“อี-คอมเมิร์ซ” ธุรกิจดาวรุ่ง


เพิ่มเพื่อน    

โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในทุกมิติ โดยเฉพาะตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ที่กลายเป็นตัวเร่งให้ทั้งการใช้ชีวิต การทำธุรกิจและอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด “เทคโนโลยี” กลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์มากขึ้น และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยมาตรการลดระยะห่าง การ Work From Home : WFH หรืออื่นๆ ที่เป็นมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส ขณะที่การใช้ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป การใช้จ่าย ซื้อของกินของใช้ ยังคงเป็นกิจวัตรประจำวันที่ต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงถูกหยิบขึ้นมาใช้เพื่อให้สอดรับกับรูปแบบชีวิตประจำวันในสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็จำเป็นต้องปรับตัวตอบรับเทคโนโลยีที่เข้ามา โดยเฉพาะ “ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ” เติบโตได้อย่างโดดเด่นในสถานการณ์ปัจจุบัน

                ก่อนหน้านี้ KKP Research ได้ออกบทวิเคราะห์ โดยประเมินตลาดอี-คอมเมิร์ซ ในไทยจะขยายตัวได้สูงถึง 20% ต่อปี ตลาดช่วง 5 ปีข้างหน้า และจะเพิ่มขึ้นจากระดับ 3 แสนล้านบาท เป็น 7.5 แสนล้านบาท ในปี 2568 หรือคิดเป็น 16% ของตลาดค้าปลีกรวมของประเทศที่จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5 ล้านล้านบาท แม้ธุรกิจค้าปลีกที่มีหน้าร้านจะยังคงสัดส่วนและคาดว่าจะยังขยายตัวได้เฉลี่ยที่ 4.8% ต่อปี ระหว่างปี 2563-2568 แต่มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซที่จะขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ย 20% ต่อปี จะสนับสนุนให้มูลค่าตลาดค้าปลีกรวมของไทยขยายตัวได้ราว 6.6% ต่อปี ตลอด 5 ปีข้างหน้า

                จาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2.การใช้โทรศัพท์มือถือและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และ Gen Z และ 3 บริการชำระเงินออนไลน์ที่แพร่หลายในอาเซียน เช่น บริการพร้อมเพย์ในไทยที่สะดวกและมีต้นทุนต่อผู้ใช้ต่ำ

                ทั้งนี้ หากลงไปดูในรายละเอียดจะพบว่า ไทยมีขนาดอี-คอมเมิร์ซใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แต่ยังมีสัดส่วนค้าปลีกออนไลน์น้อย และการใช้จ่ายออนไลน์ต่อหัวยังค่อนข้างต่ำหากเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่มีตลาดอี-คอมเมิร์ซใหญ่ที่สุด โดยมีการประเมินว่า “สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หมวดอาหารและสุขภาพมีแนวโน้มขยายตัวดี และจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย ทั้งจากฝั่งอุปสงค์ที่มาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายในระยะสั้น และในระยะยาวที่แนวโน้มการ WFH และเศรษฐกิจแรงงานอิสระจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย

                KKP Research ระบุว่า การขยายตัวของอี-คอมเมิร์ซในไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน จากปัจจัยจำเพาะที่ใกล้เคียงกัน ทั้งด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีและเครือข่าย สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ นโยบายและกฎหมาย รวมถึงลักษณะทางสังคมและประชากร ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้มองว่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในอาเซียนยังมีโอกาสเติบโตจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นและเติบโตอย่างต่อเนื่อง และอี-คอมเมิร์ซในอาเซียนกำลังขยายตัวรวดเร็วจากประชากรที่มีอายุเฉลี่ยน้อยและนิยมซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน อีกทั้งการเข้าถึงช่องทางการชำระเงินออนไลน์ที่หลากหลายก็ยังส่งผลให้อี-คอมเมิร์ซไทยเร่งตัวได้เป็นอย่างดีด้วย

                ด้วยโอกาสและแนวโน้มในการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซนี้ “ภาครัฐ” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุนและสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้แก่ธุรกิจรายย่อย ผ่านการส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลดขั้นตอนและกฎระเบียบใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศ 2.ส่งเสริมการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างถ้วนหน้า และสนับสนุนการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์อย่างโปร่งใสและเป็นระบบ และ 3.ขยายตลาดค้าปลีกออนไลน์ให้ไปไกลกว่าตลาดในประเทศ ผ่านการลดขั้นตอนและกฎระเบียบต่างๆ

                ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรองรับเทคโนโลยี และแนวทางการดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่เปลี่ยนไปตามปัจจัยสนับสนุน โดยหลายฝ่ายมองว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในยุคต่อๆ ไป ผ่านกระบวนการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ทันสมัยมากขึ้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคตามยุคตามสมัยได้เป็นอย่างดี.

ครองขวัญ รอดหมวน

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"