‘บิ๊กตู่’เมินปรับครม. เชื่อพี่ป้อมไม่น้อยใจ3ป.ยังปึ้ก/เด็กธรรมนัสคาดฝุ่นตลบอีก1ด.


เพิ่มเพื่อน    

 นายกฯ ย้ำยังไม่ปรับ ครม. การันตีไม่มีรอยร้าว 3 ป. เชื่อพี่ป้อมไม่น้อยใจ หลังปลดธรรมนัส-นฤมลไม่บอกล่วงหน้า "ประยุทธ์" เปลี่ยนไป ลงพื้นที่กำชับ ขรก.เอาแผนงาน ส.ส.ไปบริหาร มือขวาธรรมนัสบอกวุ่นวายฝุ่นตลบอีกหนึ่งเดือน รอหัวหน้าพรรคเคลียร์ใจ พท.ดันสูตรบัตรสองใบใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ

    เมื่อวันที่ 12 ก.ย. มีความเคลื่อนไหวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังเกิดแรงกระเพื่อมหนักภายในพลังประชารัฐ จากผลการปรับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี
    โดยในเวลา 13.00 น. ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์​โรงพยาบาลรามาธิบดี อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ​ พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บริเวณจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ นำโดยนายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก นายอัครวัฒน์ อัศวเหม นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ​ นายยงยุทธ สุวรรณบุตร​ และ น.ส.ไพลิน เทียนสุวรรณ รวมถึงนางนันทิดา แก้วบัวสาย นายก อบจ.สมุทรปราการ รอต้อนรับอย่างพร้อมเพรียง
    พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวทักทาย ส.ส. และฝากให้ช่วยดูแลประชาชนพื้นที่ ก่อนจะถามหานายก อบจ.สมุทรปราการ พร้อมกล่าวขอให้ช่วยกันดูแลประชาชน
    จากนั้น​ พล.อ.ประยุทธ์พร้อมคณะรับฟังการนำเสนอวีดิทัศน์สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์จากคณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และเยี่ยมชมจุดฉีดวัคซีน โดยกล่าวกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ​และข้าราชการในพื้นที่ที่มาต้อนรับ ตอนหนึ่งว่า "ขอให้ทุกคนช่วยกัน ช่วยรัฐบาล และขอบคุณที่มาให้กำลังใจ ถ้าพวกเราไม่ช่วยกันมันก็ไปไม่ได้ทั้งนั้น วันนี้ผมอารมณ์ดีมาก"
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างเยี่ยมชมจุดตรวจ นายกฯ ได้กล่าวทักทายประชาชนที่มารอรับการรักษาพยาบาล และขอให้ทุกคนช่วยกัน ประเทศชาติจะปลอดภัย ขณะที่เจ้าหน้าที่จุดตรวจฉีดวัคซีนตะโกนให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ให้ “สู้” ซึ่งนายกฯ หันไปพูดตอบว่า "สู้กับปัญหา นายกฯ ต้องสู้กับปัญหา สู้เพื่อพวกเรา เดี๋ยวทุกอย่างก็จะดีขึ้น และยังได้หันไปคุยกับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐว่า ขอให้ ส.ส.ไปดูเรื่องการค้าขายทางออนไลน์และการค้าขายสมัยใหม่ วันนี้เราต้องเดินหน้าออนไลน์ซึ่งรัฐบาลทำไว้ให้หมดแล้ว เราต้องยกระดับประชาชนให้ได้ การเมืองต้องทำอย่างนี้" พลเอกประยุทธ์บอกไว้
    จากนั้นช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปยังสะพานยกระดับสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ เพื่อตรวจความพร้อมแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า จะดูแลคนทั้งประเทศ ไม่ว่าที่ไหน จะเป็นพื้นที่ของใครก็แล้วแต่ จะรับฟังความคิดเห็นจากบรรดา ส.ส.ในการดูแลประชาชน และเราต้องคำนึงถึงจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย รัฐบาลทำหน้าที่แบบนี้ ยืนยันว่าดูแลทุกพรรคการเมือง เพราะดูแลประชาชน เป็นรัฐบาลของประชาชน ขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วยว่าสิ่งใดๆ ก็ตามที่เสนอมาก็รับไว้ และไปดูว่าคุณจะทำอย่างไร แค่ไหนอย่างไร ทำได้หรือไม่ได้ กฎหมายว่าอย่างไร งบประมาณมีหรือไม่ อาจผิดหรือไม่ ทำเองก็ให้มันสุจริต โปร่งใส รัฐบาลต้องทำให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ
