ฉลุยผ่านบัตร2ใบ พรรคเล็กดิ้นสู้ต่อ


เพิ่มเพื่อน    

เลือกตั้งบัตร 2 ใบฉลุย ที่ประชุมรัฐสภาโหวตผ่านร่างแก้ไข  รธน.ว่าด้วยระบบเลือกตั้งท่วมท้น 472 เสียง ฉลุยทั้ง 3 เงื่อนไข ส.ว.ลงมติเห็นชอบถล่มทลายเกิน 1 ใน 3 แต่ ผบ.เหล่าทัพไม่ลงมติ ภูมิใจไทย- ก้าวไกล รวมถึงพรรคขนาดเล็กส่วนใหญ่งดออกเสียง ขณะที่ทีม "ธรรมนัส" ล่องหนยกก๊วน "หมอระวี" จ่อขอแรงภูมิใจไทย-ก้าวไกลยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ
    เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 การประชุมร่วมรัฐสภาที่มีนายชวน  หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นประธาน เพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. ... (แก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) วาระ 3 โดยก่อนลงคะแนนนายชวนได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า คะแนนเห็นชอบตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนด มีเงื่อนไข คือ 1. มีคะแนนเสียงเห็นด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ที่มี 730 คน แบ่งเป็น ส.ส. 480  คน และ ส.ว.มี 250 คน ดังนั้นต้องได้ เสียงเกิน 365 เสียงขึ้นไป 2.ต้องได้เสียงพรรคการเมืองที่ไม่มีรัฐมนตรี  ประธานสภา และรองประธาน ร่วมออกเสียงเห็นชอบด้วย 20% ของทุกพรรคการเมือง โดยปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 242 คน ดังนั้นต้องได้ 49  คน และ 3.ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง
    “หากไม่ถึงจำนวนไม่ว่ากรณีใด เท่ากับว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเห็นชอบ สำหรับการออกเสียงลงคะแนนวาระ 3 จะใช้การเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย สำหรับสมาชิกรัฐสภาที่มาออกเสียงไม่ทันตอนเรียกชื่อ หรือลงคะแนนผิดไป จะอนุญาตให้ลงคะแนนให้ครบถ้วน  สำหรับการประมวลผลการลงคะแนนจะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยนับคะแนนเพื่อให้การรวบรวมคะแนนเป็นไปโดยรวดเร็ว” ประธานรัฐสภา กล่าว
    จากนั้นเวลา  09.40 น.จึงเริ่มนับคะแนน และนับเสร็จเวลา 11.35  น. โดยผลการลงคะแนนปรากฏว่า รัฐสภาลงมติเห็นชอบ 472 เสียง  แบ่งเป็น ส.ส. 323 เสียง และ ส.ว. 149 เสียง ไม่เห็นชอบ 33 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 23 เสียง และ ส.ว. 10 เสียง งดออกเสียง 187 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 121 เสียง และ ส.ว. 66 เสียง
    นายชวนแจ้งว่า ตามรัฐธรรมนูญกำหนดเกณฑ์ผ่านร่างแก้ไขไว้ 3  เงื่อนไข เงื่อนไขที่หนึ่งคือ ต้องได้คะแนนเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 365 เสียง ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญได้คะแนนเห็นชอบ 472 คะแนน เท่ากับว่าผ่านเงื่อนไขที่หนึ่ง  เงื่อนไขที่สองคือ ในจำนวนคะแนนเห็นชอบต้องได้เสียงจากพรรคที่ไม่ได้มี รมต. หรือประธานรัฐสภา มากกว่าร้อยละ 20 หรือ 49 เสียง ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญได้คะแนนเห็นชอบด้วย 142 คะแนน ฉะนั้นจึงผ่านเกณฑ์เงื่อนไขที่สอง และเงื่อนไขที่สามคือ ในคะแนนเห็นชอบต้องมี ส.ว.เห็นด้วย 1 ใน 3 ของ ส.ว.เท่าที่มีอยู่ หรือไม่น้อยกว่า 84 คน ซึ่ง ส.ว.เห็นชอบ 149 เสียง เท่ากับว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขดังกล่าวผ่านทั้งสาม เงื่อนไข ขั้นตอนต่อไปคือให้ร่างรัฐธรรมนูญรอไว้ 15 วัน แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อไป 
    ทั้งนี้ บรรยากาศหลังจากที่มีการขานชื่อเพื่อลงมติได้ประมาณ 1  ชั่วโมง โดยขานชื่อไปแล้วประมาณ 480 คน ในเวลา 10.45 น. ผลปรากฏว่า ส.ว.ได้ลงมติเห็นชอบเกิน 84 เสียง หรือเกินจำนวน 1 ใน 3  ของ ส.ว.ทั้งหมดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ, พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ต่างออกเสียงเห็นชอบ ส่วนพรรคภูมิใจไทยและพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคขนาดเล็กส่วนใหญ่งดออกเสียง 
