องการสื่อไปทางที่บอก หรือชมว่าเพื่อนทำดีต่างๆ นั่นจึงทำให้เด็กวัยรุ่นเป็นวัยที่เลียนแบบซึ่งกันและกัน เนื่องจากเขามองว่าเป็นสิ่งใครๆ ก็ทำกัน และซึมซับพฤติกรรมไม่สุภาพระหว่างเพื่อนกับเพื่อนได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างว่า ถ้าเด็กรู้สึกว่าตัวเขาพูดไม่เพราะเหมือนเพื่อน หรือพูดคำสบถคำ เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเท่ หรือเจ๋ง และสามารถเข้ากลุ่มเพื่อนได้

                “ดังนั้นสิ่งสำคัญพ่อแม่จะต้องเป็นโลกอีกใบของเด็กช่วงอายุ 14-15 ปี หมายความว่าพ่อแม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูกได้ หรือทำให้เด็กรู้ว่าเขาปลอดภัย และไว้ใจเมื่ออยู่บ้านกับพ่อแม่ หรือพ่อแม่สามารถเป็นที่พึ่งและรับฟังปัญหาต่างๆ ของลูกได้ในทุกๆ เรื่อง ตรงนี้จะทำให้พ่อแม่ขยับเข้าใกล้ลูกได้มากขึ้น และนั่นจะทำให้สามารถสอนหรือปลูกฝังเกี่ยวกับคำพูดไหนที่ดีและควรพูดตาม หรือคำพูดไหนที่ลูกๆ ไม่ควรทำตามเพื่อน ตรงกันข้าม หากความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ปกครองเป็นไปในทางแย่ หรือห่างเหิน ดังนั้นถ้าเขาเจอเพื่อนไม่ดี ก็อาจจะชักชวนกันทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะทั้งเป็นการสื่อสารที่แย่ หรืออาจเข้าไปสู่วงจรอบายมุขได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้นหากความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกเป็นไปในทิศทางที่ดี ก็จะเป็นปัจจัยป้องกันหรือเป็นภูมิคุ้มกันชีวิตให้กับลูกหลาน ทั้งการไม่เลียนแบบคำพูดที่ไม่เหมาะสมในโลกโซเชียล แต่ยังทำให้เด็กรู้จักแยกแยะ การคบเพื่อนที่ดีและน่ารักอีกด้วยค่ะ”

                ไล่มาถึง “ครูเฟิร์น-กัญญณัฎฐ์ สิริธารเบญจกุล” ประธานมูลนิธิปั้นเด็ก และลูกแม่ 3 ที่มีประสบการณ์ตรงในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว บอกว่า “สำหรับการป้องกันการเลียนแบบคำพูดที่ไม่สุภาพในโลกโซเชียลของเด็กวัยรุ่นนั้น อย่างแรกต้องบอกว่าการจะปิดกั้นเด็กๆ จากโลกโซเชียลนั้นทำได้ยาก และตัวผู้ปกครองเองก็ไม่สามารถปิดกั้นไม่ให้เด็กไม่พูดหยาบคายได้ หรือห้ามไม่ให้ลูกหลานมีพฤติกรรมก้าวร้าวจากการเสพโลกโซเชียลได้เช่นกัน ดังนั้นการที่ผู้ปกครองอยู่ใกล้ชิดลูกหลาน ก็สามารถสอนให้เด็กรู้จักการใช้เวลากับสื่อออนไลน์อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะหากสื่อออนไลน์นั้นมีคำพูดที่ไม่สุภาพอยู่

                “สมมุติว่าถ้าลูกนั่งดูทีวีอยู่กับคุณแม่ และเนื้อหาในทีวีนั้น แม่ค้ากำลังด่าลูกค้าที่ถ้อยคำหยาบคาย พ่อแม่อาจจะสอนลูกให้รู้ว่า ถ้าเด็กๆ เอาคำพูดที่ไม่เพราะไปด่าแม่ค้า หรือด่าคนอื่นๆ นั่นถือว่าเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวที่ไม่น่ารัก และคนก็จะมองว่าพ่อแม่ไม่ได้อบรมลูกๆ สุดท้ายคนอื่นก็จะกลับมาด่าพ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูก นั่นแปลว่าลูกๆ กำลังทำให้พ่อแม่ถูกผู้อื่นด่า จากสิ่งที่เด็กได้พบเห็นในโลกโซเชียลหรือสื่อออนไลน์รูปแบบต่างๆ ซึ่งถ้าผู้ปกครองสอนลูกด้วยวิธีนี้ ก็จะเป็นการสร้างจิตสำนึกในเรื่องของความกตัญญูที่ลูกๆ มีต่อพ่อแม่เพิ่มเข้าไปอีกด้วยค่ะ