    “ฝากไปถึงผู้ว่าฯ และทุกกระทรวง ขอให้ดูแลนโยบายที่นำเสนอมาโดย ส.ส.ที่อยู่ในคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ต้องรับแผนงานของ ส.ส.มาบริหารด้วย ในพื้นที่ไม่ว่าของใครก็ตาม ให้ความเป็นธรรมในพื้นที่ เพราะว่ามันเป็นคำตอบให้กับประชาชนในพื้นที่ ถูกต้องไหม เนอะ ก็น่าจะคิดไม่ผิด” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว  
    จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับคณะรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างลงว่า "ยังไม่ปรับตอนนี้ และไม่ต้องตั้งใครเพิ่ม ไม่ต้องห่วง มีคนทำงาน คนรักษาการอยู่แล้ว ตามที่ได้แบ่งหน้าที่การบริหารราชการที่มอบหมายให้ดูแล"
    ผู้สื่อข่าวถามว่า​จะเข้าไปดูแลในส่วนพรรคพลังประชารัฐอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไปดูแลอะไร ไปดูแลยังไง ไปดูแลได้แค่ไหน วันนี้ก็มารับฟังในสิ่งที่เขาพูด และรับฟังทุกพรรคอยู่แล้วที่มีการชี้แจงในสภาอยู่ทุกวัน เมื่อนายกฯ ลงพื้นที่ก็มาสอบถามข้อเท็จจริงของพวกเขาว่าโครงการนี้ทำไมถึงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นของใครก็แล้วแต่
    เมื่อถามว่าในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมามีกระแสข่าวเกิดแรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐ​ พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า “ปัญหาตรงไหนหรือ” เมื่อถามย้ำถึงกระแสข่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ น้อยใจกับเรื่องดังกล่าวและจะลาออกจากพรรค พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอุทานว่า “อุ๊ย! ไม่มีใครใจน้อยขนาดนั้นหรอกมั้ง”
    เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้ระยะห่างระหว่าง ส.ส.กับนายกฯ ลดน้อยลง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็มาหาอยู่นี่ไง ถ้ามีเวลาจะไปเยี่ยมเยียนในเวลาที่เหลืออยู่ ที่ผ่านมาบริหารงานในรูปแบบของจังหวัด โดยรับฟังปัญหาของ ส.ส.ทุกคน แล้วนำมาดูอะไรทำได้หรือไม่ได้ หรือติดปัญหาตรงไหน แล้วจึงบริหารงบประมาณให้เพียงพอ
    เมื่อถามว่านายกฯ จะสยบภาพของความแตกแยกที่เกิดขึ้นในเวลานี้อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์เดินหนีออกจากโพเดียมทันที พร้อมกับโบกมือก่อนจะตอบเสียงหนักแน่นว่า “ไม่มีแตกแยก ไม่มี”
    ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงความมั่นใจว่า รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม และไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องยุบสภา เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่ยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง แต่เอาเวลาทั้งหมดไปแก้ปัญหาให้กับบ้านเมืองและประชาชน ดังนั้นถ้ามีการยุบสภา เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สิ่งที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการต่างๆ ก็อาจจะต้องหยุดชะงักไปด้วย ดังนั้นการยุบสภานอกจากจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังอาจจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปอีกได้ รัฐบาลอยู่ครบวาระแน่นอน
จับตาธรรมนัสโดดหรือร่วมประชุม
    นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านจะยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ในช่วงสมัยประชุมปลายปีว่า เป็นสิทธิ์ของฝ่ายค้าน แต่คงไม่มีผลอะไรกับทางรัฐบาล ทั้งนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นการอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญประจำปี 64 ครั้งที่ 1 ฝ่ายค้านจะมีสิทธิ์ขอเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแบบลงมติได้อีกครั้ง ต้องรอการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญประจำปี 65 ครั้งที่ 1 ซึ่งจะเริ่มขึ้นวันที่ 22 พ.ค.65 แต่ยื่นเร็วกว่าวันที่ 22 พ.ค.ไม่ได้ ถ้าจะยื่นขออภิปรายตั้งแต่สมัยการประชุมครั้งที่ 1 ช่วงต้นๆ เร็วที่สุดที่จะเกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือเดือน มิ.ย.65 แล้วกฎหมายงบประมาณจะเริ่มในเดือน ส.ค. ดังนั้นตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงเดือน มิ.ย.65 รัฐบาลไม่มีปัญหาหรือผลกระทบอะไรที่จะต้องไปยุบสภาตามที่เป็นข่าวใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นในช่วงนี้อย่างน้อยไปถึงเดือน มิ.ย.65 รัฐบาลมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศ ไม่มีเหตุที่จะมีการยุบสภา การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ก็ไม่ได้สร้างปัญหาอะไรให้กับรัฐบาล ฝ่ายค้านมีโอกาสเมื่อไหร่ก็ยื่นทุกครั้ง เวลานี้รัฐบาลก็รอการแก้ปัญหาต่างๆ ปัญหาโควิด-19 เรื่องวัคซีน ปัญหาเศรษฐกิจ มีเวลาคลื่นลมสงบไปจนถึงเดือน มิ.ย.65
    เมื่อถามว่าปัญหาพรรคประชารัฐจะมีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันแล้วไม่ลาออก ดังนั้นการไม่ลาออกคือการไม่ปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคใดๆ ดังนั้นทุกอย่างก็นิ่ง ส.ส.และสมาชิกพลังประชารัฐทั้งหมดรักและเคารพ พล.อ.ประวิตรเป็นหนึ่งเดียว พล.อ.ประวิตรอยากเห็นพลังประชารัฐไม่มีแรงกระเพื่อมใดๆ และอย่างที่ พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ ไม่มีการปรับโครงสร้างพรรคใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นอำนาจหัวหน้าพรรค และ พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรคที่ครองใจ ส.ส.ในพรรคทั้งหมดด้วย ดังนั้นทุกอย่างเป็นไปตามที่กล่าว
    นายไพบูลย์ยังตอบคำถามที่ว่า เชื่อมั่นว่า พล.อ.ประวิตรยังเป็นผู้นำทัพพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้า นายไพบูลย์กล่าวว่า มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นศูนย์รวมใจ ส.ส.ทั้งหมด ตราบใดที่ พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรค ก็ทำให้พรรคพลังประชารัฐเป็นหนึ่งเดียวและเข้มแข็งที่สุด
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคพลังประชารัฐได้แจ้ง ส.ส.วันที่ 15 ก.ย. มีการประชุม ส.ส. เวลา 09.00 น. ที่ชั้น 6 ห้อง พรรคพลังประชารัฐ อาคารรัฐสภา ซึ่ง พล.อ.ประวิตรเข้าร่วมประชุมด้วย โดยขอให้มาร่วมกันทุกคน
มือขวาธรรมนัสปัดข่าวตั้งพรรคใหม่
    ขณะที่นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ มือขวาคนสนิทธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวถึงการแก้ไข รธน.เรื่องบัตรสองใบ หลังนายเอกราชและบุตรชายไม่ร่วมออกเสียงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า โดยส่วนตัวมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ถูกต้อง เอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมืองอย่างชัดเจน ไม่มีประเด็นใดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะกับคะแนนเสียงที่ประชาชนลงคะแนนเลือกตั้งไปนั้นจะเอื้อประโยชน์ให้กับเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น พรรคเล็กพรรคน้อยที่ได้คะแนนไม่ถึง 350,000 คะแนน ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุว่า ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 1 คนจะต้องมีคะแนนเสียง 350,000 คะแนน ซึ่งหากพรรคเล็กพรรคน้อยได้คะแนนไม่ถึงกำหนด คะแนนก็จะตกน้ำไปโดยไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการมาคำนวณเป็นคะแนน การที่ตนและนายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น พลังประชารัฐ (ลูกชาย) ไม่โหวตออกเสียงด้วย ในที่ประชุมวันนั้นแม้ทั้งสองคนเข้าไปลงชื่อและอยู่ในที่ประชุม แต่ไม่แสดงตัวโหวต เพราะ พล.อ.ประวิตรให้นโยบายฟรีโหวต
