รื้อระบบอาหารกลางวันเด็ก


เพิ่มเพื่อน    

    “ธีระเกียรติ” เชื่อยังมีโรงเรียนโกงงบอาหารเด็กมากกว่า 10 โรง วอนคนรู้ข้อมูลแจ้งมา โอ่จับมือ วช.คลอดเมนู 20 บาทที่โภชนาการครบ “อนันตพร”  ยอมรับมีล็อบบี้หั่นโทษแก๊งอดีตปลัด พม.จากไล่ออกเหลือแค่ให้ออก ป้องอธิบดี พส.โยกย้าย 65 ผู้อำนวยการพันงาบงบคนจน ชี้บางส่วนยังไม่ผิด 100% "รมว.เกษตรฯ" เต้นสั่งสอบจัดซื้อเครื่องมือเกษตรแพง  
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีการทุจริตโครงการอาหารกลางวันเด็ก โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันของแต่ละพื้นที่ เพราะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งว่าเกณฑ์การจัดซื้ออาหารกลางวันของแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน เช่น บางแห่งใช้วิธีประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิดดิง) บางแห่งถือเงินไปซื้อเอง แนวปฏิบัติเหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจน ยืนยันว่ากำลังจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยพูดหลายครั้งแล้วว่ารับไม่ได้
    “ล่าสุด นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้แจ้งมาว่ามีโรงเรียนที่ได้รับร้องเรียนเรื่องอาหารกลางวัน 12 แห่ง ใน 10 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แต่ส่อทุจริตจำนวน 10 โรงเรียน ซึ่งคิดว่ามีมากกว่านั้น ดังนั้นหากใครทราบข้อมูลทุจริต ก็ขอให้แจ้งเข้ามา” นพ.ธีระเกียรติระบุ 
นพ.ธีระเกียรติยังกล่าวว่า ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เนื่องจาก วช.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ วิจัยเมนูอาหารกลางวันนักเรียนที่มีสารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ และเหมาะสมในช่วงวัยของเด็กในราคา 20 บาท ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก และต่อไปจะลงนามความร่วมมือระหว่าง วช. กับ ศธ. พร้อมหน่วยงานอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 
“การดำเนินการครั้งนี้จะเป็นผลดีทำให้สถานศึกษามีทางเลือกเมนูอาหารมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงนามความร่วมมือดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกการใช้โปรแกรมเมนู Thai School Lunch ของ สพฐ. สถานศึกษายังสามารถดำเนินควบคู่ไปด้วยกันได้ โดยงบประมาณอาหารกลางวัน 20 บาทต่อหัวต่อมื้อนั้น เชื่อว่าเพียงพออยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่ม” รมว.ศธ.กล่าว
วันเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ คณะรัฐศาสตร์ จัดงานเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “ท้องถิ่น” VS “สตง.” กระบวนการตรวจสอบการจัดการท้องถิ่น การให้อำนาจกับส่วนท้องถิ่นคือสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่? ถอดรหัสปัจจัยที่เอื้อต่อการทุจริต ที่กระจายไปทุกพื้นที่ของไทย
    โดยนายโกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นการป้องกันการทุจริตได้อย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้ยืนยันว่าท้องถิ่นจะบริสุทธิ์ 100% ดังนั้นต้องปฏิรูปความคิดของคนให้คำนึงถึงการใช้เงินและการปราบปรามคอร์รัปชัน ปลูกฝังคนไทยให้รังเกียจคอร์รัปชันตั้งแต่เด็ก ขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต้องทำการตรวจสอบแต่ละที่ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ส่วนรัฐต้องให้ความใส่ใจในการกระจายอำนาจมากกว่ารวมอำนาจ พัฒนาความสามารถของท้องถิ่นให้ทัดเทียมกับส่วนราชการ
    ขณะที่นายบุญญภัทร์ ชูเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มธ. กล่าวว่า เรื่องการเบิกจ่ายเป็นปัญหาที่พบมากที่สุดระหว่าง สตง.และท้องถิ่น เพราะมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันจากพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. โดยมองว่าอำนาจการตรวจสอบการใช้เงินของท้องถิ่นควรเป็นของ สตง. หรือควรเป็นหน้าที่ของกฤษฎีกาหรือคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยควรออกระเบียบให้ชัดเจนแก่ท้องถิ่นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการเบิกจ่าย 
