จับตา'พงศ์พร'ตั้งโต๊ะแถลง


เพิ่มเพื่อน    

    "พงศ์พร" เตรียมตั้งโต๊ะแถลงใหญ่ 21 มิ.ย.  ตอบทุกประเด็นเกี่ยวกับพระ หลัง "มส.-พศ." ถูกโจมตีหนัก "สุวพันธุ์" ซัดมีหลายองค์กรเคลื่อนไหวบิดเบือนศาสนา "ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ" ปัดปลุกระดมมวลชน โพลชี้ ปชช.หนุนปฏิรูปองค์กรสงฆ์ ระบุคดีเงินทอนวัดไม่บั่นทอนความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา
    เมื่อวันอาทิตย์ มีรายงานจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แจ้งว่า ในการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) วงรอบประจำเดือน วันพฤหัสบดีที่ 21 มิ.ย.นี้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการ พศ. เตรียมจะตั้งโต๊ะแถลงข่าวครั้งใหญ่ เพื่อตอบคำถาม ชี้แจงประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาในช่วงที่ผ่านมา อาทิ เรื่องการทุจริตเงินทอนวัด การจับกุมพระผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง เรื่องที่ พศ.ถูกโจมตีและกล่าวหาว่าทำลายพระพุทธศาสนา การเคลื่อนไหวและบิดเบือนข้อมูลในช่วงนี้ ตลอดจนการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรชาวพุทธต่างๆ 
    มีรายงานด้วยว่า ในการแถลงข่าวอาจจะมีพระผู้ใหญ่ใน มส.ออกมาแถลงถึงเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย เพราะเกรงจะถูกมองว่าฆราวาสเข้ามาบงการคณะสงฆ์ นอกจากนี้ยังจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถามข้อสงสัยต่างๆ      
    "สาเหตุที่ พ.ต.ท.พงศ์พรต้องออกมาแถลงข่าวทั้งที่ก่อนหน้านี้พยายามหลบเลี่ยงหรือไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ใดๆ เป็นเพราะช่วงที่ผ่านมา มส.และ พศ.ถูกโจมตีอย่างหนักมาก จนต้องออกชี้แจงบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และหลังจากนี้ให้จับตาว่า พ.ต.ท.พงศ์พรอาจจะให้สัมภาษณ์มากขึ้น เพราะเริ่มมีการบิดเบือนข้อมูลต่างๆ จำเป็นต้องชี้แจงเป็นระยะ" แหล่งข่าวจาก พศ.ระบุ
    ขณะที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีองค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (อพช.) ออกมาเคลื่อนไหวจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ การจับพระสึกก่อนมีคำพิพากษาเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ปัจจุบันมีหลายองค์กรเคลื่อนไหว มีกิจกรรม และความเห็นมีทั้งสอดคล้องกันและแตกต่างกัน บางองค์กรทำโพลสำรวจความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ในภาพรวมจะเห็นได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่มีความห่วงใยเรื่องราวความเป็นไปของพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ ตนจึงอยากเห็นความถูกต้อง ความดีงาม อยากเห็นการปฏิรูปในทุกด้าน ทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกันให้เรื่องเหล่านี้ให้เกิดขึ้นให้จงได้
    "มีการเคลื่อนไหวบางเรื่องที่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย ผมคงให้ความเห็นไม่ได้ แต่ทุกฝ่ายมีสิทธิยื่นเรื่องให้องค์กรกลางตรวจสอบ แต่อยากจะบอกว่า เรื่องพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ข้อมูลข่าวสารที่มีในสังคมออนไลน์มีจำนวนมากที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นเรื่องของการบิดเบือน เช่น รัฐกำลังจะเก็บภาษีจากวัด หรือกำลังเข้าไปตรวจสอบจัดระเบียบ หรือกำลังจะใช้กฎหมายทำลายพระพุทธศาสนา หรือแม้แต่การชักชวนให้ชุมนุมกันเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา ต้องเรียนว่าเรื่องเหล่านี้ไม่เป็นความจริง หลายเรื่องส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงไปแล้ว เช่น สรรพากร" นายสุวพันธุ์กล่าว
ศูนย์ฯ ปัดปลุกม็อบพระ
    รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้นโยบายไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ขอให้ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่มีอคติ ไม่กลั่นแกล้ง ถูกคือถูก ผิดคือผิด ที่สำคัญคือให้ความเคารพคณะสงฆ์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
    ถามถึงการตรวจสอบข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับเงินอุดหนุนวัด รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ยังคงดำเนินการต่อไปอย่างเข้มข้น ล่าสุด ได้รับรายงานว่าข้าราชการระดับสูงและระดับกลางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 17 คน กำลังถูกสอบสวนทางวินัย และอย่างน้อย 4 คนถูกไล่ออกไปแล้ว
    "การดำเนินการสอบสวนระดับอดีตผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการก็ยังทำอยู่ตั้งแต่เป็นข่าวในระยะต้นๆ เรื่องการทุจริตงบประมาณรัฐ จึงไม่ได้เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด" รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าว
    ด้านเฟซบุ๊กศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เผยแพร่แถลงการณ์ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ระบุว่า ด้วยเกิดมีปรากฏการณ์หลายกรณีที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกและศรัทธาของชาวพุทธทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ชนิดที่ไม่เคยปรากกฏเช่นนี้มาก่อนในสังคมไทย
