3เดือนภูมิตก!ต.ค.ฉีดเข็มสาม


เพิ่มเพื่อน    

  "หมออุดม" ชี้หลังฉีดวัคซีน 3 เดือนภูมิตกทุกยี่ห้อ กระตุ้นเข็มสามด้วยไฟเซอร์-แอสตร้าฯ เริ่ม ต.ค.นี้ เผย 3 เดือนข้างหน้ามีวัคซีนเดือนละ 20 ล้านโดส "วิษณุ" มอบบัวแก้วประสานหลังเขมรร้องขอฉีดคนต่างด้าวชายแดนไทย สธ.รับมีผู้เสียชีวิต 1 รายหลังฉีดแอสตร้าฯ 6 วัน "ซิโนฟาร์ม" ยื่นขอใช้ในเด็ก 3 ขวบขึ้นไป อย.เร่งพิจารณาไม่เกิน 30 วัน

    ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 กันยายน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า ยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยวันที่ 7 ก.ย. จำนวน 826,013 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. รวมทั้งสิ้น 37,461,284 โดส ขณะนี้มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งไปแล้ว 36% เข็มที่สอง 15.1% ซึ่งกลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในพื้นที่ กทม. ฉีดไปแล้ว 98.4% จ.ปทุมธานี ฉีดไปแล้ว 70.3%  
    นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับ ติดตาม และประเมินผล มาตรการด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในพื้นที่ กทม. ได้เร่งให้มีการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนทุกสังกัดตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ตอนปลาย และ ปวช. ใน กทม. ที่มีกว่า 4 แสนคน ด้านสำนักงานประกันสังคมได้รายงานการฉีดวัคซีนในกลุ่มแคมป์คนงาน โดยมีการฉีดไปแล้ว 606 แคมป์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 10 ก.ย.
    เมื่อถามถึงกรณีที่มีนักวิชาการตั้งคำถามเรื่องการรายงานตัวเลขการฉีดวัคซีนของ ศบค. ที่ระบุไทยฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งแล้ว 50.5% นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า ในการทำงานของเรามีการติดตามหลายรูปแบบ เพื่อให้เห็นว่าเราทำงานใกล้เป้าหมายแล้วหรือยัง 50% เป็นตารางที่เราดูว่าจะฉีดให้ได้เพื่อมีภูมิคุ้มกันหมู่ 70% ของประชากร เพื่อดูว่าเราเดินทางไปถึงครึ่งทางแล้วหรือยัง ซึ่งเราฉีดเข็มหนึ่งประมาณ 25 ล้านโดส ขอขอบคุณและจะนำไปปรับปรุงเรื่องการนำเสนอว่าควรจะมีรายละเอียดอธิบายเพิ่มเติมให้รู้ชัด ไม่ให้เกิดความสับสน ซึ่งในความเป็นจริงมีที่มาทั้งสองอันว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เทียบจากอะไร ในภาพรวมที่อยากเรียนคือเข็มที่หนึ่งที่ฉีดไปขณะนี้ 36% ของประชากร
    ส่วนชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยสามารถเดินทางไปฉีดวัคซีนได้ที่ไหนบ้างนั้น นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า สำหรับชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนได้ทางเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ และแอปพลิเคชันศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ
    ทางด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมการบริหารจัดการวัคซีนสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ  กระทรวงสาธารณสุขว่า ที่ประชุมมอบให้กระทรวงการต่างประเทศไปพิจารณา เพราะเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ชายแดน ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรระดับประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศมีเวลาอยู่ 1-2 วัน หากได้คำตอบแล้วอาจเข้าไปพูดใน ศบค.
    รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมดังกล่าวได้หารือถึงกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนฝั่งกัมพูชาร้องขอให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับชาวกัมพูชาที่ทำงานและตกค้างบริเวณชายแดนฝั่งไทย แม้ทางการไทยได้จัดทำระบบลงทะเบียนการฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติในไทย แต่ฝ่ายกัมพูชาเห็นว่าระบบดังกล่าวรองรับเฉพาะชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในราชอาณาจักรไทยเท่านั้น ทั้งนี้ ตัวแทนจากกรมควบคุมโรคระบุว่าพร้อมช่วยดำเนินการ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานส่วนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศบค.ก่อน ดังนั้นที่ประชุมจึงมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศประสานหารือกับหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา ก่อนนำเรื่องเสนอเข้าหารือในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 10 ก.ย.นี้
    เมื่อเวลา 13.30 น. นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. กล่าวในรายการ NBT รวมใจสู้ภัยโควิด-19 @ทำเนียบรัฐบาล ตอนหนึ่งว่า หลังจากนี้เราจะได้วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ ซึ่งเดิมให้ไทยเดือนละ 5-6 ล้านโดส, เดือน ก.ย.เพิ่มให้เป็น 7.3 ล้านโดส, เดือน ต.ค. 11 ล้านโดส, พ.ย. 13 ล้านโดส, ธ.ค. 13 ล้านโดส นอกจากนี้ วันที่ 29 ก.ย. จะได้ไฟเซอร์ 2 ล้านโดส, ต.ค.อีก 8 ล้านโดส, พ.ย. 10 ล้านโดส, ธ.ค. 10 ล้านโดส รวม 30 ล้านโดส ดังนั้น 3 เดือนข้างหน้าเราจะมีวัคซีนเดือนละ 20 ล้านโดส จึงจะเร่งฉีด ไม่ต้องกังวลศักยภาพการฉีด เราสามารถฉีดวันละ 8-9 แสนโดสสบายๆ
