ติดอาวุธความคิดให้พ่อแม่ ตัวช่วย...ลูกเรียนออนไลน์


เพิ่มเพื่อน    

     สสส.ร่วมมือเพจดัง บ.ทูลมอโร ผู้เชี่ยวชาญการทำสื่อออนไลน์ สร้างความตระหนักรู้ยุคโลกไร้พรมแดน ชวนผู้เชี่ยวชาญและพ่อแม่อาสาจัดเสวนาออนไลน์โครงการคุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน ปี 2 เหตุครอบครัวเครียดหนักช่วงลูกเรียนออนไลน์ ขยายห้องเรียนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ติดอาวุธความคิด แนะวิธีเลี้ยงลูกเชิงบวก สร้างบรรยากาศเรียนออนไลน์ให้ลูก www.คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน.com

            “ลูกหลานเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองควรปรับตัวอย่างไร” งานเปิดตัวโครงการคุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน ปีที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับบริษัท ทูลมอโร จำกัด จัดเสวนาออนไลน์ ลูกหลานเรียนออนไลน์จะสื่อสารอย่างไรให้เข้าใจ เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ให้ครอบครัวรู้วิธีการสื่อสารเชิงบวกกับเด็กระหว่างเรียนออนไลน์ช่วงโควิด-19

            ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์ตามแผนการสอนของโรงเรียน มีเสียงบ่นจากลูกและพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรคต่างๆ ถือเป็นบทเรียนท้าทายในวิถีชีวิตใหม่และระบบการศึกษาไทย เพราะการที่ลูกเรียนออนไลน์เกิดความเครียดกันทั้งบ้าน โดยเฉพาะปัญหาเด็กขาดสมาธิและรู้สึกกดดันด้วยเป็นการเรียนผ่านจอ เป็นความท้าทายของผู้ปกครองที่ต้องมีทักษะสื่อสารและวิธีเลี้ยงลูกเชิงบวกให้เหมาะสมกับเด็กยุคนี้

            "สสส.จึงเดินหน้าโครงการคุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อความสะดวกสำหรับผู้ปกครอง โดยจะมีพ่อแม่อาสา นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ กระบวนการนักพัฒนาเด็กและครอบครัว ร่วมดำเนินงานเป็นผู้นำกลุ่มระหว่างเรียนด้วยจำนวน 60 คน" 

            พันธมิตรออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้แบบใหม่ สถาบันส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม ทั้งนี้มี รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กระทรวงสาธารณสุข ผู้รู้กระบวนการถูกต้องทางวิชาการ คณะวิศวะคอมพิวเตอร์ออกแบบระบบการเรียนรู้ ประเมินวัดผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์, ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคีพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง

            ณัฐยากล่าวว่า จากการติดตามผลกระทบช่วงเรียนออนไลน์ของเด็กไทย พบสาเหตุเบื้องลึกที่ทำให้เครียดกันทั้งบ้านคือ 1.เด็กถูกปล่อยให้เรียนออนไลน์เพียงลำพังซึ่งเป็นเรื่องยาก ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของช่วงวัย 2.เด็กและผู้ปกครองสื่อสารกันน้อยลง เพราะใช้เวลากับโลกออนไลน์มากขึ้น และ 3.ผู้ปกครองขาดทักษะสมัยใหม่ในการเลี้ยงดูเด็ก โดยเฉพาะการเลี้ยงลูกเชิงบวก ส่งผลให้การสื่อสารไม่ได้ผล สาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้บรรยากาศในบ้านตึงเครียดและไม่มีความสุข ส่งผลเสียต่อพัฒนาการทั้งร่างกาย จิตใจ และสมองของเด็ก โครงการคุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน มุ่งพัฒนาห้องเรียนออนไลน์ในรูปแบบ “กลุ่มพ่อแม่” เพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้และฝึกทักษะการเลี้ยงลูกในยุคใหม่ ภายใต้การสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มพ่อแม่อาสาที่ผ่านการเรียนด้วยตัวเองและพบว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น โดย สสส.มุ่งหวังให้ครอบครัวเป็นพื้นที่สุขภาวะสำหรับสมาชิกทุกวัน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ในอนาคต

            สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ทูลมอโร จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือกับ สสส.นั้นเน้นการนำเสนอการสอนทักษะการสื่อสารเชิงบวกในรูปแบบออนไลน์ ด้วยวิธีการเรียนรู้แบบ Online Support Group ใช้เวลาเรียน 7 วัน เพื่อให้ผู้ปกครองมีวิธีจัดการอารมณ์ได้ดีเมื่อต้องเจอเหตุการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง และมีวิธีการสื่อสารในสิ่งที่ต้องการกับบุตรหลานตามหลักการสื่อสารเชิงบวกอย่างถูกต้อง เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพและลดความรุนแรงในครอบครัว จากการดำเนินงานที่ผ่านมาปัจจุบันมีผู้ร่วมเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์กว่า 4,200 คน จำนวนผู้ปกครองที่เข้าร่วม 611 คน จำนวนผู้ปกครองที่สามารถสื่อสารกับลูกได้ดีขึ้น 75% จำนวนผู้ปกครองที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของบุตรหลาน 73%

            สำหรับผู้ปกครองที่สนใจเข้ากลุ่มเรียนรู้ก็สามารถเรียนผ่านแอปพลิเคชันไลน์โดยหลักสูตรในปีที่ 2 เน้นการสื่อสารระหว่างเด็กกับผู้ปกครองเรื่องการเรียนออนไลน์ของเด็กเพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้โดยที่ไม่มีพฤติกรรมเชิงลบต่อกัน

            หลักสูตรแบ่งช่วงอายุเด็ก 2 กลุ่มคือ 1.เด็กประถม อายุ 7-12 ปี และ 2.เด็กวัยรุ่น อายุ 13-18 ปี ทั้ง 2 หลักสูตรจะช่วยเรื่องการดูแลเด็กที่ไม่มีสมาธิเรียนออนไลน์ รวมถึงการแก้ปัญหาเด็กติดจอที่แอบเล่นเกมระหว่างเรียนออนไลน์ โดยเปิดรับสมัครผู้ปกครองจำนวน 600 คน จากนั้นจะคัดเลือกผู้ปกครอง 100 คน ที่เข้าร่วมกิจกรรมทางแอปพลิเคชันไลน์ แล้วนำทักษะที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติจนเกิดผลดีมาพัฒนาเป็นผู้ปกครองอาสา เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้ปกครองคนอื่นๆ เลี้ยงลูกเชิงบวกกันในวงกว้าง ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลหรือสอบถามได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก Toolmorrow และ www.คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน.com

            แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กระทรวงสาธารณสุข ที่ปรึกษาหลักสูตรการเรียนรู้โครงการคุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน กล่าวว่า เห็นใจพ่อแม่ ลูก โรงเรียนที่ต้องเรียนทางออนไลน์ เพราะเป็นเรื่องแปลกใหม่ ต้องมีความพร้อมทั้งอุปกรณ์เทคโนโลยี มีกำลังเงินสนับสนุนอุปกรณ์ สถานที่ ขณะเดียวกันพ่อแม่เตรียมสถานที่ให้กับลูกเพื่อจะได้เรียนให้ทันเพื่อนๆ ทำการบ้านด้วยตัวเอง พ่อแม่ควรลดความคาดหวังผลการเรียนออนไลน์ด้วยการเปรียบเทียบกับการเรียนในห้องเรียน การเรียนในห้องเรียนเมื่อตามครูไม่ทันก็สอบถามจากเพื่อนๆ ได้ แต่การเรียนออนไลน์ไม่มีใครช่วยดูแล เด็กต้องมีสมาธิตั้งใจเรียน ขณะเดียวกันเด็กก็มีสิ่งล่อตาล่อใจให้วอกแวกได้มากมาย เปิดจอคอมพิวเตอร์หลายจอ สภาพแวดล้อมทำให้ควบคุมตัวเองได้อย่างลำบาก พ่อแม่ควรรู้สึกดีกับลูก แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรปล่อยวางจนเกินควร รับรู้ว่าลูกก็ลำบากในการเรียนออนไลน์ อยู่กับเขาอย่างมีความสุข เมื่อผ่านพ้นวิกฤตแล้วเหตุการณ์เข้าสู่สภาพปกติ ทุกอย่างก็จะเข้ารูปเข้ารอยได้

