คสช.คือกบฏแผ่นดิน?


เพิ่มเพื่อน    

      คสช.จะเป็นกบฏ?

      ในหมู่คนที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย นักเคลื่อนไหว กำลังลุ้นว่า วันที่ ๒๒ มิถุนายนนี้ ศาลฎีกาจะชี้คดี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นกบฏหรือไม่

      คสช.นำโดย ลุงตู่ ลุงป้อม จะติดคุกตอนแก่หรือเปล่า

      ไปกันใหญ่!

      ฟังความกันมาอย่างไรไม่ทราบได้ ผิดเพี้ยนไปเสียหมด บางคนเป็นถึงดอกเตอร์ เป็นนักเขียน นักกฎหมาย นักการเมือง นักฯลฯ อ่านหนังสือไม่แตก

      แต่ไปประโคมในโลกออนไลน์มานานนับเดือนว่า....

      ถ้าวันที่ ๒๒ มิถุนายนนี้ บรรดาแกนนำ คสช.ไม่ติดคุก ไม่ถูกพิพากษาว่าเป็นกบฏ เท่ากับความยุติธรรมสองมาตรฐานบังเกิดขึ้นมาอีกครั้งแล้ว

      ถึงขั้นด่าศาลฎีกาล่วงหน้าก็มีให้เห็น

      สงสัยใช่มั้ยครับว่ามันคดีอะไร

      คดีนี้เปิดฉากตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘

      กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือ "พ่อน้องเฌอ"

      "น้องเฌอ" คือใคร?....คือ สมาพันธ์ ศรีเทพ เด็กหนุ่มวัย ๑๗ เสียชีวิตในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมทางการเมืองที่ราชประสงค์ในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ จากกระสุนปริศนา!

      "พ่อน้องเฌอ" กับพวก ๑๕  คน ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา รัชดาภิเษก เอาผิดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. อีก ๔ คน

      ประกอบด้วย พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย,

      พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง 

      พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว

      และพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร

      ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ จากกรณีเข้ายึดอำนาจทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม  ๒๕๕๗

      คำฟ้องบรรยายพฤติการณ์ว่า....

      "...ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๔ พ.ค.๒๕๕๗ จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้กำลังขู่เข็ญประทุษร้ายและล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๕ ให้สิ้นสุดลง

        ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ อันเป็นความผิดฐานกบฏ และพวกจำเลยยังได้ออกคำสั่งในนาม คสช.หลายฉบับ อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ทำให้โจทก์ทั้ง ๑๕ คนได้รับความเสียหาย จึงขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  ๘๓, ๙๑, ๑๑๓ และ ๑๑๔..."

      ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ในคำพิพากษาระบุเอาไว้ว่า

      แม้การยึดอำนาจไม่เป็นประชาธิปไตย แต่มาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนั้นใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ บัญญัติยกเว้นความผิดไว้แก่ คสช.

      มาตรา ๔๘ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ๒๕๕๗ กำหนดไว้ว่าอย่างไร?

      "...บรรดาการกระทําทั้งหลายซึ่งได้กระทําเนื่องในการยึดและควบคุมอํานาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติรวมทั้งการกระทําของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคําสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทําไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทําดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นการกระทําเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทําอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทําในฐานะตัวการผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทํา หรือผู้ถูกใช้ให้กระทํา และไม่ว่ากระทําในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทํานั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง..."

      ต่อมาวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘ กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น

      บรรยายฟ้องว่า...

      “ขอให้ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้น โดยสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบห้าไว้พิจารณา และมีคำพิพากษาต่อไป เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๖๒ เมื่อโจทก์ทั้งสิบห้ายื่นฟ้องคดีแล้ว ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้อง แล้ววินิจฉัยไปตามรูปคดี ไม่ใช่ปฏิเสธการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นต้นทางแห่งกระบวนการยุติธรรมและไม่เปิดโอกาสให้โจทก์ได้ใช้สิทธิทางศาลที่จะพิสูจน์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นนำเอาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยอาชญากร ซึ่งก่ออาชญากรรมต่อรัฐและประชาชนมายกเว้นการรับผิดให้กับจำเลยทั้ง ๕ คน โดยไม่มีการไต่สวนพิจารณาคดี จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

      ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น

      ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจในการไต่สวน เหตุมาตรา ๔๘ ถูกประกาศใช้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ระบุการกระทำใดๆ ของ คสช.ย่อมถูกต้องตามกฎหมาย

      วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙ กลุ่มพลเมืองโต้กลับยื่นฎีกา มีสาระสำคัญ อาทิ

      ....มาตรา ๔๗ และ ๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มีสภาพเป็นกฎเกณฑ์ที่ขัดต่อเสียงแห่งมโนธรรมและหลักการพื้นฐานแห่งความยุติธรรมของมนุษยชาติอย่างชัดแจ้ง อันมีผลทางให้บทบัญญัติดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นกฎหมายแต่อย่างใด และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะต้องอยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานทั่วไปของระบบกฎหมายที่ว่า "บุคคลหาอาจถือเอาประโยชน์จากความฉ้อฉลที่ตนได้ก่อขึ้น หาอาจเรียกร้องใดบนความอยุติธรรมของตน หาได้รับยกเว้นความรับผิดจากอาชญากรรมของตัวเองได้" การกระทำของจำเลยทั้งห้า จึงไม่อาจจะพ้นจากความรับผิดตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ กำหนดไว้ได้...."

     ....กลุ่มพลเมืองโต้กลับโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามข้อความที่ว่า "วัตถุประสงค์ของการไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ ก็เพื่อให้ศาลได้ไต่สวนพยานหลักฐานของโจทก์ในเบื้องต้นว่า โจทก์มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยในชั้นพิจารณาหรือไม่ แต่อย่างไรก็ดีในชั้นตรวจรับฟ้องนั้น หากศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด คดีขาดอายุความ มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษ ศาลก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕ โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องเพื่อวินิจฉัยมูลคดีก่อนประทับฟ้อง"....

      ...โจทก์ทั้งสิบห้าขอเรียนต่อศาลว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการร่วมกันใช้กำลังบังคับให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศอันมิใช่วิถีทางตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดไว้ อันถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๓ และมาตรา  ๑๑๔...การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เพิกเฉยต่อการย่ำยีระบบกฎหมายของจำเลยทั้งห้ากับพวก ย่อมเป็นการรองรับและนับเอากระบวนการรัฐประหารอันผิดต่อกฎหมายให้กลายเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่คณะรัฐประหารกำลังทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ประหนึ่งดั่งไฟที่กำลังลามทุ่งจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนและขัดแย้งทุกย่อมหญ้า คงมีเพียงอำนาจของศาลฎีกาเท่านั้นในฐานะเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน ที่จะช่วยผดุงความยุติธรรมตรวจสอบการใช้อำนาจ ถ่วงดุล และคานอำนาจของคณะรัฐประหารได้ ทั้งนี้หากกลไกในกระบวนการยุติธรรมดำเนินไปด้วยความยุติธรรม นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ สังคมย่อมตระหนักว่ากระบวนการยุติธรรมและสถาบันตุลาการยังคงเป็นเสาหลักอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริงโดยปราศจากอคติ อีกทั้งยังป้องกันมิให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่างในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของประชาชนและดำรงตนอยู่เหนือกฎหมาย และเหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยดั่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน"...

      ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาวันที่ ๒๒ มิถุนายนที่จะถึงนี้

      แต่มีประเด็นไปไกลกว่าที่คิด อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น นักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหว และนักการเมือง อารมณ์ค้างทั้งหลาย ชักจูงมวลชนไปไกล ว่า ๒๒ มิถุนายนนี้ ชี้ชะตา คสช.ติดคุกหรือไม่?

