ศบค.แนะฉีดเข็มแรกแต่ติดเชื้อเว้นก่อน 12 สัปดาห์ค่อยรับเข็ม2 พบหญิงท้องติดโควิดแม่-ลูกดับคู่ 50%


เพิ่มเพื่อน    

 

3 ก.ย.64-  ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,653 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 14,395 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 13,160 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 1,235 ราย และมาจากเรือนจำ 256 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย​ ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน  1,249,140 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 18,262 ราย​ ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน  1,049,540 ราย อยู่ระหว่างรักษา 159,800 ราย อาการหนัก 4,740 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,011 ราย​ เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 271 ราย เป็นชาย 134 ราย หญิง 137 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 167 ราย มีโรคเรื้อรัง 76 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย ที่ จ.นราธิวาส เสียชีวิตที่บ้านและระหว่างนำส่ง 3 ราย ผู้เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ใน กทม. 79 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 12,280 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่  2 ก.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 865,074 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.  มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 34,292,537 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อใหม่ 219,956,335 ราย เสียชีวิตสะสม 4,557,084 ราย  

 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 3 ก.ย. ได้แก่ กทม. 3,428 ราย สมุทรปราการ 1,237 ราย สมุทรสาคร 859 ราย ชลบุรี 822 ราย ระยอง 541 ราย นราธิวาส 465 ราย ราชบุรี 340 ราย นครราชสีมา 283 ราย สงขลา 279 ราย นนทบุรี 278 ราย อย่างไรก็ตาม ขอสื่อสารไปยังประชาชนว่า สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว แต่ติดเชื้อระหว่างยังไม่ได้ฉีดเข็มที่สอง ขอว่าเมื่อหายแล้วอย่าเพิ่งฉีดวัคซีนเข็มที่สอง แต่ให้เว้น 12 สัปดาห์ แล้วจึงค่อยมารับวัคซีนเข็มที่สอง เนื่องจากโควิด-19 ไม่ใช่โรคอีสุกอีใส หรือโรคหัด ที่เป็นการติดเชื้อตามธรรมชาติแล้วจะมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาเองตามธรรมชาติตลอดชีวิต แต่ที่ยังต้องรับวัคซีนสองอยู่แม้ติดเชื้อแล้ว เพราะยังไม่มีข้อมูลแน่นอนว่ากรณีโควิด-19 เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันธรรมชาติตลอดชีวิต

 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับอัตราการติดเชื้อของ กทม. และต่างจังหวัด อยู่ในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง และมีทิศทางลงทั้งคู่ นอกจากนี้ ยังมีรายงานคลัสเตอร์กลุ่มเสี่ยง บางจังหวัดเป็นล้งผลไม้ แพปลา แรงงานเพื่อนบ้าน และชุมชนบางจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น จ.ชุมพร มีรายงานว่ามีการรวมกลุ่มตั้งวงเหล้า ดื่มเหล้าแก้วเดียวกัน ขอเน้นย้ำให้ทางจังหวัดตรวจสอบการรวมกลุ่มสังสรรค์ งานศพ งานแต่ง งานประเพณี และที่ ศบค.ยังเน้นย้ำอยู่คือ แคมป์ก่อสร้าง โดยมีรายงานที่ จ.ระยอง ราชบุรี นราธิวาส เพราะตอนนี้มีการหมุนเวียนแรงงานที่เรียกว่า ซับคอนแทรค อย่างเช่น ช่างปูน ช่างกระเบื้องที่หมุนเวียนไป ขอให้เข้มงวด เนื่องจากกังวลว่าจะลามจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง  

 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รายงาน ศบค.ชุดเล็กว่า มีข้อมูลผู้ป่วยวอล์คอินเข้าตรวจ RT-PCR ที่โรงพยาบาล โดยพบว่า ตรวจเชื้อ 10 คน ผลเป็นบวก 2 คน หรือ 20% ขณะที่ กทม. ตรวจเชื้อ 10 คน ผลเป็นบวก 3 คน หรือ 30% ในทางการแพทย์ถือว่าสูงทีเดียว จึงขอให้โรงพยาบาลยังต้องตรวจ RT-PCR ให้กับผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจ มีไข้ก่อน นอกจากนี้ เรื่องการตรวจ ATK ในกทม. ยังพบคนที่มีผลบวกในปริมาณสูง จึงเน้นย้ำว่า การตรวจ ATK อาจพบผลลบลวงได้ 10% ดังนั้น ถ้าตรวจ ATK แล้วผลเป็นลบ แต่ยังต้องกักตัว  

