เตรียมนิรโทษโกง รอทักษิณกลับมา


เพิ่มเพื่อน    

พรรคเล็กระส่ำหนัก ฟันธงบัตร 2 ใบ พรรคใหญ่ได้ประโยชน์ "ทักษิณ" จะกลับมา เด็กเพื่อชาติแฉขณะนี้รวบรวมรายชื่อและเตรียมเอกสารยื่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครบแล้ว ก่อนนี้เจ้าตัวให้ชะลอเพราะอยากกลับแบบเท่ๆ ขณะที่ "พิเชษฐ" เตือนอย่าดีใจไป บัตร 2 ใบอาจไม่ได้ใช้ เพราะ "บิ๊กตู่" ชิงยุบสภาฯ ปิดโอกาสเพื่อไทยกลับมา
    เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ไม่ขอตอบ เพราะยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิด การปรับ ครม. ต้องนับหนึ่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่นับหนึ่งจากคนที่อยากเป็นรัฐมนตรี ถ้าเป็นอย่างนั้นคงมีโผมากมาย
    "ต้องไปดูว่าเกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากนายกฯ ก็ต้องรับฟัง และถ้ามีอะไรที่จะต้องเกี่ยวพันกับประชาธิปัตย์ ท่านก็คงแจ้งให้ทราบ ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับนายกฯ ไม่ได้มีม่านกั้นอะไร"
    เมื่อถามว่า จากความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ จะส่งผลกระทบทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ นายจุรินทร์ตอบว่า ขอเป็นกำลังใจให้พรรคพลังประชารัฐ ในการที่จะคลี่คลายปัญหาภายในพรรคให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี 
    "พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะฉะนั้นถ้าขลุกขลักก็อาจจะมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้ อันนี้พูดตามข้อเท็จจริง แต่จะมีหรือไม่มีนั้น ไม่สามารถตอบได้ แต่ถ้าโดยหลักแล้วก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งได้" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว 
    ด้าน นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็น 1 ใน ส.ส.กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับโครงสร้างพรรคใหม่ว่า แล้วแต่ว่าใครเป็นคนให้ข่าว ตนไม่ทราบ แต่ ณ วันนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ยืนยันกับ ส.ส.ว่าโครงสร้างพรรคทุกอย่างยังเหมือนเดิม
    เมื่อถามถึงอนาคตการทำงานของ ส.ส.ในกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส จะเป็นอย่างไร นายบุญสิงห์เผยว่า ส.ส.ในกลุ่มยังไม่ได้พูดคุยกัน และจนถึงขณะนี้ ร.อ.ธรรมนัสยังคงเป็นเลขาธิการพรรค ดังนั้นวันนี้ทุกคนยังเป็นพลังประชารัฐ แต่อนาคตคงต้องดูอีกที เพราะมีหลายปัจจัย
    นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภาโหวตเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91 เรื่องระบบการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ รวมทั้งสัดส่วน ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ในวาระ 3 ว่า ชี้ให้เห็นว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ประเทศไทยเดินไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่หลายๆ ประเทศที่เจริญแล้วเลือกใช้ เพราะจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีระบบการเลือกตั้งใบเดียวมาใช้ ส่งผลให้ปัญหาการคำนวณ ส.ส.ที่เป็นคะแนนปัดเศษ ทำให้มีพรรคเล็กมากมายเข้ามาเป็น ส.ส. และสุดท้ายก็ถูกอำนาจต่างๆ ทำให้ ส.ส.พรรคเล็กไม่มีเอกภาพ ไม่สามารถดำเนินนโยบายพรรคตามที่หาเสียงต่อประชาชนได้ 
    "จนมีวลีที่พูดติดปากว่า ให้กล้วย ส.ส. อีกทั้งมีวลีงูเห่า ที่ชี้จุดยืนของ ส.ส.ที่ไร้อุดมการณ์ที่มั่นคงตามที่ไปประชาสัมพันธ์ต่อประชาชนเอาไว้ จากผลของบัตรเลือกตั้ง 2 ใบจะทำให้ตัดปัญหางูเห่า ทำให้พรรคเล็กต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน"