                แต่ถ้าหากบ้านไหนแม้อยู่ด้วยกัน แต่ต่างคนต่างเล่นโทรศัพท์มือถือนั้น ก็สามารถใช้โซเชียลให้เป็นประโยชน์ในมุมของคนเป็นแม่ โดยการแสดงความใส่ใจที่มีต่อลูกๆ ไม่ใช่การจับผิด เช่น “วันนี้ลูกๆ ดูอะไร หรือทำอะไรอยู่ แม่ขอส่องเฟซบุ๊กลูกๆ ได้ไหม” ทั้งนี้เมื่อแม่ขอลูกๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะอนุญาต แต่คนเป็นแม่ต้องรู้จักขอลูกก่อน ทั้งนี้ เวลาที่เราเห็นลูกโพสต์คำหยาบคาย แม่ก็สามารถเข้าไปกดไลก์สิ่งที่ลูกโพสต์ได้ เพื่อให้ลูกรู้ว่าแม่ดูอยู่ ที่สำคัญก็จะทำให้ผู้ปกครองรู้ว่า ลูกคุยกับใครบ้าง ซึ่งถ้าหากโพสต์ไหนที่ดูจะรุนแรง หรือใช้คำพูดที่ไม่สุภาพมากไป คนเป็นแม่ก็สามารถสะกิดบอกกับลูกเบาๆ ว่า “โพสต์นี้แม่ว่าแรงไปนะลูก” แต่ไม่ใช่เป็นการตำหนิที่รุนแรงกับลูก ก็จะเป็นวิธีการเลี้ยงลูกแบบขออนุญาตลูกก่อน

                “และถ้าถามเด็กมีโอกาสที่จะเลียนแบบ คำพูดหยาบคายในโลกโซเชียลต่างๆ เพราะกลัวจะถูกว่าแปลกประหลาดจากกลุ่มเพื่อนหรือไม่ ตรงนี้ต้องบอกว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้น ต้องบอกว่ามีโอกาสไปถึงขั้นนั้นได้ เพราะเด็กวัยรุ่นเวลาที่พูดอยู่กับเพื่อน บางครั้งภาษาที่เขาใช้เราแทบจะฟังไม่ได้ และการที่เด็กๆ เลียนแบบการพูดจาไม่สุภาพเป็นประจำ ตรงนี้ผู้ปกครองก็สามารถนำมาสอนเด็กๆ ได้อีกว่า “ถ้าเด็กๆ เลียนแบบคำพูดหยาบคายเป็นประจำ ก็จะเรียกว่า “เป็นสันดาน” เวลาที่เราคุยกับใครไปได้สักพัก “สันดาน” ของเราก็จะออกมา เพราะมันเป็นสิ่งที่ปกปิดได้ไม่มิด ดังนั้นถ้าเด็กพูดไพเราะเป็นประจำ ซึ่งก็จะมีเป็นข้อดีในการกรองสันดาน หรือคำพูดที่ไม่น่ารักให้ออกไปจากตัวเด็กๆ เองได้เช่นกัน”

                “ครูเฟิร์น” บอกอีกว่า “การที่เราปล่อยให้เด็กเลียนแบบคำพูดหยาบคายในโลกโซเชียลมากเกินไปนั้น มีแนวโน้มรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะหากเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีปัญหาด้วยแล้ว นั่นยิ่งทำให้เด็กไม่มีที่พึ่ง หรือไม่สามารถเล่าความทุกข์ที่เขาได้รับให้พ่อแม่ฟังได้ เด็กอาจจะกลบเกลื่อนด้วยคำพูดที่ไม่สุภาพ และนำมาซึ่งอาการซึมเศร้า และนั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการฆ่าตัวตายได้เช่นกัน