    แถลงการณ์ระบุว่า ในช่วงเวลาแห่งสถานการณ์ที่ผ่านมานั้น ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้แสดงความเห็นทางสื่อสาธารณะในบางโอกาส โดยยึดหลักพระธรรมวินัยและจารีตปฏิบัติ เพื่อมุ่งความถูกต้องและสันติธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ได้ก้าวล่วง ไม่ปลุกระดม และไม่ได้ร่วมมือกับองค์กรใดในการดำเนินการก้าวล่วง และปลุกระดมทั้งสิ้น บัดนี้ มีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนบางสำนัก ถึงการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจากองค์กรชาวพุทธบางองค์กรว่า ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้เข้าไปมีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้อง
    ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยจึงขอยืนยันว่า 1.ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ไม่มีการดำเนินการใดๆ ในทางที่ขัดต่อพระธรรมวินัย และกฎหมายบ้านเมืองโดยเด็ดขาด 2.ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย จะไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการปลุกระดมมวลชนมาต่อด้านสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสถานการณ์ปัจจุบันทั้งสิ้น
    "หากจะมีการดำเนินการใดๆ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป จึงออกแถลงการณ์มาเพื่อทราบทั่วกัน" ท้ายแถลงการณ์ระบุ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ในโลกออนไลน์มีกระแสข่าวระบุจะมีการปลุกระดมมวลชน รวมทั้งพระสงฆ์ เพื่อมาชุมนุมและกดดันรัฐบาลในปัญหาเงินทุนวัดในวันที่ 25 มิ.ย.นี้
    วันเดียวกัน นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง ความศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรพระสงฆ์ ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยสำรวจระหว่างวันที่ 13-14 มิ.ย.2561 กรณีศึกษาจากประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพและรายได้ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง ซึ่งการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลักของนิด้าโพล ด้วยวิธีแบบอย่างง่าย เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนด          ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0    
หนุนปฏิรูปองค์กรสงฆ์
    จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความโปร่งใสในการบริหารจัดการเงินในองค์กรพระสงฆ์ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 7.04 ระบุมีความโปร่งใสมาก, ร้อยละ 18.24 ระบุค่อนข้างมีความโปร่งใส, ร้อยละ 46.40 ระบุไม่ค่อยมีความโปร่งใส, ร้อยละ 24.40 ระบุไม่มีความโปร่งใสเลย และร้อยละ 3.92 ไม่ระบุหรือไม่แน่ใจ 
    ถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กรพระสงฆ์ เช่น โครงสร้างการบริหารองค์กรพระสงฆ์, การปกครอง, การจัดการทรัพย์สินวัด, กฎระเบียบ, พระธรรมวินัย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.28 ระบุเห็นด้วย เพราะจะได้มีรูปแบบที่ชัดเจน มีแนวทางในการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และเพื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรศาสนา รองลงมาร้อยละ 12.96 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะการปกครองที่เป็นอยู่ตอนนี้ดีอยู่แล้ว ใช้มาเป็นระยะเวลานาน การปฏิรูปองค์กรพระสงฆ์อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายได้ ขณะที่บางส่วนระบุปัญหาส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากองค์กรพระสงฆ์ แต่เกิดจากบุคลภายนอกมากกว่า และร้อยละ 1.76 ไม่ระบุหรือไม่แน่ใจ 
    เมื่อถามถึงความศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรพระสงฆ์ จากกระแสข่าวการทุจริตในองค์กรพระสงฆ์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.36 ระบุมีความศรัทธาต่อองค์กรพระสงฆ์เท่าเดิม เพราะศรัทธาในหลักธรรมคำสอน ไม่ได้ศรัทธาที่ตัวบุคคล ขณะที่บางส่วนระบุพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็มีอยู่เยอะ รองลงมา ร้อยละ 35.52 ระบุมีความศรัทธาต่อองค์กรพระสงฆ์ลดลง เพราะกระแสข่าวที่เกิดขึ้นทำให้องค์กรพระสงฆ์เสื่อมลง ขาดความน่าเชื่อถือ, ร้อยละ 0.48 ระบุอื่นๆ  ได้แก่ ไม่มีความศรัทธาต่อองค์กรพระสงฆ์เลย และร้อยละ 0.64 ไม่ระบุหรือไม่แน่ใจ
    ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงแนวทางในการป้องกันการทุจริตในองค์กรพระสงฆ์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.76 ระบุมีหน่วยงานควบคุมตรวจสอบการบริหารจัดการเงินวัด, ร้อยละ 44.00 ระบุว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ, ร้อยละ 35.68 ระบุให้ทุกวัดทำบัญชีทรัพย์สิน รายรับ รายจ่าย ของวัดและเจ้าอาวาส,  ร้อยละ 21.20 ระบุเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงแก่ผู้ที่กระทำผิด, ร้อยละ 18.24 ระบุแก้กฎหมายไม่ให้เจ้าอาวาสมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารเงิน, ร้อยละ 13.28 ระบุ ปฏิรูปการบริหารงานในองค์กรพระสงฆ์ ยกเลิกชั้นยศ,  ร้อยละ 0.32 ระบุอื่นๆ ได้แก่ ไม่สามารถป้องกันการทุจริตในองค์กรสงฆ์ได้ และร้อยละ 2.80 ไม่ระบุหรือไม่แน่ใจ.     


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"