    “ยืนยันถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงภายในเดือน ธ.ค. เราจะฉีดวัคซีนสองเข็มได้ตามเป้า มากกว่า 70% ของประชากรแน่นอน และจะฉีดเข็มที่สามได้ด้วย ตอนนี้วัคซีนเพียงพอสำหรับเข็มที่สาม เพราะหลังจากเราติดตามพบว่าวัคซีนทุกตัว ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ เมื่อฉีดไปแล้ว 3 เดือน ภูมิมันตกทุกตัว ถ้าภูมิมันตกไปมากจะสู้กับเดลตาไม่ไหว เราต้องสร้างภูมิให้มากขึ้นด้วยการฉีดเข็มที่สาม โดยตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป เราจะได้เข็มที่สาม เป็นแอสตร้าฯ และไฟเซอร์ เราวางแผนไว้เรียบร้อย” นพ.อุดม ระบุ
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 37,461,284 โดส เป็นวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 25,954,106 โดส และเข็ม 2 จำนวน 10,900,001 โดส แบ่งเป็นวัคซีนซิโนแวค 15 ล้านโดส, แอสตร้าเซนเนก้า 16 ล้านโดส, ซิโนฟาร์ม 4.6 ล้านโดส และไฟเซอร์ 9.17 แสนโดส โดยพบว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นหลังจากการรับวัคซีนแต่ละชนิดแตกต่างกัน วัคซีนซิโนแวคเด่นเรื่องอาการคลื่นไส้อาเจียน, วัคซีนแอสตร้าฯ เด่นเรื่องอาการไข้, วัคซีนซิโนฟาร์ม มีอาการคล้ายคลึงกับซิโนแวค คลื่นไส้ อาเจียน และไฟเซอร์ มีอาการของไข้นำเช่นกัน โดยอาการแพ้วัคซีนมักจะเกิดขึ้นภายหลังรับวัคซีน 30 นาที
    จากการติดตามผู้ที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ และต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาในวัคซีน 4 ชนิด จากการเก็บรวบรวมข้อมูลนับตั้งแต่มีการรับวัคซีนเข็มแรก จนถึง 5 ก.ย.64 พบซิโนแวค 2,667 คน ในจำนวนนี้เกิดอาการแพ้รุนแรง 24 คน, แอสตร้าฯ 3,004 คน ในจำนวนนี้แพ้รุนแรง 6 คน และเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำ 5 คน, ซิโนฟาร์ม 193 คน และไฟเซอร์ 90 คน ในจำนวนนี้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 คน และพบว่าในผู้ที่รับวัคซีนมีผู้เสียชีวิต 628 คน จากการติดตามและนำข้อมูลการชันสูตรพลิกศพ หรือข้อมูลทางคลินิกมาประกอบการพิจารณา พบว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 249 คน ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากวัคซีน 32 คน รอการสรุปผล 122 คน และสรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 1 คน เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ
    ในส่วนของผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ 5 คน พบว่าในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 คน และอีก 3 คนสามารถรักษาหายได้เป็นปกติ อยู่ในพื้นที่ กทม. 3 คน, นนทบุรี และนราธิวาส จังหวัดละ 1 คน ทั้งนี้ ในจำนวนผู้เสียชีวิต พบว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนเพียง 1 คนเท่านั้น เป็นหญิง อายุ 28 ปี จ.นนทบุรี การจะสรุปว่าเป็นภาวะลิ่มเลือดและเกล็ดเลือดต่ำจากวัคซีน ต้องเข้าเกณฑ์ 5 ข้อ แต่ชัดเจนที่สุด คือ ต้องมีภาวะทั้งลิ่มเลือดและเกล็ดเลือดต่ำร่วมกัน จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ อาการจะไม่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันทันทีหลังรับวัคซีน แต่จะเกิดภายหลัง ดังนั้นต้องมีการติดตามอาการ 4-30 วัน และร่วมกับมีจุดเลือดออกคล้ายไข้เลือดออก แต่ไม่มีไข้ แขนขาอ่อนแรง ปากหรือหน้าเบี้ยว ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ขาปวดเจ็บ ปวดท้องรุนแรง เพราะลิ่มเลือดเข้าไปอุดตันในจุดใดจุดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การรับวัคซีนยังคงมีประโยชน์มากกว่าโทษ
    นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มในประเทศไทย ได้นำเอกสารมายื่นกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขออนุญาตขยายกลุ่มอายุใช้วัคซีนจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 18 ปีขึ้นไป เป็นตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป โดยได้ส่งเอกสารมาเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ทาง อย.จะมีคณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญภายในและภายนอกร่วมกันพิจารณาด้านความปลอดภัย ประสิทธิภาพของวัคซีน โดยจะพยายามใช้เวลาพิจารณาให้เร็วที่สุด คาดว่าไม่เกิน 30 วัน
    ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12-18 ปีในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม.จะได้รับการจัดสรรวัคซีนจาก สธ. เบื้องต้นต้องการฉีดให้ครอบคลุมเด็กทุกคนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน ขณะนี้ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนการฉีดร่วมกัน
     พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า กลุ่มเด็กที่จะได้รับวัคซีนจะเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาในทุกสังกัด แต่ระยะแรกจะเป็นกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงในกลุ่มโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวก่อน คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้ จะมีความชัดเจนถึงแผนการฉีดให้กับกลุ่มนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"