ยุคของผู้บริโภคเลือกได้


เพิ่มเพื่อน    

      ดูเหมือนจะเป็นปีที่ธุรกิจโรงภาพยนตร์มีลูกเล่นเยอะมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่แค่กิจกรรมทางการตลาดที่อัดแน่นไปด้วยการทำโปรโมชั่น หรือหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเพื่อมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกค้า โดยเฉพาะการซื้อตั๋วในราคาถูก รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีของจอหนังแปลกใหม่เข้ามาเพิ่ม และหากไม่นับรวมปัญหาการดูภาพยนตร์ในช่องทางที่ผิดกฎหมาย เศรษฐกิจของประเทศที่ยังติดปัญหาเรื่องกำลังซื้อบางกลุ่ม การมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถรับชมภาพยนตร์ได้สะดวกมากขึ้น กำลังจะทำให้คนเข้าโรงหนังน้อยลงหรือไม่?

        อาจเป็นปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกไปดูภาพยนตร์ที่บ้านมากขึ้น แต่ถามว่าความรู้สึกและอรรถรสในการชมแตกต่างกันไหม ย่อมไม่เหมือนกันแน่นอน การรับชมภาพยนตร์ที่บ้านก็อาจมีความส่วนตัวมากเป็นพิเศษ เมื่อเปรียบเทียบกับการต้องเข้าโรงภาพยนตร์ ซึ่งในบางครั้งต้องมาเจอกับสภาพแวดล้อมที่ไม่คาดคิด จึงทำให้เสียอรรถรสไปบ้าง แต่การไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการพบปะเพื่อนฝูง หรือเป็นกิจกรรมของครอบครัว ที่แน่ๆ หนังจะมีความสดและใหม่มากกว่าการดูบนแพลตฟอร์มออนไลน์

        ก่อนหน้านี้เจ้าพ่อโรงหนังอย่าง “วิชา พูลวรลักษณ์”  ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมเจอร์ ซีนี เพล็กซ์ กรุ้ป แสดงความมั่นใจว่าการมีทางเลือกสำหรับดูหนังมากขึ้นอย่างบนช่องทางออนไลน์นั้น เห็นว่าการขยายโรงหนังในไทยยังมีโอกาสได้อีกมาก เนื่องจากยังมีดีมานด์หรือผู้ที่ชื่นชอบการดูภาพยนตร์ในโรงจำนวนมาก โดยลูกค้ากลุ่มดังกล่าวนิยมดูหนังในโรงมาตลอด และจะยังมีพฤติกรรมเป็นเช่นเดิม

        ในยุคที่ใครๆ ก็เรียกว่า 4.0 การตลาดของเมเจอร์บนโลกโซเชียลมีเดียไม่ได้เน้นเพียงแค่นำคะแนนรีวิวหนังแต่ละเรื่องมาโพสต์บนเฟซบุ๊ก หรือแนะนำภาพยนตร์ธรรมดาๆ  เหมือนเดิม แต่หลายครั้งยังอิงกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย อย่างตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก คืนที่มีการแข่งขันระหว่างเยอรมันและเม็กซิโก ก็ได้ทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ว่า “6 ซุป'ตาร์แถวหน้าของฮอลลีวูดที่มีเชื้อสายเยอรมัน” นับเป็นการตลาดที่เกาะกระแสบอลโลกแบบเนียนๆ อีกช่องทางหนึ่ง

        หนังบางเรื่องอาจมีกระแสตอบรับดีเยี่ยม เพราะเป็นหนังฟอร์มยักษ์ที่รอคอยมานาน ขณะเดียวกันหนังบางเรื่องอาจไม่ได้มีกระแสแรงมาก ถูกจำกัดโรงฉาย แต่ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยต้องการจะดูในฐานะเป็นเจ้าของโรงหนังที่กินมาร์เก็ตแชร์ของประเทศไทยอยู่มากโข เมเจอร์จะแก้ปัญหานี้อย่างไร รวมถึงข้อจำกัดของเวลาผู้บริโภคบางกลุ่ม บางครั้งหนังออกจากโรงไปแล้วทำให้ต้องพลาดการรับชมภาพยนตร์

        การตลาดแบบ Segmentation นั่นคือสิ่งที่เมเจอร์กำลังเดินหน้าไปในทิศทางดังกล่าว ก่อนหน้าก็มีการเปิดตัวโรงหนังสำหรับเด็กมาแล้ว แต่โรงภาพยนตร์เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลาย ทั้งกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มคนทำงาน และกลุ่มครอบครัว และกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นอีกด้วย หากวัดจากฐานสมาชิกบัตร M Generation รวมทั้งสิ้น 4,496,403 ราย แบ่งตามกลุ่มดังนี้ 1.M Gen Regular 2,326,647 ราย จะเป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไป อายุระหว่าง 24-60 ปี 2.M Gen Student   1,785,015 ราย กลุ่มนักเรียน นักศึกษา อายุระหว่าง 13-23 ปี 3.M Gen Kids 282,235 ราย กลุ่มเด็ก อายุต่ำกว่า 13 ปี และ 4.M Gen Freedom 102,506 ราย กลุ่มผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 60 ปี

        การแก้ปัญหาของคนไม่มีเวลาดูหนัง คือ บริการ “Movie On Demand” ในคอนเซ็ปต์ “หนังทางเลือกใหม่...ตามใจคุณ” ถามว่าแล้วบริการนี้เป็นอย่างไร อธิบายง่ายๆ  ว่าเป็นบริการที่จะเปิดให้ผู้บริโภคโหวตภาพยนตร์ที่ตัวเองอยากดู ซึ่งออกจากโรงฉายไปแล้วให้กลับเข้ามาฉายอีกครั้ง โดยเฟสแรกเลือกผ่านผ่านเว็บไซต์ก่อนมีหนังประมาณ 50 เรื่อง ก็เลือกเวลาและหนังที่อยากดู และสาขาที่ต้องการ สุดท้ายหากมีคนสนใจเหมือนกันครบ 100 โหวต ก็จะเปิดฉายทันที โดยจะปิดโหวตก่อน 4 วันที่เลือกไว้ว่าจะดูวันไหน แบบนี้คงยังมีข้อสงสัยว่าแล้วมันจะตามใจคุณได้ยังไง ก็คงต้องรอเฟส 2 ประมาณเดือน ต.ค.2561 นี้ เมเจอร์บอกว่าจะเปิดให้โหวตผ่านแอปพลิเคชัน คราวนี้แหละอยากดูหนังเรื่องไหน กี่โมง ก็ตามแต่ใจลูกค้าเลย จะเปิดกว้างมากกว่าเฟสแรกที่ยังกำหนดมาให้เลือก

        ไม่รู้ว่าจะสามารถกระตุ้นการเข้าโรงหนังได้มากขึ้นสักแค่ไหน แต่ก่อนหน้านี้เมเจอร์ได้แอบทดลองบริการดังกล่าวมาแล้วเป็นระยะเวลา 8 เดือน ซึ่งพบว่าอัตราการเข้าชมภาพยนตร์มากถึง 50% หากเทียบกับรอบปกติที่มีการตีตั๋วเข้าชมประมาณ 30-40% นี่อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เปิดรับความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ในยุคที่การตลาดไม่สามารถยิงทีเดียวแล้วจับได้เป็นกลุ่มๆ อีกต่อไป แต่ต้องจับเป็นรายบุคคลมากขึ้น.

รุ่งนภา สารพิน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"