สตง.โอดตกเป็นจำเลย
“อยากให้รัฐบาลจริงจัง จริงใจ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากกว่านี้ และเมื่อท้องถิ่นได้รับการทักท้วงจาก สตง. ขอให้ท้องถิ่นอธิบายประเด็นการทักท้วงต่อ สตง.ให้ชัดเจน ขณะที่ สตง.ต้องเป็นพี่เลี้ยงให้หน่วยรับตรวจต่างๆ ให้จ่ายจ่ายเงินให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมายและต้องตอบข้อสงสัยต่างๆ ภายใน 30 วัน” นายบุญญภัทร์กล่าว
    ส่วนนายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. กล่าวว่า สตง.ได้ตั้งคณะทำงานกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่าง สตง.และท้องถิ่น ในเรื่องงบประมาณ การเบิกจ่าย การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้การทำงานของ สตง.ในพื้นที่ต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน และได้ทำคู่มือการปฏิบัติงานให้แก่ท้องถิ่นและ สตง. เรียกว่าบัญญัติ 7 ประการ เพื่อให้การตรวจสอบมีมาตรฐาน โดยมีหลักการดังนี้ 1.อำนาจหน้าที่ ต้องจัดระบบบริการสาธารณะให้ประชาชนตามที่กฎหมายบัญญัติ 2.ท้องถิ่นต้องทำแผนพัฒนาท้องถิ่น นำความต้องการของประชาชนมาทำเป็นข้อบัญญัติ เทศบัญญัติต้องมีรายละเอียดพร้อมที่มาเพื่อนำมาตั้งงบประมาณ
    3.การจัดทำงบประมาณต้องมีรายละเอียดชัดเจนสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ไม่ตั้งงบประมาณที่อยู่นอกแผน 4.การเบิกจ่ายเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งหนังสือเวียน 5.ดุลยพินิจ ต้องชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ 6.ต้องเป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เรื่องความเชื่อหรือเป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง และ 7.ตรวจสอบได้ โดยต้องมีเอกสารยืนยัน 
“ถ้าท้องถิ่นตอบคำถามได้ตั้งแต่ข้อ 1 ถึง 6 ท้องถิ่นก็สามารถดำเนินการโครงการต่างๆ ได้ ทุกวันนี้ สตง.ตกเป็นจำเลยว่าก้าวล่วงดุลยพินิจท้องถิ่น ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงต่อ สตง.มาก ทั้งที่เราต้องการให้ท้องถิ่นทำอย่างถูกต้อง ก่อนลงมือปฏิบัติแล้วเกิดความผิดพลาดในภายหลัง ซึ่งจากนี้จะต้องทำความเข้าใจให้ สตง.แต่ละพื้นที่มีความเข้าใจการทำงานที่มีมาตรฐานเดียวกัน”นายมณเฑียรระบุ
ส่วนที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม.กล่าวถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์การโยกย้ายผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนิคมสร้างตนเอง และศูนย์ที่เกี่ยวข้องรวม 65 ราย ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ในคดีทุจริตเงินสงเคราะห์คนจนว่าเป็นการตบตา เนื่องจากบางรายได้โยกย้ายกลับคืนตำแหน่ง ขณะที่บางรายเพียงโยกสลับตำแหน่งเท่านั้น ว่า พส.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบสวนวินัยร้ายแรง ขณะเดียวกัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบและพบมีมูลความผิด 270 รายชื่อ และได้ส่งรายชื่อมาให้ พม. ซึ่งในจำนวนนี้เป็นส่วนหนึ่งตรงกับที่ พส.ได้มีคำสั่งโยกย้าย 
“ผลสอบ พส.เบื้องต้นพบมีมูลกระทำความผิด แต่ยังต้องสอบสวนวินัยหลังจากนี้ ดังนั้นจึงถือว่าเขายังไม่มีความผิด 100% ทั้งนี้ การโยกย้ายส่วนหนึ่งก็เพื่อรองรับภาวะขาดแคลนคนทำงาน” พล.อ.อนันตพรกล่าว
    พล.อ.อนันตพรกล่าวอีกว่า การพิจารณาจะดำเนินการใน 3 ส่วน คือ ผู้ที่ตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดก็ให้ย้ายกลับ ในส่วนผู้ที่มีความผิดเล็กน้อยก็ลงโทษ เช่น ลดขั้น ตัดเงินเดือน แล้วย้ายสลับที่ และส่วนที่พบมีความผิดหนักร้ายแรง ก็ให้พักราชการไว้ก่อน ออกจากราชการไว้ก่อน หรือเข้ามาช่วยราชการในกระทรวง ซึ่งได้ย้ำกับนางนภา เศรษฐกร อธิบดี พส.ว่าต้องทำตามกฎระเบียบดังกล่าว เนื่องจากเป็นเรื่องของนโยบาย และเป็นคำสั่งของตนเอง รวมถึงของรัฐบาล 