"ทักษิณ" จะกลับมา
    นายเพชรวรรตกล่าวอีกว่า สำหรับพรรคเพื่อไทย คาดว่าหากเลือกตั้งด้วยวิธีนี้จะเกิดเหตุการณ์แลนด์สไลด์ อาจทำให้ได้ ส.ส.เขตมากกว่า 200 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อถึง 50-60 คน หากเป็นจริงจากที่ได้รวบรวมรายชื่อเพื่อยื่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้อดีตนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับมานั้น ขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อและเตรียมเอกสารครบแล้ว 
    "แต่ก่อนที่จะยื่นต่อสภาฯ ต้องถามเจ้าตัวก่อน ซึ่งคนแดนไกลบอกให้ชะลอไว้ก่อน เพราะอยากกลับบ้านแบบเท่ๆ ขณะนี้ตนมาถึงบางอ้อแล้ว เพราะเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่มาจากรัฐธรรมนูญเต็มใบ จะให้ความยุติธรรมกับคนแดนไกลเอง" นายเพชรวรรตกล่าว
    ส่วน นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเราตั้งใจ แต่ตามรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.และ ส.ว.หรือประมาณ 75 เสียง ซึ่งเสียงของพรรคเล็กไม่ถึงอยู่แล้ว เต็มที่ก็ประมาณ 30 เสียง ต้องไปขอเสียงของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) หรือ ส.ว.อีกประมาณ 40 กว่าเสียง ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่า ส.ว.จะเล่นด้วยหรือไม่ ฉะนั้นกระบวนการการยื่นศาลรัฐธรรมนูญจึงอยู่ที่ 50-50 และตนดูท่าทีของพรรคภูมิใจไทยที่ออกมาแถลงว่าจะไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงพรรคก้าวไกลที่จะไม่ร่วมยื่นด้วยจึงมีความกังวลเรื่องเสียง ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีการพูดคุยเจรจากันอย่างเป็นทางการ ซึ่งตนคิดว่าอาจจะต้องมีการพูดคุยและเจรจากัน แต่จะต้องเป็นการเจรจาทั้งพรรค เพราะหากเจรจาระดับสมาชิกก็อาจจะไม่ยุติ
    เมื่อถามว่าได้มีการพูดคุยกับทาง ส.ว.แล้วหรือไม่ นายโกวิทย์กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุย เพราะยังมีเวลาระหว่างนี้อีก 15 วัน ตอนนี้ยังตอบอะไรไม่ได้ เนื่องจากเพิ่งผ่านการลงมติไปแค่ 1 วัน ซึ่งหากพรรคภูมิใจไทยที่มีเสียงประมาณ 60 เสียง มาร่วมด้วยประมาณ 50 เสียง และไปรวมกับ ส.ว.อีกประมาณ 10 เสียงก็เพียงพอแล้ว เพราะจะต้องมีน้ำหนักในการเข้าชื่อ
    เขาบอกว่า หากพูดว่าพรรคเล็กจะสูญพันธุ์หรือไม่ ตนเองยังไม่ค่อยเห็นด้วย เหมือนเมื่อก่อนที่เรามองว่าพรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคเล็ก แต่เวลาเลือกตั้งเขาก็ได้เสียงมาก รวมถึงอีกหลายพรรคเช่นกันที่เขาได้เสียงมา ตนมองว่ามันอยู่ที่นโยบายการทำงานของพรรคนั้นๆ และคิดว่าการทำให้พรรคการเมืองมีอัตลักษณ์ของตัวเองในพรรคเล็กเป็นทางออกของสังคมที่ดี ไม่ใช่การไปมองพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคประชาธิปัตย์ ที่เขาเป็นพรรคเก่าแก่ ซึ่งพรรคเล็กอย่าเพิ่งไปน้อยใจว่าจะสูญพันธุ์ แต่หากเราเสนอนโยบายที่ดีต่อประชาชน ประเทศชาติ ตนคิดว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ได้
    นายโกวิทย์เผยว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการปกติของรัฐสภาที่ต้องตรวจสอบกันละกัน ซึ่งเราสงสัยว่าการเพิ่มเติมมาตราขึ้นมาใหม่ทำได้หรือไม่ กระบวนการที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขวันนั้นแล้วใช้เสียงของรัฐสภาถูกต้องหรือไม่ เพราะบางครั้งเสียงข้างมากก็ลากไป ซึ่งก็สมคบคิดไว้แล้วว่าจะออกมาเช่นนี้ ซึ่งตนคิดว่ามีแต่จะสร้างความถูกต้องให้ปรากฏในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.