    นายเอกราชกล่าวย้ำว่าการไม่ออกเสียงใดๆ ของ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะผมและนายวัฒนาไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอทุกฝ่ายอย่าจับแพะชนแกะ อย่าจับประเด็นนี้ไปชนประเด็นโน้น อย่าจับอดีตมาชนปัจจุบัน เราทำการเมืองกันแบบตรงๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะมองว่าประโยชน์ของประชาชนจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มากกว่าการกระทำใดลงไปที่เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองหรือนักการเมืองเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ได้มีการชี้แจงไปแล้วว่าการไม่แสดงตนหรือการงดออกเสียงใดๆ ในการประชุมที่ผ่านมาไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ฝุ่นกำลังตลบและวุ่นวายอยู่ในขณะนี้ ขณะที่การลาออกของอดีต 2 รัฐมนตรีนั้นได้มีการแจ้งไปในพื้นที่แล้วว่า ทุกคนยังคงอยู่ในพรรคพลังประชารัฐเหมือนเดิม ไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไร
    "ทั้งหมดต้องรอดูสัญญาณจากหัวหน้าพรรคเท่านั้น ซึ่งต้องรออีกประมาณ 1 เดือน พอฝุ่นจางหายลงไป ความชัดเจนก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นความชัดเจนในการกำหนดท่าทีหรือแนวทางทางการเมืองของเราจะไปอย่างไร แต่วันนี้ไม่มีอะไร ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ทุกคนคือพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร ทุกคนยังคงทำงานในพื้นที่อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องทุกวัน ส่วนการตั้งพรรคอีสานล้านนานั้นไม่มีและไม่เป็นความจริง ขออย่าให้ทุกคนนั้นจับแพะชนแกะ กลุ่มอีสานล้านนา ผมในฐานะประธานยุทธศาสตร์ภาคอีสานตอนบนพรรคพลังประชารัฐได้ขึ้นป้ายนี้มา 2 ปีแล้ว ซึ่งแสดงถึงการทำงาน ในภาพเล็กลงมาของพรรค ซึ่งเป็นมดงานทำงานในกลุ่มเล็กๆ ในระดับพื้นที่ ซึ่งตอนนี้การดำเนินงานทุกอย่างได้ขับเคลื่อนผ่านไปแล้ว วันนี้กลุ่มอีสานล้านนาไม่มีแล้ว และยืนยันว่าไม่มีการตั้งพรรคอีสานล้านนาอย่างแน่นอน ทุกคนยังเป็นพรรคพลังประชารัฐ และพรรคไม่มีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ทุกคนคือพลังประชารัฐ จึงขอให้ฝุ่นจางไปก่อน ทุกอย่างก็จะชัดเจน และยืนยันว่าเวลานี้ไม่มีพรรคการเมืองใดมาจีบหรือทาบทามให้ย้ายพรรคหรือชวนไปร่วมงาน ทุกคนยังคงเป็นพลังประชารัฐที่เหนียวแน่นและทำงานในพื้นที่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรัดกุม” นายเอกราช มือขวาธรรมนัส ระบุ
เพื่อไทยดันใช้เบอร์เดียวทั้งสองใบ
    ด้านท่าทีฝ่ายค้าน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แถลงว่า หลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 83 และ 91 ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา คาดว่าประธานรัฐสภาจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของการประชุมสภา ก่อนจะปิดสมัยประชุมวันที่ 18 ก.ย. และเปิดสภาสมัยถัดไปในเดือน พ.ย.2565 เมื่อเปิดประชุมสภาสมัยถัดไป พรรคเพื่อไทยจะเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ให้เบอร์ผู้สมัคร ส.ส.เขตกับพรรคเป็นเบอร์เดียวกันในการเลือกตั้งทั้งประเทศ ให้ง่ายต่อการจดจำและลงคะแนนของประชาชน บัตรเสียจะมีน้อย คาดว่าการแก้กฎหมายลูกดังกล่าวใช้เวลาอย่างเร็ว 2-3 เดือน
