รบ.ดักคอส.ว.อย่ากลืนนํ้าลาย


เพิ่มเพื่อน    

ลงมติแก้ รธน.ศุกร์นี้ บัตร 2 ใบทำสภาสูงเสียงแตกเป็น 3 ปีก เห็นด้วย-ต้าน-งดออกเสียง ส.ว.เชื่อสุดท้ายผ่านฉลุย แต่ยังต้องลุ้นด่านสุดท้ายศาล รธน. พปชร.ดักคอ ส.ว.ไม่กล้ากลืนน้ำลายพลิกมติตัวเอง ปชป.เชื่อผ่านแน่ เตือนหากล้มกระดานทำการเมืองเดือด 
    เมื่อวันที่ 7 ก.ย. มีความเคลื่อนไหวก่อนการลงมติของสมาชิกรัฐสภาต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเรื่องบัตรเลือกตั้ง ส.ส. 2 ใบ ที่รัฐสภาจะลงมติในวาระ 3 วันศุกร์ที่ 10 ก.ย.นี้ โดยมีตัวแปรสำคัญคือเสียงเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ต้องลงมติเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 84 เสียง หรือ 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภา 250 คน 
    นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวถึงเรื่องนี้ โดยบอกว่า ร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวคาดว่าผ่านวาระ 3 แน่นอน และมี ส.ว.เห็นชอบเกิน 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง แม้จะมี ส.ว.หลายคนคัดค้าน แต่เสียงไม่น่าพอ ส่วนตัวจะลงมติเห็นชอบในวาระ 3 เพราะถ้า ส.ว.ไม่ให้แก้อะไรเลย จะเป็นเด็กงอแง ถ้าแก้รายมาตราโดยไม่เกี่ยวกับเรื่องสถาบัน ส.ว.ไม่ควรขัดข้อง เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นเรื่องที่มีทั้งคนได้และเสียประโยชน์ เป็นเรื่องจำนวน ส.ส. การแบ่งเขตเลือกตั้ง ไม่มีเหตุผลไปขัดขวาง เป็นเรื่องที่ ส.ส.เสนอมา ส.ว.ไม่ควรไปมองหรือตัดสินอนาคตอะไรแทน ส.ส. 
    "แต่แม้จะผ่านวาระ 3 ไปได้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่จะได้ใช้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะอย่างน้อยต้องมีคนไปยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก เพราะหลายฝ่ายไม่พอใจอยู่ สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. ต้องติดตามอย่ากะพริบตา ในช่วงที่รัฐบาลก็มีรอยร้าวแตกแยกกัน ส่วนสถานการณ์นอกสภาก็รุนแรง เอื้อให้เกิดอะไรขึ้นก็ได้ อาจจะมีการยุบสภาเกิดขึ้น ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้" ส.ว.รายนี้ระบุ
    นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว.และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว บอกเช่นกันว่า การโหวตวาระ 3 ต้องขอพิจารณาอีก จนกว่าจะถึงวันที่ 10 ก.ย. เพราะร่างที่ผ่านวาระ 2 มานั้น มีเหตุผลทั้งสองฝ่าย ในฐานะที่เป็น กมธ. ได้ให้ความเห็นในรายละเอียดที่สำคัญ เช่น บัตร 2 ใบมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ที่สำคัญคือเรื่อง ส.ส.พึงมี อาจทำให้พรรคใหญ่กินรวบได้ ดังนั้นจึงชั่งใจอยู่ แม้เห็นด้วยกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบและโหวตเห็นด้วยในวาระ 1 และวาระ  2 มาแล้ว แต่วาระ 3 นั้น ถ้าตัดสินใจไม่ได้ อาจงดออกเสียง เพราะสิ่งที่เสนอไปไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งขณะนี้ความเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ว. แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.เห็นด้วย 2.ไม่เห็นด้วย 3.งดออกเสียง แต่แนวโน้ม ส.ว.น่าจะผ่านให้ เพราะ ส.ว.ส่วนใหญ่เคยรับหลักการมาแล้วทั้งวาระ 1 และวาระ 2 
    ขณะที่ท่าทีจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคที่เป็นต้นร่างแก้ไข รธน.ฉบับที่จะลงมติ กล่าวไว้ว่า ที่มีกระแสข่าวว่า ส.ว.จะโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น การแก้ไข รธน. หากย้อนไปในวาระ 1 และ 2 ส.ว.ให้ความเห็นชอบเกิน 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง หากทุกอย่างเป็นไปตามนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 น่าจะผ่านไปได้ ยกเว้นจะมีเงื่อนไขอะไรเกิดขึ้นใหม่ที่ไม่สามารถจะคาดการณ์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ประการที่หนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ที่เพิ่งผ่านวาระ 2 ไป ไม่ใช่การถอยหลังเข้าคลอง แต่เป็นการเดินกลับไปที่เดิมที่เป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญปี 60 เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยน้อยกว่า จึงเป็นการเดินไปเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ประการที่สอง หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านจะช่วยลดอุณหภูมิทางการเมือง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จะนำมาสู่ข้อกล่าวหาว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไม่ได้เลยแม้แต่ประเด็นเดียว จะทำให้การเมืองย้อนกลับไปที่เดิม ที่จะกดดันองคาพยพต่างๆ โดยไม่จำเป็น ดังนั้น ถ้ามีช่องให้กาต้มน้ำเปิดบ้าง จะทำให้เป็นผลดีกับทุกฝ่าย และจะเป็นผลดีต่อประชาธิปไตยระยะยาว
    นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ฉบับดังกล่าว บอกว่าที่มี ส.ว.แสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน. เป็นเพียง ส.ว.ไม่กี่คนที่เป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น แต่มี ส.ว.จำนวน 210 เสียงที่รับหลักการในวาระที่ 1 ที่เห็นด้วยกับการแก้ไขสองมาตรา แต่พอวาระ 2 ที่มีการแก้ไข 3 มาตรามี ส.ว.เห็นชอบในมาตรา 83 จำนวน 180 เสียง ส่วนมาตราท้ายๆ มี ส.ว.เห็นชอบประมาณ 160 เสียง จึงเชื่อมั่นในดุลยพินิจของส.ว.ที่ได้ใช้ไปแล้ว จะยังยืนยันใช้ดุลยพินิจเดิม มั่นใจในความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของ ส.ว. ที่มีมติเห็นด้วยในวาระ 1 และวาระ 2 แล้วโดยในวาระ 3 ก็คงมีมติเห็นด้วยเหมือนเดิม จึงเชื่อว่าวาระ 3 จะได้เสียงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
    เมื่อถามว่า หากผ่านวาระ 3 ไปแล้ว แต่อาจตกในชั้นการพิจารณาอื่นๆ นายไพบูลย์กล่าวว่า หากผ่านวาระ 3 แล้วนายกรัฐมนตรีก็ยังนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไม่ได้ โดยจะต้องเว้นไว้ 5 วัน เพื่อรอว่าจะมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่  แต่ส่วนตัวดูแล้วไม่มีประเด็นที่จะยื่น เช่น พรรคก้าวไกล ที่จะยื่นตามข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 151 เนื่องจากรัฐสภาวินิจฉัยแล้ว ถือเป็นที่สุดก็ไม่มีประเด็นอะไร ขณะที่ร่างรายงานแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากก็เห็นชอบ ดังนั้นการส่งศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีประเด็น หากผู้ยื่นคิดแค่ว่าเป็นการถ่วงเวลาก็ห้ามเขาไม่ได้ แต่ผู้ยื่นต้องคิดให้ดี หากไม่มีประเด็นแล้วไปยื่นสุด สุดท้ายหากศาลยกคำร้องขึ้นมาก็เสียชื่อเสียง แต่ก็ไม่กังวล มั่นใจว่าจะถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการประกาศใช้ จึงเชื่อว่าจะไม่มีการล้มร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดจาก ส.ว. เพราะ ส.ว.เข้าใจดี เชื่อว่าไม่มีมวยล้มต้มคนดู เพราะทุกคนเป็นผู้มีเกียรติทั้งสิ้น โดยเฉพาะ ส.ว.
    ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บอกว่า เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. จุดยืนของพรรคภูมิใจไทยหากจะแก้รัฐธรรมนูญต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ใช่ประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองหลักมีอยู่แค่นี้ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยมีวุฒิภาวะที่จะตัดสินใจได้ว่าจะโหวตแบบไหน เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญไปบังคับกันไม่ได้
    ขณะที่ฝ่ายค้าน นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านจากพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า การลงมติวันที่ 10 ก.ย.นี้ ยอมรับว่ามีความกังวล เพราะมีความเป็นไปได้ทั้งผ่านและไม่ผ่านความเห็นชอบ จึงยังไม่มีความเชื่อมั่น โดยเวลาที่เหลือ 2-4 วันก่อนที่จะมีการลงมติอาจจะมีอะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะ ส.ว.ที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการชี้ขาด จึงต้องจับตา ส.ว. เพราะลำพัง ส.ส.พรรคใหญ่น่าจะไม่ปรับเปลี่ยนท่าที จึงต้องไปลุ้นที่ ส.ว. 1 ใน 4 หรือ 84 เสียง ว่าจะเอาอย่างไร สำหรับสัดส่วนเสียงของฝ่ายค้านร้อยละ 20 ไม่มีปัญหา เฉพาะ ส.ส.เพื่อไทยก็เกิน 100 เสียงแล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะต้องมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างรัฐธรรมนูญตามคาดหมาย เนื่องจากมีความเห็นที่ต่างกันมาก และเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อพรรคการเมือง แต่ก็เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานในการวินิจฉัย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"