ผ่ากลไกซ่อนเงื่อน  ออกกม.ป้องกัน"อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน" 


เพิ่มเพื่อน    

ในที่สุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา ก็ให้ความเห็นชอบ "ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.….” หรือที่เรียกกันว่า "กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมาน-ป้องกันการอุ้มหาย" หลังหลายฝ่ายเฝ้ารอคอยกฎหมายดังกล่าวมาหลายปี ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกและร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ ของสหประชาชาติ (United Nations Convention against Torture: UNCAT) มาหลายปี ซึ่งหลายประเทศมีการออกกฎหมายลักษณะดังกล่าวมานานแล้ว แต่ของประเทศไทยมีความล่าช้า ดึงเรื่องมาตลอด 
     ทั้งที่ประเทศไทยที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนการอุ้มหายมาแล้วหลายคดี เอาที่ดังๆ ก็เช่น ตั้งแต่อดีตสมัยคดีจับกุมและสังหารโหด "คดีสังหารโหด 4 อดีตรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2492" ที่มีการสังหารทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง และทองเปลว ชลภูมิ ที่เป็นนักการเมืองในสายของนายปรีดี พนมยงค์ - คดีอุ้มหาย "เตียง ศิริขันธ์ อดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยชาวสกลนคร" และพวก ในยุคปี พ.ศ. 2495 - คดีอุ้มหาย "หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์  โต๊ะมีนา" อดีตผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวไทยมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นปู่ของ เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.พรรคภูมิใจไทยปัจจุบันและเป็นหนึ่งใน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย - คดีอุ้มหาย สมชาย นีละไพจิตร อดีตทนายความนักสิทธิมนุษยชนที่เกิดในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร - คดีอุ้มฆ่า ครอบครัวตระกูล ศรีธนะขัณฑ์ ในคดีเครื่องเพชรซาอุฯ" ที่ต่อมามีการเอาผิดลงโทษและถอดยศ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ เป็นต้น 
    การที่สภามีมติท่วมท้นรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากผลพวงคดี “ผกก.โจ้- พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์" กับพวกร่วมกันซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิตจนเป็นข่าวครึกโครมสั่นสะเทือนกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย 
    จนทำให้กระแสเรียกร้องให้มีการ "ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม-ปฏิรูปตำรวจ" ดังขึ้นอีกครั้ง รวมถึงกระแสเรียกร้องให้มีการออกกฎหมาย "ป้องกันการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย” ดังขึ้นอีกครั้ง ซึ่งหากไม่เกิดคดี ผกก.โจ้ เป็นไปได้ว่า การออกกฎหมายป้องกันการอุ้มหายคงล่าช้าอย่างมาก 
    ทั้งที่การผลักดันให้ออกกฎหมาย มีการตั้งแท่นมาตั้งแต่ยุค คสช. มีการยกร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย โดยกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ที่่ร่วมกับคณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และนักสิทธิมนุษยชนหลายคน เสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว จนผ่านความเห็นชอบจากครม. และมีการส่งเข้าไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุค คสช.  พิจารณา จนกระทั่งผ่านวาระแรกและในชั้นกรรมาธิการของ สนช. จนถึงขั้นตอนส่งไปให้ สนช.พิจารณาวาระสองและวาระสาม ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระแล้ว แต่สุดท้าย สนช.ก็ไม่มีการพิจารณาในวาระสองและวาระสาม เพราะ สนช.สิ้นสภาพไปเสียก่อน 
    แต่ลึกๆ ก็มีข่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว สนช.ในเวลานั้น ที่ส่วนใหญ่เป็น "ทหาร-ตำรวจ" รวมถึงผู้มีอำนาจบางคน ไม่แฮปปี้กับกฎหมายลักษณะดังกล่าว เลยไม่ได้เร่งพิจารณาอะไร และมีการพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการหลายเรื่องในร่างกฎหมายบางเรื่อง จนสุดท้าย ก็เลยยื้อเรื่อยมา จนไม่ทันการณ์ สนช.หมดวาระ ทำให้การออกกฎหมายดังกล่าวล่าช้ามาร่วม 3 ปี 
    หลังจากนี้ ต้องติดตามกระบวนการพิจารณาออกกฎหมายดังกล่าวของทางสภาและวุฒิสภาต่อไปว่า จะเป็นอย่างไร กับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย ว่าสุดท้ายจะคลอดออกมาได้ในยุคนี้หรือไม่ เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น มีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนกฎหมายประกาศใช้ ก็จะมีผลทำให้ร่างพ.ร.บ.อุ้มหายต้องชะงักกลางคันทันที  
    อนึ่งร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหาย ที่สภาเห็นชอบไปวาระแรก มีด้วยกัน 4 ร่าง จากที่เสนอกันเข้าสภาไป 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ร่างฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ที่ยกร่างโดยกระทรวงยุติธรรม - ร่างฉบับของคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ที่ต้นร่างคือร่างฉบับภาคประชาชนที่มี มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นแกนนำหลักในการยกร่างและผลักดันกฎหมาย - ร่างที่เสนอโดย ส.ส.พรรคประชาชาติ และร่างที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทั้ง 4 ร่างหลักการใหญ่ๆ จะคล้ายคลึงกัน แต่รายละเอียดบางเรื่องจะแตกต่างกันบ้าง 
    ที่ต้องย้ำว่า ยังคงต้องติดตาม การพิจารณาออกกฎหมายป้องกันอุ้มหาย-ซ้อมทรมานต่อไป ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่สภาตั้งขึ้น รวมถึงในชั้นการพิจารณาของวุฒิสภา ที่ส่วนใหญ่จะเป็น ส.ว.สาย "ทหาร-ตำรวจ" ก็เพราะมีกระแสข่าวว่า ส.ว.หลายคนที่เป็นอดีต สนช.ในยุคคสช.อาจต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดบางเรื่อง ในร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย  ให้ออกมาตามที่ต้องการ เช่น การให้ "ทหาร" ที่ถูกสอบสวนดำเนินคดีในความผิดคดีซ้อมทรมานและอุ้มหาย ต้องนำตัวเข้าสู่การพิจารณาคดีของ "ศาลทหาร" ไม่ใช่ศาลพลเรือน-ศาลอาญาปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายฝ่าย โดยเฉพาะนักกฎหมาย-นักสิทธิมนุษยชนไม่เห็นด้วย เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการออกกฎหมายลักษณะพิเศษ ที่แยกออกมาจากประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
    ดังนั้น คนที่ถูกสอบสวนเอาผิด ไม่ว่าจะเป็น "ทหาร-ตำรวจ-พลเรือน" ต้องขึ้นศาลปกติเหมือนกัน ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ สำหรับ "คนในเครื่องแบบ-คนมีสี" จะมาเลือกปฏิบัติได้ 
    กระบวนการออกกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไป หลังมีข่าวว่า คนมีอำนาจบางส่วนไม่แฮปปี้กับการออกกฎหมายลักษณะดังกล่าวนัก แต่เมื่อทัดทานไม่ได้ ก็เลยเล็งอาจใช้วิธี เขียนสเปกออกมาให้บางฝ่ายได้รับสิทธิพิเศษกว่าประชาชนทั่วไป!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"