รับมีล็อบบี้หวังลดโทษ
“หากทำนอกเหนือจากที่ผมสั่ง หรือไม่ปฏิบัติตาม จะลงโทษอธิบดี พส.เอง ซึ่งอธิบดีก็ได้ยืนยันว่าจะไม่ทำ เพราะหากยังมีปัญหาเกิดขึ้น ผมก็ต้องรับผิดชอบในภาพรวมด้วย เพราะถือว่าเป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงนี้ ส่วนที่กังวลว่าการโยกย้ายสลับคนจะไปสร้างปัญหาในพื้นที่อื่นอีก ก็ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่าเรามีระบบการจ่ายเงินสงเคราะห์ใหม่ที่รัดกุม มีคณะกรรมการตรวจสอบทุกขั้นตอน จะไม่สามารถกระทำการทุจริตได้อีก แต่ก็อยากให้สังคมช่วยกันตรวจสอบอีกทาง” พล.อ.อนันตพรระบุ
    เมื่อถามถึงกรณีการสอบวินัยร้ายแรงอดีตปลัด พม.พร้อมพวกรวมทั้งหมด 11 คน ที่มีกระแสข่าวว่าเกิดการวิ่งเต้นเพื่อลดโทษจากไล่ออกเป็นให้ออก พล.อ.อนันตพรยอมรับว่า แน่นอน เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีคนพยายามทำ แต่มันอยู่ที่เราว่าจะมั่นคงหรือไม่ ยืนยันว่าตนเองมั่นคงและมั่นใจในคณะกรรมการสอบวินัยที่ตั้งขึ้น ส่วนผลสอบจะเป็นอย่างไร อยู่ที่ดุลยพินิจของคณะกรรมการสอบ ไม่สามารถแทรกแซงได้ เว้นแต่หากผลสอบออกมาแล้วตนใช้ดุลยพินิจ แล้วเห็นว่าผลสอบมีนอกมีนัยหรือไม่ ก็จะสั่งให้สอบเพิ่มเติม ซึ่งเป็นอำนาจที่ทำได้ หรือหากผลสอบออกมาไม่ดี ก็มีอำนาจให้คณะกรรมการสอบสวนใหม่ได้เช่นกัน
    ถามต่อถึงกรณีกระแสหญิงสาวคนสนิทอดีตปลัด พม. ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการ พม.ร่วมกระทำความผิดฟอกเงิน จะตรวจสอบย้อนหลังด้วยหรือไม่นั้น พล.อ.อนันตพรชี้แจงว่า เป็นอดีตข้าราชการ เพราะได้ลาออกตั้งแต่ปี 2559 ถือว่าพ้นอำนาจที่ พม.จะไปดำเนินการสอบทางวินัยภายใน 180 วัน แต่ยังสามารถดำเนินการทางอาญาได้ โดยอาศัยอำนาจของทาง ป.ป.ป.และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.).
    ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการตรวจสอบโครงการงบประมาณอุดหนุนสหกรณ์ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนว่า ได้สั่งการด่วนที่สุด ให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในการตรวจสอบโครงการงบประมาณอุดหนุนสหกรณ์ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน หลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรของสหกรณ์การเกษตรต่างๆ ที่ได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากกระทรวงตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน มีราคาสูงกว่ากัน ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องมือชนิดเดียวกัน
    "เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในการแก้ไขปัญหาและสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน จึงมีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หากพบว่ามีการกระทำผิดจริง ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายและวินัยอย่างเฉียบขาด รวมทั้งให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เข้าตรวจสอบสหกรณ์ที่มีพฤติการณ์กระทำความผิดให้ทราบผลโดยเร็วด้วย กรณีตรวจสอบแล้วไม่พบการกระทำผิด ก็ให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดร่วมกับสหกรณ์จังหวัดจัดแถลงข่าวข้อเท็จจริงให้สื่อมวลชนทุกช่องทางในพื้นที่ทราบ และรายงานผลมายังกระทรวงเกษตรฯ ด้วย" นายกฤษฎากล่าว
    นอกจากนี้ รมว.เกษตรฯ ยังสั่งปลัดกระทรวงและอธิบดีทุกกรมที่ได้รับงบประมาณไทยนิยมเข้มแข็ง ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และผลลัพธ์ของโครงการที่ประชาชนได้รับประโยชน์ตามช่องทางประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางอย่างกว้างขวางทุกๆ 15 วัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"