ชดเชย110ล้าน ตาย222ราย! หลังฉีดวัคซีน


เพิ่มเพื่อน    

ไทยร่วมใจฯ ฉีดวัคซีนคนกรุงทะลุ 1.4 ล้านโดส หลัง 4 ก.ย.ปิด 25 ศูนย์ชั่วคราว 1 เดือน ย้ำไม่กระทบกับผู้ฉีดเข็ม 2 ต้นเดือน ต.ค. พร้อมเปิดลงทะเบียนเพิ่ม สปสช.จ่ายชดเชยอาการไม่พึงประสงค์ไปแล้ว 110 ล้านบาท เสียชีวิต 222 ราย 
    เมื่อวันที่ 2 กันยายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานว่า ยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยวันที่ 1 ก.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 827,462 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. รวมทั้งสิ้น 33,427,463 โดส 
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบัน คนไทยได้รับวัคซีนโควิด-19 สะสมคิดเป็นร้อยละ 33 ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกแล้วกว่าร้อยละ 90 โดยตามแผนจัดหาวัคซีนในสิ้นปีจะมีอย่างน้อย 140 ล้านโดส ตามตัวเลขนี้จะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกคนที่อยู่ประเทศไทยได้เกินร้อยละ 70 แน่นอน 
    ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, น.ส.ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงผ่านระบบออนไลน์ รายงานผลการดําเนินงานวัคซีนโควิด-19 ในโครงการไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย และการให้บริการวัคซีนในระยะต่อไป
    พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า กทม.ร่วมกับ หน่วยงาน และภาคเอกชนเครือข่ายในการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน ในโครงการไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย ผ่านหน่วยบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล 25 จุด ปัจจุบันโครงการไทยร่วมใจให้บริการฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 1,467,876 คน คิดเป็นร้อยละ 71 ของยอดจองผ่านโครงการไทยร่วมใจ จำนวน 2,063,923 คน โดยเป็นวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 1,369,254 คน และเข็มที่ 2 จำนวน 98,546 คน ซึ่งขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในความร่วมมือให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน พร้อมยืนยันว่าทั้ง 25 จุดฉีดวัคซีนในโครงการไทยร่วมใจนี้ จะเดินหน้าให้บริการประชาชนต่อไป โดยศักยภาพของ 25 จุด สามารถฉีดวัคซีนได้รวม 80,000 คนต่อวัน โดยฐานข้อมูลของไอบีเอ็ม รายงานยอดสูงสุดที่ฉีดได้คือ 71,782 คน
    ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการฉีดเข็มที่ 2 ให้ประชาชนที่ลงทะเบียนในโครงการไทยร่วมใจ จนถึงวันที่ 4 ก.ย.นี้ หลังจากนั้นหน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย ทั้ง 25 แห่งจะปิดให้บริการฉีดวัคซีนชั่วคราวพร้อมกันเป็นเวลา 1 เดือน ไม่ใช่ว่าวัคซีนหมด แต่เพราะคนที่รับวัคซีนเข็ม 2 ช่วงระหว่างวันที่ 7-25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว และคนที่ฉีดเข็ม 1 เดือนก.ค. จะครบกำหนดฉีดวัคซีนเข็ม 2 ประมาณต้นเดือน ต.ค. การปิดหน่วยบริการครั้งนี้จึงไม่กระทบกับผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 2 พร้อมกันนี้หลังมีการปิดหน่วยบริการฉีดวัคซีนจะสำรวจจำนวนวัคซีนที่เหลือ และจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนเพิ่มเติม โดย กทม.พร้อมฉีดวัคซีนให้ประชาชนบรรลุเป้าหมาย 100% ถ้าได้รับการจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาล รวมถึงบูสเตอร์โดสเข็มที่ 3 ที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าจะเริ่มให้ฉีดได้ปลายเดือน ก.ย.ถึงต้นเดือนต.ค.นี้
    ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช.เปิดให้ผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.2564 ข้อมูลจนถึงวันที่ 27 ส.ค.2564 มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาทั้งหมดจำนวน 3,888 ราย และยังอยู่ระหว่างรอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 99 ราย โดยทางคณะอนุกรรมการระดับเขตได้พิจารณาจ่ายเงินชดเชยแล้ว 2,875 ราย และพิจารณาไม่จ่าย 914 ราย รวมเป็นเงินที่จ่ายชดเชยเบื้องต้นไปแล้ว 110,295,000 บาท 
    ทั้งนี้ แบ่งเป็น 3 ระดับตามความรุนแรงของอาการไม่พึงประสงค์นั้นๆ โดยระดับ 1 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท มีผู้รับเงินเยียวยาแล้ว 2,641 ราย ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท มีผู้รับเงินช่วยเหลือแล้ว 12 ราย และระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท มีญาติผู้เสียชีวิตรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 222 ราย  
    นพ.จเด็จกล่าวด้วยว่า หากพิจารณาแยกตามเขต พบว่า สปสช.เขต 13 กทม. มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามามากที่สุด จำนวน 840 ราย รองลงมาคือ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 559 ราย และ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี 451 ราย อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากจำนวนเงินที่มีการจ่ายเยียวยาไป พบว่า สปสช.เขต 4 สระบุรี จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวนประมาณ 13 ล้านบาท รองลงมาคือ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี จำนวนประมาณ 11 ล้านบาท และ สปสช.เขต 6 ระยอง จ่ายเงินแล้วจำนวนประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนเขตที่มีผู้ยื่นคำร้องมากที่สุดอย่าง สปสช.เขต 13 กทม. มีการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้วประมาณ 7.5 ล้านบาท 
     ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ศูนย์ฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลพุทธชินราช ดร.เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความเรียบร้อยการฉีดวัคซีนรอบที่ 2 ซึ่งเทศบาลนครพิษณุโลกได้จัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มเพื่อฉีดให้กับประชาชน 5,000 คน สำหรับการฉีดในครั้งมีผู้เข้ารับวัคซีน 2,300 คน 
    ที่องค์การบริหารส่วนตำบลตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ พอ.สว. ออกบริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการฉีดวัคซีนพระราชทานซิโนฟาร์ม ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้พระราชทานให้ เพื่อนำไปฉีดกลุ่มประชาชนที่เปราะบางในพื้นที่จำนวน 800 คน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"