 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย ได้เสนอข้อมูลต่อ ศบค.ชุดเล็ก ว่าในเดือน ส.ค.เพียงเดือนเดียว อัตราหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อแบบก้าวกระโดดถึง 1,506 ราย โดยข้อมูลระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 28 ส.ค. พบการแพร่ระบาดในหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ และทารกแรกเกิด โดยมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 2,878 ราย ในจำนวนนี้มีทารกติดเชื้อ 141 ราย และมีมารดาเสียชีวิต 69 ราย ทารกเสียชีวิต 29 ราย มีทารกเสียชีวิตพร้อมแม่ คิดเป็น 50% ที่ และอีก 50% สามารถช่วยทารกได้ แต่มารดาเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการติดเชื้อหลังคลอด และระหว่างให้นมลูกอีกด้วย จึงขอให้ทุกโรงพยาบาลที่รับฝากครรภ์ หากพบว่ามีหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ให้ติดตามมารับวัคซีน และหากคลอดกลับบ้านไปแล้วก็ขอให้โรงพยาบาลไปตามกลับมาฉีดวัคซีน รวมถึงในระหว่างที่ให้นมลูกด้วย ส่วนกรณีพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ ให้โรงพยาบาลที่รับฝากครรภ์ดูแลผู้ป่วย แต่หากเป็นศูนย์อนามัยที่ไม่พร้อม ขอให้ส่งต่อตามระบบผู้ป่วยโควิด-19 กรณีฉุกเฉิน อย่างเช่น น้ำเดิน ตกเลือด เลือดออกทางช่องคลอด ครรภ์เป็นพิษ หรือเด็กดิ้นน้อยลง หรือเจ็บครรภ์ ให้ทุกโรงพยาบาลรับเป็นกรณีฉุกเฉิน ให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ข้อมูลหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องรับวัคซีน มีจำนวนเป้าหมาย 5 แสนราย แต่ได้รับวัคซีนเข็มที่หนึ่งเพียง 45,437 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.1 เข็มที่สอง 4,983 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.0

 

สำหรับ 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ภายในเดือน ก.ย. มีเป้าหมายฉีดวัคซีนให้กลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้น กลุ่ม 7 โรคเสี่ยง และตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ให้ครอบคลุม 70% นอกจากนี้ ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก อธิบดีกรมการแพทย์  ได้หารือเรื่องการฉีดวัคซีน โดยขอให้ทางจังหวัดเตรียมความพร้อมและตรวจสอบข้อมูล กรณีประชาชนในต่างจังหวัดที่เข้ามารับวัคซีนเข็มแรกที่สถานีกลางบางซื่อ แล้วต้องการจะกลับไปฉีดเข็มที่สองที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ขอให้แจ้งความจำนงกับทางจังหวัด โดยกรมการแพทย์พร้อมให้ความช่วยเหลือถ้าจังหวัดต้องการข้อมูล เพราะข้อมูลผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกอยู่ที่กรมการแพทย์ หรือกรณีทำงานอยู่ กทม. แต่ได้รับวัคซีนเข็มที่หนึ่งในต่างจังหวัดไปแล้ว และต้องการฉีดเข็มที่สองที่สถานีกลางบางซื่อ ขอให้แจ้งความจำนงกับทางจังหวัดก่อน เพื่อให้ทางจังหวัดได้เตรียมความพร้อม เนื่องจากกรมควบคุมโรคจัดสรรจำนวนวัคซีนให้แต่ละจังหวัด รวมไปถึงสถานีกลางบางซื่อในยอดที่เป็นปกติ ดังนั้น ขอให้แจ้งเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"