หมอธีฮึ่มล้างบางโกงเงินเด็ก


เพิ่มเพื่อน    

    ปปง.ร้องกล่าวโทษอดีตปลัด พม.ฟอกเงิน หลังตรวจพบทุจริตเงินผู้ยากไร้ ขณะที่ “ธีระเกียรติ” ฮึ่ม ล้างบางข้าราชการ ศธ.โกงเงินเด็ก 
    เมื่อวันอังคาร ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) นายวิทยา นีติธรรม เลขานุการกรม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เดินทางมา ปปป. เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีทุจริตยักยอกเงินช่วยเหลือคนยากไร้ โดยนายวิทยากล่าวว่า วันนี้มากล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินกับนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหญิงสาวคนสนิท อดีตข้าราชการ พม. โดยหลังเข้าสู่กระบวนการสอบสวน จะทำการขยายผลหาผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยเฉพาะข้าราชการอีก 10 รายที่ถูก ปปง.สั่งอายัดทรัพย์สิน และให้เข้าชี้แจงถึงที่มาของทรัพย์ภายใน 30 วัน หากไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินได้ จะถูกอายัดทรัพย์เป็นของแผ่นดินทันที 
    นายวิทยากล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่านายพุฒิพัฒน์และหญิงสาวคนสนิทมีการโอนทรัพย์สินไปยังบุคคลอื่น แต่ยังไม่ขอระบุว่าเป็นเครือญาติหรือเป็นใคร และมีมูลค่าเท่าไหร่ โดยรูปแบบการโอนทรัพย์สินจะนำเงินสดที่ถือกลับมา ไปซื้อเป็นรถยนต์ สังหาริมทรัพย์ต่างๆ ทำให้การสอบสวนค่อนข้างซับซ้อน ขณะเดียวกันยืนยันว่าการสอบสวนขณะนี้ขอบข่ายยังอยู่ภายในประเทศ แต่ยังไม่ขยายผลว่ามีการโอนย้ายทรัพย์สินไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้ ฝากเตือนถึงผู้ที่เตรียมรับโอนเงินต่อจากนี้ ถือเป็นผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงิน จะต้องถูกดำเนินคดีด้วยเช่นกัน หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ ปปง. 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการทุจริตโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนที่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ขอนแก่น ว่าเรื่องดังกล่าวมีหลายประเด็น แต่ประเด็นสำคัญที่ตนไม่ชอบและถือว่าผิดทั้งกฎหมายและจริยธรรม คือการโกงเงินเด็ก โดยเช้าวันที่ 19 มิ.ย. ตนได้ให้ทีมกฎหมายเข้าไปตรวจสอบว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดซื้อจัดจ้างโครงการอาหารกลางวันอย่างไร เพราะอยากทราบว่ามีระเบียบปฏิบัติหรือไม่ ส่วนประเด็นที่บอกว่าโครงการอาหารกลางวันจัดสรรให้เด็กรายละ 20 บาทเพียงพอหรือไม่นั้น ตนยืนยันว่าเท่าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่เพียงพอ ถ้าไม่โกงก็เพียงพอ
    “ถึงเวลาที่จะต้องจัดการทุกอย่างให้เด็ดขาด ผมเอาจริงเอาจัง โดยได้สั่งให้ทีมที่ปรึกษาลงพื้นที่ไปตรวจสอบแล้ว และให้รายงานผลกลับมาเป็นระยะ ซึ่งเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้เรียกเลขาธิการ สพฐ.เข้ามาชี้แจงรายละเอียด ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดในรัฐบาลยุคนี้ แต่เกิดมานานแล้ว เรามาเอาจริงเอาจังและเปิดโปงในยุคนี้ เรื่องดังกล่าวนายกฯ ได้คาดโทษผู้อำนวยการเขตไว้แล้ว ตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 2 ครั้งที่ผ่านมา” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการสุ่มตรวจโรงเรียนหรือไม่ นพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า ตอนนี้ได้ส่งทีมกฎหมายและที่ปรึกษาลงพื้นที่สุ่มตรวจอยู่แล้ว และให้รายงานมาเป็นระยะ ซึ่งมีเรื่องอื่นอีก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียว และถึงไม่สุ่มตรวจ ผู้ปกครองและครูได้รายงานเข้ามาอยู่แล้ว เพราะในยุคนี้หากมีอะไรที่ไม่สุจริตจะมีการถ่ายรูปและโพสต์ในโซเชียลฯ อยู่แล้ว ดังนั้นคนที่คิดจะทำเรื่องไม่สุจริตจะถูกจับได้ง่าย ทั้งนี้ หากพบในพื้นที่ใดพบว่ามีการทุจริต จะโดนสั่งย้ายทันที