เป็นโอกาสของพรรคเพื่อไทย 
    ส่วนการเมืองวันข้างหน้าประชาชนรุ่นใหม่ในโลกยุคใหม่เขาก็คิดได้ในเชิงการสร้างนโยบายของพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก เพียงแต่ข้อกังวลคือ ต่อไปการซื้อเสียงจะมีความรุนแรงมากขึ้นในพรรคที่มีทุนที่จะมีความได้เปรียบ เมื่อแบ่ง ส.ส.เขต 400 คน จะทำให้แคบและทำให้ใช้เงินซื้อง่าย นอกจากนี้การไปเพิ่ม ส.ส.เขต และลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เท่ากับปิดกั้นโอกาสวิชาชีพของสาขาต่างๆ ที่จะเข้าสู่การเมือง 
    เขามองว่า ประเทศไทยทิ้งน้ำหนักการคัดคนเข้าสู่การเมืองในระบบ ส.ส.เขตมากเกินไป ซึ่ง ส.ส.มักจะอ้างว่าต้องเข้าถึงและดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง ตนขอถามว่าแล้วจะมีสมาชิกสภาเทศบาล ส.ก.ไปทำไม ซึ่งเป็นการทำงานซ้อนกับท้องถิ่น ฉะนั้น ตนมองว่ายังไม่มีพัฒนาการทางการเมืองที่ทำให้ก้าวหน้า โดยเฉพาะระบบที่พิจารณาเรื่องจำนวน ส.ส.และที่มายังมีปัญหา
    “ผมคิดว่าการเมืองหลังเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นโอกาสของพรรคเพื่อไทย เพราะมี ส.ส.เขตจำนวนมาก และก็จะได้บัญชีรายชื่ออีก เพราะอย่างน้อยเขาก็ยังศรัทธาเรื่องกองทุนหมู่บ้าน นโยบายรักษาทุกโรค ซึ่งผมคิดว่าพรรคพลังประชารัฐคิดผิดว่าจะได้เสียงข้างมากแทนพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐอาจได้เสียงรองจากพรรคเพื่อไทย เพราะมีโครงการคนละครึ่งหรือโครงการเยียวยาต่างๆ ส่วนพรรคที่เป็นจุดอ่อนอาจจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็อาจจะได้คนเก่าคนแก่มา หลายคนมองว่าบัตรเลือกตั้ง 2 ใบสกัดพรรคก้าวไกล ผมว่าไม่ใช่ เพราะอาจจะได้ประโยชน์ในแง่นโยบายที่โดดเด่นได้เหมือนกัน” นายโกวิทย์กล่าว
    ขณะที่ นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธรรมไทย กล่าวว่า พรรคเล็กขณะนี้มีเสียงแค่ 23 เสียง ไม่พอยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แม้พรรคภูมิใจไทยและพรรคก้าวไกลจะไม่ร่วมเข้าชื่อกับพรรคเล็กส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กำลังตามตื๊อทั้ง 2 พรรคอยู่ เพราะการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเป็นช่องทางดีที่สุด แต่ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรคขนาดกลาง พรรคเล็กก็ไม่มีช่องทางสู้แล้ว แต่อย่างน้อยได้ทำเต็มที่แล้ว พรรคเล็กมองว่า บัตรเลือกตั้งใบเดียวดีอยู่แล้ว เปิดโอกาสให้มีตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ เข้ามาเป็น ส.ส.เป็นตัวแทนประชาชน
    เขากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจะผ่านวาระ 3 แล้ว แต่อาจไม่ได้ใช้ ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์จะเล่นการเมืองสมัยหน้าหรือไม่ ถ้าไม่เล่นคงได้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยังเล่นการเมืองต่อ มั่นใจว่าไม่ได้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่ เพราะระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ไม่เป็นประโยชน์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ขณะนี้คะแนนนิยมย่ำแย่ สู้ไปก็แพ้พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล อีกทั้งสถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐหักกันแรงมาก ถ้าประเมินแล้วสู้ไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์อาจชิงยุบสภาก่อนที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ต้องกลับไปใช้กติการัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแทน กว่าที่ทุกอย่างจะเสร็จครบทุกขั้นตอนไปจนถึงแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เสร็จ ใช้เวลา 3-6 เดือน ระหว่างนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ อาจมีการยุบสภาในช่วงนี้
