ลับแล"ยุติธรรมที่ล่าช้า"


เพิ่มเพื่อน    

    

    นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ ๑๒
    เชิญ "นางเมทินี ชโลธร" ประธานศาลฎีกา 
    ไปบรรยายพิเศษเรื่อง "บทบาทของกระบวนการยุติธรรมกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตของประเทศไทย" ในวงสัมมนา ที่ ป.ป.ช.สนามบินน้ำ เมื่อวาน (๑๗ ก.ย.๖๔)  
    ๒ ประเด็นสำคัญ ในคำบรรยาย.........
    สะท้อนปัญหา ๒ ด้าน ที่บรรจบเป็น "ปัญหาร่วม" รวมเป็นปัญหาเดียว คือ "ปัญหาสังคม" ขณะนี้ ได้ดีและได้ตรง
    ด้าน "คนทำผิด" ไม่กลัวกฎหมาย
    และด้านที่ไม่กลัว "กระบวนการยุติธรรม" นั่นแหละ เป็นเหตุ!
    ".........เคยคุยกับผู้ต้องขังหลายรายที่กระทำผิดไป ทั้งที่เขารู้ว่าการกระทำของเขาถ้าถูกจับกุมดำเนินคดีอาจถูกจำคุกหรือหนักกว่านั้น 
    แต่คนกลุ่มนี้ ยังเลือกกระทำทุจริตประพฤติมิชอบ เมื่อสอบถามได้รับคำตอบว่า ขณะที่เขาทำ ไม่คิดว่าจะโดนจับ 
    หรือพูดง่ายๆ ขณะตัดสินใจกระทำผิด เขาคิดว่ามีโอกาสรอด จากการที่เห็นหลายๆ คน หลายๆ กลุ่มที่ก็ยังสามารถรอด ลอยหน้าในสังคมได้ 
    เป็นสิ่งกระบวนการยุติธรรมต้องกลับมามองตัวเองว่า 
    "ในฐานะที่เราเป็นปลายทางของการแก้ไขปัญหาการกระทำความผิด เมื่อคนคิดว่า เขาทำความผิดแล้วจะรอด     สะท้อนให้เห็นว่า...
    "กระบวนการยุติธรรมมีปัญหาแล้ว"
     กระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถทำให้เขาเชื่อมั่นหรือทำให้เขาเกรงกลัวว่า เมื่อไหร่ที่เขาขยับไปทำความผิด เขาจะต้องถูกจับกุมไปดำเนินคดี เมื่อคนคิดว่าเขาคุ้มค่าที่จะเสี่ยง  
    เราเคยได้ยินกันว่า....
    คนทำชั่ว จะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้น เป็นเรื่องที่ดี จนกว่าความชั่วนั้นจะให้ผล 
    "กระบวนการยุติธรรมจึงต้องสงเคราะห์ให้เขาได้เห็นผลเร็วๆ"
    อีกตอน ที่สะท้อน ว่า....
    ที่เรียกร้อง "ปฏิรูปตำรวจ..ปฏิรูประบบข้าราชการ" นั้น ไม่ได้หมายความว่า "กระบวนการยุติธรรม" อยู่นอกเหนือคำเรียกร้องนั้น
    ประธานศาลฎีกาสะท้อนมุมนั้นชัด
     "........ดิฉันคิดว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกหน่วย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวน ป.ป.ช. ป.ป.ท. อัยการ ศาล รวมไปถึงหน่วยงานที่รองรับคนผิดอย่างกรมราชทัณฑ์นั้น 
    จะต้องปรับบทบาทของตนเองในการทำหน้าที่ โดยเน้นให้เห็นความสำคัญ ๕ ประการ ได้แก่ 
    ความถูกต้อง, เป็นธรรม, แม่นยำ, รวดเร็ว และโปร่งใส - ตรวจสอบได้”
    เรื่อง "ความรวดเร็ว" ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะ "ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม" 
    แม้ศาลและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกส่วนจะพยายามกำหนดมาตรฐานระยะเวลาเพื่อให้มีการพิจารณาคดีที่มีความผิดทางอาญาให้เสร็จในเวลารวดเร็ว 
