เพื่อไทยไล่บี้‘คฝ.’ ทำคนเดือดร้อน ‘อมร’ติดเชื้อในคุก


เพิ่มเพื่อน    

ตร.เตรียมความพร้อมรับมือชุมนุมใหญ่เสาร์นี้ ส่วนที่ดินแดงจับกลุ่มป่วนได้อีก 3 ราย ยืนยันเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย ใครเสียหายใช้สิทธิ์ได้ "หมอทศพร" พาหญิงอ้างถูก คฝ.ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บร้อง ผบ.ตร. ยันไม่เกี่ยวกับการชุมนุม ส.ส.พท.โวยกลางสภา คฝ.รัวกระสุนยาง-แก๊สน้ำตาใส่แฟลตดินแดงทำชาวบ้านเดือดร้อน "อมร-แกนนำพันธมิตรฯ" ติดโควิดในคุก
    ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) วันที่ 16 กันยายน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.)  แถลงว่า จากการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการขว้างปาประทัด ยิงหนังสติ๊ก ลูกแก้ว จุดพลุ และระเบิดต่างๆ หน้ากรมดุริยางค์ทหาร และบริเวณฝั่งถนนมิตรไมตรี อีกทั้งจุดไฟเผาทรัพย์สินบริเวณใต้ทางด่วน ทำให้ประชาชนบริเวณใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก มีทรัพย์สินได้รับความเสียหายจำนวนหนึ่ง  นอกจากนี้ยังมีอุบัติเหตุจราจรเกิดขึ้นหน้าบริเวณสำนักงานเขตดินแดง  เนื่องจากไม่มีสัญญาณไฟจราจรเพราะถูกกลุ่มดังกล่าวทุบทำลาย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้าบังคับใช้กฎหมายจนสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้จำนวน 3 คน ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, มั่วสุมกันตั้งแต่  10 คนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
    รอง ผบช.น.กล่าวว่า ส่วนการชุมนุมวันเสาร์ที่ 18 ก.ย.นี้ ที่มีการนัดชุมนุมใหญ่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. กล่าวว่าได้มีการประชุมเพื่อเตรียมกำลังสำหรับการรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว เพื่อป้องกันเหตุความวุ่นวาย 
    ด้าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ชี้แจงถึงกรณีที่รองผู้บังคับการหน่วยอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) ชี้แจงในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน ว่าหากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าข่ายทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่คนนั้นต้องรับผิดชอบเองไม่เกี่ยวกับต้นสังกัดว่า ทุกวันนี้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติภายใต้กรอบ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เราคิดถึงข้อเท็จจริงก่อน ถ้าอยู่ๆ ไม่มีเหตุเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่คงไม่ไปไล่จับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในภาวะกดดันอาจเกิดอันตรายกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหรือประชาชนใกล้เคียง ข้อเท็จจริงจะเห็นว่าผู้ชุมนุมมีการใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่และกระทบกับประชาชน มีการทำลายทรัพย์สินและสถานที่สำคัญ 
    "เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่บังคับใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ได้รับอนุญาตตามมติ ครม.ที่ไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต และก็ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คำสั่งของผู้บังคับบัญชา  ถ้าประชาชนหรือใครที่คิดว่าได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจสามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมายได้ สำหรับการปิดการจราจรหรือตั้งด่านตรวจจุดสกัด เราพยายามตรวจเฉพาะจักรยานยนต์ต้องสงสัย เช่น จักรยานยนต์ที่ไม่มีการติดแผ่นป้ายทะเบียนหรืออุปกรณ์ส่วนควบไม่ครบ หรือมีการข่าวพบว่ามีการใช้ยานพาหนะนำอาวุธเข้าพื้นที่  ประชาชนทั่วไปยังสามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ" ผบช.น.กล่าว
    วันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นพ.ทศพร เสรีรักษ์ พร้อมสองผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บจากการรุมทำร้ายโดยตำรวจควบคุมฝูงชนแถวดินแดง เหตุเกิดเมื่อเวลา 22.40 น. วันที่ 11 ก.ย.64 นำภาพอาการบาดเจ็บเข้ายื่นร้องเรียนต่อ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. โดยมี พ.ต.อ.ธวัช สิทธิกิจโยธิน รอง ผบก.สส.บช.สทส. นายตำรวจเวรอำนวยการเป็นผู้รับมอบหนังสือ โดย นพ.ทศพรกล่าวว่า หลังจากที่ไปแจ้งความไว้ที่ สน.ดินแดงเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ตำรวจระบุว่าต้องมาร้องเรียนที่ ตร. เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ทั้งนี้อยู่ระหว่างทนายความกำลังรวบรวมข้อมูลของกลุ่มผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม ซึ่งจะรวบรวมรายชื่อทั้งหมด ก่อนจะเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