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผลการลงคะแนนเสียงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พบว่าในฝั่งของพรรครัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.ในกลุ่ม อาทิ นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร, นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น, นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ต่างไม่ปรากฏตัวในการลงมติวันนี้ ส่วนกลุ่มของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. รวมถึงนายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ล้วนลงมติเห็นชอบอย่างพร้อมเพรียงตามมติพรรค
    สำหรับพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีใครแตกแถว แม้กระทั่งนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายอันวาร์ สาและ  ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่มักจะโหวตสวนมติพรรค แต่รอบนี้ลงมติเห็นชอบตามมติพรรค ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคชาติพัฒนาต่างก็เห็นชอบเช่นกัน
    เช่นเดียวกับพรรคฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยไม่มี ส.ส.โหวตสวน ยกเว้น น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานีที่มักเป็นงูเห่า ครั้งนี้ไม่ลงมติใดๆ ส่วนพรรคก้าวไกลโหวตงดออกเสียง ยกเว้นนายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม.ที่ลงมติเห็นชอบ สำหรับพรรคเพื่อชาติส่วนใหญ่เห็นชอบ  ยกเว้น น.ส.ปิยะรัตน์ ติยะไพรัช ที่งดออกเสียง พรรคเสรีรวมไทยลงมติไม่เห็นชอบทั้งพรรค และพรรคประชาชาติส่วนใหญ่ลงมติเห็นชอบ
    อย่างไรก็ตาม สำหรับพรรคเล็กอื่นๆ ลงมติดังนี้ เห็นชอบได้แก่  นายดำรงค์ พิเดช และนายยรรยงก์ ถนอมพิชัยธำรง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย, นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่, นางนันทนา สงฆ์ประชา หัวหน้าพรรคประชาภิวัฒน์
     ไม่เห็นชอบได้แก่ พรรครวมพลังประชาชาติไทยทั้ง 5 ส.ส. นายปรีดา บุญเพลิง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคไทยศรีวิไลย์, นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค พรรคไทรักธรรม, นายพิเชษฐ สถิรชวาล พรรคประชาธรรมไทย, นางศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ พรรคพลเมืองไทย, พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ พรรคพลังชาติไทย,  นพ.ระวี มาศฉมาดล พรรคพลังธรรมใหม่, นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล พรรคเพื่อชาติไทย
    ด้านนายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทยงดออกเสียง อย่างไรก็ตาม พรรคเศรษฐกิจใหม่เสียงแตก มีทั้งโหวตเห็นชอบและงดออกเสียง แต่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อลงมติเห็นชอบ และพรรคพลังท้องถิ่นไทซึ่งมี ส.ส. 5 คนเสียงแตก โดยเห็นชอบ 2 คน ได้แก่ นายจารึก ศรีอ่อน และนายนภดล แก้วสุพัฒน์ ส่วนที่เหลืออีก 3 คนงดออกเสียง ได้แก่ นายชัชวาลล์ คงอุดม หัวหน้าพรรค,  นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี
     สำหรับภาพรวมการลงมติของ ส.ว.ที่น่าสนใจ อาทิ บรรดา ส.ว.โดยตำแหน่ง สาย ผบ.เหล่าทัพไม่มาร่วมลงมติ ส่วนเสียงโหวต ส.ว.ส่วนใหญ่ ทั้งในส่วน ส.ว.สายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม และ ส.ว.สาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ต่างโหวตไปในทิศทางเดียวกันคือลงมติเห็นชอบ อาทิ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว.น้องชายนายกฯ และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ส.ว.เพื่อนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับนายกฯ รวมถึง พล.อ.นพดล อินทปัญญา ส.ว.เพื่อนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตรที่โหวตเห็นชอบ ยกเว้น พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ส.ว.สาย พล.อ.ประวิตรที่ลงมติไม่เห็นชอบ
