ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ด้วย second best option


เพิ่มเพื่อน    

 

วิกฤติสาธารณสุขไทยในขณะนี้ถือเป็นปัญหาเชิงเศรษฐศาสตร์และสังคมโดยตรง สาเหตุของปัญหาเกิดจากการขาดแคลนสินค้าบริการที่จำเป็นเร่งด่วนต่อความอยู่รอดของผู้คนจำนวนมาก สินค้าและบริการที่ขาดแคลนได้แก่ วัคซีนโควิด-19 การตรวจคัดกรองเชื้อ ชุดตรวจ ATK เวชภัณฑ์ ยา และเตียงผู้ป่วยวิกฤติ

การขาดแคลนสินค้าบริการที่จำเป็นเร่งด่วนเหล่านี้ สะท้อนถึงปัญหาในการจัดหา จัดสรร และกระจายสินค้าบริการที่ไม่ทั่วถึงและไม่ทันเวลา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเหล่านี้ ด้านหนึ่งก็เกิดจากตัวของระบบสาธารณสุขเอง แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นปัญหาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพของระบบราชการในการสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาช่วยกันแก้วิกฤติโควิด-19 ของประเทศ เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องการจัดหาวัคซีน แม้หลายฝ่ายจะเห็นพ้องตรงกันว่า มาตรการสำคัญที่สุด (The first best) ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็คือการหาวัคซีนที่เพียงพอและทันเวลามาให้กับประชากรจำนวนมากเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ซึ่งแม้ภาคเอกชนเองจะได้เสนอตัวเพื่อช่วยภาครัฐในการจัดหาวัคซีนเพิ่มแล้ว จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการวัคซีนทางเลือกเพื่อให้โรงพยาบาลเอกชนช่วยจัดหาวัคซีนในวันที่ 9 เมษายน 2564 แล้ว  และมีการประชุมระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เรียกว่าทีม Thailand เพื่อระดมสมองแก้ปัญหาโควิด-19 เมื่อวันที่ 28 เมษายนก็ตาม แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน รัฐบาลกลับบอกว่าจะสามารถจัดหาวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสได้เองในปีนี้ เพราะมีงบประมาณในการจัดหาให้ได้รวดเร็วโดยไม่ต้องอาศัยภาคเอกชนในตอนนั้น

อีกตัวอย่างก็คือเรื่องการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองเชื้อ  ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเคยออกประกาศกำหนดให้สถานพยาบาลของทั้งรัฐและเอกชนที่รับตรวจคัดกรองผู้ป่วยแล้ว หากพบว่ามีผลติดเชื้อแล้ว  โรงพยาบาลนั้นจะต้องรับผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาหมดทุกคน จนนำไปสู่ปัญหาว่า โรงพยาบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนประกาศไม่รับตรวจคัดกรองให้ เพราะไม่มีเตียงเพียงพอที่จะรองรับผู้ติดเชื้อไว้ได้ ในที่สุด กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องออกประกาศปลดล็อคให้โรงพยาบาลเอกชนรับตรวจคัดกรองได้โดยไม่มีเงื่อนไขบังคับให้ต้องรับผู้ติดเชื้อทั้ง ๆ ที่ไม่มีเตียงเพียงพอที่จะรับผู้ป่วยได้

ทั้งสองตัวอย่างนี้ สะท้อนถึงข้อจำกัดในการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชนได้ไม่มากก็น้อย เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ศบค. มีมติให้เพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จากเดิม 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัดเพื่อขยายพื้นที่ในการสกัดกั้นการกระจายตัวของเชื้อโควิด-19 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ถึง 31 สิงหาคม และให้มีการผ่อนคลายในบางกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564

มาตรการแบบ “semi-lockdown” นี้ จึงเป็นทางรอดแบบ “second best”  ที่เหลืออยู่โดยปริยาย

เราจะใช้ประโยชน์สูงสุดจากทางรอดแบบ “second best” ดังกล่าวนี้ได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น เราจะหาวิธีลดจำนวนผู้ป่วยวิกฤติให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพโดยผ่านโครงการ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) ที่ตอบโจทย์การลดจำนวนผู้ป่วยหนักที่เป็นประชาชนทั่วไปให้ได้จริงได้อย่างไร ซึ่งก็รวมไปถึงกรณีที่ทางสภาอุตสาหกรรมได้เรียกร้องให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนเรื่อง Factory Isolation ด้วยเช่นกัน

เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายสำหรับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จะต้องคิดถึงเรื่องการจัดหาศูนย์พักคอยและศูนย์บริการสาธารณสุขเพื่อให้โครงการ HI และ CI สามารถดูแลผู้ป่วยจำนวนมากให้เข้าถึงยาและติดตามอาการได้ทันเวลาและทั่วถึงอย่างแท้จริง และมีการส่งต่อผู้ป่วยอาการหนักไปสู่โรงพยาบาลได้จริง ไม่ใช่ศูนย์พักคอย “แบบตามมีตามเกิด” ที่ไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึงและเป็นจริงในทางปฏิบัติ ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องลงทุนสร้างระบบศูนย์พักคอยที่จะแก้วิกฤติได้อย่างรอบด้านด้วย เช่น การสร้างระบบศูนย์พักคอยที่จะตอบโจทย์เรื่อง “คนป่วยล้นเตียง” โดยใช้ “โรงแรมร้างคนพัก” (จนต้องเข้าโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้”) มาทำเป็นศูนย์พักคอยที่มีความพร้อมเรื่องห้องพัก ระบบสื่อสาร พนักงาน ระบบกำจัดขยะติดเชื้อ และมีการเชื่อมต่อกับศูนย์บริการสาธารณสุขและระบบ “เทเลเมดิซีน” ของโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่สมัครใจทำ Hospitel มาก่อนแล้ว ทั้งนี้ ภาครัฐจะสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้โดยการใช้เงินจากงบกลางเพื่อการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่มีอยู่กว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท (และอาจใช้เงินบางส่วนจากการกู้เงินรอบใหม่ที่มีมูลค่าหนึ่งล้านล้านบาทตามข้อเสนอแนะของ ธปท.) เพื่อไปขอเช่าโรงแรมที่ได้มาตรฐานเรื่องความสะอาด สะดวก และปลอดภัย โดยภาครัฐจะขอเช่าในอัตราที่ใกล้เคียงกับต้นทุน (at cost) เพื่อมาใช้ทำศูนย์พักคอยสำหรับผู้ติดเชื้อ และมีการออกมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และภาษี ให้กับเจ้าของโรงแรมเพื่อจูงใจให้เข้าร่วมโครงการ ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งแรงงานของโรงงานอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่กลายเป็นคลัสเตอร์ติดเชื้อใหม่ ให้มีโอกาสได้ใช้บริการจากศูนย์พักคอยที่มีประสิทธิภาพสูงในการหยุดเชื้อด้วย

กรณีศึกษาในต่างประเทศที่อาจใช้เทียบเคียงได้ ก็คือกรณีของ Santa Clara County Public Health ที่มีข้อกำหนดว่า คนที่มีผลตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ที่เป็นบวกและมีรายได้ต่อครัวเรือนที่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของค่าเฉลี่ยมัธยฐานของรายได้ครัวเรือนในเขตพื้นที่นั้นแล้ว ก็จะมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินดังนี้ (ก) ในกรณีที่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ก็จะได้รับความช่วยเหลือคิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว และได้รับค่าเช่าที่พักรวมค่าน้ำค่าไฟอีกเป็นเวลาหนึ่งเดือนแต่ไม่เกิน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อครัวเรือน พร้อมกับมีการจัดส่งอาหารและเครื่องใช้ในบ้านให้อีกหนึ่งครั้ง หรือ (ข) ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อไม่สามารถจะกักตัวที่บ้านของตัวเองได้ ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นค่าเช่าโรงแรม ค่าบริการซักรีด และเงินค่าอาหารอีกสามมื้อต่อวันในระหว่างเวลาการกักตัวด้วย เป็นต้น    

การใช้งบกลางและเงินกู้ของภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสู้ชนะโควิด-19 ได้มากขึ้นนี้ นอกจากจะช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ด้วยการช่วยให้ผู้เริ่มป่วยที่มีอาการน้อยไม่ต้องป่วยหนักแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจประกันสุขภาพ และธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศสามารถอยู่รอดและขยายตัวสู่ตลาดชาวต่างชาติที่สนใจมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness) ในไทยหลังยุคโควิด รวมทั้งรองรับกับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตด้วย

 เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ   

ศ.ดร. อารยะ  ปรีชาเมตตา

 กนิษฐา หลิน

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"