    แต่ด้วยปริมาณ หรือเหตุจำเป็น รวมไปถึงสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ ก็ทำให้กระบวนในการพิจารณา พิพากษาคดีอาจมีความล่าช้าไปบ้าง 
    แต่เราจำเป็นต้องเน้นย้ำให้ความสำคัญกับคดีทุจริตเป็นเรื่องแรกๆ เรื่องต้นๆ 
    เพราะการกระทำผิด ที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน สมมุติว่า ๔-๕ ปี ที่จะลงโทษได้ จนกระทั่งถึงในชั้นคำพิพากษาถึงที่สุด ทำให้คนไม่เกรงกลัวแล้ว เพราะลืมเรื่องราวนั้นไปแล้ว 
    ในขณะที่เกิดเรื่องใหม่ๆ เป็นเรื่องอยู่บนหน้าสื่อทุกฉบับ ทุกช่อง เป็นเรื่องที่ดูร้ายแรง 
    แต่กว่าจะที่จะผ่านเข้าสู่กระบวนการศาลพิพากษาลงโทษ ใช้เวลานานจนคนลืมเรื่องราว ลืมความร้ายแรงและรุนแรง 
    คนจึงขาดความยับยั้งชั่งใจที่จะเกรงกลัวความผิดที่จะได้รับ 
    ดังนั้น "ความรวดเร็ว" ฉับพลันในสถานการณ์ หรือในคดีบางประเภท มีความจำเป็น 
    และจะส่งผลทำให้แก้ไขปัญหาที่จะเกิดการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนั้นได้ด้วย"
    ครับ....
    ท่านประธานศาลฎีกาพูด เหมือนเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจชาวบ้าน แล้วถอดหัวใจออกมาพูดแทน
    ทุกวันนี้ "ฆาตกรต่อเนื่อง" ที่ลอยนวล คือ
    "กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า"!
     ฆ่าทั้งความยุติธรรม ฆ่าทั้งมนุษย์ ฆ่าทั้งสังคมชาติ
    คดีสำคัญๆ ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่ดองเป็น ๕ ปี ๑๐ ปี กว่าเข้าสู่กระบวนการศาล และมีการตัดสินในเวลาอันควร 
    จะเป็นตัวอย่างในทางให้คนที่คิดจะทำอย่างนั้น "ยับยั้่ง-ชั่งใจ" ได้มากทีเดียว
    แต่ที่เป็นทุกวันนี้ บางคดี คนโกงเสวยสุขสมบัติโกงจนตายไปแล้วก็ยังไม่ตัดสินก็มี จึงเป็นอย่างที่ท่านประธานศาลฎีกาพูด
    "....การกระทำผิด ที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน สมมุติว่า ๔-๕ ปี ที่จะลงโทษได้ จนกระทั่ง ถึงในชั้นคำพิพากษาถึงที่สุด ทำให้คนไม่เกรงกลัวแล้ว เพราะลืมเรื่องราวนั้นไปแล้ว" 
    อย่าถามถึงเวลาปฏิรูประบบยุติธรรมหรือยัง เพราะเลยเวลามานานแล้วด้วยซ้ำ
    กระบวนการยุติธรรมต้อง "สนองตอบ" กฎหมาย 
    กฎหมายต้อง "สนองตอบ" ประชาชน 
    ประชาชนต้อง "สนองตอบ" ความเป็นแก่นของสังคมชาติบ้านเมือง
    "สนองตอบ" ที่ว่านี้ "สนองตอบอะไร?"
    "สนองตอบ" ตามภาษิตที่ว่า....
    "ยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม justice delayed is justice denied" นั่นแหละ!
    ทุกวันนี้ ชาวบ้านเพ่งเล็งกระบวนการยุติธรรมกันมากวิพากษ์/วิจารณ์ เชิงนินทาในที่ลับว่า 
    กฎหมายแทนที่จะ "พิทักษ์คนดี-ควบคุมคนเลว" กลายเป็น "ควบคุมคนดี"
    เปิด "ช่องลอด-ช่องหนี-ช่องถ่วงคดี" ให้กับคนเลว!
    จนเกิดคำพูดขึ้นว่า....
    เป็นคนดี แสนลำบาก ชีวิตอยู่ยาก ไม่มีที่ให้ยืนในสังคม 
    เป็นคนร้าย แสนสบาย ครองถนน-ครองเมือง แค่เปิดบัญชี เงินก็ไหลมา-เทมา เสรีภาพล้นเหลือ    
    จะ "ล่มประเทศ-ล้มสถาบัน" ก็สะดวกดาย ......