      ทั้งที่ความจริงแล้วคำพิพากษาในวันที่ ๒๒ มิถุนายนนี้ ไม่ว่าจะออกมาอย่างไร กระบวนการฟ้องร้องในข้อหากบฏนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้น

      เพราะนับแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ สิ่งที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับนำขึ้นศาล เป็นเพียงกระบวนการต่อสู้เพื่อร้องขอให้ศาลรับคดีไว้พิจารณา

      ก็สู้เรื่อยมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และกำลังจะฎีกา

      หากศาลฎีกาพิพากษายืน คดีนี้ก็ปิดฉาก

      เป็นการปิดฉากในศาล แต่นอกศาลน่าจะไม่จบ ไม่จบอย่างไรเดี๋ยวมาว่ากัน

      แต่หากศาลชี้ว่าให้ศาลชั้นต้นพิจารณา นั่นจะนำไปสู่กระบวนการไต่สวนในคดีกบฏ "บิ๊กตู่" และบรรดา คสช.ทั้งหลายจะติดคุกหรือไม่ ก็จะได้รู้ตามกระบวนการนี้

      ที่บอกว่านอกศาลไม่จบเพราะจะมีการนำคำพิพากษาของศาลชั้นต้นบางส่วนไปใช้ประโยชน์

      "การยึดอำนาจไม่เป็นประชาธิปไตย" ประโยคนี้จะถูกนำไปขยายความ

      ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร การรัฐประหาร คือการยึดอำนาจไม่ว่ายึดจากรัฐบาลประชาธิปไตย หรือยึดจากรัฐบาลเผด็จการ ล้วนเรียกว่ารัฐประหาร

      และใช้วิธีที่เรียกว่า ไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งสิ้น

      แต่เมื่อประเทศมีกฎหมายสูงสุดคือ รัฐธรรมนูญ การที่ศาลจะวินิจฉัยคดีโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ไม่สามารถอธิบายด้วยหลักกฎหมาย

      อธิบายได้เพียงหลักกู

      หลักที่กูอยากให้เป็นเท่านั้น

      อันที่จริงประเด็นนี้มีการพูดถึงแทบทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหาร หรือทุกครั้งที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็เคยมีเสียงเรียกร้องให้บัญญัติไว้ว่า การทำรัฐประหารเป็นกบฏแผ่นดินมีโทษหนัก

      แต่...มีคำถามว่า เมื่อทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ที่บัญญัติเอาไว้ก็ไม่มีความหมายแต่อย่างใด

      อีกทั้งทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหาร ก็มีการเขียนนิรโทษกรรมเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถัดไป

      มีคำถามว่า หากจะต่อต้านรัฐประหารกันจริงๆ ควรทำอย่างไรที่จะไม่เปิดช่องให้ทหารยึดอำนาจ ที่สำคัญทำอย่างไรไม่ให้การยึดอำนาจนั้นได้รับการยอมรับจากประชาชน

      ก็ต้องย้อนกลับไปที่ประชาชนเป็นลำดับแรก

      ในวันที่มวลชนออกมาประท้วงเรียกร้องให้อำนาจกลับไปอยู่ในมือทักษิณ วันนั้นประชาชนคิดอย่างไร เหตุใดไปจบที่การเผาบ้านเผาเมือง

      เคยคิดหรือไม่ว่าถ้าประชาชนไม่สนับสนุนการเมืองขี้โกงอย่างระบอบทักษิณ ก็ยากที่จะเกิดการรัฐประหาร

      เคยคิดหรือไม่ว่าถ้ารัฐบาลเป็นของประชาชน ทำเพื่อประชาชนจริงๆ การรัฐประหารไม่มีทางได้รับการยอมรับจากประชาชน

      นั่นอธิบายได้ว่าทำไมรัฐประหารปี ๒๕๓๔ ถึงนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เหตุการณ์ที่ประชาชนทุกฝ่ายลุกขึ้นมาสู้กับเผด็จการทหาร

      กลุ่มที่บอกว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เคยหันกลับมาวิเคราะห์หรือไม่ว่า ทำไมรัฐประหารคสช.ถึงได้รับการยอมรับมากกว่า ทั้งๆ ที่ทำลายหลักประชาธิปไตยเหมือนกัน

      อย่าเอาแต่เพ้อเจ้อว่าไม่มีใครเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยมากไปกว่าตัวเอง สถาปนาตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่บูชาคนโกง

      ฝากเป็นข้อคิด ถ้าประชาชนไม่ยอมรับรัฐบาลคอร์รัปชันมากพอๆ กับชิงชังรัฐบาลรัฐประหาร

      ประชาธิปไตยไทยเดินไปไกลโขแล้ว. 

                                    ผักกาดหอม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"