                “ในฐานะคนเป็นแม่ลูก 3 คน ซึ่งลูกคนโตอายุ 22 ปี ส่วนคนกลางอายุ 19 ปี ส่วนลูกสาวคนเล็กอายุ 16 ปี และค่อนข้างเป็นเด็กที่อารมณ์แปรปรวน และเป็นโรคซึมเศร้า และก็เคยคิดฆ่าตัวตาย รวมถึงมีการโพสต์คำหยาบคายในโลกโซเชียล แต่ลูกสาวจะปิดกั้นไม่ให้แม่เห็น ประกอบกับเคยไปพบแพทย์และรับประทานยา แต่ก็ไม่ดีขึ้น จึงเลือกใช้วิธีหยุดกินยา กระทั่งสุดท้ายทุกอย่างเปลี่ยนกลับมาดีขึ้นชนิดที่ว่าเกือบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น คือการที่ครูเฟิร์นเปลี่ยนทุกอย่างในการเลี้ยงดูคือ ให้ลูกสาวได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ โดยที่เราในฐานะคนเป็นแม่นั้นคอยดูอยู่ห่างๆ และให้คุณพ่อของน้อง กับพี่ชายเข้ามาดูแลแทน โดยการเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกับลูกสาว เพราะลูกเริ่มไม่ไว้ใจเรา แต่เราใช้วิธีให้ทั้งคุณพ่อและพี่ชายทั้งสองคนเข้ามาสอนแทนเรา พูดง่ายๆ ว่าเป็นการใช้วิธีพี่น้องประคองกัน โดยให้พี่สอนน้องจากประสบการณ์ของช่วงวัยที่ใกล้เคียงกัน และตอนนี้ลูกสาวไม่ต้องกินยารักษาโรคซึมเศร้าแล้ว ประกอบกับช่วงนี้พี่ชายคนกลางเรียนออนไลน์อยู่บ้าน ก็ทำให้ได้คุยกับน้องสาวมากขึ้น ประกอบกับลูกสาวคนเล็กชอบเลี้ยงแมว ก็ให้เขาเลี้ยงแมว ลูกก็จะได้มีเพื่อน นอกจากนี้เขาชอบทำขนม ก็ให้เขาทำขนมกับพี่ๆ ทำให้ทุกวันเขาไม่มีอาการโรคซึมเศร้าแล้ว เรียกได้ว่าหายเกือบ 100%”

                ดังนั้น หากพ่อแม่คนไหนที่อยู่ใกล้กับลูก ก็สามารถก็สามารถสอนเขาได้จากวิธีข้างต้น โดยการขอเป็นเพื่อนในโลกโซเชียล หรือแม้วิธีให้พี่สอนน้อง เพื่อทำให้ไว้วางใจสามารถบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต และผู้ปกครองยังสอนลูกให้ใช้ภาษา หรือสื่อสารกับผู้อื่นในรูปแบบที่สุภาพเรียบร้อย ในแบบฉบับของวัยรุ่นได้ หรือใช้การวิดีโอคอลคุยกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว หรือจะใช้วิธีส่งไลน์หากัน เพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบระหว่างกันก็ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นการสร้างความไว้วางใจ ให้ลูกบอกเล่าปัญหา รวมถึงผู้ปกครองก็สามารถสอนในสิ่งที่ถูกต้อง ในการใช้ชีวิต เลือกเพื่อน หรือแม้แต่ไม่เลือกเลียนแบบคำพูดที่ไม่สุภาพของเพื่อนวัยเดียวกันได้

                ทว่าค่านิยมที่ว่า “ใครๆ ก็ทำกัน” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กยุคใหม่ มีโอกาสสูงที่จะเลียนแบบพฤติกรรมการใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ ทั้งจากกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน หรือคำหยาบคายโนโลกโซเชียลที่เด็กๆ ได้พบเห็น ทัศนะจาก  “ดร.อ.สุปราณี ไกรวัตนุสสรณ์” ข้าราชการบำนาญ และอดีต ผอ.โรงเรียนสตรีวิทยา บอกว่า “โอกาสที่เด็กจะเลียนแบบคำพูดที่ไม่สุภาพนั้น มีเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะมาจากดาราคนดัง หรือในโลกโซเชียลต่างๆ ก็ตาม และย้อนกลับไปสมัยที่ยังเป็นอาจารย์อยู่นั้น หากพบเจอนักเรียนพูดจาไม่เพราะ ครูก็จะสอนเด็กๆ ว่าคำพูดเหล่านั้นไม่น่ารัก แม้ว่าคำตอบที่ได้จากลูกศิษย์คือ ใครๆ เขาก็พูดกัน และคำพูดเหล่านี้ก็อยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กๆ จริงๆ แต่ในฐานะที่เราเป็นครูที่อยู่ในโรงเรียนเอง ก็ต้องสอนลูกศิษย์ให้พูดจาไพเราะอยู่เสมอ เพราะเป็นหน้าที่ที่เราต้องกล่อมเกลาลูกศิษย์ให้มีกิริยาวาจาที่สุภาพ แม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี

