โควิดกระทุ้ง“ยากจน”พุ่ง


เพิ่มเพื่อน    

“ความยากจน” เป็นอีกประเด็นที่เกิดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี หลายส่วนจำเป็นต้องปิดตัวลงเพราะทนแรงเสียดทานไม่ไหว จึงกลายเป็นประเด็นให้เกิดปัญหา “การว่างงาน” ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ครัวเรือน
    ล่าสุด สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “ภัยสังคมในยุคโควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,172 คน ระหว่างวันที่ 19-23 ก.ย.2564 พบว่า เมื่อเปรียบเทียบก่อนมีโควิด-19 กับในยุคโควิด-19 ประชาชนคิดว่าความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแย่ลง 72.78%, ค่อนข้างวิตกกังวล 54.46% ส่วนภัยสังคมที่ประชาชนคิดว่าน่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ภัยจากออนไลน์ 68.66% โดยมองว่าปัญหาภัยสังคมที่มีเพิ่มมากขึ้น เพราะ ปัญหาความยากจน ว่างงาน ชีวิต ความเป็นอยู่ลำบาก 89.31% เคยมีประสบการณ์ประสบกับปัญหาภัยสังคม 34.17% จากภัยสังคมในปัจจุบันทำให้ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่นลดลง 65.90% จึงควรเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความยากจน 85.82%
    “วีณัฐ สกุลหอม” คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า ภัยสังคมในยุคโควิด-19 มีต้นเหตุมาจากปัจจัยหลักๆ คือ ปัญหาทางสังคม เช่น การเลิกจ้างงาน รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ความเป็นอยู่ยากลำบาก พฤติกรรมบริโภคนิยม ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมที่พัฒนามาในรูปแบบออนไลน์ ภัยเงียบเหล่านี้เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คุณภาพชีวิตคนไทยต่ำลง ส่งผลให้ชีวิตไม่มีความสุข ซึมเศร้า วิตกกังวล หวาดระแวงจากผู้คนรอบข้าง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภัยสังคมที่ต้องเร่งแก้ไข
    สอดคล้องกับข้อมูลของ “ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)” ที่ระบุว่า ในปี 2564 ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคครัวเรือน มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น และภาคธุรกิจเอสเอ็มอีขาดรายได้ ทำให้ในปีนี้ประเทศไทยจะมีผู้ที่มีความยากจนเพิ่มขึ้นอีก 1.7 แสนคน
    โดยหากย้อนไปดูรายงานของธนาคารโลก ในปี 2563 เกี่ยวกับประเด็นเรื่องความยากจน จะพบว่าอัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ภาคครัวเรือนมีความเปราะบางจากภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ โดยในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ การเติบโตของรายได้และการบริโภคของครัวเรือนได้หยุดชะงักทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำล่างสุดของระดับการกระจายรายได้
    และจากข้อมูลพบว่า ระหว่างปี 2558-2561 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.21% เป็น 9.85% และค่าสัมบูรณ์ของประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มสูงขึ้นจาก 4.85 ล้านคน เป็นมากกว่า 6.7 ล้านคน โดยประชากรในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยากจนเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งล้านคน ในช่วงเวลาดังกล่าว
    ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง “ธนาคารโลก” ก็ได้มีการประเมินว่า ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะส่งผลทำให้คนไทยยากจนเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านคน ส่วนผลกระทบด้านแรงงาน ในช่วงไตรมาส 2/2563 โควิด-19 ทำให้งานหายไป 3.4 แสนตำแหน่ง ชั่วโมงการทำงานลดลง 2-3 ชั่วโมง การว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าจ้างลดลง และแม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ อาจจะเริ่มคลี่คลายขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าตลาดแรงงานของไทยยังเต็มไปด้วย “ความเปราะบาง” เหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบไปยังรายได้ในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และจะสะท้อนออกมาในรูปของ หนี้ครัวเรือน ในที่สุด
    อย่างไรก็ดี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยยืนยันว่าฉบับนี้จะแตกต่างจากแผนเดิมๆ ที่ผ่านมา จะมีการกำหนดภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน 5 ปี พัฒนาประเทศ สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างภูมิต้านทานเพื่อรองรับความเสี่ยงหรือวิกฤตที่อาจจะรุนแรงกว่าโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และแน่นอนว่าในแผนพัฒนาฯ 13 ดังกล่าว ได้มีการบรรจุเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนเข้าไปด้วย โดยมุ่งเป้าหมายที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของครัวเรือนยากจน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดความคุ้มครองทางสังคมอย่างเพียงพอต่อการดำรงชีวิตให้แก่คนไทยทุกช่วงวัย.
 

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"