            สิ่งที่พ่อแม่กังวลมากสำหรับเด็กอนุบาล กลัวเด็กจะลืมการอ่านพยัญชนะ เด็กอนุบาลจะไม่เหลือความรู้ที่จะขึ้นระดับชั้นสูง โดยสภาพธรรมชาติของเด็กจะปรับตัวเองให้ทันเพื่อนๆ ได้ ยิ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกเด็กจะปรับตัวได้โดยอัตโนมัติ ถ้าพ่อแม่เคร่งเครียดในช่วงนี้จะส่งผลให้เด็กขาดกำลังใจ พ่อแม่ควรมีบทบาทจัดตารางเวลาเพื่อสร้างวินัยให้กับลูก อย่าปล่อยให้ลูกเล่มเกมเกินความพอดี ต้องดึงเขาออกจากหน้าจอด้วยการหากิจกรรมที่น่าสนใจให้เขาลงมือทำ สร้างความเข้าใจที่ดีต่อกันมีข้อตกลงแลกเปลี่ยน อนุญาตให้เล่นเกมได้ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ขณะเดียวกันก็ต้องเชื่อใจลูกด้วย การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกให้เกิดความรู้สึกรักกันและกัน พร้อมที่จะดูแลกันเป็นอย่างดี

            "จังหวะที่ต้องเรียนทางออนไลน์ที่บ้านเป็นเรื่องดีที่ครอบครัวอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ถ้าลูกทำตามที่พ่อแม่ต้องการทุกเรื่องก็จบ บางครั้งเรามัวรอลูกเลิกเรียน บางคนรอมาแล้ว 25 ปีจนเขาเป็นผู้ใหญ่ ถ้าพ่อแม่เป็นฝ่ายยอมเปลี่ยนวงจรความสุข ก็เป็นกำลังใจที่ดีด้วยการใช้วงจรบ้านเป็นกงล้อที่มีความสุข".

 

 

                  สภิญญา วิทยฐานภรณ์ (แม่เก่ง) "แม่เชื่อว่าหนูทำได้"

            ผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการคุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีปัญหากับลูก แต่ต้องการขยับความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกเพิ่มขึ้นอีก ปกติเมื่อลูกเล่นเกมก็จะใช้คำพูดว่า “คุณแม่เป็นห่วงนะ” ขณะเดียวกันก็ต้องใช้คำพูดเพื่อเป็นการให้กำลังใจกับลูก “แม่เชื่อว่าหนูทำได้ เป็นการพูดให้กำลังใจ” หลักสูตรนี้เพราะต้องการนำองค์ความรู้มาพัฒนาตัวเอง เพื่อปรับใช้ในการเลี้ยงดูลูกๆ และส่วนตัวสนใจเรื่องการสื่อสารเชิงบวกกับเด็กๆ เป็นพิเศษอยู่แล้ว หลังจากการเรียนก็ได้ผันตัวเองมาเป็น “พ่อแม่อาสา” นำความรู้มาต่อยอดและส่งต่อให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ คน ได้แก่ การจัดการอารมณ์ผู้ปกครองเพื่อเป็นพื้นฐานในการปรับพฤติกรรมเด็ก เทคนิคการใช้ I-Message เพื่อสื่อสารและรับฟังเด็กเชิงบวกและการให้คำชม เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกยินดีทุกครั้ง ซึ่งการใช้องค์ความรู้เหล่านี้ทำให้ลูกสามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างมีสมาธิ โดยไม่รู้สึกกดดันหรือถูกบังคับจากผู้ปกครอง เพราะมีตารางเวลาชีวิตที่ชัดเจน จึงอยากให้พ่อแม่ทุกคนมาเข้าร่วมโครงการคุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยนด้วยกัน เพราะความรู้และคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทุกคนสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้จริง.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"