                “แต่สิ่งสำคัญหากสถาบันครอบครัวไม่อบอุ่นหรือล้มเหลว ดังนั้นการให้ต้นแบบในโรงเรียนเป็นผู้สอน บางครั้งก็อาจจะเป็นเรื่องยาก ประกอบกับปัจจุบันเด็กเปิดเฟซบุ๊ก ทีวี หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ เด็กก็จะเห็นคำไม่สุภาพอยู่เป็นจำนวนมาก และเด็กๆ เองก็พร้อมที่จะเลียนแบบอยู่เสมอ ดังนั้นจึงขอฝากพ่อแม่ผู้ปกครองเพียงสั้นๆ ว่า หากเราต้องการอยากให้ลูกเป็นอย่างไร ก็ต้องทำอย่างนั้น หมายความว่าถ้าต้องการให้ลูกๆ เป็นเด็กพูดจาไพเราะ พ่อแม่ก็ต้องพูดจาไพเราะเช่นกัน เพราะลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ดังนั้นต้องอาศัยผู้ปกครองและสภาพแวดล้อมร่วมกันเป็นสำคัญ”

                “ดร.อ.สุปราณีทิ้งท้ายสั้นๆ ว่า “ในอนาคตนั้น แนวโน้มที่เด็กจะเลียนแบบ พฤติกรรมคำพูดไม่สุภาพที่ได้พบเห็นในโลกโซเชียล จะทวีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวเชื่อหลักไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” หรือทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อดำเนินไปถึงจุดสูงสุดแล้ว สุดท้ายทุกอย่างก็จะกลับลงมาที่เดิม และคงไม่มีอะไรที่มากไปกว่านี้แล้วค่ะ แต่ทุกคนต้องช่วยกันสอนในเรื่องที่ถูกต้องให้กับเด็กๆ โดยเฉพาะการพูดจาที่สุภาพ และต้องไม่เอาแบบอย่างคำพูดหยาบคายมาเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตค่ะ”

                ด้าน “น้องตอง-รุ้งลาวัลย์ ศิริเขตต์” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวัดราชโอสถ บอกว่า “ปกติเคยเห็นคำพูดไม่สุภาพในทวิตเตอร์ ก็จะเป็นคำพูดหยาบคายหรือบางครั้งด่าทอกัน ส่วนตัวก็จะไม่ชอบคำพูด หรือการสื่อสารด้วยถ้อยคำรุนแรงดังกล่าว แต่ก็มองว่ามันเรื่องปกติ ที่สามารถพบเจอได้ในโลกโซเชียล แต่ก็จะไม่ทำตามสิ่งที่เป็นคำด่าเหล่านั้น เพราะมองว่าไม่น่ารัก การพูดจาไพเราะดีที่สุด คือมันจะทำให้ผู้ใหญ่รักและเอ็นดูที่สำคัญ การพูดจาดีก็เป็นตัวอย่างให้กับเพื่อนในห้องเรียน หรือให้กับน้องๆ หรือรุ่นน้องของเราได้ค่ะ เพราะบางครั้งการที่เราชอบเล่นโซเชียล แต่เด็กๆ ก็ไม่จำเป็นจะต้องจดจำคำหรือพฤติกรรมที่ไม่ดีเอาไปทำตามค่ะ”

                ปิดท้ายกันที่ “น้องโม-เมธี นราพล” อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จ.สุรินทร์ บอกว่า “ความรู้สึกถ้าเห็นคำหยาบคายในเฟซบุ๊ก ก็จะรู้สึกรังเกียจและมองว่าไม่น่ารัก เช่น คำที่เห็นบ่อยๆ ได้แก่คำที่ขึ้นต้นด้วยไอ้...และตามด้วยชื่อของสิงสาราสัตว์ต่างๆ จริงๆ ผมมองว่ามันเป็นคำหยาบ ที่เราไม่ควรไปขึ้นโพสต์ในโลกโซเชียล ส่วนตัวไม่ชอบและไม่คิดเลียนแบบการโพสต์ด้วยถ้อยคำรุนแรงแบบนั้นครับ และก็คิดว่าการที่เราไม่เลียนแบบเพื่อน ด้วยการโพสต์ในลักษณะดังกล่าว จะทำให้ไม่เข้าพวกแต่อย่างใด เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่สุภาพ ดังนั้นเราก็ไม่ควรไปทำตาม เวลาที่เห็นเพื่อนโพสต์แบบนี้ ผมก็จะเตือนเพื่อนที่สนิทให้ลบหรือให้โพสต์แบบไม่ต้องมีคำหยาบ หรือให้โพสต์ข้อความชวนตลกให้หัวเราะมากครับ เพราะมันเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์มากกว่าครับ ที่สำคัญยังทำให้เราได้เพื่อนใหม่เข้ามาฟอลโลในเฟซบุ๊กของเราอีกด้วยครับ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"