    ในเมื่อ "กฎหมายอยู่ที่คนใช้" พอใจจะอ้าง-ก็อ้างได้ "หลักฐานยังสาวไปไม่ถึง" ก็จบ!
    ทุกวันนี้ ไม่ใช่แรปเพลง ALISA ที่ชาวบ้านร้องกันขรม หากแต่เป็นแรป "จับแล้วปล่อย..ปล่อยแล้วจับ" ตะหาก
    การจับผู้ต้องหา "ไม่ยาก"
    หลักฐานนำสู่การจับ นั่นตะหากที่ "ยาก" ยิ่งยุคเสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ" ครองเมืองด้วยแล้ว
    ไอ้ตัว "สิทธิมนุษยชน" สายพันธุ์อเมริกัน-ยุโรปนี่แหละ ร้ายกว่าไวรัสทุกสายพันธุ์ที่ระบาดโลก
    ตำรวจ "ต้นทางยุติธรรม" จึงเป็นหนังหน้าไฟ เป็นทั้งพระเอกและผู้ร้ายทางใช้กฎหมายที่ชาวบ้าน "รักระคนแค้น"
    เรื่องล่มชาติ-ล้มสถาบัน ด้วยปฏิบัติการจลาจลเมืองของขบวนการสามนิ้ว มีแต่คนด่าตำรวจ ...ทำไมไม่จับ 
    พอจับ สิทธิมนุษยชนโลก ก็ด่าตำรวจ...ทำร้ายเด็ก คุกคามสิทธิเสรีภาพนักศึกษา!
    ตำรวจกลายเป็นต้นกล้วย เซซ้าย ชาวบ้านเตะ เซขวา เสรีภาพสามนิ้วจักรวรรดิอำนาจตะวันตกเตะ
    ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับตำรวจเขาบ้าง นี่..ดูตัวอย่างเมื่อวาน ตำรวจนำหมายศาลไปค้นบ้านแกนนำนักศึกษา มธ. ที่คลองหลวง ปทุมธานี
    รุ้ง-ปนัสยา โพสต์ "นักศึกษาถูกคุกคาม" ทันที
    "บุกบ้านพร้อมหมายค้นจะยึดคอมพ์ยึดโทรศัพท์ แต่พวกหนูยังเรียนออนไลน์กันอยู่ทุกคน ปลายเดือนมิดเทอม ตำรวจสนใจบ้างมั้ยคะ ว่ามันจะเดือดร้อนนักศึกษาอย่างพวกหนูขนาดไหน
    นัทเพิ่งได้ออกมา เพนกวินยังอยู่ในเรือนจำ แล้วยังจะมาค้นบ้านอีก จะคุกคามพวกเรากันไปถึงไหนกัน 
    พวกเราก็แค่นักศึกษาที่ฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า มันก็เท่านั้น แต่พวกคุณกลั่นแกล้งเราสารพัด จับเข้าคุกไม่รู้กี่รอบ แจ้งข้อกล่าวหาสารพัด 
    อยากจะให้ประเทศเราย่ำอยู่กับที่กันหรือยังไง ชอบมากใช่มั้ยการเป็นทาสเป็นฝุ่นน่ะ
    และนี่..."สอดรับ" ทันที
    Adosorn Juntrasook
    เช้านี้ได้รับโทรศัพท์​จากนักศึก​ษาว่ามีตำรวจกำลังบุกเข้าค้นที่พักเพื่อยึดอุปกรณ์​คอมพิวเตอร์​และโทรศัพท์​มือถือของรุ้ง​ เบนจา​ และ นิราภร นี่มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย? อัพเดต: ตอนนี้กำลังประสานงานกับทนายศูนย์​สิทธิให้อยู่ครับ
    Adosorn Juntrasook คือใคร?
    คือ "ศ.ดร.อดิศร จันทรสุข" รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
    เห็นมั้ย...
    ในถนน ในสภา ในมหา'ลัย ในสถานทูต ในหน่วยงานรัฐ ในองค์กรโลก-องค์กรสังคม 
    เชื่อมโยงเป็นใยแมงมุม "ขยุ้มประเทศ-ล้มสถาบัน"
    ฉะนั้น....
    เปลี่ยนจากไล่รัฐบาล ทหาร ตำรวจ ไปร่วมมือกัน "ปิดตรอกตีตะกวด" ดีกว่า!

วันเสาร์ที่ปลายซอย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"