    ด้านผู้เสียหายกล่าวว่า หลังจากเลิกงานได้เดินทางกลับที่พักอาศัยย่านสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการชุมนุม แต่ขณะนั้นได้ขี่รถจักรยานยนต์โดยมีเพื่อนซ้อนท้าย 1 คน ผ่านบริเวณซอยหมอเหล็ง ใต้ทางด่วนที่มีตำรวจ คฝ.ยืนอยู่ 5-10 คน ได้เข้ามาล้อมรถจักรยานยนต์แล้วใช้กระบองทุบตี รวมทั้งใช้เท้าเตะ ตนได้พยายามยกมือไหว้พร้อมบอกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม กำลังจะกลับบ้าน แต่ คฝ.ไม่รับฟังและยังทำร้ายต่อ ก่อนตัวเองจะสลบแน่นิ่ง และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บเย็บ 6 เข็ม บริเวณร่างกายมีรอยฟกช้ำ ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าให้การช่วยเหลือแต่อย่างใด ยังมีอาการผวาและหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
    ส่วนผู้เสียหายอีกรายกล่าวว่า ตนเป็นคนซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ได้รับบาดเจ็บมีร่องรอยถูกทำร้ายบริเวณแขนขาและตา ขณะที่ไปถึงบริเวณนั้นมีอาการแสบตา คาดว่าถูกแก๊สน้ำตา จึงบอกเพื่อนให้กลับรถไปใช้เส้นทางอื่น แต่ขณะกำลังกลับรถมีกลุ่ม คฝ.ได้วิ่งเข้ามารุมทำร้าย ใช้กระบองตี จนเพื่อนคนขับสลบแน่นิ่ง โดยไม่มีการช่วยเหลือแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ตนเองไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ชุมนุม ยืนยันว่าเพิ่งเลิกงานและกำลังจะกลับที่พัก 
    ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาเรื่องสถานการณ์การชุมนุมที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงถาม พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ซึ่งนายกฯ มอบหมายให้ รมช.กลาโหมมาชี้แจงเอง แต่ รมช.กลาโหมติดภารกิจจึงขอเลื่อนออกไปก่อน 
    อย่างไรก็ตาม นายประเดิมชัยฝากคำถามไปถึงนายกฯ ว่า บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงมีประชาชนออกมาชุมนุมเกือบทุกเย็น สาเหตุที่ตั้งกระทู้ถามในวันนี้เพราะมีการใช้วิธีปราบปรามที่ไม่เป็นสากล ทั้งที่กลุ่มผู้ชุมนุมตั้งโต๊ะเจรจาหาทางออกแต่กลับไม่ได้รับความสนใจ ทั้งยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ปราบปรามไม่ใช่เฉพาะผู้ชุมนุม แต่ผู้อยู่อาศัยแถวนั้นก็ได้รับผลกระทบ การที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.)  มีการจัดกำลังทั้งไล่ล่า ไม่ทราบว่า คฝ.กลุ่มนี้ดูหนังฝรั่งมากเกินไปหรือไม่ ใช้ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ไล่ล่า ขับชนคนก็ยังมีปรากฏให้เห็น  แต่ยังไม่มีคำตอบจากผู้รับผิดชอบ หรือออกมาจากปากของนายกฯ สักคำเดียวว่าจะรับผิดชอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร และจะดูแลเยียวยาความเสียหายคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ที่ถูกเจ้าหน้าที่ คฝ.รุมตีรุมทำร้าย ทั้งที่ต้องเดินทางกลับบ้านอย่างไร และอยากจะถามนายกฯ อีกว่า ใช้เงินกว่า 200 ล้านบาทในปี 2563 ไปซื้อปืนกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในการควบคุมฝูงชนมาอีก 75,000 กระบอก ซื้อมาทำไม แทนที่จะใช้เงินนี้ไปดูแลประชาชนเรื่องโควิด-19 ขอเรียกร้องไปยังนายกฯ กำกับดูแลสั่งการให้ควบคุมการชุมนุมตามหลักสากล 
    นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกและถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายเทิดภูมิ  ใจดี ซึ่งทั้งสองคนได้ย้ายไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากอาการเจ็บป่วยจากโรคประจำตัว สำหรับนายอมร อมรรัตนานนท์  จากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งที่ 3 พบว่าผลเป็นบวกติดเชื้อโควิด-19 เจ้าหน้าที่จึงได้นำตัวส่งเข้ารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้วเมื่อวันที่ 15 ก.ย.64 จากการตรวจร่างกายพบว่ามีโรคประจำตัวคือเบาหวานและต้อกระจก 2 ข้าง ขณะนี้รู้สึกตัวดี ถามตอบรู้เรื่อง นอนหลับพักผ่อนได้ สีหน้าวิตกกังวลเล็กน้อย รับประทานอาหารได้ ไม่มีคลื่นไส้อาเจียน ตาซ้ายมองภาพมัว จักษุแพทย์ได้ให้น้ำตาเทียมหยอด ด้านสัญญาณชีพและค่าออกซิเจนในกระแสเลือด รวมทั้งผลการเอกซเรย์ปอดผลเป็นปกติ แพทย์ให้การรักษาตามอาการ
    ช่วงเย็นวันเดียวกัน ที่สกายวอล์กปทุมวัน เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยที่จัดกิจกรรม "16 กันยายนพิพากษาประยุทธ์ จันทร์โอชา พิพากษาโทษให้กับนายกรัฐมนตรีที่ห่วยที่สุดในโลก" นำโดยนายนันทพงศ์ ปานมาศ และนายกฤษณะ ไก่แก้ว โดยมีแกนนำจากทางกลุ่มดังกล่าวผลัดเปลี่ยนปราศรัย รวมถึงยังมีเครือข่ายจากกลุ่มอื่นๆ ที่ขึ้นเวทีปราศรัย อาทิ กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มไอลอว์, กลุ่มไทยไม่ทน, กลุ่ม นปช. นายไทกร พลสุวรรณ เลขาธิการแนวร่วมอีสานกู้ชาติ, นายณัทพัช อัคฮาด ญาติผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุมปี 2553 และนายณวรรษ  เลี้ยงวัฒนา แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นต้น. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"