    นายยุทธพงศ์กล่าวว่า จากนั้นคาดว่ารัฐบาลจะยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ต้นปี 2565 เพราะรัฐบาลบริหารประเทศต่อไปไม่ได้ ไม่มีเงินบริหารประเทศ เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทรอบแรกเกลี้ยงแล้ว ตอนนี้กำลังใช้เงินกู้ 5 แสนล้านบาทอยู่ อีกไม่นานก็เกลี้ยง กู้ใหม่ไม่ได้ ถ้าไปกู้เพิ่มต้องเสนอเป็น พ.ร.ก.นำมาให้สภาเห็นชอบด้วย แต่เชื่อว่าจะถูกกลุ่มกบฏของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่มีเสียง ส.ส.ในมือ 40 คนโหวตคว่ำแน่ จากเสียงสูงสุดที่รัฐบาลมีอยู่ขณะนี้ 270 เสียง ถ้ากฎหมายการเงินไม่ผ่านสภา นายกฯ ต้องลาออกหรือยุบสภา แต่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยุบสภา เพราะมาถึงทางตัน การปลด ร.อ.ธรรมนัสและนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จากตำแหน่งรัฐมนตรี เกิดแรงกระเพื่อมหนักในพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะการปลดนางนฤมลทำให้ พล.อ.ประวิตรนอนไม่หลับ ถ้า พล.อ.ประวิตรปกป้องนางนฤมลไม่ได้ ทั้งที่เป็นคนมีความรู้ความสามารถมากกว่านายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ที่มีกระแสข่าวจะได้เป็น รมว.คลังในการปรับ ครม. ถ้าเป็นเช่นนี้ พล.อ.ประวิตรควรลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐไปด้วย
    นายยุทธพงศ์ยังกล่าวถึงกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยจะจับมือพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่า การเลือกตั้งสมัยหน้า พรรคเพื่อไทยมั่นใจเป็นพรรคอันดับ 1 ได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 200 คน จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงอยู่ที่พรรคจะเลือกใครมาตั้งรัฐบาล ไม่ใช่พรรคจะไปจับมือกับใคร จะมีแต่คนมาขอร่วมตั้งรัฐบาล
นิด้าโพลเชื่อบิ๊กตู่รอบหน้าวางมือ
    วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ความเป็นไปได้ทางการเมืองของ 3 ป.” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6-9 กันยายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเป็นไปได้ทางการเมืองของ 3 ป. (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
    เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความเป็นไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นสมัยสุดท้าย พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 32.06 ระบุว่าเป็นไปได้มาก รองลงมา ร้อยละ 30.53 ระบุว่าค่อนข้างเป็นไปได้ ร้อยละ 22.60 ระบุว่าเป็นไปไม่ได้เลย ร้อยละ 10.84 ระบุว่าไม่ค่อยเป็นไปได้ และร้อยละ 3.97 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
    ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อความเป็นไปได้ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.82 ระบุว่าเป็นไปไม่ได้เลย รองลงมา ร้อยละ 13.97 ระบุว่าไม่ค่อยเป็นไปได้ ร้อยละ 13.51 ระบุว่าค่อนข้างเป็นไปได้ ร้อยละ 4.66 ระบุว่าเป็นไปได้มาก และร้อยละ 5.04 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
    ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความเป็นไปได้ว่า 3 ป. (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) จะยังคงมีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 39.47 ระบุว่าค่อนข้างเป็นไปได้ รองลงมา ร้อยละ 23.28 ระบุว่าเป็นไปไม่ได้เลย ร้อยละ 20.69 ระบุว่าเป็นไปได้มาก ร้อยละ 12.21 ระบุว่าไม่ค่อยเป็นไปได้ และร้อยละ 4.35 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"