ต่อฉุกเฉิน-เคอร์ฟิวอีก2ด.


เพิ่มเพื่อน    

ศบค.แจงตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ 13,256 ราย เสียชีวิตอีก 131 ราย ทำยอดสะสมใกล้แตะ 1.6 หมื่นคน บอกสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติลดเวลากักตัวต่างชาติทุกประเทศจาก 14 วัน เหลือ 7-10-14 วัน “ศปก.ศบค.” เตรียมชง “ประยุทธ์” เคาะต่อ พ.ร.กฉุกเฉินและเคอร์ฟิวอีก 2 เดือน พร้อมผ่อนคลายมาตรการให้โรงหนัง-ร้านอาหารเล่นดนตรีได้ 
    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 ก.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,256 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 12,763 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 10,620 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 2,143 ราย และมาจากเรือนจำ 478 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 15 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,524,613 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 13,829 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,380,362 ราย อยู่ระหว่างรักษา 128,367 ราย อาการหนัก 3,422 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 747 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 131 ราย เป็นชาย 64 ราย หญิง 67 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 94 ราย มีโรคเรื้อรัง 23 ราย มีเด็ก 2 เดือนเสียชีวิต 1 ราย ที่ จ.นนทบุรี พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 21 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 15,884 ราย    
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 23 ก.ย. ได้แก่ กทม. 2,456 ราย, สมุทรปราการ 991 ราย, ชลบุรี 743 ราย, ยะลา 663 ราย, ระยอง 549 ราย, นครศรีธรรมราช 417 ราย, นราธิวาส 403 ราย, สงขลา 388 ราย, สมุทรสาคร 350 ราย และราชบุรี 323 ราย โดยมีเพียง จ.พะเยาจังหวัดเดียวที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มดีขึ้น ที่สำคัญยอดผู้ป่วยในส่วนที่รักษาหายสามารถกลับบ้านได้สถิติสูงกว่ายอดผู้ป่วยที่ติดเชื้อใหม่รายวันติดต่อกันนานเป็นเดือนแล้ว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังคงให้ทุกฝ่ายจับตาตัวเลขอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับก่อนหน้านี้ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนสั่งการเร่งรัดแจกชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้รวดเร็วยิ่งขึ้น 
“ท่านนายกฯ ยังเน้นย้ำเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับทุกกลุ่มตามแผน โดยรัฐบาลจัดหาทั้งวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือกจนถึงสิ้นปี 2564 รวมทั้งสิ้นจำนวน 152.9 ล้านโดส ดังนั้นวัคซีนมีเพียงพอแน่นอน” นายธนกรระบุ
    ทั้งนี้ เมื่อเวลา 22.00-01.00 น. วันที่ 22 ก.ย.ตามเวลาในไทย หรือเวลา 11.00-14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ได้ร่วมประชุมสุดยอดว่าด้วยการยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นในรูปแบบการประชุมทางไกล โดยนายธนกรระบุว่า นายกฯ ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ โดยไทยเชื่อมั่นในความร่วมมือพหุภาคีเพื่อยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเตรียมพร้อมสำหรับภัยคุกคามทางสุขภาพในอนาคต ทั้งนี้ รัฐบาลไทยร่วมดำเนินการตามเป้าหมาย ดังนี้ 1.ไทยกำหนดให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ และจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนอย่างน้อย 70% ภายในปีนี้ 2.ไทยสนับสนุนการเพิ่มกำลังการผลิตเวชภัณฑ์และวัสดุทางการแพทย์ เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้มีความปลอดภัย 3.ไทยเห็นด้วยกับการสร้างความเข้มแข็งในการเตรียมความพร้อม และการตอบสนองต่อโรคระบาดในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล 
เห็นชอบปรับลดเวลากักตัว
    ขณะเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2564 โดยกล่าวภายหลังประชุมว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ วันนี้มีประเด็นสำคัญคือ รับทราบความคืบหน้าการเสนอร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ. ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการแล้ว สาระสำคัญมีการกำหนดระบบและกลไกในการจัดการโรคติดต่อทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และเพิ่มหมวดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขึ้นมา เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อเป็นเอกภาพ ทันการณ์ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“ที่ประชุมยังเห็นชอบการปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เกณฑ์ แนวทาง และแผนงานสำหรับพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว โดยจะมีการปรับลดระยะเวลาการกักกันผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินเตรียมความพร้อม โดยการกำหนดพื้นที่ขึ้นอยู่กับความครอบคลุมของวัคซีน สถานการณ์ อัตราการครองเตียง และการบริหารจัดการของพื้นที่ จะเสนอ ศบค.พิจารณาต่อไป โดยระยะแรกช่วงเดือน ต.ค.จะทดลองรับนักท่องเที่ยวไทยเข้าพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวก่อนเปิดพื้นที่ในเดือน พ.ย.”       