    รมว.ศึกษาธิการกล่าวว่า ตนอยากให้สังคมรับรู้ เพราะเรื่องนี้ตนรับไม่ได้ที่โกงเงินเด็ก กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่มีครูบาอาจารย์ต้องเป็นตัวอย่าง ตั้งแต่ตนเข้ามาทำงานวันแรกเคยบอกว่าอย่าขโมยเงินเด็ก แล้วก็มีการทำกันจริงๆ เราจึงต้องมาล้างบางกัน เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาในเชิงระบบ ไม่ใช่เรื่องของเงินที่ไม่พอ รัฐบาลในทุกยุคทุกสมัยก็ดูแลเด็กดี แต่เป็นเรื่องของคนที่หาผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ หรือเป็นจำนวนมากกับเด็ก ส่วนผลโพลที่ออกมาบอกว่ายุคนี้โกงกันสารพัด ตนไม่อยากให้ไปบิดเบือน และมองว่ายุคนี้มีแต่โกง แต่ยุคนี้จับโกงได้และเอาจริงเอาจัง ไปดูเรื่องอาหารกลางวันที่ จ.สุราษฎร์ธานี ที่โกงกันทำมากี่ปีแล้ว สุดท้ายนี้ขอฝากเตือน และอยากบอกว่าหลังจากที่เราเอาจริง ปรากฏว่ามีขบวนการปล่อยข่าวว่าตนสร้างความกลัวให้กับข้าราชการ ตนว่ามันเลอะเทอะ คนทุจริตเท่านั้นที่กลัว คนสุจริตไม่ต้องกลัว ฉะนั้น อย่ามาเคลื่อนไหวกดดันให้เป็นประเด็นทางการเมืองหรือสังคม เพราะประชาชนไม่เอาด้วย
    เมื่อถามถึงความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นอย่างไร หลังจากที่เคยวิจารณ์ประเด็นเรื่องนาฬิกาหรู นพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า ตนกับ พล.อ.ประวิตรไม่มีอะไร ยังพูดคุยทักทายกันดี ท่านยังแนะนำและให้กำลังใจตนในการแก้ปัญหาการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการ
    ด้านนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันว่า ตามที่มีจากร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินโครงการอาหารกลางวันว่าไม่มีคุณภาพ การบริหารจัดการไม่ดำเนินการตามระเบียบต่างๆ มีการทุจริตเกิดขึ้น รวมถึงไม่มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนได้รับการร้องเรียนจำนวน 12 แห่ง ใน 10 เขตพื้นที่การศึกษา 
    ได้แก่ 1.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ปราจีนบุรี เขต 1 จำนวน 1 โรง ได้รับรายงานว่าจัดอาหารไม่ได้คุณภาพ 2.สพป.พิษณุโลก เขต 2 จำนวน 1 โรง จัดอาหารไม่ได้คุณภาพ 3.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 5 จำนวน 1 โรง จัดอาหารไม่ได้คุณภาพ ไม่ถูกสุขอนามัย 4.สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 2 จำนวน 1 โรง ทุจริตงบฯ โครงการอาหารกลางวัน 5.สพป.นราธิวาส เขต 2 จำนวน 1 โรง วัตถุดิบประกอบอาหารน้อย 6.สพป.สุรินทร์ เขต 3 จำนวน 3 โรง 7.สพป.ลพบุรี เขต 1 จำนวน 8.สพป.ลพบุรี เขต 2 จำนวน 1 โรง 9.สพป.ขอนแก่น เขต 1 จำนวน 1 โรง 10.สพป.อ่างทอง จำนวน 1 โรง ซึ่ง สพฐ.ได้มีการดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมด และดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งให้ย้ายออกจากพื้นที่ หรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน
    นายบุญรักษ์กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีโรงเรียนอนุบาลขอนแก่น ที่พบว่าอาหารกลางวันไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกหลักสุขอนามัย และไม่เป็นไปตามหลักโภชนาการนั้น ตนได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบภายใน และผู้อำนวยการสำนักการคลังและสินทรัพย์ สังกัด สพฐ.ลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินการบริหารโครงการของโรงเรียนว่า การใช้รูปแบบจ้างเหมาสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และขั้นตอนการดำเนินการถูกต้องหรือไม่ สัญญามีรายละเอียดอย่างไร ซึ่งในทางปฏิบัติขณะนี้มีการสั่งให้ผู้อำนวยการโรงเรียนให้ไปประจำอยู่ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อสะดวกต่อการสืบสวนข้อเท็จจริง
    “นพ.ธีระเกียรติให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ดังนั้นเราจะต้องดำเนินการโครงการอาหารกลางวันให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการฯ แม้ว่าในบางพื้นที่จะมีราคาวัตถุดิบแพง ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด และดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้อง ซึ่งโรงเรียนในกลุ่มพื้นที่ห่างไกลที่วัตถุดิบราคาสูง สพฐ.ก็มีโครงการที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือการส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะอาชีพ ปลูกผัก เลี้ยงปลา ไก่ไข่และเป็ด ผลิตเพื่อส่งเข้าโครงการอาหารกลางวัน และในส่วนของโรงเรียนที่ไม่มีพื้นที่ในการทำการเกษตร สพฐ.ก็จะประสานกับเขตพื้นที่ ชุมชน ให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยใช้พื้นที่ของชุมชนในการทำการเกษตรและส่งขายให้กับโรงเรียนในราคาถูก ถือว่าเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจของชุมชนด้วย”เลขาฯ กพฐ.กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"