     ขณะเดียวกัน กลุ่มอดีต 40 ส.ว.ที่แสดงจุดยืนค้านบัตรเลือกตั้ง 2  ใบมาตลอด เพราะเกรงจะเกิดการกินรวบของพรรคใหญ่ และเกรงว่าพรรคเพื่อไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะกลับมา ต่างลงมติไปในทิศทางเดียวกันคือไม่เห็นชอบและงดออกเสียง อาทิ นายตวง  อันทะไชย, นายถวิล เปลี่ยนศรี, นายคำนูณ สิทธิสมาน, นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์, คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย,  นายเสรี สุวรรณภานนท์ และ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เป็นต้น ส่วนนายวันชัย สอนศิริ ที่ก่อนหน้านี้แสดงจุดยืนไม่เห็นชอบ แต่เมื่อถึงเวลาลงมติจริงกลับไม่ยอมลงมติใดๆ ได้แต่เพียงแสดงตนเท่านั้น
    อย่างไรก็ตาม นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของตนและพรรคเล็กเราลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมฉบับนี้ แต่เมื่อมติเสียงสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ออกมาแบบนี้แล้ว การดำเนินการต่อไปของพรรคเล็กมีแนวความคิดว่าจะไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ทั้งนี้ยอมรับว่าเสียงของพรรคเล็กนั้นไม่เพียงพอในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามกฎหมาย เพราะต้องใช้เสียง 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด หรือ ประมาณ 72 เสียง และมีกรอบระยะเวลาตามกฎหมายที่จะสามารถดำเนินการยื่นได้ภายใน 15 วัน ทั้งนี้หากพรรคเล็กจะยื่นได้จำเป็นต้องอาศัยเสียงของพรรคภูมิใจไทยและพรรคก้าวไกลที่ได้ลงมติงดออกเสียงไว้ ว่าทั้งสองพรรคจะร่วมยื่นด้วยหรือไม่ ซึ่งก็ต้องรอเขาตัดสินใจ และภายใน 15 วันนี้ตนก็จะไปพูดคุยเจรจาประสานกัน
    ส่วนพรรคก้าวไกล นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงว่า พรรคก้าวไกลมีมติงดออกเสียงเพราะพรรคไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรามาตั้งแต่ต้น  แต่ควรแก้ไขทั้งฉบับที่มาจาก ส.ส.ร. เพราะแก้ไขแค่ 2 มาตราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ เห็นด้วยกับบัตร 2 ใบ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการคำนวณคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ดังนั้นเป็นการชี้ชะตาของผู้ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะมีคนสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน ส่วนพรรคก้าวไกลทุกคนพร้อมที่จะสู้ในทุกกติกา ทุกสนาม ทุกแห่ง และเป็นตัวแทนของประชาชนในการแก้ไขวิกฤตบ้านเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองต่อไป 
    เมื่อถามว่า หากการลงมติวาระ 3 ผ่าน พรรคจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ นายพิธากล่าวว่าไม่มี และพร้อมที่จะสู้ต่อไป 
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า ขั้นตอนต่อไปนับจากนี้ก็คือจะต้องรอไว้ 15 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งระหว่าง  15 วันนี้ถ้ามีสมาชิกรัฐสภาสงสัยในเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเที่ยวนี้ ก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่ศาลรัฐ ธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับตั้งแต่รับเรื่อง ถ้าทุกอย่างผ่านตามขั้นตอนกระบวนการจนกระทั่งทรงลงพระปรมาภิไธย  และถือว่าผ่านกระบวนการเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญทุกประการแล้ว ขั้นต่อไปก็คือจะต้องมีการยกร่างกฎหมายลูก หรือพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขต่อไป
    นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า การมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเป็นระบบเลือกตั้งที่เป็นธรรมกับทุกพรรค ประชาชนจะได้ประโยชน์ที่สุด  เพราะได้เลือกคนที่รักพรรคที่ชอบ ไม่ถูกมัดมือชกให้เลือกกาได้เพียงใบเดียวเหมือนรัฐธรรมนูญ 2560.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"