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักรจากเดิม 14 วัน และต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยให้ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน 10 วัน และ 14 วัน แล้วแต่กรณี โดยจะนำเสนอ ศบค.ต่อไป ซึ่งรายละเอียด ดังนี้ การกักตัว 7 วัน ผู้เดินทางจะต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มหรือตามที่วัคซีนกำหนด และต้องตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางด้วยวิธี RT-PCR เมื่อมาถึงไทยจะต้องตรวจวันที่ 0 และก่อนที่จะออกจากการกักตัว คือวันที่ 7 ส่วนการกักตัว 10 วันในกรณีไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้ตรวจด้วย RT-PCR 2 ครั้ง คือวันที่ 0 และก่อนที่จะออกจากกักตัว โดยต้องเดินทางเข้ามาทางอากาศเท่านั้น การกักตัว 14 วัน ฉีดวัคซีนไม่ครบ มาด้วยช่องทางบก ต้องมีการตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง         
    “มาตรการลดวันกักตัวครั้งนี้ใช้มาตรการเดียวกันในทุกประเทศ แต่หากมีสถานการณ์พิเศษเพิ่มเติมจะใช้อำนาจของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเพิ่มเติมขึ้นได้ เพราะผลการศึกษาของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ คนที่ติดโควิด-19 ไม่ได้เกิดจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา แต่ติดในประเทศมากกว่า ขอให้ความมั่นใจว่าการลดวันกักตัวไม่ได้ทำให้เกิดการระบาดมากขึ้น สำหรับข้อดีของการลดวันกักตัวคือทำให้เรามีชีวิตร่วมกับโควิด-19 ได้มั่นคง การลดวันกักตัวให้เดินทางระหว่างประเทศได้ และการเปิดโรงเรียน ถ้าทำสองสิ่งนี้ได้ หมายถึงเราสามารถควบคุมเชื้อได้ในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อเลย เพราะการทำให้หมดไปเลยคงเป็นได้ลำบาก แต่ต้องลดอัตราเสียชีวิตและเจ็บป่วยหนัก คือการทำให้มีชีวิตกับโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว
    นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ก่อนที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าจังหวัดต่างๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว พื้นที่ต้องเตรียมความพร้อมโดยประชาชนในพื้นที่อย่างน้อย 70% ต้องได้รับวัคซีน รวมทั้งมีแผนพัฒนาเมืองด้านต่างๆ การขนส่ง สาธารณูปโภค การจัดการของเสีย รวมทั้งมีการสื่อสารเพื่อการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมแผนเผชิญเหตุ เพื่อกำหนดระดับของจำนวนนักท่องเที่ยวรายใหม่ในการเข้าพื้นที่ ส่วนสถานประกอบกิจการต่างๆ ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการของ สธ.อย่างเคร่งครัด โดยพนักงานทุกคนที่ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวควรได้รับวัคซีนครบโดส และตรวจ ATK ทุก 7-14 วัน มีการคัดกรองพนักงานด้วยไทยเซฟไทยทุกวัน 
ต่อฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว 2 เดือน
    วันเดียวกัน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้เป็นประธานการประชุม ศปก.ศบค. โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน หรือจนกว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ จะมีผลบังคับใช้ รวมถึงเสนอเลื่อนการเปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ), เชียงใหม่ (อ.เมืองฯ อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า), ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และเพชรบุรี (ชะอำ) จากแผนเดิมวันที่ 1 ต.ค.นี้ เลื่อนไปเป็นวันที่ 1 พ.ย.2564 นอกจากนี้ยังจะเสนอให้ผ่อนคลายกิจกรรมเพิ่มเติม เช่น การเปิดพิพิธภัณฑ์ สถาบันกวดวิชา ร้านอาหารที่เล่นดนตรีได้ โรงภาพยนตร์ สนามกีฬาในร่มที่ไม่มีผู้ชม แต่มาตรการงดออกจากเคหสถานยังคงเป็นไปตามเดิม คือเวลา 21.00-04.00 น. โดยจะเสนอมติดังกล่าวต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธานพิจารณาอีกครั้ง วันที่ 27 ก.ย.นี้ ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่
    ส่วน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีนายฐิตินันท์ แสงนาค ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ติดเชื้อโควิด-19 ว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ห่วงใยเป็นอย่างมาก จึงได้ประสานไปยังนายฐิตินันท์ และจากการสอบถามปรากฏว่ายังไม่มีการแสดงอาการในขณะนี้ และคาดว่าจะติดเชื้อจากคนขับรถ ไม่ใช่ติดจากสภา 
    สำหรับสถานการณ์โควิดในจังหวัดต่างๆ นั้น นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 991 ราย เสียชีวิต 15 ราย เป็นเพศชาย 10 ราย และเพศหญิง 5 ราย อายุระหว่าง 31-91 ปี ส่วน จ.สมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 350 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ รายงานข้อมูลว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 55 ราย กระจายใน 12 อำเภอจากทั้งหมด 23 อำเภอ และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ทำให้มียอดเสียชีวิตสะสม 63 ราย 
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัด สธ. กล่าวว่า การลงพื้นที่เชิงรุกของ CCR Team จากเขตสุขภาพที่ 11-12 จำนวน 9 ทีม กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนที่พบคลัสเตอร์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ใน จ.ภูเก็ต ผลปฏิบัติการวันที่ 21-22 ก.ย.ตรวจเชื้อไป 4,174 คน พบผลบวก 212 คน หรือคิดเป็น 5.07% โดยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในภูเก็ตนั้นส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่เคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานภายในพื้นที่และยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ไม่ใช่นักท่องเที่ยวจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติร่วมโครงการเดินทางเข้ามารวม 35,169 คน พบผู้ติดเชื้อเพียง 101 คน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"