ชี้นายกฯ อาจยุบสภา
    นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคเล็กต้องการเจรจาเพื่อขอเสียงจากพรรคก้าวไกล ในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคเล็กยังไม่ได้มีการประสานมา แต่จุดยืนของพรรค ก.ก. คือจบที่รัฐสภา เราไม่อยากไปที่องค์กรอื่นโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 3 อาจไม่ต้องถึงขั้นยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ได้ เนื่องจากกระบวนการขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ภายใน 15 วัน หลังจากลงมติวาระ 3 นั้น ยังมีปัญหาที่ต้องขบคิดว่าจะนำร่างแบบนี้ขึ้นไปทูลเกล้าฯ ถวายหรือไม่ เพราะมีการแก้ไขเกินหลักการที่รับมา ทำให้ร่างนี้ไม่สมบูรณ์ รวมถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยังมีการเรียกประชุมด่วนในช่วงเช้าก่อนพิจารณาวาระ 2 เพื่อถอนออก 4 มาตรา ซึ่งไม่ชอบตามข้อบังคับที่ 12 ที่จะต้องทำหนังสือแจ้งไม่น้อยกว่า 1 วัน และไม่ได้มีการขอให้ที่ประชุมรัฐสภาถอนร่างที่ประธานรัฐสภาบรรจุแล้วออกไปก่อน เพื่อไปเอา 4 มาตราออก 
    กรณีเช่นนี้ตนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาและกระบวนการที่ไม่สมบูรณ์ การนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะต้องตระหนักให้ดี และอยากฝากถึงเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้จัดงานธุรการและตรวจข้อกฎหมายให้ถี่ถ้วนว่า กรณีเช่นนี้สมควรหรือไม่ที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย อย่าให้กฎหมายของประเทศที่จะต้องออกไปจารึกในประวัติศาสตร์ว่ามีรอยด่างพร้อยและความไม่สมบูรณ์แบบเช่นนี้เลย
    ด้าน นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม โฆษกพรรคกล้า กล่าวถึงกรณีรัฐสภาลงมติวาระ 3 เห็นชอบแก้ไขระบบเลือกตั้งเปลี่ยนเป็นบัตร 2 ใบ ว่า ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเพื่อแก้ไขรอยรั่วระบบเลือกตั้งเดิม หรือเพื่อให้พรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบตามที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ แต่พรรคกล้าในฐานะพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ พร้อมสู้ศึกเลือกตั้งระดับชาติครั้งต่อไปแน่นอน ไม่ว่าระบบเลือกตั้งจะเป็นรูปแบบใด และเดินหน้าเตรียมความพร้อมทั้งการหาสมาชิกและเปิดรับผู้เสนอตัวสมัครรับเลือกตั้งทั่วทุกภาคของประเทศไทย 
    "แม้เป็นพรรคการเมืองที่ยังไม่มี ส.ส.ในสภา แต่ระยะเวลา 1 ปีเศษ ที่พรรคกล้าดำเนินกิจกรรมทางการเมือง มีผู้คนจากหลายสาขาอาชีพ ทุกแวดวง ทยอยเข้ามาร่วมงานกับพรรคไม่ขาดสาย ตัวแทนในพื้นที่ก็ระดมลงช่วยเหลือประชาชนฝ่าวิกฤตโควิด-19 มาต่อเนื่อง พรรคเป็นที่รู้จักในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงมั่นใจอย่างยิ่งว่าพรรคมีคะแนน มีความพร้อม ไม่ว่าระบบเลือกตั้งจะออกมารูปแบบใด" โฆษกพรรคกล้ากล่าว 
    ส่วนกระแสข่าวยุบสภา สืบเนื่องจากความขัดแย้งหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการปลดร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจาก รมช.กระทรวงเกษตรฯ นายแสนยากรณ์กล่าวว่า แม้นายกรัฐมนตรีปลดออกแล้ว หากมองในทางที่ดีก็คงทำให้ ครม.มีภาพที่ดีขึ้นบ้าง แต่ต้องดูสัญญาณว่ายังมีความระส่ำระส่ายภายในพรรคพลังประชารัฐก่อนการปรับ ครม.ครั้งต่อไปหรือไม่ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อาจมีผลต่อการตัดสินใจยุบสภาตามที่นักวิชาการหลายคนคาดการณ์ความเสี่ยงไว้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองกำลังจับตามอง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"